อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : จีน ฮ่องกงและโลก

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

นอกจากโรคระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกในวงกว้างและยังไม่จบสิ้นแล้ว การลงมติของสภาประชาชนจีนเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ในการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง (National Security Law) กับฮ่องกง ยังส่งผลต่อประชาคมโลกอย่างมหาศาลด้วยเช่นกัน

หากเราดูจากปฏิกิริยาที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ คนที่ต่อต้านมากคือ คนฮ่องกง ซึ่งคราวนี้เป็นเด็กนักเรียนและเด็กวัยรุ่นที่ออกมาประท้วงและพร้อมให้ทางการจับเข้าคุก

สิ่งนี้บอกแก่เราว่า คนฮ่องกงกำลังเป็นห่วงอนาคตของพวกเขาที่จะต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการจีนมากขึ้นจนอาจบั่นทอนอนาคตของพวกเขาเลย

ไม่เพียงแต่เท่านั้น แรงประท้วงกฎหมายความมั่นคงของจีนยังปรากฏในโลกตะวันตกได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา

เราลองวิเคราะห์ดูแล้วจะเห็นว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายทั่วไป ไม่ใช่เรื่องการเมืองภายในและปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคือสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีนเท่านั้น

 

กฎหมายและจุดเปลี่ยนการปกครอง

ในมุมมองของนานาชาติมองว่า กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงนี้จะเป็นสัญญาณการสิ้นสุดสถานะพิเศษของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มีการตีความว่า ระบบ หนึ่งประเทศ สองระบบ (One Country Two System) ที่มีการตกลงกันก่อนที่สหราชอาณาจักรจะส่งมอบอำนาจบริหารฮ่องกงคืนให้กับจีนในปี 1997 จะถูกยกเลิกไปโดยปริยาย

สหราชอาณาจักรได้หยิบยกประเด็นหนังสือเดินทางแบบสัญชาติบริติสโพ้นทะเล หรือ BNO จะไม่ได้รับสถานะพลเมืองสหราชอาณาจักร โดยที่ในปัจจุบัน มีผู้ถือหนังสือเดินทางแบบ BNO ในฮ่องกงราว 3 แสนคน

ทั้งนี้หลักการคือ ผู้ถือหนังสือนี้มีสิทธิเดินทางเข้าสหราชอาณาจักรและพำนักอยู่ได้นานสูงสุด 6 เดือนโดยไม่ต้องขอวีซ่า

ในช่วงเวลานี้ แม้หนังสือเดินทางแบบ BNO จะช่วยให้เดินทางและพำนักในสหราชอาณาจักรได้ แต่ไม่ได้อนุญาตให้พำนักระยะยาวหรือทำงาน รวมไปถึงยังไม่มีสิทธิเข้าถึงกองทุนสาธารณะต่างๆ และเงินช่วยเหลือของรัฐบาล

ทางการของสหราชอาณาจักรได้ออกมาเตือนว่า ทางการสหราชอาณาจักรอาจยกเลิกข้อจำกัด 6 เดือนและอนุญาตให้ผู้ถือหนังสือเดินทางแบบ BNO สามารถเดินทางมายังสหราชอาณาจักร รวมถึงสมัครเข้าทำงานหรือศึกษาได้โดยขยายเวลาพำนักได้นานถึง 12 เดือน ซึ่งการทำเช่นนี้ยังเปิดโอกาสให้พวกเขากลายเป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักรได้ในอนาคต

แม้ว่าคำเตือนของทางการสหราชอาณาจักรจะยังมีข้อถกเถียงในรัฐสภาทั้งจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน แต่คำเตือนนี้ก็มีแนวโน้มที่เป็นไปได้

หลายฝ่ายในสหราชอาณาจักรต้องการให้รัฐบาลอังกฤษใช้ไม้แข็งต่อกรกับจีนให้มากขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการเรื่องหนังสือเดินทางเป็นมาตรการหนึ่ง และคงสำคัญ มิฉะนั้นระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศจีนคงไม่ออกมาโต้แย้งทันควัน

ในประเด็นนี้ ยังผลต่อ ระบบการปกครองในฮ่องกง ซึ่งอาจส่งผลต่อทั้งสหราชอาณาจักรและจีนพร้อมกันไป

กล่าวคือ ในแง่สหราชอาณาจักรก็ยังคลุมเครือกับ สถานะทางเศรษฐกิจ ของฮ่องกงซึ่งมีสถานะเป็นศูนย์กลางการค้าของโลกซึ่งสหราชอาณาจักรเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกด้วย

แต่น่าสนใจ สถานะทางเศรษฐกิจของฮ่องกงนี้กระทบต่อการจัดการของจีนด้วย ทั้งนี้ หากปล่อยให้สหราชอาณาจักรใช้กฎหมายว่าด้วยการถือหนังสือเดินทางของสัญชาติบริติสโพ้นทะล ทางการจีนจะสูญเสียบุคคลที่มีทั้งความสามารถและการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจด้วย

ประเด็นสถานะทางเศรษฐกิจนี้สำคัญกว่าเรื่องของอธิปไตย เขตแดนและบูรณาภาพซึ่งเป็นกรอบคิดเก่า

 

ฮ่องกงในฐานะ Ground zero
ในสงครามเย็นใหม่

ผมขอยืมคำและแนวคิดเรื่อง Ground Zero ของนักวิชาการ1 บางท่านมาอันหมายความถึงการปะทะกันทางวิสัยทัศน์ ความคิดและนโยบายของสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาที่มีต่อจีนเรื่อง การใช้กฎหมายความมั่นคงฮ่องกงนี้ทำให้ฮ่องกงได้กลายเป็นสมรภูมิการปะทะกันของวิสัยทัศน์ทางการเมืองสองขั้ว ซึ่งโลกตะวันตกเป็นผู้นำในวิสัยทัศน์ระเบียบโลกแบบประชาธิปไตยกับอีกวิสัยทัศน์หนึ่งคือ ระเบียบโลกแบบอำนาจนิยมของจีน2

นักวิชาการบางท่านมองว่า เราเริ่มนับถอยหลังสู่จุดสิ้นสุดของฮ่องกงที่โลกเคยรู้จักและดูเหมือนว่า สีจิ้นผิงประธานาธิบดีจีนกำลังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่องที่มีต่อฮ่องกง

คือ ไม่ต้องการรักษาฮ่องกงในฐานะเขตกันชนกับโลกตะวันตกอีกต่อไป แต่ผู้นำจีนกำลังมองฮ่องกงเป็นสมรภูมิแนวหน้าสงครามเย็นใหม่กับสหรัฐอเมริกาด้วยแรงขับเคลื่อนจากการเมืองชาตินิยม3

ตรงนี้ผมเห็นต่างจากนักวิชาการที่มองว่า ผู้นำจีนกลับไปยึดมั่นกับเอกภาพภายในประเทศและบูรณาภาพทางดินแดนที่ต้องยืนยันว่าฮ่องกงคือประเทศจีน

ผมว่าการมองเช่นนี้มีจุดอ่อนอย่างน้อย 2 ประเด็นคือ

ประการที่ 1 หากผู้นำจีนยึดกรอบคิดเรื่องเอกภาพและบูรณาภาพทางดินแดนเท่ากับมองว่าผู้นำจีนรุ่นนี้เป็นพวกชาตินิยม (Nationalist) เป็นพวกต่อต้านโลกาภิวัตน์ (Anti Globalisation)

ในขณะที่เราควรมองผู้นำจีนกับการมองการเคลื่อนย้ายทุนในโลกาภิวัตน์และดิจิตอลไลเซชั่นมากกว่า เราจะเป็นทุนอุตสาหกรรม ทุนการเงินและทุนเทคโนโลยีจีนเคลื่อนไหวไปมาในระบบทุนนิยมโลก

หรืออีกนัยหนึ่ง จีนรู้จักใช้โลกาภิวัตน์และสัมผัสโลกาภิวัตน์ในฐานะแกนหนึ่งของระบบทุนนิยมและชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น ฮ่องกงอาจไม่ใช่ช่องทางผ่านทางการค้าและการลงทุน อันเป็นสถานะทางเศรษฐกิจ ในอดีตหลังปี 1945 ซึ่งฮ่องกงก็แปรสภาพนี้ไปมากแล้วนับตั้งแต่ช่วงปี 1997 เป็นต้นมา

เพียงแต่ว่า ผู้นำจีนรุ่นนี้ยังจัดการระบบการปกครองฮ่องกงไม่ได้ เพราะแรงต่อต้านอย่างสำคัญของคนฮ่องกงรุ่นใหม่ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากประเทศทุนนิยมภายนอกด้วย

ประการที่ 2 ผมเห็นด้วยกับการปะทะกันของสองวิสัยทัศน์สองขั้วระหว่างระเบียบเสรีนิยมประชาธิปไตยกับระเบียบอำนาจนิยมแบบจีน แต่ระเบียบทั้งสองไม่ได้แข่งขันกันเพื่อพิสูจน์ความล้มเหลวหรือความสำเร็จของอีกฝ่ายหนึ่ง

ผลของรูปแบบการปกครองน่าจะเป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดและความเหนือกว่าทางด้านเทคโนโลยี

ดังนั้น ฮ่องกง น่าจะเป็นพื้นที่ที่ยังจัดการไม่ได้เพราะความคลุมเครือของการเมืองและระบบทุนนิยม ความคลุมเครือนี้ก็มาจากกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงที่จีนจะประกาศใช้เพราะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนและความเสี่ยงต่อนักลงทุนต่างๆ ซึ่งจีนเองก็กังวล4 การเป็นหน้าด่าน (front line) แห่งสงครามเย็นใหม่คืออะไรครับ

หากเป็นหน้าด่านจริงนับว่าเป็นอันตรายต่อจีนในแง่ภูมิศาสตร์การเมือง ตรงกันข้ามจีนมีพื้นที่การเมืองนอกจีนหลายพื้นที่

ดูอย่างยูนนานแล้วจะเห็นว่า เป็นปราการด้านใต้ที่จีนปกป้องอย่างมากและอ่อนไหวต่อจีน ซึ่งจริงๆ จีนไม่ต้องการให้เป็นเช่นนี้ แต่เป็นเพราะภูมิศาสตร์มากกว่า

 

ผมเห็นความสำคัญของกฎหมายความมั่นคงฮ่องกงของจีน

แล้วก็เห็นความสำคัญของการผ่านกฎหมายสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยฮ่องกง ของรัฐสภาสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้ครับ

กฎหมายทั้งสองให้อำนาจมหาอำนาจทั้งสองประเทศเข้าไปจัดการชีวิตความเป็นอยู่และวิถีชีวิตทางการเมืองของคนฮ่องกง

ทว่าสำหรับจีน ฮ่องกงไม่ได้เป็นด่านหน้าของสงครามเย็นใหม่ แต่ทางการจีนยังจัดการปกครองฮ่องกงไม่ได้เพราะการต่อต้านของชาวฮ่องกงและพี่เบิ้มมากกว่า

นี่อาจเป็นอีกมุมหนึ่งก็ได้ แต่ผมไม่เห็นว่า ผู้นำจีนจะเป็นพวกชาตินิยม การเมืองชาตินิยมเขามีเอาไว้ต่อสู้กันและต่อสู้ได้ในระบบทุนนิยมโลกได้ด้วยครับ

จีน ฮ่องกงและโลกในทัศนะของข้าพเจ้า

—————————————————————————————————————-

(1) ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ นักวิจัย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ German Institute of Global and Area Studies ประเทศเยอรมนี
(2) คมปทิต สกุลหวง “กฎหมายความมั่นคงจีน เดิมพันครั้งใหญ่ของสีจิ้นผิง…” The Standard 29 พฤษภาคม 2020
(3) เพิ่งอ้าง
(4) Richard Harris, “Beijing”s national security law heightens risk and uncertainty for Hong Kong investors and firms” South China Morning Post 29 May 2020.

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่