หน้า 8 | หมูไม่กลัวน้ำร้อน

ในแวดวงการเมืองนั้นรู้ว่าหลังการเลือกตั้ง รัฐบาลจะมีเวลาฮันนีมูนประมาณ 1 ปี

เพราะมี “ยันต์ศักดิ์สิทธิ์” คือ เป็นรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย

และคนไทยจะให้โอกาสรัฐบาลใหม่พิสูจน์ฝีมือก่อน

ผิดนิดผิดหน่อยก็ให้อภัย

ปีที่ 2-3 จะเริ่มเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองจากการบริหารงาน และบริหารอำนาจของรัฐบาล

หมดเวลาฮันนีมูน

3 ปีนี้ คาถาที่มีมนต์ขลังที่สุดของรัฐบาล คือ คำขู่ “ยุบสภา”

เพราะ ส.ส. เพิ่งเหนื่อยกับการเลือกตั้ง

ไม่มีใครอยากเลือกตั้งใหม่

แต่เมื่อเข้าปีที่ 4 จะเกิดภาวะ “หมูไม่กลัวน้ำร้อน”

รัฐบาลอยู่ในช่วง “ตะวันตกดิน” เพราะใกล้เวลาเลือกตั้งใหม่

กลไกรัฐบาลเริ่มวางตัวเป็นกลาง เพราะไม่รู้ว่า “อำนาจ” จะเปลี่ยนมือหรือไม่

ส.ส. จะเริ่มมีฤทธิ์มีเดช ไม่กลัวคำขู่ “ยุบสภา” ของรัฐบาลอีกต่อไป

เลือกตั้งวันนี้กับอีก 1 ปีก็ไม่แตกต่างกันมาก

ที่สำคัญ ประชาชนจะตั้งคำถามกับการทำงานของรัฐบาล

เกิดความเบื่อรัฐบาล

อะไรที่ทน เขาจะไม่ทน

อะไรที่เคยยอม เขาจะไม่ยอม

นั่นคือ การเมืองในระบอบประชาธิปไตย

แต่การเมืองไทยในวันนี้ เป็นการเมืองที่มาจาก “อำนาจพิเศษ”

รัฐบาลมาจากการรัฐประหาร

มีมาตรา 44 เป็นดาบอาญาสิทธิ์

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนไทยจึงยอมสยบต่อ “อำนาจพิเศษ”

ส่วนหนึ่ง เพราะเบื่อหน่ายม็อบและการทะเลาะกันของคนไทยต่างสีเต็มที

พอบ้านเมืองสงบ ก็รู้สึกดี

มาตรา 44 ก็มีเสน่ห์ เพราะทำอะไรได้รวดเร็ว

ลัดขั้นตอนทุกอย่าง

แต่พอถึงใกล้เข้าสู่ปีที่ 4 ความรู้สึกที่มีต่อรัฐบาลก็เปลี่ยนไป

คนเริ่มกล้าตั้งคำถามกับรัฐบาลมากขึ้น

เริ่ม “เบื่อ” คนหน้าเดิมๆ

มาตรา 44 ที่เคยน่ารัก เมื่อมีการใช้อย่างพร่ำเพรื่อ

แม้แต่เรื่อง “เข็มขัดนิรภัย” หรือ “นั่งท้ายรถกระบะ” ก็ยังใช้

คนก็กล้าออกมาคัดค้าน

กล้าล้อเลียน “ผู้นำ”

โดยเฉพาะเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ กำหนดเวลาเลือกตั้งชัดเจนว่าประมาณ 1 ปีเศษ…รัฐบาลอยู่ในภาวะ “ตะวันตกดิน”

พรรคการเมืองที่นิ่งเงียบก็เริ่มขยับตัว

ไม่แปลกที่วันนี้รัฐบาลจะเผชิญกับ “คลื่นใต้น้ำ” และ “คลื่นบนน้ำ” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ถ้า คสช. อ่านการเมืองผิดพลาด

คิดว่าปีนี้จะเหมือน 3 ปีแรก

ขยับหมากผิดตัวเดียว

อาจแพ้ทั้งกระดาน