รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ/ธุรกิจ ผ่าวิกฤต ก้าวสู่ดิจิตอล วิถี New Normal เพื่ออยู่รอด

รายงานพิเศษ/โชคชัย บุณยะกลัมพ https://www.facebook.com/ChokCyberAIEntertainment/

ธุรกิจ ผ่าวิกฤต ก้าวสู่ดิจิตอล

วิถี New Normal เพื่ออยู่รอด

 

ช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรธุรกิจต้องเพิ่มความสำคัญกับเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้สะดวกและคงประสิทธิภาพให้มากที่สุด

นวัตกรรมต่างถูกนำมาใช้ในการตรวจเชื้อไวรัสและรักษาทางไกล ด้วยระบบการวินิจฉัยโรคยังถูกต่อยอดด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สามารถวิเคราะห์การติดเชื้อไวรัสที่มีความแม่นยำสูง

การนำเอาหุ่นยนต์มาช่วยงานถูกใช้เพื่อการส่งอาหาร เวชภัณฑ์ และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร

และยังถูกดัดแปลงไปทำความสะอาดถนนและพ่นยาฆ่าเชื้ออาคารบ้านเรือน

ขณะที่โดรนก็ถูกใช้อย่างแพร่หลาย เพื่อการส่งเวชภัณฑ์และของใช้จำเป็นเร่งด่วน

จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ทุกภาคส่วนก้าวสู่ดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ และเชื่อว่าหลังจากที่วิกฤตผ่านพ้นไปหลายๆ ธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนบิสซิเนส โมเดลให้อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เพราะหากใครไม่ปรับตัวสู่ดิจิตอล ก็จะอยู่รอดยาก

มีเพียงบางกลุ่มบางธุรกิจที่แทบจะไม่ต้องปรับตัวมากนัก แถมยังสามารถสร้างรายได้และกำไร ให้ธุรกิจเติบโตในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดีจนทำให้นักลงทุนต่างสนอกสนใจกับบริษัทเหล่านี้ และมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่องในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม การปรับแผนบริษัทให้มีความเป็นดิจิตอลมากขึ้น หลังการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของลูกค้าที่หันมาใช้งานผ่านช่องทางดิจิตอลหรือออนไลน์ ซึ่งหลายคนไม่เคยดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มาใช้ ก็อาจจะได้ลองใช้ในช่วงที่วิกฤต

อาทิ การช้อปออนไลน์ที่มากขึ้น สั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น การประชุมทางไกล (Work from Home) การศึกษาทางไกล (Learn from Home) การชำระเงินด้วย Mobile Banking ความสามารถทางเทคโนโลยีที่มากขึ้น จนถึงการติดต่อกันผ่านระบบออนไลน์ และใช้อินเตอร์เน็ตกันมากขึ้น

เช่นกรณีการใช้เทคโนโลยีสังคมไร้เงินสด การโอนเงิน การชำระบิล การทำธุรกรรมออนไลน์พร้อมๆ กันหลายๆ อย่าง โดยที่ไม่ต้องเดินทางให้เสียเวลา

ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังจากนี้โฉมหน้าธุรกิจ รูปแบบการทำงานของคนทั้งโลกจะเปลี่ยนไป ภายใต้การขับเคลื่อนด้วยระบบดิจิตอล พร้อมไปกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ทันสมัยมากขึ้น การจัดหาเครื่องมือหรือโซลูชั่นที่จะเข้ามาช่วยทำให้การทำงานร่วมกันที่คล่องตัวมากที่สุด ที่จะกลายเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะการใช้งานบนคอมพิวเตอร์ แต่ต้องรวมถึงการนำสมาร์ตดีไวซ์อื่นๆ มาใช้งานให้เหมาะสมอีกด้วย

เมื่อผู้บริโภคคุ้นชินกับการใช้ดิจิตอล ส่งผลให้เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเร็วมาก และเป็นโอกาสทางการตลาดในแง่ส่งเสริมการขายซึ่งลูกค้าได้ทดลองสินค้าโดยไม่ต้องใช้พนักงาน (personal touch) แต่ใช้เทคโนโลยีอย่าง AR/VR แทน เช่น ใช้แอพพ์ลองแต่งหน้าหรือลองชุดก่อนตัดสินใจซื้อ

ทั้งนี้ ทำให้รูปแบบการทำงาน ประกอบธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป อาจมีความต้องการนำเทคโนโลยี หุ่นยนต์ เข้ามาช่วยในการทำงาน หรือปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พลิกโฉมธุรกิจ องค์กรที่ยังติดของเก่า กระบวนทัศน์เก่าๆ ธุรกิจจะไปไม่รอด

 

วิกฤตครั้งนี้คาดว่าจะทำให้รูปแบบของหลายธุรกิจเปลี่ยนไป ตามพฤติกรรมของผู้บริโภค

เช่น สินค้ากลุ่มเครื่องมือแพทย์อย่างหน้ากากอนามัย ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ อาจเป็นสิ่งที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต้องพกติดตัว นับจากนี้อาจกลายเป็นสินค้าจำเป็น หรือผลจากการเวิร์กฟรอมโฮม ทำให้ธุรกิจอาหาร ธุรกิจต่างๆ ต้องปรับตัว เน้นบริการส่ง ผู้ให้บริการส่งมีมูลค่าตลาดมากขึ้น

ทุกธุรกิจต้องพึ่งพาดิจิตอล ต้องมีร้านออนไลน์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เป็นโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่อยากมีธุรกิจของตนเอง

ด้วยเหตุนี้หากไม่มีการปรับเปลี่ยนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิตอล จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสถานที่ท่องเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจอีเวนต์ ธุรกิจร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าและไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจสถาบันการเงิน และธุรกิจเทคโนโลยีอย่างกิจการ Startup ต้องปรับตัวไปสู่การอยู่รอด

จะต้องมีการพัฒนาบุคลากรให้เกิดการเรียนรู้งานใหม่ โดยการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิตอล เป็นส่วนช่วยในการเปลี่ยนงาน หรือหางานใหม่ อีกทั้งสร้างงาน อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเจอกัน บริษัททำงานแบบนี้ ใช้เทคโนโลยีช่วยในการทำงาน ทั้งการประชุมออนไลน์ ติดตามงานออนไลน์

ยิ่งในระยะหลังมานี้มีการพูดถึงการทำงานแบบ Agile คือวิธีทำงานแบบคล่องแคล่ว ว่องไว คนที่ว่องไวเท่านั้นจะเป็นผู้ชนะ

 

จากสภาพการทำงานที่มีการตัดสินใจเป็นลำดับชั้น สำหรับเศรษฐกิจอย่างทุกวันนี้ หากธุรกิจยังมีระบบแบบนี้ ไม่ทันการณ์แล้ว ต้องเปลี่ยนวิธีคิด สร้างทีมที่มีลักษณะปรับตัวได้ เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว เพราะความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงง่าย พฤติกรรมของคู่แข่งก็ปรับเปลี่ยน เราต้องปรับได้ทันที การจัดทัพเตรียมความพร้อมบุคลากร ปรับกลยุทธ์และแนวทางการทำงาน ช่วยพัฒนานวัตกรรมเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันกับองค์กร ดึงหน่วยงานทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนในกระบวนการทำงานให้มากที่สุด

ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งซึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19  แม้วิกฤตนี้แต่ละคนจะมีวิถีฟันฝ่าที่แตกต่างกัน

แต่เชื่อว่าอยู่ภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การนำพาให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

รัฐควรมีการส่งเสริมวิสาหกิจดิจิตอลและมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โรงงาน โรงแรม ธุรกิจบริการ ธุรกิจขนาดเล็กร้านค้า หาบเร่ แผงลอย เกษตรกร และชุมชน

ช่วยส่งเสริมทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์แก่เอสเอ็มอี และคนรุ่นใหม่

และเยียวยาเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านการเรียนการสอนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ให้มากขึ้น

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่