“การ์ตูนการเมือง” และ “บทกวี” สิ่งที่ใช้ “พูดแทน” กฤช เหลือลมัย

รายงานพิเศษ

เชตวัน เตือประโคน

เป็นศิลปินที่อาจกล่าวได้ว่า “ฮ็อต” มากในช่วงนี้

ล่าสุด เพิ่งมีการจับเข่าคุยกับเขาในงานเสวนาซึ่งจัดโดยร้านหนังสือ “The Writer”s Secret” และก่อนหน้านี้ก็มีบทสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์มติชน ทั้ง 2 รายการเกี่ยวกับเรื่องการเข้าครัวทำกับข้าว

เป็นอารมณ์เดียวกับที่ผู้อ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน นิตยสารศิลปวัฒนธรรม และนิตยสารสารคดี จะได้สัมผัส เพราะกฤชเป็นคอลัมนิสต์ประจำเกี่ยวกับเรื่องอาหารอยู่ใน 3 เล่มนี้

ส่วนที่ประจำการในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ คือ “การ์ตูนการเมือง” อวดโฉมเมื่อไหร่เป็นฮือฮา

อีกหนึ่งบทบาท ซึ่งมักจะปรากฏตามเวทีกิจกรรม นั่นคือการอ่าน “บทกวี” อีกทั้งก่อนนี้เขาก็เคยมีผลงานรวมเล่มชื่อ “ปลายทางของเขาทั้งหลาย” ซึ่งเคยเดินทางไกลไปจนถึงรอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์มาแล้ว

เรื่อง “การ์ตูนการเมือง” กับ “บทกวี” นี่เองที่เราเลือกคุยกับชายคนนี้ – กฤช เหลือลมัย

ที่สุด “การ์ตูนการเมือง”

สิ่งที่อยากทำและได้ทำแล้ว

มี2 พื้นที่ซึ่งใช้แสดงความสามารถที่กฤชบอกว่าใฝ่ฝันอยากจะทำมานานแล้ว และในที่สุดก็ได้ทำ

นั่นคือการเขียน “การ์ตูนการเมือง”

หนึ่งคือ ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ขณะอีกหนึ่งคือเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาที่ “กฤช เหลือลมัย”

มีโอกาสติดตามผลงานของเขาจากทั้ง 2 พื้นที่ พบความเหมือนและต่างกันอยู่บ้าง

เหมือน คือ “คม” ความคิดของงาน

ต่าง คือ ประเด็นที่เฟซบุ๊กสามารถเล่นกับเหตุการณ์ได้อย่างทันท่วงที ขณะที่รายสัปดาห์ต้องการการตกผลึกให้มากขึ้นกว่า

“พ่อเป็นครูสอนวาดรูป ผมวาดรูปได้ตั้งแต่เด็ก โตมาก็ยังชอบอยู่นะ มีอุปกรณ์ส่วนตัว วาดรูปมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไรมาก เนื่องจากสนใจอย่างอื่น ก็ทิ้งๆ ไป บ้าง แต่ก็ยังอยู่ในความคิดตลอด

IMG_20160510_215933-2-696x941

“ถ้าถามว่าสิ่งที่อยากทำที่สุด ก็ตอบว่าคือการวาดการ์ตูนแบบที่กำลังทำอยู่ในตอนนี้แหละ เป็นสิ่งที่คิดมาตลอด” กฤช เริ่มต้นบทสนทนา

แรงบันดาลใจก่อนจะเป็นการ์ตูนการเมือง เริ่มต้นมาจากการได้อ่านการ์ตูนของ ณรงค์ ประภาสะโนบล แห่งชัยพฤกษ์การ์ตูน สืบต่อมากระทั่งยุคปัจจุบันถึง อรุณ วัชระสวัสดิ์

เมื่อเหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย หลายอย่างดูไม่ชอบมาพากล การจะพูดอะไรก็ทำได้ไม่เต็มปาก เป็นเหตุผลให้กฤชได้ใช้ “การ์ตูนพูดแทน”

กฤช บอกว่า คนเราควรมีช่องทางบางอย่างเพื่อจะแสดงออก หรืออย่างน้อยให้คนอื่นๆ ที่สู้ในแนวทางเดียวกันได้อุ่นใจ ว่ายังมีคนที่อยู่ข้างเขา การแสดงออกนี้ ไม่ว่าจะการ์ตูนหรือบทกวี ส่วนหนึ่งเพราะส่งเสียงเราให้เป็นที่ได้ยิน และส่งความเป็นเพื่อนถึงคนคิดเหมือนเราได้อุ่นใจ

การ์ตูนเป็นช่องทางหนึ่งในวันที่การพูดตรงๆ มีปัญหา

“เพราะการ์ตูนสามารถที่จะเล่าเรื่องด้วยภาพ ภาพนั้นอาจไม่เกี่ยวกับสิ่งที่จะพูด แต่พอคนเห็นแล้ว เข้าใจ…ผมก็มองเห็นว่าปลอดภัยที่สุด สำหรับคนที่ไม่อยากจะยอม แต่ก็ไม่พร้อมออกไปเสี่ยง หรือคนที่ไม่ได้มีความรู้ในตัวบทกฎหมาย เราทำเท่าที่จะทำได้” กฤช กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อก่อนการ์ตูนการเมือง ล้อเหตุการณ์หรือล้อบุคคลนั้น สามารถทำได้ไม่มีใครถือโทษโกรธเคือง หากแต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับไม่ใช่

“ดังนั้น เราต้องพัฒนาการล้อให้เหนือขึ้นไปอีก” กฤช ตอบแล้วหัวเราะ

“อันที่จริง สภาพแบบนี้มันก็ดีเหมือนกันนะ เป็นตัวทดสอบ เป็นโจทย์ที่ยาก ทำให้เราใช้สมองคิดกับมันมากขึ้น ใครจะรู้ว่าถ้าไม่เกิดรัฐประหาร บ้านเมืองเรียบร้อย วิธีการแสดงออกของการ์ตูน กวี หรือของศิลปินในประเทศนี้อาจจะจืดชืดเลยก็ได้ การที่มีโจทย์ยาก ทำให้งานพวกนี้พัฒนาขึ้น”

“นี่ถ้าหากเราพยายามจะมองเรื่องนี้ในแง่ดีนะ” กฤช กล่าว

“บทกวี” ที่ควรอยู่

ความท้าทายศิลปินยุคใหม่

เปลี่ยนมาคุยกันเรื่อง “บทกวี” อีกหนึ่งความสามารถของ กฤช เหลือลมัย

คำแรกคือการชวนระลึกถึงผลงานที่มีชื่อว่า “ปลายทางของเขาทั้งหลาย” ซึ่งเคยจัดพิมพ์เมื่อนานมาแล้ว

“อยากเผาทิ้ง” กฤช ว่าแล้วหัวเราะ

แน่นอนว่า เป็นคำตอบทีเล่นทีจริง เขาคงไม่จู่ๆ ลุกขึ้นไปทำดังกล่าว หากแต่เป็นคำตอบที่สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโต พัฒนาการ โดยเฉพาะหลังจากที่สถานการณ์บ้านเมืองเผชิญ “วิกฤต” ในช่วงทศวรรษมานี้

เพราะเป็นสถานการณ์ที่ช่วยลับคมความคิด ตลอดจนเปิดโลกทัศน์ให้กับผู้คนได้อย่างกว้างขวาง ขนาดที่บางคนกลับไปอ่านผลงานเก่า ๆ ของตนเองแล้วถึงกับอายในความคิดวันวัยนั้น

สำหรับความชอบเรื่องบทกวี กฤช เล่าให้ฟังว่า เพราะที่บ้านมีหนังสืออยู่เยอะ นิตยสารต่างๆ ที่อ่านในช่วงนั้นก็เช่น ชัยพฤกษ์ ก้าวหน้า ซึ่งจะมีคอลัมน์เกี่ยวกับวรรณคดี กลอนต่างๆ เมื่อได้อ่านแล้วก็ลองเขียนดูบ้าง

“อันนี้ไม่ได้คุยนะ (หัวเราะ) เขียนได้ตั้งแต่ ป.6 (ยิ้ม) คือ ใครลองทำก็คงทำได้ เขียนกลอนอะไรต่างๆ ในวันสำคัญ บทอาเศียรวาท เขียนติดไว้หน้าบ้านเลย คือวัยเด็กอะไรที่ทำได้แล้วสนุกเราก็ทำ” กฤช ย้อนให้ฟังถึงวัยเยาว์

ผ่านความสนใจอื่นๆ ไปอีกหลายสิบปี หากแต่ก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องบทกวีไปเสียทีเดียว

ราวปี พ.ศ.2540 เขากลับมาสนใจเรื่องการเขียนบทกวีอีกครั้ง เพื่อใช้อธิบายสิ่งที่ตัวเองอยากสื่อออกมาที่มากกว่าร้อยแก้วซึ่งทำอยู่เป็นหลักในงานประจำ (ในช่วงนั้นกฤชประจำกองบรรณาธิการวารสารเมืองโบราณ) จนที่สุดก็เกิดมาเป็นผลงานรวมเล่ม “ปลายทางของเขาทั้งหลาย”

ถามว่า “กวีอย่างเขา จับปากกาแล้วนั่งเขียนได้เลยไหม?”

คำตอบได้รับกลับมาทันทีว่า มีหลายแบบ มาได้ทุกทิศทาง บางบท บางลักษณะก็มาแบบปุบปับ ปากกามี กระดาษมา เขียนได้เลย

“คงเหมือนอย่างที่อาจารย์บางคนพูดไว้ เขาบอกหลังจากที่ทำงานเสร็จ เหมือนเขาไม่ได้ทำ มันไหลมาเอง ใครข้างบนมาทำให้ แต่บางชิ้นก็ทำแบบที่ว่าไม่ได้ เพราะเราต้องการอธิบายอะไรบางอย่าง งานแบบนี้ต้องวางพล็อต ส่วนมากเป็นบทยาวๆ พูดถึงสังคม การเมือง เพราะถ้าไม่มีพล็อตไว้ จะใช้อารมณ์ไปเรื่อยๆ คงไม่ได้”

IMG_20160510_215903-2-696x971

อย่างที่กฤชมักเตือนตัวเองเสมอ เรื่องข้อระวังสำหรับการเขียนฉันทลักษณ์ ซึ่งจะเป็นไปได้ 2 อย่าง คือ 1.เป็นทั้งตัวล่อให้คนมาอ่านได้ และ 2.ทำให้สารเราผิด หลุดหลงระเริงไปกับฉันทลักษณ์จนไม่มีประเด็น

“แต่งๆ ปุ๊บ… อ้าว จบแล้ว ยังพูดไม่หมดเลย” กฤช กล่าวพร้อมหัวเราะ

สำหรับผลงานบทกวีของเขา จะกล่าวว่าเป็นฉันทลักษณ์ก็ได้ หรือไม่ใช่สัญลักษณ์ก็ได้เช่นกัน เพราะดูก้ำๆ กึ่งๆ ครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งเจ้าตัวบอกช่างเถอะ ใครจะเรียกอะไรก็แล้วแต่

“ก็เหมือนกับข้าว ถ้ารู้สึกว่ากินแกงเขียวหวานแบบนี้เบื่อแล้ว กินอย่างอื่นสิ ลองสร้างมาใหม่ ประดิษฐ์อย่างอื่นใหม่ดู”

แนวการเขียนที่กวีหนุ่มผู้นี้ใช้อยู่บ่อยๆ คือ กลอน 12 ซึ่งเจ้าตัวพยายามให้คนอ่านก้าวให้พ้นกลอน 8 ที่คุ้นเคย จังหวะการอ่านแบบแบ่ง 4-4-4 เป็นจังหวะแปลกๆ ให้รสชาติใหม่ ซึ่งเขาบอกว่าต้องยกเครดิตให้กวีรุ่นพี่ ประกาย ปรัชญา ที่ทำมาก่อน

“บทกวีบางชิ้นเราก็เริ่มด้วยกลอน 6 ต่อมาเปลี่ยนเป็นกลอน 8 และเป็นกลอน 12 และอาจจบด้วยกลอน 4 คือทำได้หมด ใครจะไปว่าอะไร ใครจะจับไปปรับทัศนคติเหรอ” เสียงล้อเล่นในตอนท้ายชวนคิด

คำถามสุดท้าย อยากให้เขาช่วยพูดถึงคำว่า “บทกวีตายแล้ว” ซึ่งมักได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ

กฤช สวนกลับมาแทบจะในทันทีว่า…

“ไอ้ที่สมควรตายก็ตายเถอะ ที่มันไม่รับใช้ความยุติธรรม ที่อยู่ข้างเผด็จการ ที่บิดเบือนความเป็นจริงหลายๆ อย่าง ก็ให้มันตายไป

“บทกวีแก่ๆ ก็ตายไป แต่ที่เหมาะสมกับยุคสมัย ที่เปิดมุมมองใหม่ๆ ทำให้เราพัฒนาภาษา ตั้งคำถามกับสิ่งต่างไป มันยังมีอยู่แน่ๆ ไม่ตายหรอกเพราะมีคนเขียน… ส่วนของเก่าๆ ก็ให้ตายๆ ไป”

แล้วเสียงหัวเราะของกฤชก็ระเบิดดังลั่น

“การ์ตูนการเมือง” และ “บทกวี”

คืออีก 2 ความสามารถของ กฤช เหลือลมัย ชายผู้ซึ่งถ้าจะให้คำจำกัดความว่าเป็น “นัก” อะไรดูจะทำได้ยากยิ่ง ด้วยเขาสามารถทำได้ (ดี) ในหลากหลายเรื่องเหลือเกิน

ไม่เชื่อ?

พลิกไปชม “การ์ตูนการเมือง” ของเขาในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ดูก็ได้