ปิยบุตร แสงกนกกุล : ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส (12)

ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศสเผชิญหน้ากับวิกฤตครั้งสำคัญในรัชสมัยของหลุยส์ที่ 16 ก่อนจะปิดฉากลงด้วยการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789

ในช่วง 2-3 ปีก่อนการปฏิวัติ มีเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” อยู่หลายเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อเนื่องอย่างคาดไม่ถึง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่ “จุดชนวน” การปฏิวัติก็ได้

เราอาจแบ่งได้เป็น กรณีขุนนางต่อต้านนโยบายปฏิรูปของกษัตริย์ และกรณีฐานันดรที่สามชิงโอกาสด้วยการสถาปนา “ชาติ”

การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยในรัชสมัยหลุยส์ที่ 14 ต่อเนื่องมาจนถึงหลุยส์ที่ 15 ประกอบกับการเข้าร่วมสงครามปลดปล่อยอเมริกาจากอังกฤษ ทำให้ราชสำนักประสบปัญหาวิกฤตทางการเงินการคลังอย่างรุนแรง

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีเครื่องมือใดในการหารายได้เข้าคลังได้ดีไปกว่าการเรียกเก็บภาษี ดังนั้น อัครเสนาบดีของหลุยส์ที่ 16 หลายคนจึงพยายามออกมาตรการปฏิรูประบบภาษี เพื่อให้รัฐสามารถเก็บภาษีได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้นและสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมกันในการจ่ายภาษี

เดิมที Necker อัครเสนาบดีของหลุยส์ที่ 16 พยายามหลีกเลี่ยงไม่ใช้มาตรการเก็บภาษี เพราะกังวลว่าจะถูกขัดขวางจากขุนนางอภิสิทธิ์ชน

แต่สุดท้ายสถานะทางการคลังก็ไม่ดีขึ้น ฝรั่งเศสจำต้องยอมกู้เงินเพิ่มและตามมาด้วยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มขึ้น

นโยบายการปฏิรูปอย่างละมุนละม่อมของ Necker ไม่ประสบผลสำเร็จ ทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในปี 1783

 

ต่อมา Calonne เข้ารับตำแหน่งแทน Necker เขาได้เสนอ “แผนการปรับปรุงการคลัง” (Plan d”am?lioration des Finances) ต่อหลุยส์ที่ 16 ในปี 1786 โดยมีเนื้อหาสาระ คือ สร้างระบบการจัดเก็บภาษีที่เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ยกเลิกเอกสิทธิ์ทางภาษีของเจ้าของที่ดิน ทั้งพระ ขุนนาง สามัญชน หากเป็นเจ้าของที่ดินก็ต้องจ่ายภาษีในอัตราที่เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ Calonne ยังเสนอให้มีการตั้งสภาประจำพื้นที่ต่างๆ เพื่อทำหน้าที่คำนวณและประเมินภาษี โดยสมาชิกสภามาจากคนในพื้นที่ที่ถือครองทรัพย์สินและจ่ายภาษี โดยไม่ต้องคำนึงถึงฐานันดร

และเพื่อเป็นการบรรเทาความยากลำบากของคนจน เขาเสนอให้ยกเลิกภาษีบางประเภทที่คนจนต้องแบกรับเอาไว้

แน่นอนที่สุดว่ามาตรการของ Calonne เช่นนี้ สร้างความไม่พอใจให้กับพวกขุนนางอย่างยิ่ง

Calonne รู้ดีว่านโยบายของเขาขัดผลประโยชน์ของพวกขุนนางอภิสิทธิ์ชนเข้าอย่างจัง

เขาคาดหมายว่าบรรดาขุนนางทั้งจากตระกูลเก่า (noblesse d”?p?e) และแบบใหม่ (noblesse de robe) ที่รวมตัวกันอยู่ในศาลปาร์เลอมองต์คงต้องใช้กลไกของศาลปาร์เลอมองต์เป็นเครื่องมือในการขัดขวางนโยบายปฏิรูปภาษีของเขาโดยไม่ยอมขึ้นทะเบียนให้กับพระบรมราชโองการว่าด้วยการปฏิรูปภาษี ส่งผลให้พระบรมราชโองการเหล่านี้ไม่มีผลใช้บังคับ

เขาพยายามหาช่องทางในการขจัดการขัดขวางของพวกขุนนางด้วยการเสนอให้หลุยส์ที่ 16 เรียกประชุม “สภาขุนนาง” (Assembl?e de notables) เพื่อให้สภาแห่งนี้ให้การรับรองมาตรการปฏิรูปทางภาษี และช่วยสร้างความชอบธรรมในการสู้กับแรงต่อต้านของศาลปาร์เลอมองต์ได้

เขาคัดรายชื่อบรรดาสมาชิกสภาขุนนางเสนอต่อหลุยส์ที่ 16 และเรียกประชุมในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1787

แม้ Calonne พยายามคัดสรรสมาชิกสภาขุนนางที่พอจะเป็นฝักฝ่ายเดียวกับตน แต่สภาขุนนางก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรการปฏิรูปภาษีของเขาอยู่ดี

เมื่อนโยบายการปฏิรูปภาษีไม่ประสบผลสำเร็จ หลุยส์ที่ 16 ตัดสินใจปลด Calonne ออกจากตำแหน่งในวันที่ 8 เมษายน 1787

และแต่งตั้ง Lom?nie de Brienne นักบวชจากเมืองตูลูส ขึ้นเป็นอัครเสนาบดีแทน

 

Lom?nie de Brienne ได้ผลักดันนโยบายปฏิรูปต่อไป โดยเขาพยายามดึงชนชั้นกระฎุมพีเป็นพวกเพื่อสร้างแนวร่วมในการสู้กับขุนนาง เช่น ให้เสรีภาพในการประท้วง เปิดโอกาสให้คนชนบทสามารถจ่ายเงินแทนการถูกเกณฑ์ทำงานให้กษัตริย์ ตั้งสภาจังหวัดโดยให้มีผู้แทนจากฐานันดรที่สามมากขึ้นเป็นสองเท่าและให้ลงมติและนับคะแนนเป็นรายหัว เป็นต้น

นอกจากนี้ เขายังคงยืนยันให้มีการปฏิรูประบบภาษีให้เท่าเทียมกัน ความพยายามปฏิรูปของ Lom?nie de Brienne ทำให้พวกขุนนางอภิสิทธิ์ไม่พอใจ

ในส่วนของสภาขุนนางนั้น หลุยส์ที่ 16 ตัดสินใจยุติการประชุมและยุบเลิกสภาขุนนางในวันที่ 25 พฤษภาคม 1787

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถูกยุบไปนั้น สภาขุนนางได้ยกประเด็นเรื่องสิทธิของชาติที่จะประชุมกันเป็นสภาฐานันดรขึ้น

และได้มีมติว่าเรื่องสำคัญๆ อย่างมาตรการปฏิรูประบบภาษีนั้น ต้องให้สภาฐานันดรเป็นผู้พิจารณา

 

ศาลปาร์เลอมองต์ “คู่ปรับ” ของราชสำนัก ยังคงเดินหน้าขัดขวางนโยบายการปฏิรูปต่อไป

ในเดือนกรกฎาคม 1787 ศาลปาร์เลอมองต์ปารีสไม่ยอมขึ้นทะเบียนให้กับพระบรมราชโองการว่าด้วยภาษีแสตมป์ และพระบรมราชโองการว่าด้วยการเก็บภาษีเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปิดประชุมสภาฐานันดรเพื่อพิจารณาประเด็นปัญหาดังกล่าว

ราชสำนักตัดสินใจ “ชน” กับศาลปาร์เลอมองต์ หลุยส์ที่ 16 ใช้อำนาจในฐานะเป็น “บ่อเกิดของความยุติธรรม” ด้วยการยืนยันขึ้นทะเบียนให้กับพระบรมราชโองการดังกล่าว และประกาศให้มีผลใช้บังคับ

ศาลปาร์เลอมองต์ไม่พอใจอย่างยิ่งและประท้วงกษัตริย์ ราชสำนักจึงใช้มาตรการรุนแรงเข้าจัดการ โดยสั่งปลดและขับไล่ตุลาการศาลปาร์เลอมองต์ที่ต่อต้านกษัตริย์ออกไป

วันที่ 3 พฤษภาคม 1788 ศาลปาร์เลอมองต์เปิดศึกชนกับราชสำนักอย่างเปิดเผยด้วยการเผยแพร่ “คำประกาศว่าด้วยกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร” เพื่อแจกแจงว่ากฎเกณฑ์ใดที่มีสถานะเป็นกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร

ได้แก่ การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปตามลำดับทายาทโดยยกเว้นผู้หญิง การเรียกประชุมสภาฐานันดร ประเพณีของท้องถิ่น การห้ามโยกย้ายผู้พิพากษา อำนาจของศาลปาร์เลอมองต์ในการตรวจสอบพระบรมราชโองการ และสั่งขึ้นทะเบียนให้เฉพาะพระบรมราชโองการที่สอดคล้องกับกฎหมายของจังหวัดและกฎหมายพื้นฐานของราชอาณาจักร สิทธิของพลเมืองในการได้รับการพิพากษาโดยผู้พิพากษาซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยกฎหมาย

คำประกาศของศาลปาร์เลอมองต์นี้เป็นการยืนยันอำนาจของศาลปาร์เลอมองต์ในการตรวจสอบการใช้อำนาจของกษัตริย์ และกษัตริย์ไม่อาจย้ายผู้พิพากษาได้

หลุยส์ที่ 16 ได้ตอบโต้ทันทีด้วยการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปศาลปาร์เลอมองต์รวม 6 ฉบับ ตามข้อเสนอของ Lamoignon รัฐมนตรียุติธรรม ใน 5 วันถัดมา

 

มาตรการปฏิรูปศาลปาร์เลอมองต์ของ Lamoignon มุ่งหมายลดทอนอำนาจของศาลปาร์เลอมองต์ ลดจำนวนศาลที่ซับซ้อน รวมอำนาจเข้าสู่ราชสำนัก และกำหนดให้การขึ้นทะเบียนพระบรมราชโองการเป็นอำนาจของที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาที่กษัตริย์แต่งตั้งขึ้น

การประท้วงของศาลปาร์เลอมองต์ลุกลามออกไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ Rennes และ Grenoble

ไม่เพียงแต่พวกพระและขุนนางที่สนับสนุนศาลปาร์เลอมองต์เท่านั้น พวกฐานันดรที่สามก็เห็นว่าราชสำนักใช้อำนาจเผด็จการกดขี่ และควรลุกขึ้นสู้กับราชสำนักเพื่อปกป้อง “เสรีภาพของจังหวัดต่างๆ”

การชูธงปกป้องเสรีภาพของจังหวัดเช่นนี้แพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ราชสำนักก็โจมตีว่า พวกศาลปาร์เลอมองต์ไม่ได้ปกป้องเสรีภาพของจังหวัดต่างๆ แต่พวกเขาต้องการรักษาอภิสิทธิ์เอาไว้ต่างหาก

การต่อต้านราชสำนักขยายวงออกไปมากขึ้น ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1788 หลุยส์ที่ 16 ยอมเรียกประชุมสภาฐานันดร โดยกำหนดให้มีการประชุมในวันที่ 1 พฤษภาคม 1789 พร้อมกับระงับการปฏิบัติหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่ซึ่งประกอบไปด้วยผู้พิพากษาที่กษัตริย์แต่งตั้งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อลดแรงเสียดทานจากการประท้วง

นอกจากนี้ พระองค์ยังสั่งปลด Lom?nie de Brienne และแต่งตั้ง Necker กลับเข้าเป็นอัครเสนาบดีอีกครั้ง

ต่อมา Lamoignon ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรม และตามมาด้วยการยกเลิกมาตรการปฏิรูปศาลปาร์เลอมองต์ทั้งหมด

 

ศาลปาร์เลอมองต์และพวกขุนนางอภิสิทธิ์ชนร่วมมือกันต่อต้านนโยบายปฏิรูปของราชสำนักที่ทำให้พวกเขาเสียประโยชน์ โดยพวกเขาเรียกร้องให้กษัตริย์เรียกประชุมสภาฐานันดร

ด้วยหวังว่าสภาฐานันดรจะร่วมกันขัดขวางการปฏิรูปของราชสำนัก และยืนยันอภิสิทธิ์ของพระและขุนนางต่อไป

โดยไม่เคยคาดคิดว่าการประชุมสภาฐานันดรจะกลายเป็น “หลุมฝังศพ” ทั้งของกษัตริย์ พระ และขุนนางอภิสิทธิ์ชนไปพร้อมกัน