เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | ร่วมปฏิรูปศิลปิวัฒนธรรม

สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 อาจแบ่งเป็นสามช่วง

ช่วงแรก เผชิญภัย

ช่วงสอง ผ่อนเพลา

ช่วงสาม ผ่านพ้น

ขณะนี้ถือเป็นระยะท้ายๆ ของช่วงแรก ด้วยยังมีประกาศเลื่อนภาวะฉุกเฉินไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

ยังต้องเผชิญภัยกับสถานการณ์อันไม่อาจคาดหมายได้ไปอีกสักระยะหนึ่ง

ภาระหน้าที่ของคณะทำงานเราเกี่ยวกับงานด้านศิลปะและวัฒนธรรมยังดำเนินไปอย่างเข้มข้น หลากหลาย โดยเฉพาะภารกิจ “ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัด” ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270 เพื่อการปฏิรูปประเทศ

นั้นเป็นอำนาจหน้าที่ หรือหน้าที่และอำนาจ

งานเด่นที่เฝ้าติดตาม เสนอแนะเร่งรัดช่วงนี้ และคาดว่าจะเป็นช่วงระยะยาวช่วงสามสี่ กระทั่งตลอดไปด้วย คืองานอยู่บ้านอ่านหนังสือ และอยู่บ้านสร้างงานศิลป์

อยู่บ้านอ่านหนังสือ ได้เชิญตัวแทนหอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุด กศน.ที่มีอยู่ทุกจังหวัด สมาคมผู้จัดพิมพ์มาให้ข้อมูลบริการหนังสือ ON LINE ซึ่งจะประมวลข้อมูลมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมวรรณกรรมที่หลายสถาบันมีอยู่ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งที่ดำเนินอยู่เป็นประจำและเป็นพิเศษ เป็นหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม หน่วยงานเอกชน เช่น ธนาคารกรุงเทพ มีโครงการประจำคือ “กวีปากกาทอง” ช่วงนี้มีโครงการพิเศษชื่อ “พลังกวีราวีโควิด” เป็นต้น

งานวรรณกรรม ช่วงระยะสั้น ระยะยาว นอกจากกิจกรรมหลากหลายดังกล่าวแล้ว โครงการหลักที่เสนอไว้เป็นงานปฏิรูปก็คือ การจัดตั้ง “สถาบันภูมิภาษาและปัญญาแห่งชาติ”

รายละเอียดและความคืบหน้าจะได้นำมาเสนอในโอกาสต่อไป

อยู่บ้านสร้างงานศิลป์ เป็นโครงการที่ศูนย์ศิลป์สิรินธร จ.เลย กำลังดำเนินอยู่

คำเสนอแนะของคณะเราคือต้องการให้เด็กและเยาวชนใช้เวลาว่างช่วงไม่ได้ไปโรงเรียนต้องอยู่บ้าน ได้ทำสิ่งที่เขาชอบและถนัด มีเขียนรูป ถ่ายรูป หรือทำงานศิลปะ ประดิษฐ์คิดสร้างขึ้นมา เพื่อประดับประดาตกแต่งหรือใช้สอย แล้วแลกเปลี่ยนสื่อสารกันในสื่อสมัยใหม่ รวมถึงรวบรวมคัดกรองนำมาจัดนิทรรศการทั้งที่โรงเรียนและชุมชนพื้นที่หรือเวทีวัฒนธรรม ในโอกาสช่วงระยะต่อไป

ส่วนการช่วยเหลือศิลปิน โดยเฉพาะศิลปินพื้นบ้านนั้น มีกระทรวงวัฒนธรรมดูแลเป็นหลักอยู่ กำลังติดตามและเร่งรัดให้ปรากฏชัดเจน

ทั้งหมดนี้เป็นภารกิจเฉพาะหน้าช่วงเผชิญภัย ซึ่งต้องยอมรับว่าฉุกละหุก ฉุกเฉิน ตามสภาพของสถานการณ์ใหม่อันไม่อาจคาดหมายได้

ช่วงต่อไปคือช่วงผ่อนเพลา กระทั่งผ่านพ้นนั้น ต้องถือเอาภารกิจช่วงแรกที่เรากำลัง “เผชิญภัย” อยู่นี้เป็นแนวพื้นฐานสำคัญยิ่ง เพื่อกำหนดทิศทางวางแผนและปรับแผนใหม่ให้พร้อมรับสถานการณ์ได้ในทุกช่วง

นอกจาก “ภูมิภาษาและปัญญาแห่งชาติ” เป็นงานปฏิรูปหลักที่จำเป็นต้องมีในบ้านเมืองเราโดยเฉพาะ วิกฤตวรรณกรรมและการอ่านแล้ว อีกงานสำคัญต้องปฏิรูปคือ การเปิดพื้นที่เพื่อกิจกรรมทางวัฒนธรรม ตามรัฐธรรมนูญหมวด 5 ว่าด้วย “หน้าที่ของรัฐ” เป็นหมวดบังคับให้รัฐมีหน้าที่ “ต้องทำ” เป็นหมวดที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญฉบับใด

โดยเฉพาะมาตรา 57(1) ของหมวดนี้ที่ว่า

“รัฐต้อง (1) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ใช้สิทธิ์และมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย”

ข้อความท้ายนี่แหละสำคัญนัก เป็นหน้าที่ซึ่งรัฐ “ต้องทำ” คือ “จัดให้มี” ให้ได้ ถ้าไม่ทำก็จะถูกบังคับด้วยมาตรา 51 ทันที ดังนี้

“มาตรา 51 การใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐตามหมวดนี้ ถ้าการนั้นเป็นการทำเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยตรง ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนและชุมชนที่จะติดตามและเร่งรัดให้รัฐดำเนินการ รวมตลอดทั้งฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดให้ประชาชนหรือชุมชนได้รับประโยชน์นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ”

พื้นที่เพื่อกิจกรรมทางวัฒนธรรม จึงเป็นงานหลักอีกด้านที่จำเป็นต้อง “เร่งรัด” ให้มี ซึ่งเวลานี้ได้มีการดำเนินงานในหลายพื้นที่อยู่แล้ว ที่มีประจำในหลายจังหวัด เช่น ตลาดถนนคนเดิน ซึ่งจะเน้นการค้าขายแบบ “ตลาดนัด” เป็นหลัก ยังไม่เป็นพื้นที่วัฒนธรรมที่ชัดเจนนัก

นอกจากบางแห่งที่ใช้ทุน สกว.ลงไปหนุนช่วย ดังคณะเราได้ “เสนอแนะ” มาแต่แรกและเฝ้าติดตามอยู่ มีเช่น ตลาดทุ่งสง นครศรีธรรมราช ตลาดทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่ และอีกหลายที่หลายจังหวัด หลังสถานการณ์นี้คงได้ไป “ติดตาม” ดู เพื่อประเมินถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลสอดคล้องกับวิถีแห่งบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งจะเป็นวัฒนธรรมใหม่

ของสังคมใหม่แท้จริง

เป็นงานที่เราต้องทำ และกำลังทำอยู่


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่