โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญหูเชื่อม 2517 หลวงพ่อหน่าย อินทสีโล วัดบ้านแจ้ง บางปะหัน

หลวงพ่อหน่าย อินทสีโล

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญหูเชื่อม 2517

หลวงพ่อหน่าย อินทสีโล

วัดบ้านแจ้ง บางปะหัน

 

 

 

เมืองกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งธรรมที่มีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั้งเก่าและใหม่จำนวนมาก สืบสานพุทธาคมจากรุ่นสู่รุ่น

หลวงพ่อหน่าย อินทสีโล เจ้าอาวาสวัดบ้านแจ้ง อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เคารพนับถือ มีชื่อเสียงในด้านการสักยันต์

กล่าวกันว่า ชาวอยุธยาที่สักยันต์ในยุคนั้นจะต้องมีรอยสักของหลวงพ่อแจ้งเกือบทุกคน โดยเฉพาะยันต์จิ้งจก ที่มีความโดดเด่นในด้านเมตตามหานิยม

นอกจากนี้ ยังสร้างเครื่องรางของขลังไว้หลายอย่าง อาทิ ตะกรุดโทน, ตะกรุดมหาอุด, พระโมคคัลลาน์พิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก, พระพุทธโคดมพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก รวมถึงเหรียญรุ่นต่างๆ อีกหลายรุ่น โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อหน่าย สร้างปี พ.ศ.2512 ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง

แต่ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้เหรียญรุ่นแรกคือ เหรียญหูเชื่อม หลวงพ่อหน่าย วัดบ้านแจ้ง รุ่น 4 ปี จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2517

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มกลมรูปไข่ หูเชื่อม คือปั๊มเหรียญขึ้นมาก่อน เชื่อมหูทีหลังด้วยทองเหลือง

ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปเหมือน ใต้รูปเหมือนเขียนคำว่า “หลวงพ่อหน่าย อินทสีโล วัดบ้านแจ้ง อยุธยา”

ด้านหลังเหรียญ เป็นอักขระเลขยันต์ ขอบเหรียญด้านใน อ่านว่า “อะสังวิสุโลปุสะพุภะ สังววิธาปุภะยะปะ นะโมพุทธายะ มะอะอุ พุทธังปิด ธัมมังปิด สังฆังปิด นะมะพะธะ” ตรงกลางเป็นรูปยันต์สี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของท่าน ส่วนด้านบนและด้านล่างเป็นยันต์สาม หรือยันต์ใบพัด

เมื่อสร้างเสร็จ ปลุกเสกเดี่ยวเป็นเวลานาน จึงได้นำออกบูชาเหรียญละ 30 บาท ในปี พ.ศ.2517 ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากบรรดาคณะศิษย์ ต่างเช่าบูชาเก็บสะสม ด้วยทราบว่าจัดสร้างอย่างดีตามแบบโบราณ คือ การแกะรายละเอียดของเหรียญแบบนูนต่ำ

กลายเป็นเหรียญยอดนิยมอีกเหรียญของกรุงเก่า

เหรียญหูเชื่อม หลวงพ่อหน่าย (หน้า-หลัง)

 

มีนามเดิม หน่าย มีความดี วัน-เดือนที่เกิดไม่ระบุชัด ปี พ.ศ.2446 ที่ ต.หันสังข์ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา

จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัด ในสมัยนั้นการศึกษายังไม่ค่อยเจริญ พออ่านออกเขียนได้ เมื่อจบการศึกษาแล้วได้ช่วยพ่อ-แม่ทำงานอยู่กับบ้าน

อายุ 12 ปี บรรพชาที่วัดบ้านแจ้ง โดยมีพระครูพัด เป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุครบ 22 ปี เข้าอุปสมบทที่วัดบ้านแจ้ง โดยมีพระครูพัด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า อินทสีโล

พรรษาแรก เริ่มออกเดินธุดงค์ไปในป่าเขาตามภาคต่างๆ ซึ่งมีสัตว์ดุร้ายที่ชุกชุม แต่ไม่มีความเกรงกลัวกับสัตว์ร้ายเหล่านั้น

เมื่อเดินธุดงค์อยู่ในป่าจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้กลับมายังวัดแจ้ง เพื่อเยี่ยมญาติโยม อยู่วัดบ้านแจ้งได้ 3 เดือน จึงเดินทางไปศึกษาวิทยาคมกับหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า

ขณะที่เรียนอยู่ที่วัดปากคลองมะขามเฒ่า ได้พบกับ “เสด็จเตี่ย” กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ และศึกษาวิชากับท่านบ้าง ส่วนมากจะได้วิชาจากหลวงปู่ศุข แต่ยังไม่ทันที่จะได้วิชาแขนงสุดท้าย หลวงปู่ศุขก็มรณภาพไปเสียก่อน

แม้จะเป็นระยะเวลาเพียงแค่หนึ่งปี แต่หลวงพ่อหน่ายได้ฝึกฝนทบทวนสรรพวิชาต่างๆ อย่างเข้มข้น จนถือว่าเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของหลวงปู่ศุขอย่างแท้จริง

หลังจากนั้นไปศึกษาวิชาเครื่องรางของขลังและวิทยาคมกับอาจารย์ย่ามแดง ซึ่งเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่ศุข เมื่อสำเร็จแล้วจึงกลับมาจำพรรษาที่วัดบ้านแจ้ง ซึ่งในขณะนั้นมีพระครูอนุวัติสังฆกิจ (เคลือบ) เป็นเจ้าอาวาส

ไปจำพรรษาอยู่ในป่าช้านานถึง 20 ปี โดยบอกว่าในป่าช้าเงียบและสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ช่วยพระครูสังฆกิจ (เคลือบ) พัฒนาวัดบ้านแจ้ง ด้วยการสร้างอุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญ เมื่อพระครูสังฆกิจมรณภาพ ญาติโยมจึงนิมนต์หลวงพ่อหน่ายขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทนตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 ขณะที่มีอายุได้ 71 ปี โดยที่ท่านไม่ยอมรับสมณศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้น

ปกครองดูแลพระภิกษุ-สามเณร รวมทั้งเกื้อกูลต่ออุบาสก-อุบาสิกามายาวนาน เป็นพระอุปัชฌาย์ให้กุลบุตรทั้งหลายได้บรรพชาอุปสมบทเป็นสามเณรและพระภิกษุเป็นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน

 

จากวัตรปฏิบัติและเมตตาธรรมที่หลวงพ่อหน่ายได้ให้แก่ลูกศิษย์และญาติโยมทั้งหลายมายาวนาน ทำให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือ ประกอบกับเมื่อท่านได้สร้างวัตถุมงคลและมีผู้นำไปบูชาแล้วเกิดผลเป็นสุข ความเจริญ หรือแคล้วคลาดจากภัยพิบัติต่างๆ จึงทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อหน่ายอยู่ในทำเนียบของพระเกจิอาจารย์ชื่อดังรูปหนึ่งของเมืองไทย

เมื่อครั้งยังดำรงขันธ์อยู่ แม้ชราภาพมากแล้ว แต่ยังแข็งแรงดี ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีจิตใจเปี่ยมด้วยเมตตา

ละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันอังคารที่ 10 พฤษภาคม 2531 สิริอายุ 86 ปี พรรษา 74

 

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่