วิเคราะห์ : คลายล็อกปุ๊บ CO2 กลับมาพุ่งปั๊บ

เผลอแป๊บเดียว ก๊าซพิษคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาพ่นทะลักเหนือท้องฟ้าทั่วโลก ด้วยเหตุประเทศยักษ์ใหญ่พากันคลายล็อก เปิดให้ชาวบ้านเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องเจอล็อกดาวน์ เคอร์ฟิวเหมือนช่วงแรกๆ ที่โควิด-19 แพร่ระบาด

ศาสตราจารย์โคริน เล เคอเร่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย ประเทศอังกฤษ แสดงความประหลาดใจผ่านทางเว็บเดอะการ์เดียนว่า ระดับการปล่อยก๊าซพิษเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินคาด

ช่วงระหว่างโควิดแผลงฤทธิ์แรงๆ ต้นๆ เดือนเมษายนนั้น ทั่วโลกลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงถึง 17 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว

ถ้านับจากวันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา ถึง 11 มิถุนายน ภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลกลดลง 8.6 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

 

ในเร็วๆ นี้ คาดว่าอีกหลายประเทศทั่วโลกซึ่งแม้ว่ายังเจอโควิดถล่มก็ต้องยอมเปิดบ้านเปิดเมืองมากขึ้นกว่าเดิมและปล่อยให้คนกลับไปทำงานในออฟฟิศ โรงงานอุตสาหกรรม ไม่เช่นนั้นคนก็ป่วย เศรษฐกิจก็พังพาบ

การคลายล็อกเปิดเมืองก็มีเป้าหมายเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเร็วๆ แน่นอนว่าจะส่งผลต่อการเดินทางสัญจรเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วและการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศทั้งจากรถยนต์ โรงงานมากขึ้นเป็นลำดับ

บ้านเราไม่ต่างกับที่อื่นๆ ช่วงระหว่างรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว คุมเข้มการเดินทางข้ามจังหวัด ปริมาณการปล่อยก๊าซพิษลดลงไปอย่างฮวบฮาบ เห็นได้จากท้องฟ้าใสแจ๋ว ไร้ควันดำ แต่หลังคลายล็อกจนมาที่เฟส 4 ปรากฏว่าคนแห่กลับมาใช้รถยนต์จนแน่นถนน รถติด ควันพิษก็ยิ่งมาก

แนวโน้มปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวจะเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิดเนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังแหยงๆ ไม่กล้าใช้บริการขนส่งสาธารณะเพราะอยู่ในกลุ่มฝูงชนเยอะๆ เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

เล เคอเร่ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ควบขนานไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น นโยบายอุดหนุนให้แลกซื้อรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า สนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ทดแทนป่าเสื่อมโทรม ปรับปรุงอาคารบ้านเรือนเป็นระบบไฟฟ้าประหยัด ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง เทคโนโลยีพลังงานสะอาด การสร้างเมืองให้น่าอยู่ มีทางจักรยานเพิ่ม

แนวคิดของเล เคอเร่ เป็นเรื่องดี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรหยิบฉวยมาใช้เพราะไหนๆ จะเทงบฯ ถึง 1.9 ล้านล้านบาทเอามาปลุกฟื้นเศรษฐกิจก็ต้องมีวิธีการใช้ที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด

 

ในเวลานี้เกิดคำถามดังกระหึ่มว่า รัฐบาลลุงตู่จะใช้เงินก้อนมโหฬารอย่างมีประสิทธิภาพ กระจายเงินไปถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและป้องกันไม่ให้เม็ดเงินรั่วไหลไปอยู่ในมือนายทุนได้จริงหรือไม่

โดยเฉพาะงบฯ ก้อน 4 แสนล้านบาทที่รัฐบาลอ้างว่าจะนำไปฟื้นเศรษฐกิจและสังคมเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด มีหน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการเข้ามามากถึง 3 หมื่นโครงการ รวมแล้วเฉียดๆ 8 แสนล้าน เกินวงเงินที่ตั้งไว้เกือบเท่าตัว

ผู้แทนฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน นักวิชาการ สื่อมวลชน ตั้งข้อสงสัยกันว่า การเสนอโครงการทำกันอย่างรวบรัดเหมือนงัดเอาของเก่ามาตัดแปะ ใช้เวลาแค่ 7 วันเสร็จ

สื่อบางฉบับสำรวจรายละเอียดของโครงการต่างๆ ที่เสนอไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้คัดกรอง ปรากฏว่าโครงการทำถนนมีหน่วยงานยื่นเสนอกว่า 12,182 โครงการ

เป็นที่รู้ๆ กันว่า งบฯ ทำถนนส่วนใหญ่เป็นปกติที่ทำกันอยู่ทุกปี เป็นแนวคิดเก่าโบราณ ที่บรรดาผู้รับเหมา นายทุน หัวคะแนนรุมทึ้งแบ่งหัวคิวมาโดยตลอด ผลประโยชน์แทบไม่ได้ตกถึงมือชาวบ้านเลย อย่างที่เคยเกิดเป็นข่าวใช้งบฯ ทำถนนให้ควายเดิน

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายๆ โครงการได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เช่น โครงการก่อสร้างที่กลับรถรูปเกือกม้า โครงการสร้างประตูระบายน้ำ การเพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบคุณภาพอากาศ หรือการเพิ่มศักยภาพการจัดการสุขภาพสัตว์ป่าให้ปลอดโรค แต่ละโครงการใช้งบฯ เป็นหลักร้อยล้านบาท

เมื่อมีการเสนอโครงการซ้ำซ้อนกับโครงการที่อยู่ในงบฯ ปกติ ทำอย่างลวกๆ มักง่ายและเน้นประโยชน์พวกพ้องอย่างนี้จึงต้องร้องเตือนว่าใช้งบฯ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไร้ประโยชน์

อย่าลืมว่าสถานการณ์ในปัจจุบัน ประชาชนอยู่ในภาวะเดือดร้อนแสนสาหัส การค้าขายเงียบสงัด ธุรกิจปิดตัว โรงงานเลิกกิจการ อัตราว่างงานพุ่งทะลุ บัณฑิตจบใหม่ทะลักล้น กลายเป็นคนตกงานรุ่นใหม่

ดังนั้น เงินจำนวน 4 แสนล้านบาทจึงต้องกระจายอย่างทั่วถึง ผู้คนที่เดือดร้อนต้องมีงานทำ มีรายได้พยุงครอบครัว โครงการสร้างงานต้องเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์กับสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและมั่งคั่ง

 

มีกรณีตัวอย่างในประเทศที่เกิดวิกฤตการณ์รัฐบาลได้แก้ปัญหาด้วยการเทงบประมาณกระตุ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติและมีทิศทางการเติบโตของประเทศอย่างยั่งยืน เช่น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของเกาหลีใต้เมื่อปี 2551 ใช้เงินกว่า 3 แสนล้านวอนไปสนับสนุนในโครงการฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้ใสสะอาด ปรับปรุงการใช้พลังงานในอาคารบ้านเรือนให้มีประสิทธิภาพ และการขนส่งมวลชนใช้พลังงานสะอาด ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยแนวทางดังกล่าว ทำให้เกาหลีใต้ลุกขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กลุ่มประเทศพัฒนาอย่างเต็มภาคภูมิ

ขอฝากถึงลุงตู่ใช้เงิน 4 แสนล้านบาทอย่างคุ้มค่าให้คนไทยได้ประโยชน์กันถ้วนหน้าและสิ่งแวดล้อมของประเทศฟื้นคืนมา

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่