วิกฤติศตวรรษที่ 21 | กลุ่มเสี่ยงและผู้ตกเป็นเหยื่อของโควิด-19

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (9)

กลุ่มเสี่ยงและผู้ตกเป็นเหยื่อของโควิด-19

ผลกระทบของโควิด-19 ต่อสังคมและผู้คนเป็นไปอย่างไม่สม่ำเสมอ มีบางเมือง บางภูมิภาค และบางชั้นชน ได้รับผลกระทบมากกว่าที่อื่นหรือชั้นชนอื่น

เช่น ในสหรัฐ พบว่าเขตหรือเทศมณฑลที่นิยมพรรคเดโมแครต ได้รับผลกระทบมากกว่าเขตที่นิยมพรรครีพับลิกัน

หรือบางประเทศได้รับผลกระทบมากกว่าบางประเทศ

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรณีโควิด-19 แปรเป็นเรื่องการเมืองได้ง่าย และทำให้ความเข้าใจ ความโปร่งใส และการแก้ไขปัญหาการระบาด มีความยากขึ้นไปอีก

ขณะที่เห็นการช่วยเหลือและความร่วมมือที่น่าซาบซึ้งใจ ก็เห็นความแตกแยกและอันตรายของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นไปอีก

กลุ่มเสี่ยงและผู้ตกเป็นเหยื่อของโควิด-19 ที่เป็นข่าวใหญ่ในประเทศพัฒนาแล้วได้แก่

ก) ผู้สูงอายุ จำนวนหนึ่งยากจน และพำนักในสถานบริบาล รวมไปถึงผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และโรคหัวใจ

ข) ชนชาติส่วนน้อย มีคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา และชาวละติโน เป็นต้น

ค) คนยากจนทั่วไป

ง) คนไร้บ้านและคนงาน ในที่นี้จะยกบางกรณีของผู้สูงอายุและกรณีชนชาติส่วนน้อยได้แก่คนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา

ผู้ตกเป็นเหยื่อของโควิด-19 รายใหญ่ในยุโรปและสหรัฐ ได้แก่ ผู้สูงอายุที่พำนักอยู่ในสถานบริบาล ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของตะวันตก ไม่ปรากฏในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลาย

ลักษณะเฉพาะดังกล่าวได้แก่ มีการจัดตั้งสถานบริบาลคนชราอย่างแพร่หลาย มีคนชราจำนวนมากนับล้านคนอยู่ในสถานดังกล่าว ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ในยุโรปมีรายงานว่าสถานประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชนไม่กี่แห่ง ได้กำไรเป็นกอบเป็นกำนับพันล้านยูโร

ขณะที่สถาบันเหล่านี้ขาดความพร้อม เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ และความรู้ในการรับมือกับการระบาดของโรค ทำให้ร้อยละ 75 ของผู้เข้าพำนัก และร้อยละ 51 ของพนักงานติดเชื้อ สถานการณ์ในอิตาลีเลวร้ายถึงขั้นเรียกว่าเป็น “การสังหารหมู่”

(ดูรายงานงานข่าวของ Valerie Gouriat ชื่อ The deadly impact of Covid-19 on Europe”s care homes ใน euronews.com 14/05/2020)

ในสหรัฐมีรายงานในนิตยสารฟอร์บส์ว่า ร้อยละ 42 ของผู้เสียชีวิตในสหรัฐมาจากร้อยละ 0.6 ของประชากรสหรัฐ นั่นคือ คนชราจำนวน 2.1 ล้านคนที่พำนักในสถานบริบาล ซึ่งคาดหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว และได้รับการดูแลทางการแพทย์ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ไม่ตลอดเวลา

สัดส่วนการเสียชีวิตของผู้สูงอายุในบางรัฐ เช่น โอไฮโอ สูงมากถึงร้อยละ 70 ของทั้งหมด (ดูรายงานชื่อ The most important coronavirus statistic : 42% of U.S. deaths are from 0.6% of the population ใน forbes.com 26/05/2020)

ในด้านชนส่วนน้อยคนอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาในสหรัฐ มีรายงานว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐ ร้อยละ 60 เป็นคนอเมริกันผิวดำ

มีนักประวัติศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์สาธารณสุข ที่เป็นนักวิชาการดาวรุ่งชาวอเมริกันผิวดำ (เชื้อสายชาวเฮติ) คือ ดร.เอดนา บอนนอม ได้เปิดเผยเรื่องนี้ในรายละเอียดอย่างน่าสนใจ เธอมีความเห็นรวบยอดว่า การเกิดโรคระบาดไปทั่วโลก ไม่ใช่เหตุบังเอิญหรือเกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่มันเป็นเนื้อแท้ในระบบทุนและลัทธิอาณานิคม

ดร.บอนนอมย้อนหลังประวัติศาสตร์ว่า เมื่อเกือบ 100 ปี คือใน 1926 หลังการประกาศเลิกทาสได้ 60 ปี มีการสำรวจผู้เป็นโรคซิฟิลิสในรัฐแอละแบมา พบว่าในเขตแมคอนที่ชาวแอฟริกันผิวดำเป็นประชากรส่วนใหญ่ และยากจนของเขตนี้ มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 36

ในปี 1932 เขตนี้ได้รับการคัดเลือกเป็นห้องทดลองที่มีชีวิตในการศึกษาโรคซิฟิลิส มีการทดลองและติดตามพัฒนาการของโรค โดยรับสมัครคนพื้นบ้านหลายร้อยคนเข้าร่วมโครงการ หลอกว่าจะเข้ารับการบำบัดรักษา

ในปลายทศวรรษ 1940 ปรากฏว่ามีการค้นพบวิธีรักษาอย่างมีประสิทธิภาพได้แล้ว แต่ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ก็ไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างใด ซึ่งบรรดาชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าตนถูกหลอก จนกระทั่งมีสื่อท้องถิ่นเปิดเผยความจริงนี้ในปี 1972

เรื่องนี้ไม่ใช่บังเอิญเกิดขึ้นโดดๆ แต่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบกับคนแอฟริกันผิวดำ ในสมัยจิมโครว์ (Age of Jim Crow ช่วงหลังสงครามกลางเมืองปี 1865 ถึง 1968 จิม โครว์ เป็นชื่อตัวละครทาสผิวดำ แปลตามตัวว่า “จิมที่ดำเหมือนอีกา”) มีการออกกฎหมายเพื่อกดขี่ชาวแอฟริกันผิวดำหลายเรื่อง เช่น ไม่ให้มีสิทธิในการออกเสียง มีงานทำ มีการศึกษาสูง และโอกาสอื่นๆ เช่น การรับการรักษาพยาบาลเหมือนคนผิวขาว

แพทย์ผู้หนึ่งเขียนไว้ในปี 1905 ว่า “(คนแอฟริกันผิวดำ) ที่ได้รับการรักษาก็เป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ…เช่นเดียวกับวัณโรค จะเป็นการจบปัญหาของพวกนิโกร เชื้อโรคจะทำหน้าที่ของมันที่คนไม่สามารถทำได้”

เข้าสู่ยุคปัจจุบัน ในการระบาดของโควิด-19 ปี 2020 พบข้อเท็จจริงมากมายว่าคนแอฟริกัน-อเมริกันติดเชื้อและตาย คิดเป็นสัดส่วนแล้วมากกว่าคนผิวขาว นี้เกิดขึ้นทั่วไปตั้งแต่ในเมือง ชุมชน จนถึงในคุก เนื่องจากอยู่ในที่ยากจน มีปัญหาขาดแคลน เช่น งานที่จ่ายค่าจ้างดี การเข้าถึงน้ำสะอาด อากาศที่สกปรก การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ทั้งๆ ที่คนอเมริกัน-แอฟริกันจำนวนมากทำงานในสาขาที่ทำให้เมืองยังคงเคลื่อนไหวได้ไม่นิ่งสนิท ได้แก่ งานด้านการช่วยดูแลสุขภาพในครัวเรือน การสุขาภิบาล การขนส่งสาธารณะและร้านขายของชำ

ดร.บอนนอมสรุปว่า “ความเสี่ยงของคนผิวดำที่ต้องเสียชีวิตอย่างไม่ได้สัดส่วนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติสำหรับผู้ที่เกิดและเติบโตในอเมริกา โคโรนาไวรัสไม่ได้ถือเชื้อชาติ แต่เปิดเผยให้เห็นการถือเชื้อชาติในสหรัฐ ที่เผยให้เห็นช่องว่างใหญ่ทางความมั่งคั่ง ช่องว่างทางการแพทย์สาธารณสุข และช่องว่างทางที่อยู่อาศัย”

(ดูบทความของ Edna Bonhomme ชื่อ Racism : The most dangerous “pre-existing condition” ใน Aljazeera.com 17/04/2020)

ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นหลังโควิด-19

โควิด-19 เป็นเหตุการณ์ใหญ่เหมือนพะเนินเหล็กทุบกระหน่ำสังคมโลกเกิดความสะเทือนไหวไปทั่ว สามารถมองด้านดีได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านบวกที่น่าชื่นใจ

เช่น การปฏิรูประบบการแพทย์สาธารณสุขครั้งใหญ่ ป้องกันไม่ให้การระบาดแบบนี้เกิดขึ้นอีก

ลดกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ไม่จำเป็นเพื่อรักษาระบบนิเวศ แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน การช่วยเหลือกันในสังคม

และเกิดการร่วมมือกันระหว่างประเทศในการพิชิตโรคระบาดและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

แต่ในการปฏิบัติกลับพบสิ่งตรงข้ามที่ทำให้เห็นว่า หลังโควิด-19 น่าจะเกิดวิกฤติความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่า

ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลทั่วโลกทุ่มเงินไม่อั้นเพื่อต่อสู้และเยียวยาผลกระทบของโควิด-19 เกิดสภาพงบประมาณขาดดุล หนี้สินภาครัฐเพิ่มมากขึ้น จากอัตราหนี้ที่สูงอยู่แล้ว

ขณะเดียวกันกับที่ภาคธุรกิจเอกชนและครัวเรือนมีรายได้ลดลงมาก ทั้งหมดทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงทั่วทุกภาคส่วน เกิดภาวะหนี้เสียระบาด การล้มละลาย

ในประการต่อมา คาดหมายว่าจะเกิดภาวะชะงักงันและเงินเฟ้อ (Stagflation) ยาวนานหรือถาวร ด้านชะงักงัน คือเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง คนว่างงานสูง รายได้น้อย เกิดการผลิตล้นเกิน เครื่องจักรไม่ได้ใช้งานเต็มที่ สินค้าท่วมตลาด ราคาทรุด เช่น น้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น สถานการณ์ผิดชำระหนี้ยิ่งเลวร้าย

ในด้านเงินเฟ้อสืบเนื่องจากรัฐบาลพิมพ์ธนบัตรขึ้นจำนวนมากตามที่ต้องการใช้ ทำให้ค่าใช้จ่ายหลายรายการ เช่น ค่าอาหาร การรักษาพยาบาล การศึกษาในระดับสูง ค่าบริการสาธารณูปโภค ค่าขนส่งและที่พักอาศัย มีราคาสูงขึ้น ค่าของเงินที่ลดลงยังเห็นได้จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงใกล้ศูนย์ บางแห่งต่ำกว่าศูนย์

(ดูบทความของ John Roubini ชื่อ The Coming Greater Depression of the 2020s ใน project-syndicate.org 28/04/2020)

โทมัส พิเก็ตตี นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มชาวฝรั่งเศส ผู้มีชื่อเสียงจากงานเขียนที่ประมวล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าระบบทุนนิยมในตะวันตกได้สร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอย่างไร

เขาเห็นว่า การระบาดของโควิด-19 เป็นการสะท้อนของ “ความรุนแรงของความไม่เท่าเทียมกัน” และผู้ชนะในสถานการณ์นี้จะได้แก่ผู้มีแนวคิดแบบชาตินิยม

เช่น ถ้าหากมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในการแพทย์สาธารณสุข หรือมีการจัดระบบประกันสังคมให้ดีขึ้น หรือมีนโยบายทางสังคมที่เอื้อประโยชน์มากขึ้น แต่ทั้งหมดจะถูกจำกัดอยู่ในกลุ่มของประชาชนที่คนคิดว่าเหมือนกับพวกตน หรือนักการเมืองที่คิดว่าเหมือนกับพวกตน

Paramilitary police officers wear face masks and goggles amid concerns of the COVID-19 coronavirus as they march outside the Forbidden City, the former palace of China’s emperors, in Beijing on May 1, 2020. – China’s Forbidden City reopened on May 1, three months after it closed due to the coronavirus crisis — the latest signal that the country has brought the disease under control. (Photo by GREG BAKER / AFP)

มีการเข้มงวดในการผ่านด่าน ส่งเสริมเอกลักษณ์และความขัดแย้งทางเอกลักษณ์ เขาสรุปว่าโลกจะไม่ได้เห็นการเคลื่อนย้ายทุนที่เสรีเหมือนเดิมอีกต่อไป (ดูบทสัมภาษณ์ ชื่อ Pandemic could prompt swing to nationalist politics, says economist Thomas Piketty ใน cbc.ca 22/04/2020)

ตัวอย่างรูปธรรมได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐ-จีนที่ตั้งเค้ารุนแรงขึ้น เมื่อเกิดกรณีโควิด-19 โดยลามเข้าไปถึงเขตพิเศษฮ่องกง ที่สภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนได้เห็นชอบในการตั้งคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติสำหรับฮ่องกงขึ้น

ทางสหรัฐได้ตอบโต้โดยยกเลิกสถานะเขตปกครองตนเองของฮ่องกง ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า การเงินและการทูตจากสหรัฐ ถือเป็นดินแดนที่ปกครองโดยตรงจากจีน

เรื่องนี้อาจบานปลายไปสู่การทำสงครามการเงินระหว่างสหรัฐ-จีน ซึ่งเป็นอันตรายยิ่งต่อการเงินการลงทุนของโลก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโควิด-19 กับโลกหลังตะวันตก


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่