เพ็ญสุภา สุขคตะ / ฌ็อง-ฌากส์ รุสโซ : ผ้าโพกหัวอาร์เมเนียน ความฝังใจในจิตวิญญาณตะวันออก

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ภาพที่ท่านเห็น “ฌ็อง-ฌากส์ รุสโซ” นักเขียน นักปรัชญาเมธีชาวสวิส-ฝรั่งเศสในรูปลักษณ์ชาวตะวันออกเช่นนี้ ล้วนเป็นภาพสเกตช์ที่บันทึกขึ้นในช่วงระหว่าง ค.ศ.1762-1767 ทั้งสิ้น อันเป็นเวลาที่เขาลี้ภัยจากกรุงปารีสมาอยู่แคว้นเนอชาแตล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

รัฐบาลฝรั่งเศสเนรเทศเขาให้ออกนอกประเทศทันที หลังจากที่เขาตีพิมพ์หนังสือเรื่อง เอมิล (Émile) นวนิยายเนื้อหาเสียดเย้ยสังคม ขบถแบบสุดโต่ง จนถูกฝ่ายบ้านเมืองต่อต้านให้เผาทิ้งห้ามเผยแพร่

รุสโซอพยพมากบดานชีวิตที่เกาะแซงต์ปิแยร์ ในหมู่บ้านโมติเยร์ เมืองเบียล แคว้นเนอชาแตล ซึ่งแคว้นนี้ตั้งอยู่ประชิดพรมแดนสวิส-ฝรั่งเศส

เขาต้องใช้นามแฝงเพื่อพรางตนเองว่า Vaussore de Villeneuve และยังชีพด้วยการเป็นนักดนตรี

อันที่จริงสวิตเซอร์แลนด์ไม่ใช่แดนแปลกหน้าของรุสโซ เหตุที่เขาถือกำเนิดในประเทศนี้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1712 (พ.ศ.2255) ณ กรุงเจนีวา และใช้ชีวิตวัยเยาว์แถวทะเลสาบเลมองนานถึง 2 ทศวรรษ ก่อนที่จะผันตัวเองไปเป็นพลเมืองชาวฝรั่งเศส

การกลับมาอยู่สวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งในวัยกลางคนของรุสโซ เขามีทั้งความสุขและทุกข์

ทุกข์ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นขบถ

แต่ก็สุขที่ได้ทำตนอย่างเสรีสมใจ โดยไร้คนรอบข้างจับจ้อง

หลายคนตั้งคำถามว่า อะไรเป็นเหตุจูงใจที่ทำให้รุสโซเลิกใส่วิกขนแกะ เลิกสวมชุดรัดรูป 3-4 ชั้น ประกอบด้วยสูทตัวยาวทับเสื้อกั๊กโดยมีเสื้อลูกไม้คอปิดด้านใน เลิกใส่ถุงน่องรองเท้าบู๊ตแบบปัญญาชนชาวยุโรปที่นิยมกันในช่วงศตวรรษที่ 18

ไยเขาจึงพลิกโฉมจนแทบจำไม่ได้ ด้วยการหันมาโพกผ้าขนสัตว์แบบมุสลิม สวมเสื้อผ้าต่วนตัวหลวม รัดเข็มขัดผ้า ใส่กางเกงแบบนักบวชผู้สมถะแทน

เขาต้องการประชดชีวิต หรือกำลังทดลองเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่อะไรบางอย่างที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับ “จิตวิญญาณตะวันออก” อยู่กระนั้นฤๅ

ภายใต้ผ้าโพกหัวผืนนั้น ภายใต้เสื้อคลุมตัวยาวนั้น ภายในอุ้งมือที่ถือไม้เท้าของคนเลี้ยงแกะนั้น รุสโซต้องการจะบอกโลกว่า “เขาไม่ต้องการให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างศาสนาคริสต์กับอิสลาม ไม่ต้องการให้ชาวตะวันตกยกตนข่มเหงชาวตะวันออก” หรือเช่นไร

แต่เมื่อมีใครถาม เขากลับตอบสั้นๆ ว่า “ข้าพเจ้าเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ไม่ชอบใส่เสื้อผ้ารัดรูปอีกต่อไป” ว่าเข้านั่น!

 

ดื่มด่ำอารยะตะวันออก
ผ่านบาดแผลตะวันตก

ถามว่ารุสโซเคยเดินทางไปยังกรุงอิสตันบูลของตุรกี หรือเคยท่องไปในโลกอาหรับทั้งแถบแอฟริกาเหนือหรือในเอเชียตะวันออกกลางประเทศใดประเทศหนึ่งบ้างหรือไม่ คำตอบคือไม่เคยเลย

ดินแดนเพียงแห่งเดียวที่พอจะเรียกว่าเป็น “ประตูสู่โลกตะวันออก” ซึ่งรุสโซเคยสัมผัสตัวเป็นๆ ก็มีแต่เพียงเมืองเวนิส เกาะที่รุ่มรวยไปด้วยศิลปะแบบบีแซนไทน์ในอิตาลีเท่านั้น

ไฉนตะกอนใจของเขาจึงถมแน่นด้วยความทรงจำเกี่ยวกับ “โลกตะวันออก” ว่าเป็นสังคมอุดมคติอย่างล้นเหลือ

แม้แต่ตัวละครหลักในเรื่อง “เอมิล” ก็เป็นชายชาวแอลจีเรีย

ประสบการณ์แรกนับแต่วันที่รุสโซใกล้ลืมตาดูโลก อิแซก (Isac) ผู้เป็นบิดาของเขา ต้องละทิ้งงานในฐานะช่างทำนาฬิกาให้แก่ชนชั้นสูงของออตโตมาน (อาณาจักรบีแซนไทน์เก่า ปัจจุบันคือตุรกี) เพื่อเดินทางกลับมากรุงเจนีวาอยู่เคียงข้าง “ซูซานน์ แบร์นาร์ด” ผู้ที่กำลังจะคลอดหนูน้อยฌ็อง-ฌากส์ เป็นการด่วน

แล้วโศกนาฏกรรมก็บังเกิด หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ ซูซานน์เสียชีวิต ทิ้งรอยโศกาดูรให้คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวเจ็บปวดชั่วชีวิต

อิแซกมักเล่าอารยธรรมอันบรรเจิดของอาณาจักรบีแซนไทน์หรือก่อนหน้านั้นเอเชียกลางเคยเป็นส่วนหนึ่งของอารยธรรมเมโสโปเตเมียให้ลูกชายฟังบ่อยๆ

จนฌ็อง-ฌากส์นึกตำหนิตัวเองว่า เขาไม่ควรเกิดมาเลย เพราะนอกจากจะทำให้แม่ต้องตายแล้ว เขายังทำให้พ่อต้องทิ้งโลกอาหรับอันสันติสุขรุ่งเรืองเพื่อจะกลับมามีความทุกข์ระทมในยุโรปอีกด้วย

เสียงเพรียกจากโลกตะวันออกกวักมือฌ็อง-ฌากส์ว่าที่นั่นศิวิไลซ์กว่าโลกตะวันตก ตอกย้ำด้วยการที่ “ฌากส์” ลูกพี่ลูกน้องของฌ็อง-ฌากส์ ผู้ซึ่งเติบโตมาด้วยกัน เขียนจดหมายมาเล่าบรรยากาศแห่งความสุขหฤหรรษ์ของประเทศเปอร์เซียให้ฌ็อง-ฌากส์รับรู้

ด้วยเหตุที่ฌากส์ถูกส่งตัวไปเป็นช่างทำนาฬิกาให้แก่ชนชั้นนำที่อิหร่าน ลูกของฌากส์เกิดที่นั่นสามารถพูดภาษาเปอร์เซียนและตุรกีได้

นี่คือการจุดชนวนครั้งที่ 2 ที่ทำให้รุสโซรู้สึกศรัทธาหลงใหลในโลกตะวันออก ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยไปเยี่ยมเยือนด้วยตนเอง รุสโซเชื่อมั่นในทัศนะของบิดาและลูกพี่ลูกน้องผู้นี้ ทั้งสองคือคนที่เขารักมากที่สุด ไม่มีอะไรต้องเสแสร้งระหว่างกัน

 

สามศาสนาคือหนึ่งเดียว

หนังสือทุกเล่มของรุสโซ ไม่ว่าเรื่อง “เอมิล” “สัญญาประชาคม” “คำสารภาพ” และ ฯลฯ ประกาศชัดว่าเขาไม่ปรารถนาให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสามศาสนาคือ คาทอลิก โปรเตสแตนต์ และอิสลาม

รุสโซเติบโตมาในนามชาวคริสเตียนที่นับถือโปรเตสแตนต์ ตามอย่างประชากรชาวเจนีวาทั่วไป

สวิตเซอร์แลนด์นี่ก็แปลก โซนที่อยู่ติดกับพรมแดนฝรั่งเศส เช่น เจนีวา โลซานน์ กลับนับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ทั้งๆ ที่ประเทศฝรั่งเศสส่วนใหญ่เป็นชาวคาทอลิก ส่วนโซนที่อยู่ติดกับเยอรมนี เช่น ซูริก บาเซิล กลับนับถือคาทอลิก แทนที่จะเป็นโปรเตสแตนต์แบบชาวเยอรมัน

ใครจะเชื่อว่าในวัยหนุ่ม จู่ๆ รุสโซก็เปลี่ยนไปเข้ารีตเป็นคาทอลิกช่วงที่ท่องอิตาลี เขาได้ค้นพบว่าศาสนาทั้งสามมีต้นกำเนิดมาจากกรุงเยรูซาเลม มีพระเป็นเจ้าผู้เปลี่ยนแปลงโลกองค์เดียวกัน

รุสโซพรรณนาในคำสารภาพเวอร์ชั่นหลังๆ ว่า

“ข้าพเจ้าต้องการเปลี่ยนโลกทัศน์ของคนตะวันตกที่มองว่าชาวตะวันออกงมงายเพียงแค่การเสพนิทานอาหรับราตรี หรืออาละดินกับตะเกียงวิเศษ อันเป็นสีสันเชิงเวทมนตร์ ขาดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์…

ข้าพเจ้าอยากชี้ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของกรุงคอนสแตนติโนเปิล (ต่อมาคืออิสตันบูล) ที่ครั้งหนึ่งชาวคริสต์เคยสถาปนาไว้ในนามโรมันตะวันออก ก่อนยุคที่จะมีการแบ่งแยกนิกายเป็นคาทอลิกกับโปรเตสแตนต์ ไม่น่าเชื่อเลยว่ากรุงคอนสแตนติโนเปิลแห่งเดียวกันนี้ยังรุ่งเรืองสืบมาด้วยการพัฒนาต่อยอดของชาวเติร์กมุสลิม…

พระเจ้าสอนมนุษย์ให้รู้จักสันติ แต่มนุษย์คือผู้ฆ่าคำสอนของพระเจ้าด้วยสงครามทางศาสนา”

ผ้าโพกหัวแบบอาร์เมเนียน

ที่หมู่บ้านโมติเยร์ ริมทะเลสาบเบียล รุสโซได้รู้จักกับนักสอนศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์รูปหนึ่งมีนามว่า “อธานาซิอุส เปาลุส” (Athanasius Paulus) ผู้เดินทางไกลมาจากกรุงเยรูซาเลม

บาทหลวงเปาลุสได้เชื้อเชิญวณิพก “โวสโซร์” (นามแฝงของรุสโซยุคหลบภัย) ให้เดินทางไปประเทศอาร์เมเนียนด้วยกันเพื่อเรียนรู้รากเหง้าศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์

ประเทศอาร์เมเนียตั้งอยู่ระหว่างรัสเซีย ตุรกี และอิหร่าน แถมยังเป็นประเทศแรกของโลกที่ยอมรับให้มีการประกาศศาสนาคริสต์ได้

ต่อมาศาสนาคริสต์แบบดั้งเดิมนี้ได้พัฒนาไปเป็นนิกายออร์โธดอกซ์

นอกจากนี้แล้วช่วงศตวรรษที่ 18 ประชากรชาวอาร์เมเนียนเริ่มมีการนับถือศาสนาอิสลามตามอย่างตะวันออกกลางหลายๆ ประเทศอีกด้วย

วณิพก “โวสโซร์” ผู้ซึ่งไม่บอกให้ชาวโมติเยร์รู้ว่าแท้จริงตนคือ “ฌ็อง-ฌากส์ รุสโซ” ผู้โด่งดัง เกือบตัดสินใจร่วมแรมรอนไปกับคณะของบาทหลวงในครั้งนั้น เพราะเขามีความสนใจในวัฒนธรรมตะวันออกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แต่ทันทีที่เขาทราบข่าวว่าขณะนั้นฝรั่งเศสกำลังประกาศรับสมัครความเรียงจากนักเขียนให้ส่งประกวดในหัวข้อ “ศิลปะและวิทยาศาสตร์” เขาชั่งน้ำหนักว่าระหว่างการซุ่มเก็บตัวเขียนความเรียงเพื่อเปลี่ยนความคิดมนุษย์ให้เลิกเป็นทาสทางศาสนาไม่ว่าลัทธินิกายใด

กับการขลุกตัวในโลกตะวันออก จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาในคัมภีร์อัลกุรอ่าน หนทางไกลสุดเขาคงเป็นได้แค่นักแปลพจนานุกรม หรือผู้เรียบเรียงสารานุกรมเท่านั้น

รุสโซจึงปฏิเสธทริปของบาทหลวง แต่เขาได้ขอผ้าโพกหัวขนแกะของชาวอาร์เมเนียนไว้เป็นที่ระลึก เพื่อสื่อสัญลักษณ์ว่า รุสโซรู้สึกชื่นชมชาวอาร์เมเนียน ประชากรกลุ่มแรกในโลกที่เปิดรับความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้า

โดยรุสโซรู้ตัวดีว่าการส่งความเรียงประกวดครั้งใหม่นี้ เขาไม่มีทางได้รับรางวัลอีกเช่นเคย เขาเพียงแต่ต้องการเวทีกลางช่วยเปิดพื้นที่ให้เขาสามารถหวนกลับไปต่อสู้เชิงความคิดกับสังคมปารีเซียน กอบกู้ศักดิ์ศรีในฐานะปัญญาชนอีกสักครั้ง

 

กระแสความนิยม
“จิตวิญญาณตะวันออก”

คนที่ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกย่อมทราบดีว่า ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 ได้เกิดกระแสความนิยม “จิตวิญญาณตะวันออก” ขึ้นมาอย่างรุนแรง ไม่เพียงแต่ในงานเขียนและภาพลักษณ์ของรุสโซเท่านั้น

แต่เรายังเห็นปรากฏการณ์นี้บนภาพจิตรกรรมของจิตรกรชื่อดังชาวฝรั่งเศสหลายคน อาทิ ฌากส์-โดมินิก แองกร์ ในงานแนว Ñeoclassic ที่นิยมนำเนื้อหารูปสาวงามชาวตะวันออกโพกผ้าใส่ตุ้มหูสีฟ้าราชาวดีหันบั้นท้ายผายงามมาจัดวางองค์ประกอบ ดังเช่นภาพ Turkish Bath และ Odalisque (วีนัสแนวใหม่) อันลือลั่น

กับกลุ่มของเจริโคต์ และเออแชน เดอลาครัวส์ แนว Romanticism ทั้งสองเน้นอารมณ์สะเทือนใจ ปริเทวนาทุกข์ มรณกรรมของชาวตะวันออกที่แพแตก การถูกชาวตะวันตกจับมาเป็นทาสเชลย

นักประวัติศาสตร์ศิลป์ให้ข้อสรุปว่า รุสโซน่าจะเป็นหัวหอกรายแรกๆ ที่ช่วยกรุยทางและส่งสัญญาณให้เกิดกระแสความสนใจต่อจิตวิญญาณตะวันออกขึ้นในแวดวงศิลปกรรมตะวันตก

 

เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก

รุสโซที่คนทั่วไปรู้จัก มักโฟกัสไปที่ฝรั่งเศส แต่ดิฉันอยากเชื้อเชิญผู้อ่านให้แวะเวียนไปเยี่ยมชมสถานที่สำคัญ 2 นครในสวิตเซอร์แลนด์ ประเทศที่มีส่วนบ่มเพาะชีวิตจิตวิญญาณของรุสโซให้ทระนง

แห่งแรกคือมหานครเจนีวา บ้านเกิดเมืองนอนของเขา เมืองที่สอนให้เขารู้จักกับคำว่า “ช่างทำนาฬิกา” อันเป็นกลไกสำคัญที่รุสโซได้เรียนรู้ถึงปรัชญาของ “เข็มวินาทีอันเที่ยงตรง” สู่ “เข็มทิศชีวิตอันเที่ยงธรรม”

แห่งที่สองคือ เมืองเบียล ริมทะเลสาบเบียล แคว้นเนอชาแตล ดินแดนที่รุสโซซุกหัวอยู่อย่างไร้ตัวตน เพื่อที่จะสร้างตัวตนใหม่ภายใต้ผ้าโพกหัวอาร์เมเนียน

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เพื่อที่จะเกิดใหม่ภายใต้สามศาสนาอันยิ่งใหญ่ที่เขาได้หลอมรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกลางดวงใจ

ที่กรุงเจนีวาและเนอชาแตล ตั้งแต่ 40 ปีที่ผ่านมามีการจัดตั้งสถาบัน หอสมุด หอจดหมายเหตุ พิพิธภัณฑ์ มากกว่า 15 องค์กร ทั้งหมดได้ช่วยกันรวบรวมเอกสารจดหมายเหตุ ภาพถ่าย หนังสือตอบโต้ ต้นฉบับลายมือเขียนบทความ ภาพวาด โน้ตเพลงที่เขาแต่ง เก้าอี้ โต๊ะทำงาน เสื้อผ้าอาภรณ์

รวมไปถึง “ผ้าโพกหัวอาร์เมเนียนผืนนั้น” มาจัดแสดง กระจายอยู่ตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทั้งสองเมือง

วัตถุหลักฐานทั้งหมดของ “ฌ็อง-ฌากส์ รุสโซ” นักปฏิวัติสองแผ่นดิน ได้ถูกนำเสนอต่อองค์การยูเนสโกเมื่อ 8 ปีที่แล้ว จนได้รับการประกาศยกย่องให้เป็นเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกในวาระที่ครบรอบ 300 ปีชาตกาลของเขา

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่