ในประเทศ / ทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้มาตรา 112

ในประเทศ

 

ทรงพระเมตตา

ไม่ให้ใช้มาตรา 112

 

นับเป็นความชัดเจน เกี่ยวกับการใช้ และเอาผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 112

ด้วยมีแหล่งที่มาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

จึงสมควรต้องบันทึกไว้

 

โดยเมื่อ 15 มิถุนายน 2563 ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวผ่านสื่อมวลชนว่า

“ผมมีความกังวล หลังมีกลุ่มบุคคล กำลังทำการล่วงละเมิดสถาบัน จึงขอร้องทุกคนในฐานะที่เป็นคนไทย อย่าไปเชื่อฟังกลุ่มที่บิดเบือน เผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ที่สร้างความเกลียดชัง และเชื่อมโยงข้อมูลที่ไม่เป็นจริง”

“พร้อมอยากให้ทุกคนตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งที่กลุ่มดังกล่าวดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปไม่ได้ และกลุ่มบุคคลนี้มีความต้องการสิ่งใด”

“จึงขออย่าตกเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ซึ่งเชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ดำเนินการต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และใกล้วันสำคัญในประเทศใช่หรือไม่”

“ยืนยันรัฐบาลกำลังดำเนินการสอบสวนในเรื่องนี้ แต่ตามกฎหมายที่มีอยู่”

“โดยในประเทศไทยที่ยังเคลื่อนไหวกัน ก็ยังไม่มีใครทำอะไรสักคน ซึ่งกฎหมายมีอยู่หลายตัว เราก็เข้าใจ ว่าต้องทำให้ทุกคนมีความสบายใจ โดยเฉพาะเด็ก นิสิต นักศึกษาผมไม่อยากให้เสียอนาคต ไม่ได้ขู่เขานะ ซึ่งกฎหมายก็มีทุกตัวอยู่แล้ว ทุกคนต้องสำนึกเรื่องการบิดเบือนสถาบัน”

“เดิมเรามีกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้”

“อยากบอกคนไทยว่า วันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย”

“เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้”

“นี่คือสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำให้แล้ว และคุณก็ละเมิดกันเรื่อยเปื่อย อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร คุณต้องการอะไรกัน วันนี้จำเป็นต้องปรับ ต้องพูดเพื่อให้บ้านเมืองสงบ”

 

ซึ่งก็ปรากฏว่ามีการขานรับจากคนในรัฐบาลโดยพร้อมเพรียง

อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น “เรื่องนี้เราไม่ใช้อยู่แล้ว”

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงประเด็นนี้ในที่ประชุมสภาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ก่อนการพูดเรื่องมาตรา 112 ของนายกฯ ไม่ถึงสัปดาห์

โดยกล่าวว่า

“เคยอธิบายเรื่องประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้คณะทูตานุทูต 22 ประเทศฟังว่า มาตรา 112 เป็นเหมือนกฎหมายที่มีอยู่ในทุกประเทศ ในความหมายของการมีกฎหมายเฉพาะถิ่น เฉพาะที่ เฉพาะตามความจำเป็นของประเทศนั้นๆ เชื่อว่าทุกประเทศก็ต้องมีกฎหมายอาญา ซึ่งคณะทูตก็เห็นด้วยว่าเป็นเช่นนั้น”

“อธิบายกับทูตต่อว่า คนที่ห่วงใยและกังวลเกี่ยวกับมาตรานี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือคนไทย 67 ล้านคนซึ่งไม่เห็นว่ามีปัญหา อีกกลุ่มอาจจะมีไม่ถึง 100 คนที่บอกว่าเป็นปัญหา

ส่วนนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หน่วยตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล กล่าวว่า นายกฯ ได้พูดด้วยความหวังดีต่อประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่พวกเราคนไทยเทิดทูนจงรักภักดีเป็นที่สุด เพราะยังมีคนไทยบางกลุ่มที่พยายามก้าวล่วง ปลุกระดมนักศึกษาที่เป็นผู้บริสุทธิ์ให้เดินตามและหลงเชื่อในทางที่ผิดๆ ซึ่งจะทำให้หมดอนาคตในชีวิตได้

“นายกฯ ปรารถนาดีต่อลูกหลานและพี่น้องคนไทยทุกคน ไม่อยากเห็นใครออกมาเคลื่อนไหวปลุกระดมก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น” นายสุภรณ์ระบุ

 

ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ติดตามกรณี 112 ให้ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของตนเองว่า ในเดือนสิงหาคม 2562 ยังมีผู้ต้องขังในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ถูกคุมขังในเรือนจำทั่วประเทศอีกอย่างน้อย 25 คน

โดยที่สถิตินี้ไม่รวมผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงหรือหาประโยชน์ส่วนบุคคล ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด

“ควรกล่าวด้วยว่า แม้ตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2561 จะมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการบังคับใช้มาตรา 112 ได้แก่ การพยายามไม่นำข้อกล่าวหามาตรา 112 มาใช้ในการกล่าวหาหรือลงโทษในกระบวนการยุติธรรม ทำให้แทบไม่มีคดีใหม่ๆ เพิ่มเติมในข้อหานี้ แต่ก็ยังคงมีการใช้ข้อกล่าวหาอื่น อาทิ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ควบคุมการแสดงออกอยู่” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุ

และว่า คดีสำคัญซึ่งเกิดขึ้นในช่วงปี 2562 ได้แก่ คดีเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกกรณีสหพันธรัฐไท ซึ่งผู้ต้องหากรณีนี้ทั้งหมดถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่

เท่าที่ทราบจนถึงปัจจุบันมีการดำเนินคดีบุคคลอย่างน้อย 19 ราย ในกรณีนี้มีผู้ถูกคุมขังในระหว่างการต่อสู้คดี 2 ราย เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว

ทำให้กรณีนี้นับเป็นผู้ถูกคุมขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมืองอีกลักษณะหนึ่ง

แม้ไม่ใช่คดีตามมาตรา 112 ก็ตาม

 

สอดคล้องกับนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ที่ให้สัมภาษณ์ผ่านบีบีซีไทยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีรายงานการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ก็จริง

แต่บุคคลที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ก็ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น

อย่างกรณีของนายกาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์ ที่ถูกดำเนินการตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกลุ่มคนที่นิยมแนวความคิดสหพันธรัฐไทก็โดนข้อหายุยงปลุกปั่นเพื่อให้ประชาชนกระทำผิดอาญาล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 และเป็นอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ตามประมวลกฎหมายอาญา

นายกาณฑ์ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ถูกควบคุมตัวเมื่อ 7 ตุลาคม 2562 และแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จากการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของ “นิรนาม” ซึ่งเป็นผู้ใช้ทวิตเตอร์วัย 20 ปี มีผู้ติดตามหลายแสนคน ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2563 และแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3) จากการทวีตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับสถาบัน

นายยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตกับบีบีซีไทยว่า การใช้มาตรา 112 นั้นจะเข้มข้นหรือขึ้นอยู่กับผู้บังคับใช้กฎหมาย และสามารถเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือได้โดยไม่ขึ้นอยู่กับตัวบทกฎหมาย เช่น ก่อนปี 2559 ก็มีการใช้มาตรา 112 อย่างมากและอย่างหนักหน่วงโดยมีการดำเนินคดีในศาลทหาร

ในขณะที่ในช่วงรอยต่อระยะเวลาปี 2561-2562 มีกลุ่มที่เคยยื่นประกันตัวในคดีดังกล่าวมาแล้วหลายครั้งแต่ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด กลับได้รับการปล่อยตัว ทั้งๆ ที่ข้อกล่าวหาก็เหมือนเดิม

 

นางสาวพรรณิการ์ วานิช แกนนำคนสำคัญของคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ มีปฏิกิริยาต่อท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์

โดยได้ทวีตข้อความระบุว่า

“เมื่อนายกฯ บอกเองว่า ทุกวันนี้ไม่ใช้ ม.112 แล้ว และก็เป็นที่รู้กันมานานว่า กม.นี้มีปัญหา ถูกใช้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นของประชาชน จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะคง กม.นี้ไว้ รวมถึงควรมีการพิจารณา กม.อื่นที่ถูกใช้ปิดปากผู้เห็นต่าง เช่น พ.ร.บ.คอมพ์ ม.116 ข้อหายุยงปลุกปั่น”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา หลายฝ่ายมีข้อกังวลถึงมาตรา 112 อาทิ

– อัตราโทษจำคุกสามถึงสิบห้าปีนั้นสูงเกินไป เทียบได้กับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุไม่เกิน 15 ปี ฯลฯ

– อัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกอย่างต่ำสามปีสูงเกินไป ทำให้คดีที่เป็นเรื่องเล็กน้อย ศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจกำหนดบทลงโทษให้น้อยกว่านี้ได้

– องค์ประกอบความผิดไม่ชัดเจน โดยเฉพาะคำว่า “ดูหมิ่น” ซึ่งอาจตีความได้กว้าง ครอบคลุมการกระทำ หรือการแสดงความคิดเห็นได้หลายแบบ

– มาตรา 112 ถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ “ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ทำให้การตีความและบังคับใช้อาจอ้างการรักษาความมั่นคงของรัฐเพื่อให้เป็นผลเสียแก่ผู้ต้องหาได้

– มาตรา 112 ถูกตีความและนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบใดจะผิดกฎหมายหรือไม่

– บุคคลทั่วไปทุกคนสามารถเป็นผู้กล่าวโทษ ให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 ได้ โดยไม่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นคนเริ่มต้นคดี ซึ่งส่งผลให้มีการกล่าวหากันเป็นคดีมาตรา 112 จำนวนมาก

– เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีมาตรา 112 ได้รับแรงกดดันจากสังคม และไม่กล้าใช้ดุลพินิจที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี การไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาประกันตัว หรือการพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2554 คณะนิติราษฎร์ ซึ่งประกอบด้วยคณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามเสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112

แต่ก็ได้รับการคัดค้านอย่างหนัก

จนไม่อาจดำเนินการได้

มาตรา 112 จึงดำรงอยู่

แต่ก็เป็นการดำรงอยู่อย่างที่นายกรัฐมนตรีระบุ นั่นคือ

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตา ไม่ให้ใช้”


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่