คนมองหนัง | “A World of Married Couple” “ครอบครัว” ที่ไม่มีวัน “สมบูรณ์แบบ”

คนมองหนัง

“A World of Married Couple” เป็นซีรี่ส์เกาหลีเรื่องล่าสุด ที่ฮิตทั้งในบ้านเรา (ผู้ชมสามารถดูผ่านแพลตฟอร์ม Viu) และในประเทศเกาหลีใต้

ซีรี่ส์นี้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตคู่ “อันไม่สมบูรณ์แบบ” โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ครอบครัวของแพทย์หญิงรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว กับสามีผู้กำกับภาพยนตร์ ซึ่งแสวงหาการยอมรับและความสำเร็จในทางวิชาชีพ พร้อมด้วยลูกชายที่กำลังมีอายุย่างเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

“ความไม่สมบูรณ์แบบ” ของครอบครัวดังกล่าวน่าจะสิ้นสุดยุติลง เมื่อคุณหมอภรรยาจับได้ว่าสามีผู้กำกับฯ มีชู้รัก จนความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสลงเอยด้วยการหย่าร้าง

ฝ่ายหญิงได้เป็นผู้ปกครองบุตรชายและยังใช้ชีวิตอยู่ในบ้านหลังเดิม ชุมชนแห่งเดิม ส่วนฝ่ายชายก็ไปเริ่มต้นชีวิตครอบครัวกับหญิงคนรักใหม่ที่กรุงโซล

แต่สายสัมพันธ์อันยุ่งเหยิงวุ่นวายกลับดำเนินต่อไปมิรู้จบ เมื่อสามีเก่าและภรรยาใหม่ของเขาย้อนกลับมาใช้ชีวิตที่เมืองแห่งเดิมอย่างเต็มภาคภูมิ…

เอาเข้าจริง “A World of Married Couple” อาจถือเป็นบทสนทนาต่อเนื่องจากซีรี่ส์เกาหลีดังๆ หลายเรื่องก่อนหน้านี้ ที่มักมี “ครอบครัว” อย่างน้อย 1 ครอบครัว เป็นศูนย์กลางของเรื่อง

“ครอบครัว” ที่คนรุ่นพ่อ-แม่ก่อร่างสร้างตัวได้ “สำเร็จ” (หรือ “ล้มเหลว”) ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่คนรุ่นลูก ผู้เป็นพระเอก-นางเอก ยังต้องเผชิญหน้ากับอนาคตอันไม่แน่นอน ทั้งในเรื่องความรัก การเริ่มต้นครอบครัวของตัวเอง และปมชีวิตด้านอื่นๆ

ราวกับว่า “สถาบันครอบครัว” นั้นเป็นภาพพร่าเลือนที่ไม่มีความกระจ่างชัดในความรับรู้ จินตนาการ หรือความคิดฝันของคน (เกาหลี) รุ่นปัจจุบันมากนัก

อย่างไรก็ดี “A World of Married Couple” ดูจะมีความล้ำหน้าจากเหล่าซีรี่ส์ร่วมชาติไปก้าวหนึ่ง ด้วยการกล่าวถึงชีวิตครอบครัวของตัวละครนำชาย-หญิง อันประกอบด้วยสามี ภรรยา และลูกชาย

เพียงแต่นี่เป็นการฉายภาพแทนของ “ครอบครัว” ที่แตกสลายและกลับไม่ได้ไปไม่ถึง, ฉายภาพการเล่นเกมการเมืองระหว่างคู่สมรส ตลอดจนความมึนงงสับสนของลูก ที่ถูกยื้อยุดอยู่ระหว่างเกมอำนาจดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ “ครอบครัว” ใน “A World of Married Couple” จึงไม่ใช่สายใย ความผูกพัน พันธะ ความรับผิดชอบ ระหว่างคนสองคน ซึ่งจะขยายต่อไปสู่สมาชิกคน/รุ่นอื่นๆ

หากเป็นแหล่งปะทะสังสรรค์-ประลองอำนาจระหว่างหญิงชาย ที่เวียนวนอยู่กับกิเลส ตัณหา ปรารถนา และราคะ

แม้ “ภาพครอบครัว” ของคนเกาหลีรุ่นใหม่ในซีรี่ส์เรื่องนี้จะกระจ่างชัด

แต่กลับเป็น “ความล้มเหลวพังทลายอย่างกระจ่างชัด” มิใช่ “ความสมบูรณ์แบบ” ใดๆ

ภาพแทนของ “ครอบครัว (ชนชั้นกลางระดับสูง)” ใน “A World of Married Couple” วางพื้นฐานอยู่บนสายสัมพันธ์ที่ต้องการความชัดเจน และ “ทางสองแพร่ง” เช่น จะรักหรือไม่รัก จะเลิกหรือไม่เลิก จะซื่อสัตย์หรือทรยศ จะไปต่อหรือหยุด จะสืบสานหรือตัดขาด โดยไม่มีจุดกึ่งกลางหรือ “ทางเลือก” อื่นๆ

แม้ว่าอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครที่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสายสัมพันธ์ดังกล่าว จะเต็มไปด้วยความซับซ้อน ลังเล สงสัย ตามประสามนุษย์ธรรมดาสามัญก็ตาม

น่าสนใจว่าตัวละครส่วนใหญ่ในซีรี่ส์เรื่องนี้ล้วนปรารถนาถึง “ความชัดเจน-สมบูรณ์แบบ” ไม่ว่าจะเป็นผู้อาวุโส สตรี (ที่เป็นทั้งฝ่ายกระทำและถูกกระทำ) กระทั่งเด็กวัยรุ่น

ขณะเดียวกัน ดูคล้ายว่าการยืนกรานที่จะเกาะยึดกับสายสัมพันธ์/ความรักอันสลับซับซ้อน หรือการพยายามจะปะผุ รื้อฟื้น สร้างความหมายใหม่ให้แก่ความสัมพันธ์เดิมๆ ที่เคยแตกร้าว กลับถูกผลักไส/เหมารวมให้กลายเป็น “ความเห็นแก่ตัว” ของผู้ชาย/ผัว/พ่อที่ล้มเหลวไปเสียทั้งหมด

ในอีกด้านหนึ่ง “A World of Married Couple” ก็เป็นซีรี่ส์ที่วิพากษ์วงการแพทย์อย่างแหลมคม

นี่คือเรื่องราวของคุณหมอเวชศาสตร์ครอบครัวคนเก่ง ที่มีปัญหาครอบครัวและต้องได้รับการเยียวยาดูแลจากจิตแพทย์

ช่วงต้นๆ เรื่อง ผู้ชมสามารถตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณและความเป็นมนุษย์ของตัวละครนำหญิงรายนี้ ได้มากมายหลายประเด็น

ทั้งประเด็นการใช้คนไข้ไปลอบทำงาน “สีเทา” เพื่อแลกกับการยอมจ่ายยาที่หมอไม่ควรสั่งอย่างพร่ำเพรื่อ ประเด็นการมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมิอาจปฏิเสธได้กับเหตุเสียชีวิตของแม่สามี รวมทั้งการเล่นชู้กับเพื่อนบ้านผู้เป็นสามีของหญิงอื่น

เรายังได้พบเห็นการชิงดีชิงเด่นในโรงพยาบาล โดยสถานพยาบาลไม่ได้เป็น “พื้นที่ทางสังคม” ที่สำคัญเพียงแห่งเดียวของคนประกอบอาชีพ “หมอ”

แต่ตัวละคร “หมอ” ระดับผู้บริหารโรงพยาบาล จำเป็นต้องเข้าไปขอรับเงินสนับสนุนจากเหล่านายทุน ขณะที่ “หมอ” ระดับเล็กๆ ซึ่งหวังจะเจริญก้าวหน้า ก็ต้องรู้จักคบค้าสมาคมกับชนชั้นนำหรือเครือข่ายสังคมกลุ่มอื่นๆ

“หมอ” จึงเป็นได้ทั้ง “คนป่วย” “คนผิด” เป็น “คนเล่นการเมือง” หรือ “คนมีผลประโยชน์ในทางธุรกิจ”

“สาร” ทำนองนี้มีความสำคัญมากสำหรับสังคมการเมืองในยุคโควิด-19 ซึ่งสาธารณชนมีแนวโน้มจะเชื่อฟังความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ไปหมดทุกเรื่อง (ทั้งที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณสุขโดยตรงและไม่ใช่)

ตัวละครสมทบรายหนึ่งใน “A World of Married Couple” ที่ผมประทับใจ คือ “ภรรยาท่านประธานชเว” และผู้นำสมาคมสตรีแห่งเมืองโกซาน ซึ่งรับบทโดย “ซออีซุก” นักแสดงหญิงฝีมือดีวัย 50 ต้นๆ

“ภรรยาท่านประธานชเว” เป็นสุภาพสตรีบุคลิกสงบนิ่งเปี่ยมบารมี ซึ่งแลดูมีลูกล่อลูกชนแพรวพราว และมีทั้ง “พระคุณ” กับ “พระเดช” (สอดคล้องกับที่ “ซออีซุก” เคยสวมบทเป็น “มาโก” เทพเจ้าหญิงหลากหลายรูปลักษณ์/อุปนิสัย/ปาง ในซีรี่ส์เรื่อง “Hotel del Luna”)

“ภรรยาท่านประธานชเว” นั้นมองเห็นความเป็นไปทุกอย่างใน “สงครามครอบครัว/ระหว่างคู่รัก” ที่บังเกิดขึ้น เธอไม่ได้วางตัวเป็นกลาง แต่แอบเลือกข้างและร่วมเล่นเกมอยู่เงียบๆ แบบไม่ต้องไปบีบเค้นคาดคั้นตัวเองหรือใครๆ อย่างสุดขั้ว เธอเหมือนเป็นคนเย็นชา ทว่าก็มิได้สยบยอม เฉื่อยชา หรืออ่อนไหวไหลล่องตามกระแสสังคมอย่างสิ้นเชิง

นี่คือแนวทางการเล่นเกมอำนาจเฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์มนาสามัญในโลกของความเป็นจริง


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่