เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ คนหนังสือพิมพ์กับโรงพิมพ์

นักหนังสือพิมพ์รุ่นอาวุโสทุกวันนี้ มีหลายคนที่ผ่านงานโรงพิมพ์ คลุกคลีกับโรงพิมพ์มาเมื่อยังเป็นเด็กเล็กอยู่หลายคน บางคนหลงใหลในการอ่าน แล้วเลยอยากเขียน หัดเขียน กระทั่งมีโอกาสทำงานหนังสือพิมพ์

มานะ แพร่พันธุ์ ย้อนอดีตที่จับพลัดจับผลูก้าวมาบนเส้นทางคนหนังสือพิมพ์ให้ธีรัธร แพ่งประพันธ์ ในหนังสือ คือ… คนหนังสือพิมพ์ ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า

“ผมไม่มีความรู้อะไรติดตัวมาเลย เริ่มต้นจากออฟฟิศบอย รับงานสั่งกาแฟให้เขา และทำบล๊อกใช้แม่พิมพ์ ใช้ตะกั่วเอามาเรียง จะพิมพ์รูปต้องจ้างร้านบล๊อกทำ แล้วขยับมาพิสูจน์อักษร แต่ก่อนทำหนังสือพิมพ์ต้องคนเดียว ถ่ายรูปเพื่อทำปกหนังสือได้เงิน 40 บาท ได้พบนักเขียนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เช่น คุณเสลา เลขะรุจิ (นามปากกา “ไทยน้อย”) คุณสละ ลิขิตกุล และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช”

คนหนุ่มอีกคน กวี จงคดีกิจ บอกกับ ทวีโชค พูนไชย ว่า บิดาของเขาทำงานอยู่กับหนังสือพิมพ์จีน “ซิงเสียนเยอะเป้า” สายเลือดนักหนังสือพิมพ์จึงมีอยู่ในตัวตั้งแต่วัยเด็ก และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตามวันเวลาที่ผ่านไป เพราะในยามที่ว่างจากการเรียน เขาจะขลุกอยู่แต่ในโรงพิมพ์ เพื่อช่วยงานบิดาเล็กๆ น้อยๆ หรือไม่ก็นั่งอ่านข่าวต่างประเทศจากเครื่องเทเล็กซ์ ของสำนักข่าวต่างประเทศที่ดังอยู่ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเพื่อแก้เหงา

เสียงแท่นพิมพ์ดังอึกทึกช่วงตีหนึ่งตีสองแทบทุกคืน กลิ่นกระดาษและน้ำหมึกที่สูดดม กลายเป็นความคุ้นชิน และน่าหลงใหลสำหรับกวีนับแต่นั้นมา

ข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลกที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ซิงเสียนเยอะเป้าที่กวีชอบ จะถูกนำมาติดบนกระดานหน้าห้องเรียน เพื่อเผยแพร่ให้เพื่อนร่วมห้องได้รับรู้ ซึ่งกวีอาสาทำหน้าที่นี้ด้วยความเต็มใจ

 

ส่วนที่เริ่มต้นจากต่างจังหวัด ตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บอก ศศิชา อิสระศรีโรจน์ ว่า

คลุกคลีกับกองกระดาษ ตัวเรียงตะกั่ว และแท่นพิมพ์มาตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี บ้านเกิด เพราะต้องทำงานหารายได้ช่วยครอบครัว ในโรงพิมพ์ของญาติๆ ซึ่งบางครั้งมีคนมาจ้างให้พิมพ์หนังสือพิมพ์ ทำให้ได้เรียนรู้ การตรวจปรู๊ฟ พาดหัวข่าว บทความ ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทำหนังสือพิมพ์

บางคน จากอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ในกรุงเทพมหานคร ออกไปสร้างหนังสือพิมพ์รายวันกระทั่งเป็นที่ยอมรับถึงทุกวันนี้ หนังสือ วันนักข่าว 5 มีนาคม 2551 “ครูนักข่าว” บอกเล่าถึง บรรจบ ลิ้มจรูญ ว่า

เริ่มแรกเข้าสู่วงการสิ่งพิมพ์เมื่ออายุเพียง 20 ปี โดยรับจ้างทำบล๊อก ตรายาง แม่พิมพ์ และแผ่นป้ายโฆษณา (ร้านบล๊อกอาทิตย์ ถนนนครสวรรค์ นางเลิ้ง) ธุรกิจที่ทำสัมพันธ์โดยตรงกับบรรดานักหนังสือพิมพ์ จนทนสาบกลิ่นน้ำหมึกไม่ได้ต้องกระโจนเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ โดยจับมือร่วมกับเพื่อนเริ่มบุกเบิกหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ หลายฉบับ ทั้งรายปักษ์ รายสัปดาห์ และรายวัน

แต่ธุรกิจไปไม่รอด มีหนี้สะสม จนปี 2505 ต้องหนีขึ้นไปแสวงโชคที่เชียงใหม่ โดยเริ่มต้นธุรกิจตามที่ตัวเองมีประสบการณ์จากกรุงเทพฯ ทำบล๊อก ตรายาง และป้ายโฆษณา ก่อนตั้งต้นทำหนังสือพิมพ์อีกครั้ง และเปลี่ยนชื่อหัวเป็น “ไทยนิวส์” ถึงปัจจุบัน

ชื่อ “ไทยนิวส์” เพราะบรรจบเห็นว่า หนังสือพิมพ์ไทยรัฐและหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จึงปิ๊งไอเดียจับเอาคำว่า “ไทย” บวก “นิวส์” เป็นหนังสือพิมพ์ “ไทยนิวส์” แทนชื่อเดิมคือ “โยนก”

 

ครั้งก่อนว่าถึงโรงพิมพ์ที่นิสิตนักศึกษานิยมไปพิมพ์หนังสือ เช่น วิทยาลัยครูสวนสุนันทา (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา) ซึ่ง เสถียร จันทิมาธร ไปทำหนังสือที่นั่น แล้วผมไปพิมพ์หนังสือรุ่นต่อเนื่อง ติดต่อมาอีกหลายปี น่าจะมีมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไปพิมพ์หนังสือ ทำให้คุณหมออุดมศิลป์ แสงศิลป์นาม ไปจัดพิมพ์หนังสือที่โรงพิมพ์แห่งนี้ คือโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ สี่กั๊กเสาชิงช้า ได้เรื่องสั้นมาเรื่องหนึ่งที่พนักงานคนหนึ่งซึ่งตกเย็นเลิกงานมีความสุขกับการยกลูกสาวอายุ 7-8 ขวบขึ้นขี่คอพากลับบ้าน

วันหนึ่ง คนงานคนนี้ทำงานพลาด ยกกระบะตัวเรียงพิมพ์หนังสือที่เร่งพิมพ์ตก ตัวพิมพ์แตกกระจาย หัวหน้างานซึ่งปกติใจดี แต่วันนั้นโกรธสุดขีด ถึงกับเอ่ยปากว่า ทำงานแค่นี้ให้ผิดพลาดได้ ทำไม่ได้ ไปตัดมือทิ้งเสียไป้ สักพักหนึ่ง คนในโรงพิมพ์ได้ยินเสียงเครื่องตัดหนังสือดังกระหึ่ม พร้อมกับเสียงร้องตกใจของพนักงาน ว่าลุงตัดมือทิ้งทั้งสองข้าง เลือดโชก

เรื่องสั้นคือเรื่องสั้น ที่แต่งหรือเขียนขึ้นจากจินตนาการ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะกดสตาร์ตให้เครื่องตัดทำงานพร้อมกันทั้งสองข้าง เพื่อความปลอดภัย

แต่เมื่อเขียนเป็นเรื่องสั้น ทำให้เกิดความสะเทือนใจได้

 

เช่นเดียวกับที่โรงพิมพ์ไทยแบบเรียน ซึ่งชาวศิลปากรนิยมไปพิมพ์หนังสือทั้งรับน้องใหม่และหนังสือเล่มอื่น รวมทั้งผมกับขรรค์ชัย สุจิตต์ ที่นำหนังสือนิราศ กลอนลูกทุ่ง เห่ลูกทุ่ง ไปพิมพ์

โรงพิมพ์ไทยแบบเรียนจัดพิมพ์ผลการออกฉลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ “เรียงเบอร์” ขณะนั้น ออกทุกบ่ายจัดวันอังคาร มีเด็กและวัยรุ่นมารอรับสลากไปวิ่งขายประจำ

วันหนึ่ง “พี่ได๋” ในนามปากกา นิพนธ์ จิตรกรรม ชื่อจริง นิพนธ์ ขำวิไล ได้เรื่องสั้นขนาดยาวลงพิมพ์ในหนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ชื่อเรื่อง “ความหวังวันอังคาร” เรื่องเด็กวิ่งขายใบตรวจสลากคนหนึ่ง เพื่อให้มีโอกาสได้รับใบตรวจฉลากก่อนใคร จึงพยายามจะเข้าแถวข้างหน้าสุด เมื่อได้รับใบตรวจสลากที่เรียกว่า “เรียงเบอร์” ก็วิ่งออกจากหน้าประตูโรงพิมพ์ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม ตัดหน้ารถเมล์

ถูกรถเมล์ชนตายตรงนั้น เลือดนองถนน

ยังไม่มีใครได้สติทำอะไร ปรากฏว่ามีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน นำใบเรียงเบอร์ไปวางคลุมศพเพื่อน

 

ละแวกถนนบำรุงเมือง ละแวกถนนเฟื่องนคร ละแวกถนนตะนาว และละแวกศาลาเฉลิมกรุง มีโรงพิมพ์ที่จัดพิมพ์หนังสือพิมพ์ตั้งแต่เมื่อก่อนหลายโรง ทั้งจากนักหนังสือพิมพ์รุ่นก่อน มาถึงรุ่นผม

นักจัดทำหนังสือรุ่นนั้น ที่เรียกว่า “เล่มละบาท” ของนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัย มักนำหนังสือไปจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์สองสามแห่ง เช่น จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้ามไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์หนังสือมวย ต่อมาไปจัดพิมพ์ที่ตลาดบ้านพานถม ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ที่โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์ บางลำพู ทั้งยังมีอีกสองสามแห่ง เช่น รุ่งเรืองรัตน์ อักษรสัมพันธ์ และกรุงสยามการพิมพ์

อีกโรงพิมพ์หนึ่งที่โด่งดังมานาน อยู่ที่ถนนบพิธ หลังหอการค้าไทย ชื่อโรงพิมพ์บพิธ หรือบพิธการพิมพ์ เจ้าของโรงพิมพ์เป็น “คนธรรมศาสตร์” ชื่อ ยอดยิ่ง โสภณ ในห้วง 14 ตุลา 16 ถึง 6 ตุลา 19 โรงพิมพ์ของพี่ “ยิ่ง” จัดพิมพ์ทั้งใบปลิว ทั้งหนังสือ แถลงการณ์ ให้กับนักต่อสู้ทั้งหลายแทบว่า 24 ชั่วโมง

คงจำกันได้