เกษียร เตชะพีระ | เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : เศรษฐกิจหลังโควิด-19 และความตายในยุคสมัยโคโรนา

เรียนรู้จากประวัติศาสตร์โรคระบาด : 5) เศรษฐกิจหลังโควิด-19 และความตายในยุคสมัยโคโรนา

(คำสัมภาษณ์ แฟรงก์ สโนว์เดน ศาสตราจารย์ประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล สหรัฐอเมริกา โดย สเตลลา เลอวันเทซี นักข่าวสำนัก Il manifesto global แห่งอิตาลีเมื่อ 11 เมษายนศกนี้ ในประเด็นต่างๆ รวมทั้งเศรษฐกิจหลังโควิด-19 และความตายในยุคสมัยโคโรนา)

สเตลลา เลอวันเทซี : ผลสืบเนื่องอีกอย่างของโรคระบาดทั่วโควิด-19 เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ มีทางจะปกป้องเศรษฐกิจไว้ในสถานการณ์อย่างโรคระบาดทั่วไหมคะ? หรือว่ามันเป็นผลสืบเนื่องโดยอัตโนมัติว่าพอโรคระบาดทั่วพวกนี้ถึงจุดวิกฤตเข้าแล้ว เศรษฐกิจประเทศต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวงจากมัน?

แฟรงก์ สโนว์เดน : ที่ผมบอกได้ก็คือผมไม่มีตัวแบบหรอกครับว่าเศรษฐกิจหลังไวรัสโคโรนาน่าจะเป็นยังไง แต่ผมมีข้อตั้ง (premises) บางประการที่สำหรับผมแล้วดูเหมือนควรเป็นหลักการพื้นฐานของเศรษฐกิจที่ว่านั้น

ประการแรก คือต้องตระหนักว่านี่เป็นตัวพลิกเปลี่ยนสถานการณ์ ว่าโลกจะไม่เหมือนเดิมหลังเหตุการณ์นี้เพราะมันชัดแจ้งแล้วว่าผลสืบเนื่องทางเศรษฐกิจของมันลึกซึ้งยิ่งกว่าที่ใครจะคาดการณ์ถึง ที่ทำงานหรืออาชีพมากมายซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนจะไม่หวนกลับคืนมาและนี่ย่อมหมายถึงการตกงานขนานใหญ่ที่จะต้องหาทางแก้ไขและมันหมายความด้วยว่าจะย้อนกลับไปทำเศรษฐกิจแบบที่เคยทำๆ กันมาไม่ได้อีกต่อไป

ครั้งหนึ่งไอสไตน์เคยบอกว่าสัญญาณของความโง่เขลาก็คือแนวโน้มที่จะทำอย่างเดียวกับที่เคยทำมานั่นแหละซ้ำแล้ว ซ้ำเล่าแล้วหวังว่าผลจะออกมาดีขึ้น เราจำต้องปัดนิทานโกหกเรื่องกำไรคงที่ระยะสั้นเอย วิสัยทัศน์การเจริญเติบโตแบบคึกคักถาวรซึ่งไม่ยั่งยืนเอยให้พ้นไป

สเตลลา เลอวันเทซี : แต่โรคภัยไข้เจ็บมันไม่ได้เล่นงานสังคมต่างๆ แบบโกลาหลอลหม่านไม่ใช่หรือคะ มันเป็นเหตุการณ์ที่มีหลักเกณฑ์กำกับอยู่ คุณเขียนไว้อย่างนี้ในหนังสือของคุณ ดังนั้นในเมื่อมันเป็นเหตุการณ์ที่มีหลักเกณฑ์กำกับ เราจะใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์แก่เราได้ไหม?

แฟรงก์ สโนว์เดน : โรคภัยไข้เจ็บไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างสะเปะสะปะวุ่นวายจริงครับ แต่มันก็มีการณ์จร (contingency) เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผมไม่ได้หมายความนะครับว่ามันถูกจัดโครงสร้างมาอย่างเบ็ดเสร็จ แต่มันเดินตามตรรกะที่แฝงฝังอยู่ในเนื้อในของมัน ในแง่นี้ฉากภาวะแวดล้อมจึงสำคัญยิ่ง

ฉะนั้น ถ้าผมถูกที่พูดว่าโรคทั้งหลายฉวยใช้ช่องทางหรือวิถีทางซึ่งก่อตั้งไว้แล้วและเห็นได้ประจักษ์ชัดในขณะที่มันแพร่กระจายไปทั่วโลกละก็ ความข้อนั้นก็มีด้านบวกอยู่ เพราะถ้าหากเรายอมรับข้อเท็จจริงที่ว่าเราเองนั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบ ว่าเมื่อเราส่องกระจกดูและตระหนักว่าตัวเราเองนั่นแหละที่ได้สร้างวิถีทางและความเปราะบางล่อแหลมประดานั้นขึ้นมา และเราสร้างมันเชื่อมต่อเข้ามาในสังคมของเราแล้ว นี่ย่อมหมายความว่าตัวเราเองย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ด้วย และเราจึงสามารถปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เรากำลังก่อตั้งอยู่กับอาณาจักรแห่งสัตว์ทั้งหลายได้ เราทำอะไรบางอย่างกับมันได้ และนั่นน่ะจะช่วยปกป้องดาวเคราะห์โลกและสุขภาพของเราด้วย

เพื่อนร่วมงานของผมบางคนเถียงว่า ถ้าเราสามารถแก้ไขความสัมพันธ์ของเรากับอาณาจักรแห่งสัตว์ทั้งหลายได้ มันจะส่งผลกระทบอย่างยั่งยืนนานแก่ความเปราะบางล่อแหลมของเราต่อโรคติดเชื้อ

ฉะนั้น มันจึงมีองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญยิ่งอยู่ในหนทางแก้ไขปัญหาของเราด้วย

สเตลลา เลอวันเทซี : คำถามถัดไปของฉันต่างระดับออกไปมากนะคะ คือมันเป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับโรคระบาดทั่วไปและเป็นคราวเคราะห์ที่มันก็จริงสำหรับโควิด-19 ด้วยที่มีผู้คนลงเอยโดยตายอยู่เพียงโดดเดี่ยวลำพัง บางทีก็ไม่มีการกลบฝังที่ชอบที่ควรหรือไม่ได้จัดพิธีศพให้ด้วยซ้ำไป ที่ฉันอยากถามก็คือว่าโรคระบาดมันไปกำหนดความสัมพันธ์ของเรากับความตายอย่างไรบ้างคะ?

แฟรงก์ สโนว์เดน : นี่เป็นคำถามที่ต่างระดับออกไปมากอย่างที่คุณว่านั่นแหละครับ มันเป็นคำถามเชิงปรัชญา ศีลธรรมและมานุษยวิทยา และผมคงต้องบอกว่ามันทำเป็นโครงการวิจัยโดยตัวมันเองได้เลยอย่างที่ผมคิดว่าน่าสนใจและสำคัญมหาศาลด้วย และฉะนั้น ผมขอบอกทันทีเลยว่าผมหวังนะครับว่าผมจะสามารถตอบคำถามของคุณได้ ทว่าผมรู้ว่าผมคงกำลังจะทำให้คุณผิดหวังเสียแล้ว

ทั้งหมดเท่าที่ผมทำได้คือเน้นเสริมคำถามของคุณโดยบอกว่ามันจริงครับที่นี่เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของกาฬโรคระบาดและผู้คนก็วิตกกังวลมหาศาลเรื่องความตายของตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันหยิบยกคำถามเรื่องการตายอย่างปัจจุบันทันด่วนขึ้นมา

และถ้าคุณนับถือศาสนา นั่นย่อมหมายถึงการเผชิญคำถามว่าอะไรคือความสัมพันธ์ของคุณกับพระเจ้าผู้ทรงมหิทธานุภาพและเป็นสัพพัญญู แต่กระนั้นพระองค์ก็ยังทรงปล่อยให้ลูกเด็กเล็กแดงถูกสังหารผลาญชีวิตไป ผมคิดว่านั่นน่ะมันตั้งคำถามเรื่องศรัทธาและความคลางแคลงต่อศรัทธาเลยทีเดียว

ภาพจิตรกรรมสีน้ามัน“ชีวิตนิ่งกับหัวกะโหลก”ของฟิลิปเดอฌอมเปญชาวฝรั่งเศสราวค.ศ.๑๖๗๑

ในภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับโรคระบาด ในประติพิมพศาสตร์ (iconography หมายถึงการศึกษาภาพลักษณ์และสัญลักษณ์ในงานศิลปะ) ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เราจะเห็นหัวกะโหลกบนกระดูกไขว้ อันเป็นการสื่อนัยว่าความเป็นจริงแห่งการดำรงอยู่ของเรานั้นอันที่จริงคือความตาย

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือนาฬิกาทรายซึ่งทรายกำลังร่วงพรูงวดลงอันเป็นตัวแทนเวลาถึงที่ตาย

ดังนั้น ก็ใช่แล้วครับ มีเหตุผลทุกอย่างทุกประการที่จะบอกว่านั่นเป็นคำถามที่ลึกซึ้งและสำคัญยิ่ง

(ต่อสัปดาห์หน้า)


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่