เศรษฐกิจ / เคาะฟื้นฟู ขสมก. สลัดหนี้ 1.2 แสนล้าน จ้างเอกชนวิ่ง…พลิกวิกฤตขาดทุน! มั่นใจ 7 ปี ได้กอดกำไร

เศรษฐกิจ

 

เคาะฟื้นฟู ขสมก.

สลัดหนี้ 1.2 แสนล้าน

จ้างเอกชนวิ่ง…พลิกวิกฤตขาดทุน!

มั่นใจ 7 ปี ได้กอดกำไร

 

ได้รับไฟเขียวในหลักการจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้เดินหน้าแผนฟื้นฟูกิจการขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก.ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

ขั้นตอนในขณะนี้ จึงเป็นการจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.อนุมัติ ก่อนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ได้

การนำ ขสมก.เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูครั้งนี้ ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่นำบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483

ภาระหนี้สินของ ขสมก.ถือว่าไม่น้อยหน้าการบินไทยเท่าไหร่ เพราะขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนี้ ขสมก.แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หนี้พันธบัตร (บอนด์) มี 64,339 ล้านบาท และ 2.หนี้เงินกู้ 63,446 ล้านบาท และหากรวมทั้งพันธบัตรและเงินกู้จะมีภาระหนี้สะสมทั้งหมด 127,786 ล้านบาท

จึงจำเป็นต้องหาวิธีให้กลับมาเลี้ยงตัวเองให้ได้อีกครั้ง

 

สําหรับแผนฟื้นฟูที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอให้ คนร.พิจารณา เป็นการปรับปรุงแผนเดิมที่ ครม.เคยอนุมัติไปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 มีเป้าหมาย คือ

  1. ลดค่าครองชีพประชาชน โดยปัจจุบันเก็บค่าโดยสารต่อเที่ยวตามระยะทางตั้งแต่ 15 บาท 20 บาท และ 25 บาท หากแผนฟื้นฟูได้รับการอนุมัติจาก ครม. จะเปลี่ยนการเก็บค่าโดยสารใหม่ ไปเป็นแบบบัตรเติมเงิน คือ ตั๋ววันและตั๋วเดือน ซึ่งตั๋ววันจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อวัน ส่วนตั๋วเดือน แบ่งเป็น ตั๋วนักเรียน 630 บาท/เดือน หรือ 21 บาทต่อวัน บุคคลทั่วไป 720 บาทต่อเดือน หรือ 24 บาทต่อวัน ส่วนผู้สูงอายุถ้าเป็นตั๋ววันจะลดราคาให้ 50%

เมื่อเปรียบเทียบกับการเก็บค่าโดยสารในปัจจุบันแล้ว ค่าโดยสารโดยรวมจะถูกลงไม่น้อยกว่า 50% เนื่องจากตั๋วโดยสาร 30 บาทสามารถนั่งรถเมล์ได้ทั้งวันไม่จำกัดเที่ยววิ่ง ต่างจากปัจจุบันที่ต่อรถเมล์แค่ 2 ครั้ง ราคาเริ่มต้น 15 บาท ก็ 30 บาทแล้ว

  1. การช่วยบรรเทาปัญหาจราจรติดขัด เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาการทับซ้อนระหว่างรถเมล์ ขสมก.และรถร่วมเอกชนเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละเส้นทางมีรถหลายสาย และกลายเป็นปัญหาต้นทุนด้วย การดำเนินการใหม่จะไม่ทับซ้อนเส้นทางกัน โดยแบ่งเส้นทางเป็น 4 ประเภท คือ เส้นทางหลัก จำนวน 40 เส้นทาง วิ่งจากทิศเหนือ-ทิศใต้ ทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก เส้นทางรองจะมี 15 เส้นทาง มีหน้าที่รับไปเชื่อมต่อระบบขนส่งประเภทอื่น เช่น รถไฟฟ้า และเรือ เป็นต้น

เส้นทางบนทางด่วน มี 24 เส้นทาง ให้บริการบนทางด่วน สามารถวิ่งได้รวดเร็วขึ้น เส้นทางวงกลมมี 29 เส้นทาง โดยเป็นการเชื่อมทุกเส้นทางเข้าด้วยกัน ซึ่งในจำนวนนี้จะแบ่งเป็นเส้นทางของ ขสมก. 108 เส้นทาง และเอกชน 54 เส้นทาง รวมทั้งหมด 162 เส้นทาง ลดลงจากเดิมที่มีถึง 269 เส้นทาง นอกจากการปฏิรูปเส้นทางแล้วยังขอดำเนินการในเรื่องของบัสเลน เฉพาะถนนที่มีศักยภาพ 6 ช่องจราจรขึ้นไป และมีเกาะกลางถนน ที่มีศักยภาพในการสร้างที่จอดรถเมล์ โดยจะวิ่งเลนชิดเกาะกลางถนน เพื่อไม่ให้มีปัญหารถติด

  1. รถเมล์ที่จะนำมาให้บริการ ได้กำหนดไว้ว่าต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น รถเมล์เอ็นจีวี หรือรถเมล์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นต้น และเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไทย ต้องประกอบในไทยและใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 50% และออกแบบเพื่อคนกลุ่มพิเศษให้สามารถใช้บริการได้ นอกจากนี้ ต้องติดตั้งอุปกรณ์ด้านบนหลังคาช่วยทำความสะอาดอากาศได้ด้วย
  2. การแก้ไขปัญหาการขาดทุนของ ขสมก.อย่างยั่งยืน โดย ขสมก.จะมีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อมราคา (อีบิทด้า) เป็นบวกภายใน 7 ปี หรือในปี 2572 ขณะที่การเดินรถ ขสมก.จะใช้วิธีจ้างเอกชนมาเดินรถตามระยะทาง ซึ่งจะแบ่งเป็น 3-4 สัญญา ผู้เสนอราคาต่ำสุดจะได้รับสัมปทานเดินรถเป็นเวลา 7 ปี จากนั้นจะประมูลใหม่ โดยการเดินรถจะต้องมาพร้อมคนขับรถ อุปกรณ์เก็บเงิน และการซ่อมบำรุง ตลอดจนพัฒนาแอพพลิเคชั่นการให้บริการและจำนวนผู้โดยสารในรถให้ผู้ใช้บริการได้รับทราบข้อมูล ซึ่งจะทำให้ ขสมก.ไม่มีภาระ ดังนั้น ภายใน 7 ปีก็จะไม่ขาดทุน รวมถึงลดอัตรากำลังคนจากปัจจุบัน รถ 1 คัน ใช้พนักงาน 4.65 คน แต่แผนฟื้นฟูนี้รถ 1 คัน จะใช้พนักงาน 2.75 คนเท่านั้น โดยใช้วิธีเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์)
  3. เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อภาครัฐ ขสมก.จะขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐ (PSO) ระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2571 รวม 9,674 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2572 จะไม่ติดลบแล้ว ทำให้ ขสมก.สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระต่อภาครัฐในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในแผนที่กระทรวงคมนาคมเสนอในครั้งนี้ รัฐบาลต้องแบกรับภาระหนี้ของ ขสมก.ทั้งหมด รวมถึงการสนับสนุนเงินอุดหนุนอีก 9,674 ล้านบาท และโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) อีก 4,560 ล้านบาทด้วย

 

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แผนฟื้นฟูใหม่แตกต่างจากแผนปี 2562 ในบางประเด็น คือ

เรื่องรถเมล์ เดิม ขสมก.จะจัดหารถโดยการซื้อหรือเช่า และรถเป็นของ ขสมก. ทำให้ต้นทุนการบำรุงรักษายังเป็นของ ขสมก. และเกิดขาดทุนสะสม แผนใหม่จะเป็นการเช่าวิ่งตามระยะทาง หาก ครม.อนุมัติ ได้วางเป้าหมายไว้ว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเริ่มจัดทำเอกสารเชิญชวน (ทีโออาร์) เพื่อประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการรับจ้างวิ่งตามระยะทาง โดยคาดว่าจะจัดซื้อจัดจ้างให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2563 จากนั้นจะลงนามในสัญญาให้เสร็จภายในเดือนกันยายนเลย

“รถคันแรกของ ขสมก.จะเข้ามาในเดือนมีนาคม 2564 ใช้เวลาทั้งสิ้น 15 เดือน รถจะเข้ามาครบ 2,511 คัน เพื่อวิ่งเต็มทั้ง 108 เส้นทาง ส่วนรถร่วมเอกชนใช้เวลาดำเนินการ 5 เดือน ในการนำรถเข้ามาวิ่ง 300 คันแรก จากทั้งหมด 1,500 คัน โดยจะเริ่มเข้ามาในเดือนพฤษภาคม 2564 และจะส่งมอบครบ 300 คันในเดือนกันยายน 2564 และครบทั้งหมดกันยายน 2565 โดยรถเมล์ที่นำมาวิ่งทั้งหมดจะเป็นรถปรับอากาศ จะไม่มีรถร้อนเหมือนในปัจจุบันแล้ว”

นายศักดิ์สยามระบุ

 

นอกจากการบินไทย และ ขสมก.แล้ว ยังมีการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเช่นเดียวกัน

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ระบุว่า ก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. แผนฟื้นฟูกิจการของ ร.ฟ.ท.ได้ผ่านการพิจารณาจาก คนร.ไปแล้ว แต่เมื่อตนเข้ามารับตำแหน่ง ก็จะต้องนำแผนกลับมาพิจารณาในรายละเอียดก่อน ต้องมานั่งดูว่าแผนเดิมที่เคยเสนอไป มีความเป็นปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งในการเสนอแผนอาจจะมีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น และมีความสอดคล้องกันในรายละเอียดมากขึ้น

โดยครั้งนี้จะต้องขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขององค์กรให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณาอนุมัติต่อไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายนนี้

ท้ายที่สุด จะเดินหน้าให้ทุกหน่วยงานพ้นวิกฤตจนพลิกฟื้นกลับมามีกำไรได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ ยังต้องตามลุ้น!!

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่