หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ / ‘ฝูง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างป่า - ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกันเป็นฝูง มีกฎระเบียบในการอยู่ร่วมกันอย่างดียิ่ง การนำฝูงทำโดยตัวเมียอาวุโสที่มีประสบการณ์มาก ประสบการณ์นี้จะถูกถ่ายทอดไปให้กับช้างตัวอื่นๆ ด้วย

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ฝูง’

 

“ดวงตาหลายคู่ ย่อมดีกว่าดวงตาเพียงคู่เดียว”

นี่คือเหตุผลหลักข้อหนึ่งที่เหล่าสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติใช้เพื่อการมาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก

ดวงตาหลายคู่ช่วยกันรักษาความปลอดภัยได้ดีกว่า ในทำนองเดียวกัน สัตว์ผู้ล่าหลายชนิด ก็ใช้เหตุผลนี้ด้วย

พวกหมาไนนั้น การอยู่ร่วมกันเป็นฝูง ไม่เพียงจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่รวมถึงการเป็นหูเป็นตาให้กัน เช่น เมื่อทำงานสำเร็จ ล่าเหยื่อได้ในระหว่างการกินเหยื่อ ต้องมีตัวหนึ่งทำหน้าที่เป็นยามคอยสังเกตรอบๆ

ค่าง, ลิง, วัวแดง, กระทิง, ช้าง สัตว์เหล่านี้มีกฎระเบียบเคร่งครัดว่า ต้องมีตัวทำหน้าที่คล้ายยามรักษาความปลอดภัย ไม่ว่าจะทำอะไรอยู่ โดยเฉพาะตอนกำลังกิน

แม้ว่ากระทิง, วัวแดง, กวาง พวกมันจะได้รับการออกแบบร่างกายมาอย่างดี มีดวงตาซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนมาทางหู ขณะก้มหน้ากิน จะเหลือบตามองข้างๆ ได้โดยไม่ต้องเงยหน้าก็เถอะ

แต่สัตว์ผู้ล่า ซึ่งมีทักษะสูงๆ ก็แอบย่องเข้าถึงตัวได้

ดังนั้น การมีตัวหนึ่งทำหน้าที่คอยดูแล ย่อมช่วยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

จมูกพวกมันรับกลิ่นได้ดี แต่เมื่อผู้ล่าอยู่ใต้ลม โอกาสพลาดก็มากขึ้น

กฎระเบียบนี้มีอยู่ในสัตว์ฝูง ทั้งเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และสัตว์ปีก

 

ในฝูงมีผู้ทำหน้าที่คอยสังเกตรอบๆ แล้ว ในป่ายังมีเหล่า “ยามอาชีพ” พวกนกระวังไพร และเหล่าสัตว์ฟันแทะ อย่างกระรอก กระแต กระเล็น พวกนี้จะส่งเสียงเตือนทันทีหากมีสัตว์ผู้ล่าเข้ามาในบริเวณ

สัตว์ผู้ล่าอย่างเสือ ซึ่งร่างกายได้รับการออกแบบมาอย่างดี รวมทั้งมีทักษะสูงมาก กล้ามเนื้อที่เท้าสามารถหดเล็บเข้ามาได้ ช่วยให้เดินอย่างเงียบกริบ ไร้เสียง

แต่การเคลื่อนไหวของมันจะถูกมองเห็น เหล่ายามจะส่งเสียงเตือนไปเป็นทอดๆ

เหยื่อของเสือโคร่งส่วนใหญ่คือ กระทิง และวัวแดง รวมทั้งกวางที่โตเต็มวัย

เหยื่อของมัน ต่างล้วนเป็นสัตว์ฝูง

จึงมีความจริงอย่างหนึ่งว่า การล่าของเสือไม่ง่าย ลงมือ 10 ครั้ง อาจสำเร็จเพียงครั้งเดียว ไม่น่าแปลกใจนักที่เสือจะกินเหยื่ออย่างคุ้มค่า กินหมดแทบทุกส่วน เหลือไว้เพียงกระดูกท่อนโตๆ

ชีวิตพวกมันอยู่ได้ด้วยการล่า ที่ประสบผลสำเร็จ อดทน เฝ้ารอ ลงมือ รวมทั้งยอมรับกับความล้มเหลว พร้อมกับการเริ่มต้นใหม่

สิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในการล่าด้วยทุกครั้ง

 

ป่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน นับได้ว่าอยู่ในช่วงฤดูแล้ง สภาพอากาศหนาวเย็นเข้าครอบคลุมอย่างสมบูรณ์

เดินไปตามด่านสัตว์ป่า ไม่ต้องมุดๆ หรือพบเจอความรกทึบนัก แต่นี่เป็นฤดูกาลของเห็บลม ตัวจิ๋วๆ ที่พร้อมกระโดดเกาะฝังตัวบนตัวเรา

อากาศเย็นเฉียบ การอาบน้ำในลำห้วยทำได้แค่ช่วงบ่ายๆ

ช่วงเช้ามืด และหัวค่ำ เราไม่อยากห่างกองไฟ

อยู่ข้างกองไฟ เราไม่ค่อยคุยกันนักหรอก เรื่องที่คุยมันหมดไปตั้งแต่สอง-สามวันแรกแล้ว

การมองเปลวไฟร่ายรำ อ่อนช้อย ลูกไฟแตกปะทุ คือสิ่งที่เราทำ

ก่อนขึ้นเปลนอน

 

ทีมสำรวจประชากรเสือโคร่งในป่าด้านตะวันตก โดยการตั้งกล้องดักถ่ายภาพ ทุกปี งานจะเริ่มราวเดือนพฤศจิกายน

ปีนั้น หนึ่งทีมไปป่าแก่งกระจาน

อีกทีมไปป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

เราได้ยินจากวิทยุสื่อสารว่า “ที่อื่นๆ เขาทางแห้งหมดแล้ว แต่ทางทุ่งใหญ่กำลังอยู่ในช่วงสนุกสนานเลยครับ”

หลังปีใหม่นั่นแหละ ทุกทีมจึงจะกลับมาพบกัน

 

ผมร่วมกับทีมซึ่งมีภารกิจตามเสือโคร่งครอบครัวหนึ่ง ก่อนตามไปสมทบกับทีมในป่าทุ่งใหญ่ เสือโคร่งครอบครัวนี้ดำเนินชีวิตไปตามปกติ แม้ว่าลูกๆ สี่ตัวจะมีอายุกว่า 20 เดือนก็ตาม ดูเหมือนว่าลูกๆ จะยังไม่อยากแยกออกไป

อย่างไรก็เถอะ มีสัญญาณว่า พวกมันคงจะถูกแม่ไล่ให้ไปดำเนินชีวิตเองในอีกไม่นาน

ในระยะหลังพบว่า เหยื่อที่เสือครอบครัวนี้ล่าได้ จะอยู่ในหุบที่มีเขาขนาบ หรือบนสันเขา

ขณะตาม เราต้องปีนป่ายไปตามพื้นที่ชันๆ

บางเส้นทางชัน กระทั่งเห็นความมีทักษะของเสือได้ชัดเจน จากร่องรอย แสดงให้เห็นถึงการกระโจนเข้าหากระทิง รอยลากลงจากสันเขา รอยนอนพักบนชะง่อนหินแคบๆ

นักวิจัยอธิบายว่า แม่เสือเอาลูกๆ ไปฝึกฝนการล่าในพื้นที่แบบนั้น เพราะเมื่อต้องแยกออกไป ลูกเสือจะต้องไปอยู่ในพื้นที่กันดารๆ ระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งแกร่งพอ จึงจะลงมาในที่สมบูรณ์ และ “เบียด” เจ้าถิ่นเดิมออกไป

เมื่อเสืออยู่ร่วมกันหลายตัว การล่าของพวกมันดูเหมือนจะง่ายขึ้น มีกวางตกเป็นเหยื่อ สองวันต่อหนึ่งตัว

ไม่น่าแปลกใจหรอก ที่ลูกๆ เสือยังอยู่กับแม่ แม้ว่าถึงเวลาซึ่งควรแยกตัวออกไปใช้ชีวิตลำพังแล้ว

ลูกๆ เสือรู้ดีว่า นี่คือช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีความสุขที่สุดในชีวิตของพวกมัน…

 

เหตุผลหลักที่สัตว์ป่าอาศัยอยู่ร่วมกัน คือเรื่องของความปลอดภัย

ดวงตาหลายคู่ย่อมดีกว่าดวงตาเพียงคู่เดียว

แม้ว่าการอยู่ร่วมใน “ฝูง” คือความอบอุ่น

แต่สำหรับชีวิตบางสายพันธุ์ พวกมันไม่ได้ถูกกำหนดมาให้อยู่ในฝูง

ดวงตาคู่เดียวจึงต้องแข็งแกร่ง

ทั้งนี้ เพื่อปกปิดและซ่อนความหวดหวั่นไว้ข้างใน…

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่