“กลุ่มการเมือง” เกิดใหม่ “อดีตอนาคตใหม่” วางมาตรฐานสูง จับตา “กลุ่มแคร์” พ้นเงา “ทักษิณ”?

ส่อแป้ก ส่อเป๋! “กลุ่มการเมือง” เกิดใหม่ “อดีตอนาคตใหม่” วางมาตรฐานสูง จับตา “กลุ่มแคร์” พ้นเงา “ทักษิณ”?

ผ่านการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 ครบ 1 ปี ปัญหาภายในของแต่ละพรรคที่เข้าสำนวน “เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล” ย่อมต้องมีผู้พ่ายแพ้ศึกภายในพรรค และออกมาจัดตั้งทัพใหม่ หรือเห็นอนาคตทางการเมืองของตัวเอง หากอยู่ในพรรคเดิมอาจไม่ตอบโจทย์และไม่รุ่ง หรือเป็นกลุ่มคนอกหักจากพรรคต่างๆ

รวมทั้งการแบ่งเป็นก๊ก มุ้งที่มีอยู่เดิมของแต่ละพรรคที่ “สุกงอม” ได้ที่ จึงเป็นที่มาของการเกิดกลุ่มทางการต่างๆ หรือการรวมตัวกันหลวมๆ ที่ยังไม่เป็นทางการ รอเวลาเปิดตัว

ทว่าการตั้งกลุ่มทางการเมืองเป็นเรื่องที่ไม่มีขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญยุ่งยากนัก จึงทำให้เกิดการตั้งขึ้นอยู่เนืองๆ

แต่โจทย์กลับยากขึ้นหลังเกิดปรากฏการณ์ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ที่มีอดีตแกนนำพรรคและดาวรุ่งของพรรคหลายคน “กล้าพูด” ในสิ่งที่นักการเมืองไม่กล้าพูดหรือเลี่ยงที่จะพูด

โดยเฉพาะ “3 ไอคอน” ได้แก่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการ อนค. และ “ช่อ-พรรณิการ์ วานิช” อดีตโฆษก อนค. ที่กระแส “ธนาธรฟีเวอร์” ก่อนเลือกตั้ง ทำให้เป็นอีกจุดสำคัญในการได้คะแนนเสียงมา

อีกทั้ง 3 คนนี้เปรียบเป็น “ไอคอน” ของคนรุ่นใหม่ และสามารถยึดพื้นที่ทางโซเชียลได้

แม้วันนี้จะถูกตัดสิทธิการเมือง 10 ปี หลังพรรค อนค.ถูกยุบ แต่พวกเขายังคงเดินในสนามการเมืองผ่าน “คณะก้าวหน้า” ที่มีชื่อล้อกับ “พรรคก้าวไกล”

เป็นการทำงาน 2 ขาของคนอดีต อนค.นั่นเอง

โจทย์นี้ยากขึ้นสำหรับกลุ่มใหม่ๆ ทันที หลังอดีตพรรคอนาคตใหม่-คณะก้าวหน้า วางมาตรฐานไว้สูงในการเดิมพันทางการเมือง อีกทั้ง “แนวคิดอนาคตใหม่” เองก็แผ่ขยายไปมาก รวมทั้งเพดานของสังคมได้ขยับสูงขึ้นในการถกเถียงเรื่องราวทางการเมืองอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาอย่างมี “นัยสำคัญ” จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศ

กลุ่มต่างๆ ที่ตั้งขึ้นใหม่ จึงถูกแรงกดดันจากความคาดหวังอยู่ไม่น้อย หากทำได้น้อยกว่าอดีตพรรคอนาคตใหม่-คณะก้าวหน้า ก็ส่อมี “อาการเป๋-แป้ก” ได้

หลายกลุ่มจึงพุ่งเป้ามาที่เรื่องเศรษฐกิจ ผ่านการนำเสนอแนวคิดและนโยบายต่างๆ เมื่อมองในภาพกว้างแล้ว แม้จะใหม่และดี แต่กลับไม่ว้าว ซึ่งอาจต้องรอให้แต่ละกลุ่มได้ตกผลึกนำเสนออีกครั้ง

อีกทั้งมีเรื่องของภาพพฤติกรรมในอดีตหรือภูมิหลังที่ติดตัวมา ซึ่งก็เป็นโจทย์สำคัญว่าจะรีแบรนด์ตัวเองอย่างไร

อีกทั้งการเปิดตัวก็มีรูปแบบไม่ต่างหรือมีความใหม่กว่า “อดีตพรรคอนาคตใหม่” ในการเจาะกลุ่มคนเมือง-คนรุ่นใหม่ ทำให้ภาพยังเดิมๆ

สําหรับกลุ่มที่มีบทบาทเด่นชัดและอยู่ในขั้นตอนการรอ กกต.อนุมัติ นั่นคือ “กลุ่มกล้า” ที่เตรียมเป็น “พรรคกล้า” นำโดย “กรณ์ จาติกวณิช” ที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์มา ที่เจาะนโยบายด้าน “Creative Economy” นโยบาย “Soft Power” รวมทั้งเน้นนโยบาย “อุตสาหกรรมการเกษตร” รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งนโยบายที่นำเสนอก็ยังไม่ติดหูติดตาคนในสังคม

แต่ความมุ่งหวังของ “คนรุ่นใหม่” ที่ต้องการกลุ่มที่มา “ชน” กับการใช้ “อำนาจรัฐ” ในปัจจุบัน เพื่อเป็นปากเป็นเสียงที่สำคัญ ในสภาวะที่ “ฝ่ายค้านอ่อนแอ” ทั้งเกมในและนอกรัฐสภา อีกทั้งคนในสังคมและคนรุ่นใหม่ ต่างหวังเห็น “ผู้แทนฯ” ที่มี “อุดมการณ์ทางการเมือง” ที่ชัดเจน เฉกเช่น “ธนาธร-ปิยบุตร-ช่อ” และบู๊ได้เทียบเท่า

ในสภาวะพัฒนาทางการเมือง ที่สังคมตื่นรู้และก้าวกระโดด แต่ “วัฒนธรรมทางการเมือง” และ “โครงสร้างทางอำนาจ” ไม่ได้ขยับเท่าทัน เพราะคนในสังคมแสวงหาทั้งการอิ่มท้องทางเศรษฐกิจและอิ่มปัญญาทางการเมือง

อีกกลุ่มที่เพิ่งตั้งขึ้นมาอย่างกลุ่มแคร์ ในแนวคิด “คิด เคลื่อน ไทย” หรือ CARE ที่มาจากคำว่า “Creative Action for Revival & People Empowerment” นำโดย “หมอมิ้ง” นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล

ในวันเปิดตัวกลุ่มแคร์ “เฮียเพ้ง” ไม่ได้มาร่วมงาน ซึ่งชื่อ “เฮียเพ้ง” เคยเป็นแคนดิเดตหัวหน้าเพื่อไทยมาก่อน แต่ประกาศไม่ขอรับ หากย้อนผลงาน “เฮียเพ้ง” เป็นอีกมือประสานกลุ่มทุนการเมือง ในยุคการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ซึ่งทั้ง 4 คนที่เป็นแกนนำกลุ่มแคร์ เคยร่วมสร้างพรรคไทยรักไทยและคิดนโยบายต่างๆ มากับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วย จึงเกิดคำถามว่ากลุ่มแคร์อยู่ภายใต้ร่มเงา “ทักษิณ” หรือไม่ โดย “หมอมิ้ง” กล่าวเชิงแบ่งรับแบ่งสู้

“ไม่มีอะไรดีกว่าการปฏิบัติที่เป็นจริง ซึ่งถ้าใครมีเจตนาที่ดี แล้วอยากเข้ามาร่วม เราก็ยินดีหมด” นพ.พรหมินทร์กล่าว

“หากถามว่าเชื่อมโยงหรือไม่ คือไม่ใช่ แต่เราเป็นอดีตรัฐมนตรี เคยทำงานให้บ้านเมือง มีประสบการณ์ และเราเห็นภาพรวม คิดว่าเคยทำอะไรให้กับประชาชน โดยขณะนั้นเราเป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของนายกฯ ทักษิณที่เปิดโอกาสให้เราคิด เราทำ และเกิดเป็นผลงานจริงขึ้นมา” นพ.พรหมินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 คนถูกมองว่าอยู่ในก๊กตรงข้าม “หญิงหน่อย” และมีเหตุการณ์ที่ระส่ำไปทั้งพรรคเพื่อไทย หลังมีการปั่นกระแส “เผาบ้านตัวเอง” ออกมา ในลักษณะพรรคเพื่อไทยเป็นที่พึ่งของประชาชนไม่ได้เช่นในอดีต ทำให้ “หญิงหน่อย-สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ต้องออกมาแถลงข่าวร่วมกัน ไม่ขัดข้องหากจะไปตั้งกลุ่มใหม่ เพราะเป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ 2560 ในระบบการเลือกตั้ง เปรียบเป็นแบบ 2 พรรค “เพื่อไทย-ไทยรักษาชาติ” ต้องทำงานร่วมกันในอนาคตต่อไป พร้อมกล่าวขอ “คนที่ออกจากพรรค” อย่ากล่าวให้ร้ายพรรค

จึงถูกมองว่าต้องการสื่อไปยังกลุ่มแคร์และกลุ่มที่ไปจากอดีตพรรคไทยรักษาชาติทันที

ทั้งนี้ กลุ่มแคร์ได้ใช้วอยซ์ สเปซ ที่วอยซ์ทีวี เป็นสถานที่ที่อยู่ในการดูแลของ “พานทองแท้ ชินวัตร” ในการเปิดตัวกลุ่มแคร์ โดยมีการจัดระบบจัดลำดับเปิดตัวอย่างทันสมัย

ทั้งนี้ นพ.พรหมินทร์กล่าวเปิดว่า กลุ่มแคร์ได้มีการพูดคุยกับคนกว่า 30-40 คน จากคณะเริ่มต้น 8 คน โดยเน้นเรื่องการ “คิดบวก” ไม่ใช่การ “คิดร้าย” เพื่อหาทางออกให้ประเทศ ไม่ใช่การเพ้อฝัน

นายภูมิธรรมระบุว่า กลุ่มแคร์ยึดมั่นในประชาชน เชื่อมั่นในพลังพลเมือง การตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อเป็นเวทีของประชาชน โดยจะเคลื่อนเวทีจาก กทม.ไปจังหวัดต่างๆ พูดคุยกับหลายกลุ่มวิชาชีพ

นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า เราเริ่มจากชุดความคิด เราจะเจอมหาวิกฤต จึงเริ่มมาขับเคลื่อน เชิญผู้เชี่ยวชาญมามีส่วนร่วม และได้เปิดเว็บไซต์ care.or.th และการตั้งเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ขึ้นมาด้วย

พร้อมจัดเสวนา “150 วันอันตราย ทางเลือกหรือทางรอด” โดยเน้นถึงสถานการณ์หลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เผชิญกันทั้งโลก ที่จะเจอกับปัญหาเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ส่วนกลุ่มแคร์จะพัฒนาเป็น “พรรคการเมือง” ในอนาคตหรือไม่นั้น นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า “สมาชิกเริ่มต้นถกเถียงกันอย่างชัดเจนว่าอันนี้ไม่ใช่พรรคการเมือง ถ้าจะมีใครเอาแนวคิดที่เกิดขึ้นในกลุ่มแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ไปใช้ เราก็ยินดี”

“ยังไม่มีดำริเรื่องการตั้งพรรคของคนที่มาร่วมกันในวันนี้ โดยคนเริ่มต้นส่วนใหญ่มีเครือข่ายและสังคมของตนเอง แล้วชักชวนกันเข้ามา” นพ.พรหมินทร์กล่าว

ทว่ากลุ่มแคร์ก็มีกลุ่มคนที่หลากหลายวงการอาชีพ ในการเข้ามาก่อตั้ง ซึ่ง นพ.พรหมินทร์ระบุว่า กลุ่มแคร์จะเน้นการเสนอแนวทางแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นรูปธรรม นำเสนอเรื่องนโยบายสาธารณะ จึงเกิดคำถามขึ้นว่ากลุ่มแคร์จะไม่พูดเรื่องการเมืองใช่หรือไม่

“ปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ที่เรื่องเศรษฐกิจ หากถามว่าไม่พูดการเมือง ให้ไปสัมภาษณ์คนที่เป็นแขกของกลุ่ม ก็จะสามารถให้ความรู้และพูดถึงสาเหตุ เรื่องของการเมืองได้ เพราะเราต้องการให้มีความหลากหลายและเปิดกว้าง”

นพ.พรหมินทร์กล่าว

ด้วย “มาตรฐานสูง” ที่อดีตพรรคอนาคตใหม่-คณะก้าวหน้าได้ทำเอาไว้ ทำให้หลายกลุ่มทางการเมืองที่ตั้งขึ้นมา ส่อมี “อาการเป๋-แป้ก” หากทำแล้วมาตรฐานไม่เทียบเท่าอดีตพรรคอนาคตใหม่-คณะก้าวหน้า อีกทั้งหลายกลุ่มก็ยากจะปฏิเสธถึง “ภูมิหลัง” รวมทั้ง “วีรกรรม” ในอดีต ที่เป็นเงาตามตัว

ดังนั้น การตั้งกลุ่มทางการเมือง แม้จะไม่ยากในการรวมกลุ่ม

แต่การจะประสบความสำเร็จได้นั้น ถือเป็นเรื่องยาก


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่