จับตา! มาตรการรัฐรับมือคำสั่งพิเศษ “ทรัมป์” หวั่นปมทรัพย์สินทางปัญญา-อาวุธ ดับฝันส่งออกไทย

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

เพียงไม่กี่วัน หลังจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ใช้อำนาจในทางบริหารตามรัฐธรรมนูญ ลงนามคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Orders) 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับการรวบรวมข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศ และการเตรียมใช้มาตรการเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐนั้น

ต้องยอมรับว่า สหรัฐเป็นคู่ค้าหลักที่สำคัญของไทย เพราะเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในขณะนี้ ดังนั้น เมื่อสหรัฐมีนโยบายการค้าที่สำคัญออกมา เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามอย่างยิ่งว่าไทยจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง โดยเฉพาะต่อการส่งออกของไทย

อย่างไรก็ตาม จากการพิจารณาคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีฉบับแรก เกี่ยวกับรายงานการขาดดุลทางการค้าอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 2559 สหรัฐขาดดุลการค้าถึง 500,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำรายงานที่รวบรวมการขาดดุลทางการค้าส่งให้ประธานาธิบดีภายใน 90 วัน

ในตัวรายงานนี้จะต้องระบุถึงประเทศคู่ค้าที่สหรัฐขาดดุลการค้าอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งสาเหตุการขาดดุล เช่น อัตราภาษีที่แตกต่างกัน การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การทุ่มตลาดและการอุดหนุนของรัฐบาลที่ทำให้เกิดความเสียหาย การปฏิเสธการให้สิทธิและสวัสดิการของแรงงาน เป็นต้น

ขณะที่ฉบับที่สอง กำหนดนโยบายการใช้มาตรการกับผู้นำเข้าที่หลีกเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และการอุดหนุน (CVD) โดยผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการจัดทำแผนในทางปฏิบัติให้เสร็จสิ้นภายใน 90 วันเช่นกัน

นอกจากนี้ มีการกำหนดให้มีการวางเงินประกันที่เหมาะสมกับสินค้าที่นำเข้ามาและจะต้องถูกจัดเก็บอากร AD และ CVD เมื่อมีความจำเป็น

โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประเมินความเสี่ยง เพื่อเป็นการป้องกันรายได้ของประเทศด้วย

AFP PHOTO / MANDEL NGAN

แม้ทั้ง 2 คำสั่งจะยังไม่มีมาตรการออกมารองรับอย่างเป็นรูปธรรม แต่ไทยก็ได้คาดการณ์ความเป็นไปได้ต่างๆ รวมถึงผลลบที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่งออกเป็นรายสินค้าด้วย เพราะมีการตีความกันว่า คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีนั้น มีจุดประสงค์หลักเพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ จึงน่าจะมีมาตรการกีดกันการค้าตามมาด้วย

สำหรับสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 4,893 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ยาง 1,968 ล้านเหรียญสหรัฐ อัญมณีและเครื่องประดับ 1,259 ล้านเหรียญสหรัฐ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ 1,049 ล้านเหรียญสหรัฐ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 887 ล้านเหรียญสหรัฐ และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 863 ล้านเหรียญสหรัฐ

รองลงมายังมีเครื่องนุ่งห่ม 849 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 766 ล้านเหรียญสหรัฐ แผงวงจรไฟฟ้า 701 ล้านเหรียญสหรัฐ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 532 ล้านเหรียญสหรัฐ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง 428 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2559 การค้าของไทย-สหรัฐรวมกันมีมูลค่า 36,553 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย รองจากจีน และญี่ปุ่น โดยไทยส่งออก 24,495 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 12,058 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยได้ดุลการค้า 12,437 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยส่งออกไปสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 11.4% ของการส่งออกทั้งหมด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับสหรัฐมาโดยตลอด

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลว่า มาตรการที่สหรัฐจะออกมานั้นยังไม่ได้ระบุประเทศชัดเจน แม้ไทยได้ดุลการค้าสหรัฐเป็นอันดับที่ 11 จาก 16 ประเทศ มูลค่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เข้าข่ายจะมีการทบทวนของสหรัฐ แต่ก็ไม่ได้กำหนดประเทศที่ชัดเจนเหมือนก่อนหน้านี้ที่ทำกับจีน แคนาดา และเม็กซิโก ที่ได้ดุลการค้าสหรัฐเป็นอันดับต้นๆ

จากการประเมินเบื้องต้นคำสั่งพิเศษ ไม่ได้พุ่งเป้าไปยังรายสินค้าตัวไหนเป็นการเฉพาะ แต่จะเป็นสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการบางอย่าง เช่น การเก็บอากรเพื่อชดเชยการทุ่มตลาด หรือมาตรการ AD กับผู้ที่ขายของต่ำกว่าราคาทุน และกลุ่มสินค้าที่อยู่ในรายงานการค้าระหว่างประเทศ (NTE) ของสหรัฐ ที่มีความกังวล เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดภาคบริการบางตัวที่ยังไม่มากพอ แต่คงไม่กระทบการส่งออกของไทยทั้งหมดนัก ในเรื่อง AD ที่สหรัฐเคยเก็บกับเอกชนไทย เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน ท่อสเตนเลส ข้อต่อท่อเหล็ก ท่อเหล็ก ลวดแรงดึงสูง ถุงพลาสติกหิ้ว และกุ้งแช่แข็ง

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงต้องเร่งหามาตรการรับมือ

โดยล่าสุดได้มีการหารือกับภาคเอกชนส่งออกในกลุ่มสำคัญๆ แล้ว เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์บางตัว และช่วงหลังสงกรานต์ก็จะมีการหารือเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติว่าจะมีวิธีการรับมือกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

ขณะเดียวกันก็จะทำข้อมูลการลงทุนของบริษัทสหรัฐในไทย เพื่อให้เห็นภาพว่าความสัมพันธ์ไม่ใช่แค่ไทยได้ดุลการค้า และจะทำข้อมูลตัวเลขการค้าการส่งออกสินค้าบางตัว เวลามีการโต้แย้งจะได้ตอบคำถามของสหรัฐได้ ทำข้อมูลให้ลึก น่าเชื่อถือ ใช้ข้อมูลที่ตรงกันระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทย

“ขณะนี้ต้องรอดูว่าสหรัฐจะมีมาตรการแนวทางไหนออกมาบ้าง ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน ไทยเองก็ต้องวางแผนตั้งรับเตรียมไว้บ้างในแต่ละสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ไทยมีเวลาเตรียมตัว 3 เดือน อยู่ในขั้นเตรียมการ แต่ไม่ถึงกับต้องตื่นเต้นตกใจ” น.ส.พิมพ์ชนกกล่าว

อภิรดี ตันตราภรณ์

ส่วนท่าทีของ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั้นแม้จะบอกว่าในระยะสั้นไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ และยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่บวก 5% แต่ในลึกๆ แล้วก็ค่อนข้างกังวลกับเรื่องนี้ เพราะในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงสัปดาห์ก่อนได้ระบุในที่ประชุมว่า จะต้องเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้า เพราะเชื่อว่าสหรัฐจะส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบใน 3 ประเด็น คือ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การซื้ออาวุธ และการแทรกแซงค่าเงินบาท

ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปดูแลเรื่องค่าเงินบาท และให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา

วัลลภ วิตนากร

ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า ไม่อยากให้ผู้ส่งออกของไทยตื่นตระหนกจนเกินเหตุ เพราะไทยได้ดุลการค้าสหรัฐ 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับหลายประเทศที่ได้ดุลก็ไม่ได้มากนัก และสินค้าส่งออกของไทยจำนวนมาก เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และอาหาร ก็ไม่มีลักษณะการซื้อขายราคาต่ำกว่าทุนหรือทุ่มตลาด แบบสินค้าจากประเทศจีน จึงไม่น่าจะต้องกังวลในส่วนนี้มากนัก

แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลคือ สหรัฐอาจลดการนำเข้าจากจีน ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปจีนตามมา โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าขั้นพื้นฐานทางการเกษตร ผู้ประกอบการไทยไม่ควรชะล่าใจ และควรมีมาตรการรองรับต่อเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่า หากสหรัฐยกประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ปัญหาแรงงาน และปัญหาการประมง ที่ไทยยังแก้ได้ไม่ตรงตามมาตรฐานสากลขึ้นมาใช้ อาจกระทบต่อการส่งออกในรายสินค้าได้ แต่ปีนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงทั้ง การแข็งค่าของเงินบาท กระบวนการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิท)

“ไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่สหรัฐอาจหยิบยกมาให้กับไทยให้ทันท่วงที หากมีประเด็นใดมาต้องสามารถชี้แจง โต้ตอบได้ทันที ไม่ใช่ขอเวลาตรวจสอบ และต้องเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยใช้เวลานี้เตรียมการเจรจาทวิภาคีกับสหรัฐ และประเทศอื่นเพิ่มช่องทางตลาดให้ไทย” นายนพพรกล่าว

นพพร เทพสิทธา

อีกไม่เกิน 90 วันก็คงได้เห็นความชัดเจนนโยบายการค้าของสหรัฐว่าสุดท้ายแล้วจะออกมาในรูปแบบใด

แต่ในระหว่างนี้ ผู้เกี่ยวข้องของไทยควรหาทางรับมือเพื่อปลดปมปัญหาต่างๆ เพื่อผลักดันการส่งออกให้โตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

อย่าทำแค่ลูบหน้าปะจมูกเหมือนที่ผ่านมา