มุกดา สุวรรณชาติ : “การเมืองไทย” ใครเป็นศัตรูต่ออำนาจ ต้องถูกกำจัดให้สิ้น

มุกดา สุวรรณชาติ

88 ปี ยังไม่มี…ประชาธิปไตย แต่มีลอบสังหาร…อุ้มหาย (จบ)

ความคิดเห็นต่าง
และศัตรูทางการเมือง

ในการต่อสู้ทางการเมือง ย่อมมีคนหลายฝ่าย หลายกลุ่ม ที่อาจมีความคิดเห็นต่างกันได้ จะเนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองหรือผลประโยชน์

แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างไม่จำเป็นต้องกำจัดหรือเข่นฆ่ากัน

บางครั้งเราอาจเห็นนักการเมืองในบางประเทศมาร่วมรัฐบาลกัน ทั้งที่ความคิดเชิงอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน

แต่การเป็นศัตรูทางการเมือง จะชี้ขาดที่ผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลัก และคนมีอุดมการณ์ทางการเมืองในพรรคเดียวกัน อาจเป็นศัตรูกันทางการเมือง เช่น การแย่งชิงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นโค่นล้ม หรือกำจัดให้ล้มหายตายจากไปก็ได้

แต่ถ้ายิ่งความคิด อุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกัน และยังต้องช่วงชิงอำนาจรัฐหรือตำแหน่งทางการเมือง ก็ยิ่งทำให้การต่อสู้รุนแรงถึงชีวิต เพราะคนบางกลุ่มบางคนไม่เคารพสิทธิคนอื่น และกติกาประชาธิปไตย

ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์ประเทศที่ยังไม่พัฒนา แม้มีความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย

แต่จะพบว่า ฝ่ายที่ยังนิยมปกครองแบบเผด็จการ ยังใช้วิธีกำจัดศัตรูทางการเมือง และผู้เห็นต่างจากความคิดตนเอง โดยวิธีการจับกุมคุมขัง เนรเทศ ลอบสังหาร อุ้มหาย

 

การอุ้มหาย เป็นการกำจัดคล้ายการลอบสังหาร แต่เป็นวิธีที่มีคนสั่งการอยู่เบื้องหลัง กลัวจะมีผลเสียทางการเมืองมากระทบตนเอง จึงแอบทำ

บางคนอาจคิดว่านี่เป็นวิธีกำจัดคู่แข่งทางการเมือง หรือคนที่มาขัดขวางเส้นทางทางการเมืองแบบง่าย

แต่ในโลกยุคปัจจุบันที่ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นที่นิยมของประชาชนส่วนใหญ่ของโลก เพราะสามารถเปลี่ยนถ่ายอำนาจแบบสันติ ยุติธรรม เพื่อให้คนต่างๆ ได้มีโอกาสบริหารประเทศ โดยการเลือกของประชาชน การอุ้มหายจึงถูกประณาม

ในประเทศที่พัฒนาทางการเมืองไปมากแล้ว ได้มีข้อสรุปว่าเป็นวิธีสันติที่ทำให้สังคมอยู่ได้อย่างสงบ มีการพัฒนาประเทศไปได้เรื่อยๆ การฆ่าบุคคลสำคัญหรือศัตรูทางการเมือง จะก่อให้เกิดความรุนแรง จะเกิดการฆ่ากันโต้ตอบไปมา ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นใครก็จะอยู่ลำบาก อาจถูกลอบสังหารได้ทุกเวลา

ชนชั้นปกครองซึ่งพอมีความคิด จึงไม่อยากสร้างวัฒนธรรมการต่อสู้แบบนี้ เพราะเป็นอันตรายต่อตนเอง กลุ่มของตนเองและครอบครัวคนใกล้ชิด

การกำจัดศัตรูทางการเมือง และผู้เห็นต่าง แบบรุนแรงในช่วงปี 2517-2519 ได้ย้อนกลับมาอีก ไม่น่าเชื่อว่าวิธีการแบบนี้ก็ยังคงนำมาใช้แม้ห่างกันถึง 40 ปี ผู้ลงมือทำไม่ใช่ฆาตกรต่อเนื่อง แต่คงรับงานมา

ขณะนี้จึงเกิดกระแสที่คาดเดากันว่า…ใครเป็นผู้บงการ

 

กวี นักเขียน “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” ก็โดนกำจัด

23 เมษายน 2557 มีการลอบสังหาร “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” หรือนายกมล ดวงผาสุก กวีการเมืองชื่อดัง ณ ร้านอาหารครกไม้ไทยลาว ลาดปลาเค้า กรุงเทพฯ ทำให้องค์กรเครือข่ายนักเขียนระดับประเทศอันประกอบด้วย สมาคมนักเขียน สมาคมภาษาและหนังสือ สมาคมนักกลอน และเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป ออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจ และประณามต่อการกระทำไม่ว่ากรณีใดๆ ด้วยความรุนแรง

ไม้หนึ่ง ก.กุนที มีทั้งบทบาทส่วนตน บทบาทการเมือง และทัศนะที่แสดงผ่านงานเขียนซึ่งได้ปรากฏต่อสาธารณชนในสถานการณ์ปัจจุบัน องค์กรทางวรรณกรรมจึงขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินคดีให้ปรากฏข้อเท็จจริงและความเป็นธรรมอย่างเร็วที่สุด

ไม้หนึ่งเคยไปลี้ภัยต่างประเทศ หลังเหตุการณ์สังหารหมู่กลางเมืองปี 2553 และกลับมาเพราะคิดว่าปลอดภัย ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่พอถึงปี 2557 แม้รัฐบาลก็ยังเอาตัวไม่รอด

 

ผู้ลี้ภัยการเมือง อยู่ต่างแดน
ยังตามไปจัดการ

การติดตามเล่นงานผู้ลี้ภัยในต่างประเทศในยุคก่อนๆ ไม่มีใครทำ ไม่ว่าเผด็จการชุดไหน แต่ปัจจุบันตั้งแต่ปี 2560 มีการกดดันให้อยู่ยากลำบากมากขึ้น เคลื่อนไหวการเมืองไม่ได้ และที่หนักสุดคือ มีการลงมือหลายครั้ง ในลักษณะอุ้มหายหลายราย เช่น

1. นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ อดีตแกนนำ นปช.ปทุมธานี, นักจัดรายการและเจ้าของวิทยุชุมชน ซึ่งตำรวจระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท มีหมายจับคดีอาญาเกี่ยวกับความมั่นคงหลายคดี ลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ลาว รายงานข่าวว่า… ถูกกลุ่มชายชุดดำประมาณ 10 คน พร้อมอาวุธครบมือบุกเข้าจับตัวไปเมื่อ 29 กรกฎาคม 2560 จากนั้นก็หายตัวไป

2. นายอิทธิพล สุขแป้น หรือดีเจซุนโฮ อดีตแกนนำคนเสื้อแดงกลุ่มเชียงใหม่ 51, นักจัดรายการวิทยุใต้ดิน มีหมายจับคดีอาญามาตรา 112, หมายจับคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. เมื่อปี 2557 ลี้ภัยไปอยู่ลาว มีผู้พบเห็นเขาครั้งสุดท้าย หลัง 20 กรกฎาคม 2560 ขณะออกจากร้านอาหาร และขับมอเตอร์ไซค์กลับบ้านในช่วงเที่ยงคืน พบรถมอเตอร์ไซค์และรองเท้าข้างหนึ่ง ห่างจากร้านอาหารไป 1 ก.ม. และไม่มีใครพบอีกเลย

3. กลุ่มนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน และคนสนิทอีก 2 คน

สุรชัยเป็นแกนนำกลุ่มแดงสยาม, นักจัดรายการวิทยุใต้ดิน, อดีตผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวม 5 คดี ซึ่งถูกจองจำนาน 2 ปี 7 เดือน ก่อนได้รับอิสรภาพเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ยังมีหมายจับคดีบุกล้มการประชุมอาเซียนที่พัทยา จ.ชลบุรี เมื่อปี 2552

ลี้ภัยอยู่ในลาว และเคลื่อนไหวโดยการจัดรายการวิทยุใต้ดินผ่านโซเชียลมีเดียอยู่หลายปี มีผู้ติดต่อเขาได้ล่าสุดเมื่อ 12 ธันวาคม 2561 ก่อนหายตัวไปพร้อมผู้ติดตามอีก 2 คนคือนายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ

ต่อมามีการพบร่างผู้เสียชีวิต 2 ศพลอยอยู่ที่แม่น้ำโขงบริเวณ จ.นครพนม ครอบครัวได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดี ตรวจสอบดีเอ็นเอของ 2 ศพนั้นตรงกับนายชัชชาญ บุปผาวัลย์ และนายไกรเดช ลือเลิศ ซึ่งลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศลาว

พร้อมกับนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ซึ่งหายตัวไปจนถึงปัจจุบัน

 

4 แกนนำกลุ่มสหพันธรัฐไท 3 คน
นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง”

นักจัดรายการวิทยุใต้ดิน และถูกตำรวจระบุว่าเป็นแกนนำกลุ่มสหพันธรัฐไท มีหมายจับคดีอาญามาตรา 112 จากการปราศรัยที่สนามหลวง และกรณีจัดรายการวิทยุพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์

ชูชีพเข้าศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2515 เป็นประธานชมรมนิยมไทย สมัยยังเป็นนักศึกษา ทำงานเคลื่อนไหวจนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ในเขตอีสานใต้

เมื่อนักศึกษาคืนเมือง ตามนโยบาย 66/23 เขากลับมาศึกษาต่อที่คณะสาธารณสุขศาสตร์จนสำเร็จ แล้วต่อมาก็ทำธุรกิจด้านส่งออก แต่ยังสนใจการเมือง

ก่อนรัฐประหาร 2 เดือน เขาร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อให้ดำเนินคดีกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 8 คนฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากเป็นตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัย “ยกเลิก” การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549

หลังการรัฐประหาร 2549 ชูชีพเป็นผู้ต่อต้านยุคแรกของสนามหลวง

ชูชีพพูดดี เนื้อหาแน่น ให้ความรู้ประวัติศาสตร์ดีมาก จากประชาชนกลุ่มเล็กที่สนามหลวง มีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจนมีเวทีใหญ่ของพีทีวี นำโดยจตุพร พรหมพันธุ์ วีระ มุสิกพงศ์ จักรภพ เพ็ญแข

จากนั้นพัฒนาต่อจนเกิดกลุ่มใหญ่เป็น นปก. นปช. คนเสื้อแดง เมื่อม็อบพันธมิตรฯ ไล่รัฐบาลสมัคร

ตั้งแต่พฤษภาคม 2550 กลุ่มม็อบอิสระสนามหลวง ก็ปราศรัยตอบโต้กับพันธมิตรฯ และมีการดึงสถาบันกษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ทำให้หลายคนโดนคดี 112

สิงหาคม 2551 มีหมายจับชูชีพในความผิดมาตรา 112 เขาได้หลบหนีไปจีนอยู่พักหนึ่งก่อนจะเข้าไปที่ลาว และเคลื่อนไหวการเมือง ผ่านการจัดรายการวิทยุใต้ดิน โดยใช้โซเชียลมีเดียอยู่หลายปี

นายสยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง”

เรียนจบ ม.รามคำแหง, อดีตสมาชิกกลุ่มประกายไฟ และถูกตำรวจระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท มีหมายจับคดีอาญามาตรา 112 กรณีร่วมแสดงละคร “เจ้าสาวหมาป่า” ในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลา เมื่อปี 2556 เขาหนีไปลี้ภัยในลาวจึงเข้ากลุ่มของชูชีพ

นายกฤษณะ ทัพไทย หรือ “สหายยังบลัด”

ถูกตำรวจระบุว่าเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท มีหมายจับคดีด้านความมั่นคงที่เกี่ยวกับอาวุธปืน อาวุธสงคราม หนีไปลาวเช่นกันและไปเข้ากลุ่มชูชีพ

หลังจากมีข่าวการอุ้มหาย กลุ่มนี้เห็นสัญญาณอันตราย คิดว่าที่ลาวไม่ปลอดภัย จึงย้ายประเทศไปหลบอยู่เวียดนาม

ข้อมูลสุดท้ายคือ ผู้ลี้ภัยทางการเมือง 3 คนที่ถูกควบคุมตัวที่เวียดนาม และถูกส่งตัวกลับไทยแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม หลังถูกจับกุมที่ประเทศเวียดนามมาระยะหนึ่ง

แต่ทางการทั้ง 2 ประเทศปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และไม่มีใครติดต่อพวกเขาได้อีก

 

ทำไมการอุ้มหายมาเกิดในช่วงเวลานี้
และจะแก้ปัญหาการเมืองได้หรือไม่

เพราะคนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ ไม่ว่าโดยทางตรง หรือเผด็จการแบบแอบแฝง แปลงร่าง แต่เนื่องจากปัจจุบัน ผู้มีอำนาจสามารถใช้กฎหมายบีบบังคับ ฟ้องร้อง ทำให้หลายคนต้องหนีคดี กลายเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ

แต่คนเหล่านี้ไม่หยุดการต่อสู้ เนื่องจากปัจจุบันต่างกับยุคก่อน (ที่ไปอยู่ต่างประเทศแล้วไม่สามารถเคลื่อนไหวได้) แต่ในยุคนี้สามารถเคลื่อนไหวผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย เผยแพร่ความคิดเห็นได้ทั้งภาพและเสียง กลายเป็นเจ้าของรายการโทรทัศน์การเมือง ผู้ที่เห็นต่างจึงใช้ข้อมูลข่าวสาร และการวิจารณ์ ต่อสู้ในทางการเมืองได้ตลอดเวลา ถ้าฝ่ายผู้มีอำนาจทำผิดพลาดมากๆ ก็จะถูกโจมตีมาก

กฎหมายในต่างประเทศก็ไม่มีมาตราที่จะควบคุมการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สามารถแสดงในประเทศไทยได้ ดังนั้น รายการใน Social Media จึงมีการวิจารณ์กันอย่างเต็มที่ เปิดเผยทุกแง่มุมจากผู้ลี้ภัย จึงกลายเป็นศัตรูการเมืองโดยตรงของบางคนบางกลุ่ม

แต่ยิ่งไปไล่ฆ่าพวกเขา คนก็ยิ่งสนใจสิ่งที่พวกเขาพูด

และกำจัดแบบการอุ้มหายที่เกิดขึ้น ในประเทศด้อยพัฒนาจะไม่สามารถทำได้ ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่นยุโรปและอเมริกา ดังนั้น วิธีการอุ้มหาย หรือลอบสังหาร จะไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองให้ตกไปได้ มีแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น

กรณีอุ้มหายนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ อดีตเอ็นจีโอ จะเป็นรายสุดท้ายของผู้ลี้ภัยหรือไม่ ไม่มีใครรู้

แต่ตอนนี้ทุกคนนึกถึงปฏิบัติการสังหารทางการเมืองแบบยุคทมิฬ ที่กระทำต่อคนดัง เช่น อารีย์ ลีวีระ อดีตนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หรือเตียง ศิริขันธ์ นักการเมืองฉายา “ขุนพลภูพาน” ส.ส. จ.สกลนคร 5 สมัย รัฐมนตรี 3 สมัย หัวหน้าใหญ่เสรีไทยภาคอีสาน (คงจะได้เขียนถึงในโอกาสต่อไป)

ขณะนี้คนที่มีความเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ กลัวว่าอาจจะมีปฏิบัติการอุ้มหายแบบยุคทมิฬก็เป็นได้ การเมืองเราอาจย้อนหลังไปถึง 70 ปี การร่วมต่อต้านการใช้อำนาจเถื่อนจึงกระจายกว้างขวางขึ้น

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่