เครื่องเคียงข้างจอ/ วัชระ แวววุฒินันท์ / สังคมแห่งการเชื่อใจ

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

สังคมแห่งการเชื่อใจ

 

ชื่อตอนของเครื่องเคียงฯ ฉบับนี้ดูเป็นทางการอยู่ไม่น้อย และแถมชวนให้งงๆ อยู่ในทีว่าต้องการจะสื่อสารอะไร

ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีเจ้าโควิดมาเคาะประตูโลกของเรา ก็พลอยได้รู้ได้เห็นศัพท์แสงใหม่ๆ หรือเก่าจากที่อื่นแต่มาใหม่ในหน้าสื่อมวลชนเยอะเลย

คำนี้ก็เช่นกัน “สังคมแห่งการเชื่อใจ” หรือ “Trust Society” แม้ฟังงงๆ แต่ความรู้สึกบอกได้ว่าเป็นแนวบวก ไม่ติดลบแน่นอน

เพราะการเชื่อใจกัน แสดงออกถึงการยอมรับ การเปิดกว้างให้ผู้อื่นเข้ามาใกล้ชิดเรา ให้ความคิดของเขาและเรามาผสมผสานกัน

ให้เรายอมวางอาวุธ และเชื่อว่าเขาก็น่าจะวางอาวุธเช่นกัน

 

ภาพของการเชื่อใจกันในช่วงที่ผ่านมาก็เช่นภาพที่มาจากผลพวงกรณี จอร์จ ฟลอยด์ ที่ตำรวจผิวขาวทำการจับกุมโดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุจนผู้ต้องหาผิวดำนามจอร์จ ฟลอยด์ ต้องจบชีวิตด้วยเหตุ “ผมหายใจไม่ออก”

ภาพที่ว่าเกิดขึ้นท่ามกลางการประท้วงในเมืองไมอามี่ กลุ่มตำรวจที่คาดว่าจะเข้าปะทะกับกลุ่มผู้ประท้วงเหมือนเช่นที่ผ่านมา แต่ตรงกันข้าม พวกเขากลับคุกเข่าและย่อตัวลง พร้อมก้มศีรษะลงให้ภาษาร่างกายได้แสดงออกถึงคำว่า “ขอโทษ” เป็นภาพที่สร้างความเซอร์ไพรส์อย่างมาก

จากการกระทำของกลุ่มตำรวจเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดความรู้สึก “เชื่อใจ” ขึ้นมากับกลุ่มผู้ประท้วง เชื่อใจว่าพวกตำรวจกลุ่มนี้ไม่เหมือนที่คิด พวกเขาน่าจะมาดี และจากท่าทีคือเชื่อใจว่าตำรวจเหล่านั้นล้วนรู้สึกสำนึกผิด

เหตุการณ์นั้นจบลงด้วยการจับมือและสวมกอดกันของสองฝ่าย ท่ามกลางความประทับใจของผู้ที่ได้พบเห็น ไม่ต้องใช้อาวุธ ไม่ต้องใช้คำพูด ไม่มีเสียงดังๆ จากโทรโข่ง ไม่มีการแสดงออกทางพละกำลังที่จะห้ำหั่นกัน

เหล่านี้คือ “การเชื่อใจกันและกัน”

 

ที่ผ่านมาในสงครามชิงพื้นที่ของคู่ขัดแย้งต่างๆ ก็มีช่วงของการเชื่อใจกันปรากฏให้เห็นออกมาเหมือนกัน เช่นกรณี “ข้อตกลงหยุดยิงที่ฉนวนกาซา” ระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ หลังจากถล่มด้วยอาวุธหนักกันมา 4 ปี ก็คงเบื่อเต็มทีจนเกิดมีตัวกลางมาเจรจาให้วางอาวุธหยุดยิงกันเสีย

ซึ่งถ้าไม่มีการเชื่อใจกัน ก็คงไม่เกิดเหตุการณ์ดีๆ นี้ขึ้นได้

ย้อนไปสมัยเราเด็กๆ เวลาที่เราเล่นซ่อนแอบกัน คนที่เป็นคนปิดตานับ 1 ถึง 10 ก็ต้องเชื่อใจว่าพอเปิดตาออกเพื่อตามหาคนซ่อน พวกคนซ่อนจะซ่อนอยู่จริงๆ ไม่ใช่แอบหนีกลับบ้านไปให้เพื่อนตามหาเก้อ เป็นความเชื่อใจกันเล็กๆ น้อยๆ แต่สำคัญมาก มีถึงขั้นชกต่อยกันมาแล้วจากกรณีนี้

โตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นที่มักจะติดเพื่อน จำได้ใช่ไหมครับว่าเรามักจะ “เชื่อใจเพื่อน” มาก จนบางทีก็ลืมยั้งคิดไปง่ายๆ เสียอย่างนั้น มันชวนไปไหนก็ไป ทำอะไรก็ทำ แม้จะเป็นเรื่องหมิ่นเหม่กับความถูกต้องเหมาะสมก็ตาม นั่นก็เพราะการเชื่อใจกัน การเชื่อใจกันมีอำนาจมาก หากรู้จักใช้ก็จะนำไปสู่หนทางที่สว่าง

พอโตขึ้นมามีความรัก เรื่องของคนสองคนนี่ ยิ่งต้องอาศัยการเชื่อใจกันเป็นอย่างมาก เชื่อใจว่าเขาจะซื่อสัตย์กับเรา เขาจะไม่โกหกเราว่างานยุ่ง ที่แท้ไปมุ่งจีบคนอื่น เชื่อใจว่าที่เขาบอกว่ารักนั้นคือรักจริงๆ รักจากหัวใจ ไม่ใช่รักเพราะเงินทองหรือรูปร่างหน้าตา

ความรักสุกงอมเข้าขั้นจูงมือไปแต่งงาน ก็เกิดจากการเชื่อใจกันว่าจะฝากชีวิตไว้กับอีกคนหนึ่งได้ไปจนแก่จนเฒ่า เชื่อใจว่าเขาจะเป็นสามีที่ดี เชื่อใจว่าเธอจะเป็นภรรยาที่น่ารัก

พอมีลูกมีเต้านี่สำคัญเลย เพราะเกราะสำคัญที่สุดในการเลี้ยงดูลูกคือ “ความรัก” ถ้าเราแสดงให้เขารับรู้ได้ว่าเรารักเขา หวังดีกับเขา เขาก็จะเชื่อใจเราว่าที่เราขัดใจบ้าง หรือห้ามนั่นนี่บ้าง ก็เพราะพ่อ-แม่ยังรักเขาอยู่ ไม่ได้จะกลั่นแกล้งรังแกเขา

 

ในตอนนี้ได้มีการพูดถึงภาพที่กว้างใหญ่ไปกว่าครอบครัวแล้ว นั่นคือ “Trust Economy” เศรษฐกิจบนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน

เป็นแนวทางใหม่ของโลกใบนี้ที่จะช่วยให้ประเทศต่างๆ ร่วมมือกันและอยู่ร่วมกันได้ด้วยความสุข นั่นคือแต่ละประเทศต้อง “เชื่อใจกัน”

เชื่อใจกันว่าจะไม่เอาเปรียบกัน จะไม่หักหลังมารังแกเราทีหลัง เชื่อใจว่าจะรักษาคำพูดและคำมั่นสัญญาในความร่วมมือด้านต่างๆ

จริงๆ แล้วในการค้าได้มีการใช้ “Trust Economy” มานานแล้ว อย่างเช่นเรื่องการบาร์เตอร์สินค้าระหว่างกัน นั่นต้องมาจากการเชื่อใจกันว่าสินค้าของอีกฝ่ายต้องถูกต้องตามที่ตกลงกัน ส่งได้ตามเวลา และเงื่อนไข

หากย้อนไปในอดีต การค้าขายในโลกยุคเก่าเป็นการใช้สินค้าแลกสินค้าทั้งนั้น สมัยนั้นระบบการเงินที่เป็นตัวกลางยังไม่มี ในตลาดจึงเห็นคนจูงแพะไปแลกกับข้าวสาร ใช้ไข่ไก่ไปแลกกับเมล็ดพืช คนแลกต้องเกิดการเชื่อใจกันว่า แพะที่แลกมาต้องให้นมได้ เมล็ดพืชที่แลกมาต้องเป็นพันธุ์ดี ปลูกแล้วขึ้นง่าย เจริญเติบโตดี

การเชื่อใจกันจึงก่อให้เกิดประโยชน์มาก หากสองฝ่ายหรือมากฝ่ายมีความจริงใจต่อกัน

และตรงกันข้าม หากไม่เชื่อใจกันซะอย่างแล้ว ทุกอย่างก็ดูยุ่งยาก ดูวุ่นวายไปหมด

ดูอย่างสหรัฐอเมริกากับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ไม่เคยเชื่อใจกันมาตลอด เวลาที่ผ่านมา แม้บางช่วงจะดูเหมือนความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น พูดจากันรู้เรื่องมากขึ้น แต่สุดท้ายก็กลับลำตั้งป้อมเป็นศัตรูไม่เผาผีกันซะอย่างนั้น มาเห็นชัดขึ้นก็ตอนสงครามโควิดนี่แหละ

แล้วโลกก็พลอยวุ่นวายโกลาหลตามไปด้วย เพราะการไม่เชื่อใจกันของสองประเทศมหาอำนาจของโลกยามนี้

 

“Trust Economy” เรียกร้องให้เกิดการทำมาค้าขายแบบเชื่อใจกัน สร้างคุณค่าในตัวเองให้อีกฝ่ายไว้ใจ เขาจะได้คบเรา ทำการค้ากับเรา มาซื้อของของเรา มาเป็นลูกค้าเรา แน่นอนที่คงไม่มีใครอยากทำธุรกิจกับพวกเขี้ยวลากดิน จ้องฉกฉวยโอกาสและผลประโยชน์เหนือคนอื่นเสมอ

โลกในยุคโควิด-19 จะมีเรื่อง “Trust Economy” เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ถ้าเราไม่เชื่อใจว่าที่ที่เราสะอาดปลอดภัยเพียงพอ ไม่เชื่อใจว่าเจ้าของดูแลลูกน้องคนงานดีแค่ไหน เราก็จะปฏิเสธที่จะข้องแวะ หรือไปใช้บริการด้วย

อาหาร Delivery ต่างๆ ที่เราสั่งผ่าน Grab Line Panda Lalamove เราไม่ได้สั่งเพราะความสะดวกรวดเร็วเท่านั้น

แต่เราสั่งเรื่องความสะอาดปลอดภัยจากเขาด้วย

 

ท่ามกลางกระแสของ “การเชื่อใจกัน” นั้น ดูเหมือนจะมีอยู่ที่ที่หนึ่งที่ตกเทรนด์เป็นอย่างมาก และดูท่าทางคงจะตกเทรนด์ไปอีกนาน นั่นคือ “วงการเมือง”

เพราะนักการเมืองทั้งหลาย ไม่เคยทำงานการเมืองอย่างไว้เนื้อเชื่อใจกันเลย ไอ้ที่ซีกฝ่ายค้านจะไม่เชื่อใจฝ่ายรัฐบาลน่ะพอเข้าใจได้ หรือกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลจะเกิดอาการกินแหนงแคลงใจ ขัดแข้งขัดขากันระหว่างพรรคก็พอจะนึกออกว่า…อ้อ เพราะผลประโยชน์มันขัดกัน มันคนละพรรคไง

แต่ที่ไม่เข้าใจและเสียความรู้สึกมากๆ คือ ในพรรคเดียวกันแท้ๆ ยังไม่เชื่อใจกัน ไม่ร่วมมือช่วยกันทำงาน จ้องจะเตะตัดขา แย่งชิงตำแหน่งและอำนาจกันตลอดเวลา

ไม่รู้เลยว่าที่มองหน้ายิ้มๆ พูดคำหวานกันอยู่นั้น ข้างหลังซ่อนมีดดาบไว้กี่เล่ม มันไว้ใจเชื่อใจกันไม่ได้ขนาดนั้นเลย เพราะไอ้ความไม่เชื่อใจกันนี่แหละ เลยเป็นอุปสรรคในการบริหารงาน บริหารบ้านเมืองให้อยู่ในร่องในรอย เกิดประโยชน์สูงสุด

ถามว่าทำไมยอดผู้ติดเชื้อของไทยถึงออกมาดีขนาดนี้ ก็เพราะคนไทย “เชื่อใจ” ในคุณหมอๆ ทั้งหลาย เชื่อใจว่าเขาคิดดีกับเรา เขาหวังดีกับประเทศชาติจริงๆ เขาไม่มีนอกมีในแฝงผลประโยชน์ คนส่วนใหญ่จึงให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตัวตามคำชี้แนะอย่างเคร่งครัดรัดกุม

บางคนถึงกับบอกว่า เชื่อหมอทวีศิลป์มากกว่าเชื่อลุงตู่เสียอีก

และไอ้การที่จะเกิดความเชื่อใจกันนั้น มันต้องย้อนไปที่ตัวของเราเองว่าเราทำดีพอให้เขาเชื่อใจได้หรือไม่ เรามีภาพลักษณ์และประวัติของการกระทำผิดคิดไม่ซื่อมาก่อนหรือไม่ ถ้ามีก็อย่าไปหัวเสียกับคนอื่นเลยว่าทำไมไม่เชื่อผม ทำไมไม่ส่งเสริมผม ทำไมมาปรักปรำผม

ถ้าเคยแม้แต่ยืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่แล้วลืมคืน ก็ไม่รู้จะเชื่อใจให้มานั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่เป็นแกนนำรัฐบาลได้อย่างไร แม้จะถูไถว่าเป็น “ทรัพย์สินคงรูป” ก็เถอะ

สุดท้ายแล้วก็เป็น “ศรีธนญชัยคงรูป” นั่นเอง หรือไม่เป็นไร ช่างมัน…ฉันไม่แคร์

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่