รถกระบะห้ามนั่งท้ายและแค็บ : เรื่องที่อยากจะเล่าจากชายแดนใต้

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด และผู้เจริญรอยตามท่าน

จากกรณีคำสั่งตามมาตรา 44 แก้ไข พ.ร.บ.จราจร เกี่ยวกับเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งทางตำรวจประกาศว่าจะมีการกวดขันบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และจับปรับจริงๆ ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนนี้เป็นต้นไป ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวส่งผลไปถึงการห้ามนั่งท้ายรถกระบะ และห้ามนั่งในส่วนแค็บของรถกระบะซึ่งไม่มีเข็มขัดนิรภัยด้วย เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนซึ่งเป็นความปรารถนาดีของรัฐ

ในขณะโลกโซเชียลได้โพสต์ภาพตัดต่อล้อเลียนนโยบายดังกล่าวด้วยรูปต่างๆ เช่น การตัดต่อภาพกระบะรุ่นใหม่ โดยเอาท้ายรถออก รวมถึงการนั่งรถอย่างไรไม่ให้ถูกจับและอื่นๆ

จนทำให้มีการเลื่อนการจับปรับออกไประยะหนึ่ง

สําหรับชายแดนใต้แล้ว ผู้เขียนอยากจะเล่าให้ฟัง ว่าปัจจุบันมีรถกระบะที่ใช้ผิดกฎหมายตามประกาศนี้ทั้งของชาวบ้าน ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ความขัดแย้ง

ชาวบ้านคนพื้นที่ส่วนใหญ่นั่งท้ายและแค็บไปเรียนหนังสือ ปฏิบัติศาสนกิจ ไปงานการกุศล เยี่ยมญาติ ทั้งผู้ป่วยหรือถูกดำเนินคดีตามค่ายทหาร สถานีตำรวจ เที่ยวตามเทศกาลต่างๆ และอื่นๆ

ผู้ประกอบการมีรถสองแถวบริการจากหมู่บ้านไปอำเภอหรือในเมือง จนจัดตั้งเป็นสหกรณ์รถสองแถวทุกอำเภอ

ชาวบ้านซื้อรถสองแถวมาทำธุรกิจส่งนักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

เจ้าหน้าที่รัฐใช้รถกระบะนับร้อยคัน มีเจ้าหน้าที่นั่งหลังหลายคนถือปืนทั้งสั้น ทั้งยาว คอยลาดตระเวน ทั้งถนนทางหลวง ถนนเอเชีย และในหมู่บ้าน แถมบางคันไม่ติดป้ายทะเบียน

สิ่งเหล่านี้เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐชายแดนใต้ ที่ใช้รถใช้ถนนผ่านด่านนับร้อย อีกทั้งถูกบันทึกด้วยกล้องวงจรปิด

พฤติกรรมการใช้รถแบบนี้มีมานานนับสิบปี มันไม่ใช่จะปรับได้ภายในวันเดียว มันต้องใช้เวลา รัฐต้องมีทางออกให้ประชาชน

ที่สำคัญ ให้ทางออกคนของรัฐในพื้นที่ด้วย

 

ผู้เขียนเห็นด้วยกับในความหวังดีของรัฐ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน แต่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบในการประกาศว่าสามารถปฏิบัติได้ทันทีหรือไม่ โดยเฉพาะคนของรัฐที่ชายแดนใต้ มิฉะนั้นประชาชนเองก็จะไม่เคารพกฎหมาย เพราะคนของรัฐก็ยังไม่สามารถปฏิบัติได้เช่นกัน

ดังนั้น การมีเวลามากพอสมควรให้คนของรัฐปฏิบัติได้ก่อน หลังจากนั้นประชาชนก็ค่อยๆ ปรับตัวปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนเพื่อให้เขามีกำลังซื้อรถที่ถูกกฎหมายและรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ถึงโทษภัยในการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร

ที่สำคัญอีกอย่างในมาตรการนี้จะต้องไม่จับคนใช้รถอย่างเดียว แต่ต้องใช้มาตรการนี้กับบริษัทที่ผลิตรถด้วยเช่นกัน

สำหรับอีกข้อเสนอแนะหนึ่งต่อรัฐคือการบริการสาธารณะด้านการขนส่งที่มีมาตฐาน ทันยุค 4.0 ราคาประหยัดในการบริการประชาชนซึ่งยังขาดอยู่อย่างมากที่ชายแดนใต้

เมื่อไรเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชน พร้อมรวมถึงทางฝั่งผู้ผลิตรถยนต์เองจะได้ทราบว่ากระบะแค็บในวันหน้าจะยังได้รับความสนใจจากลูกค้าไหม เพราะไม่เช่นนั้น พวกเขาจะได้ไม่ต้องเสียเงินลงทุนผลิตออกมาขาย

ทำแค่กระบะหัวเดี่ยวกับกระบะสี่ประตูขาย จะได้ไม่ส่งเสริมให้คนทำผิดกฎหมาย…ดีไหม