ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | เศรษฐกิจ |
เผยแพร่ |
ผลการลงประชามติเมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง คงทำให้คนการเมืองโล่งอกไปเปราะหนึ่ง
เพราะทำให้เกิดความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งช่วงปลายปี 2560 แน่
ตรงนี้ทำให้คนเศรษฐกิจเริ่มยิ้มออก เพราะเมื่อเกิดความชัดเจนทางด้านการเมือง ส่งผลให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มสดใส
เริ่มจากตลาดหุ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม เปิดตลาดพุ่งปรี๊ดกว่า 23 จุด และยืนอยู่ในแดนบวกตลอดทั้งวัน ก่อนปิดการซื้อขายที่ 1,542.26 จุด เพิ่มขึ้น 23.57 จุด หรือ 1.55% สูงสุดในรอบ 1 ปี 5 เดือน มูลค่าการซื้อขาย 76,292.36 ล้านบาท
เมื่อมีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเล็กน้อยปิดตลาด ณ สิ้นวันที่ระดับ 34.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับวันที่ 5 สิงหาคม ค่าเงินบาทอยู่ที่ 34.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอกย้ำความเชื่อมั่นว่า ผลของประชามติเป็นสัญญาณที่ดีต่อการตัดสินใจลงทุนภาคเอกชนไทย และทำให้ต่างชาติ เชื่อมั่นไทยมากขึ้น เมื่อมีความเชื่อมั่นทำให้เกิดการลงทุนมากขึ้น
“ตอนนี้ถือว่าเมฆหมอกได้ผ่านไปแล้ว นักลงทุนทั้งไทย ทั้งต่างชาติก็โล่งใจ เพราะเขาเชื่อว่าอีก 1 ปีจะมีการเลือกตั้ง ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ป จะมีการเลือกตั้ง จะมีรัฐบาลใหม่ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เห็นได้จากมีการตอบรับจากตลาดหุ้น ดัชนีเป็นบวกทันทีเมื่อประชามติผ่าน”
นายสมคิด กล่าวต่อว่า ขณะนี้ตัวแปรต่อเศรษฐกิจไทยเหลือเพียงเรื่องเดียวที่น่าเป็นห่วง คือเรื่องส่งออก การส่งออกของไทยเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก และเป็นเรื่องควบคุมไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อผลของประชามติออกมาแล้ว ฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้จะเดินหน้าโครงการต่างๆ อย่างเต็มที่ ในช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้า
ด้าน นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินตรงกับหัวหน้าทีมเศรษฐกิจว่า ผลประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ทำให้เอกชนกล้าเดินหน้าโครงการลงทุนมากขึ้น หากเอกชนลงทุนมากขึ้นจะช่วยหนุนส่งเศรษฐกิจไทยปีนี้โตเกินกว่า 4% จากเป้าหมายล่าสุดที่กระทรวงการคลังประเมินไว้ว่าจะโต 3.3%
การพูดถึงตัวเลขเศรษฐกิจโต 4% นี้ถือเป็นครั้งแรกที่ออกมาจากปากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพราะตั้งแต่มารับตำแหน่งเมื่อช่วง 1 ปีก่อน นายอภิศักดิ์หลีกเลี่ยงการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจมาตลอด และบอกคำเดิมซ้ำๆ ว่า เข้ามาทำงานไม่ได้คาดหวังว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี ของไทยจะโตเท่าไหร่
แต่ครั้งนี้สัญญาณต่างๆ ด้านเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นคงทำให้นายอภิศักดิ์มีความมั่นใจ และกล้าพูดถึงตัวเลข 4% ออกมา
ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแถลงอย่างเป็นทางการจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า เติบโต 3.2% นายอภิศักดิ์ ประเมินว่า ไตรมาส 2 จะขยายตัวได้ 3.4% แต่มีการพูดถึงตัวเลข 3.7% ซึ่งคงต้องรอการแถลงตัวเลขอย่างเป็นทางการของ สศช. ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ โดยแนวโน้มครึ่งปีหลังจีดีพีน่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก เพราะฐานปีที่แล้วต่ำ ดังนั้น ตัวเลขเป้าหมายของภาครัฐ 3.3-3.4% น่าจะทำได้
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศ ไทย กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองเศรษฐกิจไทยปีนี้โต 3-3.5% ยังเป็นไปได้ ขณะนี้มีเรื่องเดียวที่กังวลคือเหตุก่อการร้ายในต่างประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรป จะทำให้เศรษฐกิจสหภาพยุโรป (อียู) ชะลอลง อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ดังนั้นต้องเตรียมตัวรับมือ เช่น หาตลาดใหม่ทดแทน หรือผลักดันตลาดเดิมทำอย่างไรให้ได้เพิ่มขึ้น ส่วนเรื่องการเมืองภาคเอกชนส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเลือกตั้งในช่วงปี 2560 และยังเชื่อมั่นตามที่นายกรัฐมนตรีบอกไว้ว่าจะเดินตามโรดแม็ปที่วางไว้ ซึ่งจากการสอบถามหอการค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า หากประเทศมั่นคง สงบเรียบร้อย ธุรกิจจะเดินไปอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวทิศทางเดียวกับหอการค้าไทยว่า เอกชนคาดหวังว่าการเลือกตั้งต้องเป็นไปตามโรดแม็ป หากการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโรดแม็ปจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน โดยในระหว่างรอการเลือกตั้ง ต้องการให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปประเทศทั้งในเรื่อง การอำนวยความสะดวกในการลงทุน การศึกษา ตำรวจ รวมถึงเร่งการลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เพราะหากภาครัฐลงทุนต่อเนื่อง ภาคเอกชนก็จะลงทุนตาม
นอกจากนี้ รัฐต้องส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อมาผลักดันเศรษฐกิจไทย ทดแทนเศรษฐกิจโลก ที่ยังมีความผันผวนและเปราะบางอย่างมาก โดยยังมองว่าจีดีพีปีนี้ขยายตัวในกรอบ 3-3.5% ขณะที่ส่งออกจะอยู่ในกรอบติดลบ 2 ถึง 0%
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า รัฐบาลต้องเดินตามโรดแม็ปที่วางไว้ เพื่อเข้าสู่กระบวนการนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตย ซึ่งการออกเสียงประชามติไม่มีผลต่อประเทศเท่าใด แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ
สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่มีการประท้วง ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก ส่วนเรื่องการขยายการลงทุนเอกชนคงต้องขึ้นอยู่กับแผนงานของแต่ละรายว่ามีแผนอยู่แล้วหรือไม่ เรื่องประชามติคงไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนเพิ่ม แต่อาจมีผลให้นักลงทุนที่วางแผนไว้แล้วตัดสินใจได้ง่ายและเร็วขึ้น
ส่วนบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มเซ็นทรัล และกลุ่มบริษัท ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป) ประกาศเดินหน้าขยายการลงทุนในไทยทันที โดยเน้นภาคค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์
นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น (ทีซีซี กรุ๊ป) เปิดเผยว่า ยังมีความเชื่อมั่นต่อไทยดี และพร้อมเดินหน้าลงทุน โดยมองธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้ยังขยายตัวได้ และต้องการให้รัฐบาลดูแลเกี่ยวกับภูมิปัญญาชุมชนเพื่อขับเคลื่อนประเทศ
นางวัลลภา ไตรโสรัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด กล่าวถึงแผนธุรกิจครึ่งปีหลังว่า อยู่ระหว่างทบทวนแผนการดำเนินงานและการลงทุน แต่ยังให้น้ำหนักการขยายธุรกิจโรงแรม และค้าปลีก รวมถึงโครงการที่มีศักยภาพ สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ และการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ด้าน นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่ม เซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า หลังผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงออกมาแล้ว ทุกอย่างน่าจะลงตัว ทำให้รัฐบาล ข้าราชการ และเอกชนเห็นชัดเจนว่าประเทศไทยจะเดินหน้าอย่างไร รัฐบาลจะผลักดันประเทศอย่างไร และเห็นความแน่นอนของรัฐบาล ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญทำให้กำลังซื้อดี ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น
ในส่วนเซ็นทรัลก็จะขยายการลงทุนในไทยต่อเนื่อง
รัฐ-เอกชน ขานรับผลการลงประชามติในทิศทางเดียวกันขนาดนี้
น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินผ่านอุโมงค์แห่งความมืดมิดไปได้บ้าง
ส่วนจะพุ่งทะยานได้มากน้อยแค่ไหน
คงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมือง และการเลือกตั้งว่าจะราบรื่น เรียบร้อย อย่างที่ทุกคนหวังไว้หรือไม่!!