บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / ทำไมการเลือกตั้งและประชาธิปไตย ได้ ‘ผลผลิต’ อย่างประธานาธิบดี ‘ทรัมป์’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ทำไมการเลือกตั้งและประชาธิปไตย

ได้ ‘ผลผลิต’ อย่างประธานาธิบดี ‘ทรัมป์’

ถูกเยาะเย้ยอย่างหนักสำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ภายหลังจากเกิดเหตุจลาจลร้ายแรงและประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายชาวอเมริกันผิวดำ ที่ถูกตำรวจในเมืองมินนีแอโปลิส ใช้ความโหดเหี้ยมในการจับกุมด้วยการใช้เข่ากดคอนาน 8 นาทีจนขาดใจตาย

จอร์จ ฟลอยด์ ไม่ได้ทำความผิดร้ายแรงอะไร เพียงแค่ใช้ธนบัตรดอลลาร์ปลอมไปซื้อสินค้า และเขาเองไม่มีอาวุธ อีกทั้งถูกใส่กุญแจมือไพล่หลังนอนคว่ำหน้าบนพื้นแล้ว ไม่มีทางจะหนีไปได้ แต่ต้องมาตายจากการถูกตำรวจผิวขาวนายนั้นจงใจใช้เข่ากดคอ อันเป็นการกระทำที่น่าจะเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ถ้าไม่ขาดใจตาย อย่างน้อยกระดูกคอต้องหักจนเป็นอัมพาต

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติในอเมริกา ยังคงฝังแน่น รอวันปะทุขึ้นมาเท่านั้นเอง ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดปัญหาลักษณะนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ความรุนแรงครั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากท่าทีของทรัมป์ที่มักใช้คำพูดส่งเสริมความรุนแรงหลายครั้งอย่างต่อเนื่องนับแต่ดำรงตำแหน่ง จนทำให้ตำรวจผิวขาวบางคนที่มีอคติต่อคนผิวดำอยู่แล้ว ตีความว่าเป็นการเปิดไฟเขียวให้ใช้ความรุนแรงได้

ระหว่างเกิดการประท้วงและมีการจลาจล รวมทั้งมีคนบางกลุ่มฉวยโอกาสปล้นสะดมร้านค้า ทรัมป์ยังเติมเชื้อไฟด้วยการทวีตข้อความสนับสนุนการใช้ความรุนแรงอย่างโจ่งแจ้งว่า “เมื่อการปล้นสะดมเริ่มขึ้น การยิงก็เริ่มขึ้น” ความหมายคือให้ตำรวจยิงผู้ประท้วงได้ ยิ่งกระตุ้นให้ชาวอเมริกันโกรธแค้นมากขึ้น

การประท้วงไม่เพียงเกิดขึ้นทั่วอเมริกา แต่ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย

MIAMI, FLORIDA – APRIL 17: Volunteers, health care workers and doctors participate in a protest against what they say is the city’s and county’s poor response to helping the homeless during the coronavirus outbreak on April 17, 2020 in Miami, Florida. Dr. Henderson and several group organizations are helping the homeless by providing tests, protective masks, gloves, tents, and other items to the people in need. The groups are calling on local officials to make hotels, dorm rooms and other properties immediately available to house people; cancel all rent and mortgages; halt all evictions and end the arrest of homeless people. (Photo by Joe Raedle/Getty Images)

 

ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี น่าจะได้รับการจารึกว่าเป็นผู้นำอเมริกันที่สร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา ไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างความแตกแยกในประชาคมโลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาเช่นกัน

การประท้วงและจลาจลอันเนื่องมาจากการตายของจอร์จ ฟลอยด์ ถูกฝ่ายตรงข้ามอย่างจีนและรัสเซีย เยาะเย้ยทรัมป์อย่างหนัก โดยฝั่งของรัสเซียบอกว่าหลังจากหว่านเพาะความแตกแยกให้กับทั่วโลก มาบัดนี้ทรัมป์ก็ได้รับผลกรรมนั้น เมื่อต้องเจอเหตุการณ์ประท้วงและจลาจลด้วยตัวเอง

ฝ่ายจีนนั้นเย้ยหยันว่า ตอนม็อบฮ่องกงก่อเหตุประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งมีการเผาทำลายร้านค้าและทำร้ายประชาชนที่เห็นต่างจนเสียชีวิต ทางรัฐบาลและนักการเมืองสหรัฐบอกว่าเป็นภาพที่สวยงาม แล้วตอนนี้เป็นยังไงล่ะเมื่อต้องเจอด้วยตัวเอง “จะเห็นว่าตำรวจฮ่องกงเบามือกับผู้ประท้วงมากกว่านะ”

ส่วนแครี่ หล่ำ ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง ก็ซัดในทำนองว่าอเมริกาสองมาตรฐาน เพราะในนามความมั่นคงของอเมริกาแล้ว การใช้ความรุนแรงปราบม็อบไม่ใช่เรื่องผิด แต่พอเป็นความมั่นคงของเรา (ฮ่องกง) การปราบผู้ชุมนุมกลับเป็นเรื่องผิด

สิ่งที่แครี่ หล่ำ พูดหมายถึงกรณีที่จีนแผ่นดินใหญ่เตรียมออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่มาใช้ในฮ่องกง เพื่อป้องกันการปลุกระดมแยกฮ่องกงออกเป็นเอกราชจากจีนและเกิดการประท้วงต่อต้านกฎหมายดังกล่าวในฮ่องกง ที่กำลังดำเนินอยู่

 

คดีจอร์จ ฟลอยด์ ถือเป็นเหตุการณ์หนักๆ ที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจอเมริกา นอกเหนือไปจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ฝีมืออันย่ำแย่ของทรัมป์ ทำให้คนอเมริกันตายและติดเชื้อมากอันดับ 1 ของโลก และยังคุมการระบาดไม่ได้ ทำให้อดีตบิ๊กๆ หลายคนในสหรัฐออกมาตำหนิทรัมป์ว่าสร้างความแตกแยก ทำตัวไม่สมกับเป็นผู้นำ

แม้แต่ พล.อ.คอลิน เพาเวลล์ รัฐมนตรีต่างประเทศ สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (รีพับลิกัน) ยังเหลืออด ออกมาประณามทรัมป์ว่าทำลายภาพลักษณ์อเมริกาในสายตาชาวโลก และบอกว่าจะไปลงคะแนนเลือกโจ ไบเดน (เดโมแครต) เป็นประธานาธิบดีสมัยหน้า

ทรัมป์นั้นมีพฤติกรรมใช้อำนาจยิ่งกว่าเผด็จการ โดยเฉพาะต่อผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกับเขา หรือเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อตำแหน่งของเขา ทรัมป์ปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นว่าเล่น จนนับไม่ถ้วน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ส่วนใหญ่เป็นการปลดเพราะบุคคลนั้นไปให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการในสภา เกี่ยวกับการใช้อำนาจมิชอบของทรัมป์

มีหลายคนเตือนล่วงหน้าแล้วว่า ทรัมป์นั้นไม่ต่างจากเด็กอายุ 6 ขวบ ในแง่วุฒิภาวะ เมื่อเวลาผ่านไปยิ่งชัดว่าเขาแย่ยิ่งกว่าเด็กอายุ 6 ขวบ เพราะบางทีเด็กยังรู้ถูกผิด ชั่วดี มีเมตตา เห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากกว่าทรัมป์

การใช้อำนาจตามอำเภอใจของทรัมป์ ยิ่งกว่าเผด็จการคนใดในโลกนี้ (อาจเป็นรองแค่คิม จอง อึน) ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเกิดความหวาดกลัวไปทั่วทุกอณู

แม้แต่บุคคลที่เป็นแพทย์ใหญ่ ได้รับการเคารพนับถือทั่วประเทศ ยังต้องกลัวทรัมป์ เช่น นายแพทย์แอนโทนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ และเป็นหัวหน้าใหญ่คณะทำงานเฉพาะกิจด้านการควบคุมไวรัสโควิด-19 ของทำเนียบขาว ยังต้องถอนคำพูด กรณีไปให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า อเมริกาสามารถป้องกันการติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมากได้ถ้ารับมือแต่เนิ่นๆ

เหตุที่ต้องถอนคำพูด เพราะมีนักการเมืองรีพับลิกันคนหนึ่งทวีตว่า “ไล่ออก เฟาซี” แล้วทรัมป์นำข้อความนั้นมาทวีตต่อ คล้ายจะขู่หมอเฟาซีว่า ให้สงบปากคำไว้ ไม่เช่นนั้นจะโดนแน่

ขนาดในเมืองไทย ที่เขาว่ากันว่าผู้นำเป็นเผด็จการ (แม้จะผ่านการเลือกตั้ง) ยังไม่เคยมีการขู่จะปลดหมอที่อยู่ในทีมสู้โควิด ไม่เคยออกมาคุกคามแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโควิดผ่านโซเชียลมีเดีย

 

กรณีของทรัมป์ เกิดคำถามว่าทำไมระบอบประชาธิปไตยและการเลือกตั้งจึงได้ “ผลผลิต” อย่างทรัมป์มาเป็นผู้นำ

คนที่เชิดชูประชาธิปไตย แน่นอนย่อมมีคำตอบตายตัวหัวชนฝาว่า “ประชาธิปไตยเป็นระบบที่เลวน้อยที่สุด” หรือจะพูดอีกอย่างก็คือ เป็นระบบดีที่สุดเท่าที่หาได้

ถ้ามันดีที่สุด แล้วทำไมจึงให้ “ผลผลิต” ค่อนข้างเลว จนแทบจะหาคุณสมบัติประชาธิปไตยในตัวไม่เจอ

บางคนคงจะเถียงอีกตามเคยว่าระบบมันดีอยู่แล้ว คนต่างหากที่ทำให้ระบบมันเลว แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ระบบกับคนก็คืออันเดียวกัน เพราะระบบถูกสร้างโดยคน

คุณภาพของระบบอาจผันแปรไปโดยคนที่ควบคุมมันในขณะนั้น ฉันใดก็ฉันนั้น ระบบหรือระบอบประชาธิปไตยในอเมริกายุคที่เลือกทรัมป์เป็นประธานาธิบดี มันก็คือภาพสะท้อนคนอเมริกันส่วนใหญ่ที่เลือกทรัมป์ว่า แท้จริงก็คือพวกที่ไม่ได้นิยมประชาธิปไตยอะไรนักหนา

สิ่งที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ทำเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2016 ไม่ใช่การรักประชาธิปไตยโดยเนื้อแท้ มันเป็นแค่พิธีกรรมบางอย่างที่เรียกว่าเลือกตั้ง เพื่อมอบเสื้อคลุมประชาธิปไตยให้คนที่มีเนื้อแท้เป็นเผด็จการ

พวกเขาเลือกทรัมป์เข้ามา ทั้งที่มองเห็นและได้ยินตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้วว่า คนแบบนี้เข้ามาแล้วมีแต่จะสร้างความแตกแยก

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่