เปิดโฉม “บช.ไซเบอร์” ก.ย.นี้ ปราบอาชญากรโซเชียล-เฟกนิวส์ “เดอะแจง” เต็งจ๋า ผบช.คนแรก

สํานักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ขานรับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หลังจากเดินทางไปตรวจเยี่ยมศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หรือ Anti Fake News Center ภายใต้สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ขานรับ “บิ๊กป้อม” ที่ว่า คือนโยบายให้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

โดย พล.อ.ประวิตรสำทับว่า ต้องมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อผู้ที่กระทำความผิดกรณีเฟกนิวส์อย่างจริงจังเด็ดขาด เพื่อปกป้องประชาชน เยาวชน สังคม และประเทศชาติให้มีความปลอดภัย ไม่ตื่นตระหนก และเกิดความสงบสุขในบ้านเมืองช่วงวิกฤตโควิด-19

ถัดมาอีก 1 เดือน มีการนำเรื่องเข้า “ซูเปอร์บอร์ด” หรือที่ประชุมบริหาร ตร. ที่มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และรอง ผบ.ตร.ทุกคนร่วมพิจารณา

โดยมีมติว่า จำเป็นต้องมีหน่วยงานนี้ครอบคลุมภารกิจทั่วประเทศ รวมทั้งได้วิเคราะห์สภาพปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น การหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต ขายของผิดกฎหมายทางออนไลน์ การคุกคามชีวิตส่วนบุคคล ล่วงละเมิดทางเพศ เป็นต้น

เพราะประจักษ์แล้วว่า ภัยในโลกไซเบอร์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง

โครงสร้างหน่วยงานด้านป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของ ตร. ได้แก่ บก.ปอท. และสถานีตำรวจในสังกัด บช.น. ภ.1-9 แต่ยังไม่สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ได้อนุมัติหลักการ และมอบหมายให้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. (บร.) เป็นหัวหน้าทีมศึกษาวิเคราะห์จำนวนตำแหน่งที่เหมาะสม การกำหนดตำแหน่ง พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร จเรตำรวจแห่งชาติ รับผิดชอบเรื่องการแก้กฎหมาย และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. (มค.) รับผิดชอบเรื่องการจัดวางระบบ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.), คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ตช.) และออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป

ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ครั้งที่ 4/2563 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ในที่ประชุมได้หยิบยกประเด็นการตั้ง “บช.ไซเบอร์” ภายใต้ชื่อทางการ “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” หรือ บช.สอท. ขึ้นมาหารือ

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. และโฆษก ตร. ได้เล่าถึงบรรยากาศการประชุมว่า ผบ.ตร.ได้รายงานความคืบหน้าการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบงานทางเทคโนโลยีเพื่อดูแลเรื่องเฟกนิวส์ให้นายกรัฐมนตรีทราบ

เบื้องต้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำงานคู่ขนานในหลายด้าน ทั้งการแก้กฎหมาย กำหนดตำแหน่ง ประสานกระทรวงดิจิทัลฯ ออกร่างระเบียบใหม่ ซึ่งจะใช้เวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม จัดตั้งกองบัญชาการใหม่แล้วเสร็จ

ด้านงบประมาณจะรับการสนับสนุนจากกระทรวงดิจิทัลฯ ส่วนสถานที่ตั้งกองบัญชาการ จะใช้ที่เมืองทองธานี

สําหรับโครงสร้าง “กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” มีทั้งหมด 7 กองบังคับการ มีกองบังคับการอำนวยการ, กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1-5 (5 กองบังคับการ) รับผิดชอบ ภ.1-9 และกรุงเทพมหานคร ทำคดีฉ้อโกง แชร์ออนไลน์ คดีหลอกลวงทางโซเชียล คดีดาราแจ้งความถูกตัดต่อรูปภาพ และกองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทำหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยีและการประสานงานกับต่างประเทศ รวมทั้งมีพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ไซเบอร์ มีอำนาจพิเศษในการไปตรวจยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครือข่าย

มีกรอบอัตรากำลังทั้งสิ้น 2,000 ตำแหน่ง เป็น ผบช. 1 ตำแหน่ง รอง ผบช. 3 ตำแหน่ง ผบก. 7 ตำแหน่ง รอง ผบก. 21 ตำแหน่ง ผกก. 46 ตำแหน่ง รอง ผกก. 185 ตำแหน่ง สว. 241 ตำแหน่ง รอง สว. 563 ตำแหน่ง และ ผบ.หมู่ 933 ตำแหน่ง

ระยะเริ่มต้นพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม

ระยะต่อไปสรรหาบุคคลภายนอกที่มีความรู้เฉพาะด้าน บรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ

ทั้งนี้ กองบัญชาการใหม่นี้ยังทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับหน่วย บก.สืบสวนทั่วประเทศ โดยคดีมโนสาเร่ทั่วไปจะให้พื้นที่ดำเนินการ แต่คดีที่เกี่ยวพันข้ามจังหวัด ข้ามประเทศ บช.สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่ บก.ปอท.ที่มีอยู่เดิมนั้น จะปรับการทำงานให้เหมาะสมกับภารกิจของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งจะไปเน้นทำคดีเกี่ยวกับความมั่นคงเป็นหลัก

เมื่อมีการตั้งกองบัญชาการใหม่ขึ้น ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการนั้น ถูกมองเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นใคร???

สเป๊กผู้บัญชาการ “ตร.ไซเบอร์” ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์พอสมควรทั้งกระบวนการสืบสวนสอบสวน มีความรู้สมัยใหม่ และก้าวทันเทคโนโลยีด้วย

แต่ปัจจุบันระบบการแต่งตั้งตำรวจ หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร.เป็นผู้เลือก

กระแสค่อนข้างแรงในวงการสีกากี ไฟสปอตไลต์สาดส่องไปที่ พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง หรือ “เดอะแจง” จเรตำรวจ (สบ.8) นรต.41 ว่าเป็นม้าเต็ง มีโอกาสได้ลุ้นนั่งเก้าอี้ ผบช.สอท.

“เดอะแจง” นั้น ชื่อชั้นไม่ธรรมดา เป็นนายตำรวจโปรไฟล์ดี เส้นทางชีวิตราชการที่ผ่านมาได้นั่งเก้าอี้สำคัญๆ อาทิ ผู้กำกับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รองผู้บังคับการกองปราบปราม, ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์, รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 แถมยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ ผบ.ตร.

เก้าอี้ผู้นำกองบัญชาการใหม่นี้ จะมีชื่อ พล.ต.ท.กรไชยมากุมบังเหียนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าสามารถตั้ง บช.สอท.ได้ทันกรอบระยะเวลา 3 เดือน ตามไทม์ไลน์ที่วางไว้หรือไม่

เพราะการแต่งตั้งระดับ พล.ต.ต. ขึ้นไป ควรเสร็จสิ้นก่อน 31 สิงหาคม แต่หากช้ากว่านี้ ทุกอย่างย่อมไม่แน่นอน


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่