ฉัตรสุมาลย์ : ทัฬหีกรรม

เขียนแบบบาลี น่าจะเป็น ทัฬหิงกรรม อ่านว่า ทันฮีกำ เป็นสังฆกรรม คือการกระทำโดยสังฆะ ที่อธิบายให้เข้าใจโดยทั่วๆ ไปง่ายว่า เป็นการทำซ้ำ ให้มั่นคง เพื่อจุดประสงค์ของการเข้าสังกัดกับสังฆะในวัดนั้นๆ

ท่านธัมมนันทาเองก็ได้ผ่านสังฆกรรมนี้เหมือนกัน ในตอนแรกเมื่อท่านบรรพชาเป็นสามเณรีแล้ว ครบสองพรรษา ท่านก็ได้กลับออกไปอุปสมบทกับพระสงฆ์ที่ศรีลังกาทั้งภิกษุณีสงฆ์และภิกษุสงฆ์

แต่ในการอุปสมบทเป็นภิกษุณีนั้น การอุปสมบทจัดโดยพระภิกษุสงฆ์นิกายอมรปุระ ซึ่งเป็นนิกายที่เริ่มต้นมาจากเมืองอมรปุระ ที่เคยเป็นเมืองหลวงของพม่าในช่วงสั้นๆ พระผู้ใหญ่ที่จัดการอุปสมบทให้ท่านนั้น คือพระอาจารย์ธัมมโลก พระผู้ใหญ่ของนิกายอมรปุระที่สนันสนุนการอุปสมบทภิกษุณี

ในช่วงทศวรรษแรกของการเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกานั้น ต้องเรียกว่า หลวงปู่ธัมมโลกเป็นพระภิกษุแถวหน้าที่ออกตัวชัดเจน ท่านเขียนหนังสือสนับสนุนการอุปสมบทภิกษุณีเป็นภาษาสิงหล ตอบข้อสงสัยในการอุปสมบทภิกษุณีต่างๆ ที่มีการถกเถียงในสังคมศรีลังกาในสมัยนั้น

เมื่อมีการจัดการอุปสมบทภิกษุณีที่พุทธคยา โดยโฝวกวางซันเป็นเจ้าภาพใหญ่ใน พ.ศ.2541 นั้น หลวงปู่ธัมมโลกเป็นหนึ่งในพระภิกษุผู้ใหญ่ฝ่ายเถรวาท 10 รูป ที่เข้าร่วมการอุปสมบทในฐานะ witnessing Acharya ประมาณพระอันดับของฝ่ายเถรวาท

และเมื่อพระภิกษุศรีลังกาเห็นพ้องกันว่า ให้มีการจัดการบวชซ้ำให้ภิกษุณีชาวศรีลังกา 20 รูป โดยการนำไปบวชซ้ำที่สารนาถนั้น ก็เป็นไปตามหลักการนี้ การบวชซ้ำครั้งนั้น ก็เป็นทัฬหีกรรม คือการบวชซ้ำเพื่อให้ถูกต้องและยอมรับตามเงื่อนไขของเถรวาท

จึงนับเป็นการเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทในปัจจุบัน

 

เมื่อท่านธัมมนันทาบรรพชาที่วัดตโปทานรามยะ ในกรุงโคลอมโบ วัดนี้ หลวงปู่ธัมมโลกเป็นเจ้าอาวาส ท่านธัมมนันทาขอพระภิกษุสงฆ์ที่มาให้การบรรพชาเป็นพระภิกษุจากนิกายสยามวงศ์ล้วน โดยหลวงปู่ซึ่งสังกัดนิกายอมรปุระเป็นเพียงผู้จัดการให้

แต่ครั้นมาถึง พ.ศ.2546 เมื่อท่านธัมมนันทาพร้อมที่จะกลับไปอุปสมบท ท่านก็ยังอยากอุปสมบทกับพระภิกษุสงฆ์จากนิกายสยามวงศ์ ด้วยความเป็นชาตินิยม มีจุดประสงค์เพียงว่า จะสืบสายสยามวงศ์ที่เดิมมาจากประเทศไทยนั่นเอง

แต่ปรากฏว่า ท่านพยายามติดต่อไปที่พระอาจารย์ศรีสุมังคโล เจ้าอาวาสวัดพระทอง ที่ดัมบุลละ ซึ่งเป็นต้นสายการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทในศรีลังกา ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ

จนในที่สุดจึงต้องติดต่อไปที่หลวงปู่ธัมมโลกอีก หลวงปู่ธัมมโลกท่านก็บอกว่าให้รอไปอุปสมบทครั้งใหญ่ที่จะจัดขึ้น พ.ศ.2547 ท่านธัมมนันทายืนยันขออุปสมบทในปีนั้น คือ พ.ศ.2546 ที่ท่านครบบวช

การอุปสมบทเป็นภิกษุณีของท่านธัมมนันทาคราวนั้น จึงไม่ได้สังกัดสยามวงศ์ซึ่งเป็นความตั้งใจเดิม หากแต่มีหลวงปู่ธัมมโลกซึ่งสังกัดนิกายอมรปุระเป็นพระอุปัชฌาย์

 

หลังจากที่ท่านธัมมนันทาอุปสมบทเป็นภิกษุณีกลับมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 ปีเดียวกันนั้น เพียง 2 เดือนกว่า มารดาของท่าน คือภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ก็มรณภาพ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ในปีเดียวกัน

เรียกว่า วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม นับตั้งแต่ที่ภิกษุณีวรมัยอุปสมบท พ.ศ.2514 ตลอดมาจนถึง พ.ศ.2546 ก็มีภิกษุณีไม่ขาดสาย

ในปีเดียวกันนั้น วันที่ 31 ธันวาคม 2546 หลวงปู่ธัมมโลก อุปัชฌาย์ของท่านธัมมนันทาก็มรณภาพขณะไปประชุมที่สิงคโปร์

การอุปสมบทภิกษุณีนานาชาติที่ท่านคิดการไว้ว่าจะจัดใน พ.ศ.2547 จึงมิได้เกิดขึ้น

เมื่อหลวงปู่ธัมมโลกมรณภาพลง ท่านธัมมนันทาซึ่งเป็นนวกภิกษุณี ปรารถนาที่จะสังกัดอยู่กับวัดดัมบุลละ ของพระอาจารย์ศรีสุมังคโล

ต้องเล่าแทรกตรงนี้ เดิมนั้น ท่านธัมมนันทาพยายามออกบวชกับท่านศรีสุมังคโล แต่ติดต่อไปท่านก็ไม่ตอบ จนต้องไปอุปสมบทกับหลวงปู่ธัมมโลก

ในช่วงนั้น วันดีคืนดี ท่านศรีสุมังคโลก็มีอีเมลแจ้งมาทางท่านธัมมนันทาว่า จะเข้ามาประเทศไทย และมีความประสงค์จะมาเยี่ยม พร้อมกับจะได้พูดคุยในประเด็นเรื่องภิกษุณีด้วย ก็เลยกลายเป็นว่า ท่านศรีสุมังคโลเข้ามาเยี่ยมท่านธัมมนันทาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอารามด้วยตัวท่านเอง

ท่านธัมมนันทาได้ถวายการต้อนรับอย่างดี พร้อมกับนำไปกราบพระผู้ใหญ่ที่วัดในละแวกใกล้เคียงด้วย

 

เมื่อหลวงปู่ธัมมโลกมรณภาพ ท่านธัมมนันทายังยืนยันที่อยากจะสังกัดอยู่กับสยามวงศ์ภายใต้ท่านอาจารย์ศรีสุมังคโล

เมื่อไปนมัสการท่านต้นปี 2548 โดยมีท่านภิกษุณีสัทธาสุมนาซึ่งสังกัดกับท่านศรีสุมังคโล และขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์ของท่านธัมมนันทาเอง

ท่านธัมมนันทาได้ถามท่านศรีสุมังคโลเรื่องความเป็นไปได้ที่จะขอสังกัดอยู่กับท่าน ท่านหันไปพูดเป็นภาษาสิงหลกับภิกษุณีสัทธาสุมนา

หลังจากที่ลาท่านกลับออกมาจากกุฏิท่านแล้ว ท่านภิกษุณีสัทธาสุมนาเล่าให้ฟังว่า ท่านบอกว่า “ไปถามเขาซิ ว่าจะบวชใหม่ได้ไหม”

เมื่อท่านธัมมนันทาทราบเช่นนั้น ก็ตอบตกลงทันที เดือนพฤษภาคม 2548 ท่านธัมมนันทากลับไปอุปสมบทซ้ำอีกครั้งกับท่านศรีสุมังคโล ที่วัดพระทอง ที่ดัมบุลละ การบวชครั้งนี้ เป็นทัฬหีกรรมเหมือนกัน คือการทำซ้ำเพื่อเข้าสังกัดกับวัดดัมบุลละ และที่สำคัญเป็นการยืนยันการบวชสายสยามวงศ์จากวัดดัมบุลละ

พระภิกษุที่ศรีลังกานั้น มักไม่โกนคิ้ว แต่ท่านศรีสุมังคโลและพระภิกษุที่สังกัดกับท่าน จะโกนคิ้ว เพราะให้ความเคารพว่ามาจากสยามวงศ์ พระไทยโกนคิ้วท่านก็โกนคิ้วเช่นกัน

 

ตลอดเวลาที่ผู้เขียนเล่ามานี้ ไม่ได้เรียกท่านว่า มหานายก ในเงื่อนเวลาดังกล่าวถูกต้องค่ะ เพราะท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นมหานายกภายหลังใน พ.ศ.2548 นี้เอง

มหานายกเป็นตำแหน่งที่สูงสุดของพระภิกษุในศรีลังกา แต่ละรูปล้วนเป็นมหาเถระ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งสิ้น

ในการอุปสมบทภิกษุณีที่จัดขึ้น พ.ศ.2561 ที่พุทธคยา ก็มีภิกษุณีไทยที่ขอเข้ารับการบวชซ้ำที่เรียกว่า ทัฬหีกรรม เช่นกัน เพราะการอุปสมบทเดิมที่ผ่านมานั้น แม้ตัวเองก็ไม่ทราบว่าใครเป็นอุปัชฌาย์ และภิกษุณีสงฆ์ที่เข้าร่วมในพิธีเป็นนานาสังวาส กล่าวคือ มาจากหลากประเทศหลายนิกาย

เมื่อกลับมาประเทศไทย ท่านก็ไม่สามารถเข้าร่วมสังฆกรรมกับภิกษุณีสงฆ์อื่นๆ ได้ เพราะไม่สามารถให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้องว่าบวชมาอย่างไร การทำพิธีบวชซ้ำ จึงเป็นสิ่งที่พึงทำเพื่อจะได้อิงอาศัยในสังฆะได้

ในประเทศไทยเราก็เห็นพระภิกษุที่ท่านผ่านการบวชซ้ำที่เรียกว่าทัฬหีกรรมนี้ เช่น การที่ออกจากมหานิกายมาสังกัดกับธรรมยุติกนิกาย หรือกลับกัน ที่เราเรียกว่า บวชแปลง พระภิกษุรูปนั้นๆ ก็จะผ่านพิธีนี้เช่นกัน

เพื่อการยอมรับของสงฆ์ในวัดที่ท่านจะไปเข้าสังกัดนั่นเอง

 

พิธีนี้ ผู้เขียนต้องขอไปศึกษาว่าเริ่มต้นมาจากเมื่อใด ท่านผู้อ่านที่อาจจะมีข้อมูลตรงนี้ กรุณาแนะนำด้วยค่ะ แต่เป็นพิธีที่เห็นทำกันทั้งในประเทศศรีลังกา และในประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ครั้งเสด็จออกผนวชและประทับที่วัดบวรนิเวศฯ เมื่อ พ.ศ.2499 ก็ทรงผ่านพิธีนี้เช่นกันเพื่อประทับที่วัดบบวรนิเวศฯ ซึ่งเป็นวัดในธรรมยุติกนิกาย

ขอกราบแทบพระยุคลบาทเมื่อเอ่ยถึงพระองค์ท่านด้วยความระลึกถึงเป็นที่สุด

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่