จาก พปชร.-ปชป. ถึง รปช. โควิด-19 ระบาด “พรรคร่วม” ลุ้น “ปรับ ครม.” วัคซีนสยบเชื้อ

การรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย รัฐบาลภายใต้การนำของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถือว่ามาถูกทางในการป้องกันจนตัวเลขติดเชื้อภายในประเทศเป็นศูนย์ต่อเนื่องมากว่า 3 สัปดาห์แล้ว

แต่เชื้อโควิด-19 กลับไปแพร่ระบาดสู่การเมือง

โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาลถือว่ารับเชื้อกันไปแทบจะถ้วนหน้า

เริ่มจากพรรคแกนนำรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เชื้อแสดงอาการก่อนใครเพื่อน เมื่อคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ยื่นรายชื่อลาออก 18 คน เพื่อบีบให้ กก.บห.ทั้ง 34 คนต้องพ้นสภาพไป

รวมถึง 3 กุมาร สายตรง “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี อย่าง “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. และ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และเลขาธิการพรรค พปชร. และ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ต้องอยู่ในสภาพถอยร่นแบบหลังชนฝา

รอวันเก็บข้าวของทั้งตำแหน่งในพรรคและเก้าอี้รัฐมนตรี เมื่อการประชุมเลือก กก.บห.พรรค พปชร.ชุดใหม่เสร็จสิ้นในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้

ไม่เพียงแค่พรรค พปชร. แต่โควิด-19 ยังลามไปยังพรรคเก่าแก่อย่าง “พรรคประชาธิปัตย์” (ปชป.) เมื่อมีสมาชิกพรรคระดับ ส.ส.บางกลุ่มรู้สึกอึดอัดในการบริหารพรรคของแกนนำ “อเวนเจอร์” ที่มี “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ปชป. และ “เสี่ยต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค นำทัพ

เพราะ ส.ส.ที่ไม่ได้อยู่ในสายตรงของ “จุรินทร์” และ “เฉลิมชัย” มักถูกลดบทบาทให้เข้ามาร่วมงานกับพรรค ปชป. มากกว่ากลุ่มสายตรงของแกนนำพรรค

อีกทั้งการดูแลทั้งปัจจัยต่างๆ และกระสุนดินดำ มักเกิดความไม่เป็นธรรมและทั่วถึง กับเกิดอาการติดๆ ขัดๆ ส.ส.บางคนต้องควักเงินเดือนของตัวเองซื้อของช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เอง

ครั้นจะต่อสายระบายความเดือดร้อนก็ไม่กล้า เกรงว่าจะถูกโยงเป็นคนของกลุ่มนั้น กลุ่มนี้ มาเล่นการเมืองภายในพรรค หวังต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี

ขณะเดียวกันผลงานของพรรคภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคกลับไม่ค่อยเรียกเรตติ้งจากประชาชนที่มีต่อพรรค

ทั้งเรื่องประกันรายได้เกษตรกร การเยียวยาช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด แต่ผลงานที่เกิดขึ้น ประชาชนกลับเข้าใจว่าเป็นฝีมือของ พล.อ.ประยุทธ์และพรรค พปชร.ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน แจกเงินเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน

อีกทั้งการสื่อสารของพรรค ปชป.ในช่วงที่ผ่านมายังไม่สามารถสื่อสารไปถึงประชาชนได้โดยตรง ต่างกับพรรค พปชร.ที่มีสื่อช่วยโปรโมตผลงานและประชาชนจับต้องได้

ภาพของ 6 ส.ส.พรรค ปชป.ที่จัดอยู่ในสายตรงกลุ่ม กปปส. ได้แก่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม นางกันตวรรณ ตันเถียร กุลจรรยาวิวัฒน์ ส.ส.พังงา น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร น.ส.แนน บุญย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. ตบเท้าเข้าไปพูดคุยสารทุกข์สุกดิบกับ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกฯ และอดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป.

จึงสะท้อนภาพความอึดอัดของสมาชิกต่อแกนนำพรรค ปชป. ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ “จุรินทร์” จะยอมให้มีการเปิดประชุมใหญ่สามัญพรรคในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ เพื่อให้สมาชิกได้มาเคลียร์ใจกัน แต่ก็ยังไม่สามารถฟันธงล่วงหน้าได้ว่าจะรั้งให้สมาชิกที่ส่ออาการปันใจยังอยู่กับพรรค ปชป.ได้ต่อไปหรือไม่

แต่ที่มาแรงแซงทุกพรรคที่แสดงอาการแบบไม่ต้องตรวจโรคซ้ำสองครั้งคือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ที่มี “กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. และเป็นผู้มีบารมีของพรรคตัวจริง

เมื่อ “หม่อมเต่า” ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และหัวหน้าพรรค รปช. ประกาศไขก๊อกกลางวงประชุม กก.บห.เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา หลังที่ประชุม กก.บห.ประเมินผลงานการทำงานในเก้าอี้จับกัง 1 ไม่ผ่านโปร ส่งผลให้ กก.บห.พรรค รปช. ต้องพ้นไปทั้งคณะ โดยจะมีการประชุมใหญ่พรรค รปช.เพื่อเลือก กก.บห.ชุดใหม่ ในวันที่ 5 กรกฎาคมนี้

ฟางเส้นสุดท้ายที่ กก.บห.ส่งสัญญาณไม่พอใจการทำงานของ “หม่อมเต่า” ในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องจากมีความล่าช้า โดยเฉพาะในเรื่องการเยียวยาของสำนักงานประกันสังคมต่อแรงงานที่อยู่ในระบบประกันตนตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ที่ว่างงานจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทรวงแรงงานต้องเยียวยาอย่างรวดเร็ว

ทำให้ฝ่ายค้านฉวยโอกาสนำมาเป็นประเด็นดิสเครดิต “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ตลอด อีกทั้งการขับเคลื่อนงานต่างๆ ของกระทรวงแรงงานก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้มีบารมีนอกพรรคตัวจริงอย่าง “กำนันสุเทพ” กางโรดแม็ปไว้

หลายครั้งที่ “หม่อมเต่า” มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ทำตามออเดอร์ จนต้องมีเหตุการณ์ที่ประชุม กก.บห.พรรค รปช.มีมติสั่งให้ “หม่อมเต่า” เร่งนำงบฯ ของสำนักงานประกันสังคมมาเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.จัตุมงคลได้เคยสะท้อนความอึดอัดในการทำงานด้วยว่า “พรรคมาสั่งให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ให้ผมเป็นหัวหน้าพรรค แต่ทำไมไม่ฟังความคิดเห็นผม ต่อจากนี้ไปพรรคไม่ต้องมาสั่งให้ทำอะไร ผมจะทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของผมอย่างเดียว”

ซึ่งเหตุผลของการไขก๊อกจากหัวหน้าพรรค รปช. “หม่อมเต่า” ตอบเพียงสั้นๆ แต่มีใจความชัดเจนว่า “การลาออกไม่มีเหตุผล เหมือนสามี-ภรรยาหย่าขาดจากกัน ซึ่งมีผลทันที คนอย่างผมถ้าขอลาออกแล้วก็คือออกเลย และถ้ามีการปรับ ครม. จะเอาผมออก ก็คือออกเลย”

แน่นอนการปรับทัพภายในพรรค รปช. ทั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรค รปช. และเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแทน “หม่อมเต่า” อย่างไรเสียก็ต้องฟังเสียงของ “กำนันสุเทพ” ว่าจะเลือกใช้บริการคนใด โดยต้องครบเครื่องทั้งงานการเมืองและการบริหาร

ขณะนี้มีแคนดิเดตหัวหน้าพรรค รปช. คือ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” สำหรับ อ.เอนก บุคลิกเป็นนักวิชาการ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช.ร่วมกับ “กำนันสุเทพ” มาก่อน จึงเป็นชื่อที่มาแรง เนื่องจากมีฐานเสียงสนับสนุนในพรรคค่อนข้างมาก

ส่วน นพ.วรงค์ เพิ่งจะลาออกจากพรรค ปชป. และเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค รปช.ได้ไม่นาน จึงทำให้มีฐานเสียงสนับสนุนในพรรคน้อย ทำให้อาจจะยังไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคในตอนนี้ แต่ นพ.วรงค์ก็เป็นที่ยอมรับจากหลายฝ่ายว่าเป็นมือปราบทุจริตทุกรูปแบบ ทำงานแบบปะฉะดะ และในเชิงการเมืองมีความแหลมคมมากกว่า อ.เอนก

สุดท้ายคงไม่พ้นต้องปรับ ครม. แต่การปรับ ครม.จะเป็นวัคซีนสยบเชื้อโควิด-19 ในพรรคร่วมรัฐบาลได้หรือไม่ อีกไม่นานคงได้รู้กัน


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่