สุจิตต์ วงษ์เทศ / กลองกบสำริด เรียก ‘มโหระทึก’ ยืมจากชื่อกลองอินเดีย

กลองมโหระทึก ตั้งอยู่ด้านซ้ายฐานชุกชีพระประธานในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

สุจิตต์ วงษ์เทศ

กลองกบสำริด เรียก ‘มโหระทึก’

ยืมจากชื่อกลองอินเดีย

กลองสำริดหรือกลองกบทำด้วยโลหะผสมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ถูกเรียกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ว่ากลองมโหระทึก โดยยืมคำ “มโหระทึก” มีในสมัยอยุธยา เป็นชื่อกลองขึงหนังจากอินเดีย

  1. “มโหระทึก” หมายถึงเครื่องประโคมพระราชพิธี พบชื่อนี้เก่าสุดในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้น ราวเรือน พ.ศ.2000 โดยไม่ระบุรายละเอียดว่าเป็นกลองรูปร่างหน้าตาอย่างไร? มาจากไหน?
  2. ราวหลัง พ.ศ.2400 แผ่นดิน ร.4 สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า “มโหระทึก” (ชื่อเก่าพบในกฎมณเฑียรบาลสมัยอยุธยาตอนต้น) ถูกยกมาใช้เรียกกลองสำริด (กลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์) โดยทำแท่นไม้วางตั้ง (เลียนแบบกลองฝรั่งอย่างหนึ่ง แล้วใช้ไม้ตีรัว) พบเก่าสุดอยู่ในโบสถ์วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
  3. กลองสำริดหรือกลองกบเป็นเครื่องใช้ทำด้วยโลหะผสมเรียกทองสำริด (ทองแดงผสมดีบุกและตะกั่ว) อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว มีแหล่งผลิตขนาดใหญ่อยู่กวางสีและยูนนานในจีน ต่อเนื่องถึงดองเซินในเวียดนาม และบางแห่งบริเวณสองฝั่งโขงไทย-ลาว เช่น มุกดาหาร กับสะหวันนะเขต

 

มโหระทึกวัดบวรฯ ตั้งตีแบบกลองฝรั่ง

กลองสำริดหรือกลองกบ (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) ถูกเรียกว่า “มโหระทึก” แล้วใช้ตั้งตีเหมือนกลองทิมปานีของตะวันตก เป็นต้นแบบให้นักโบราณคดีไทยเข้าใจตรงกันตราบจนทุกวันนี้ พบหลักฐานเก่าสุดขณะนี้สมัย ร.4 พระราชทานไว้ที่วัดบวรนิเวศ มีในคำบอกเล่าของนายธนิต อยู่โพธิ์ (อดีตอธิบดีกรมศิลปากร) ดังนี้

“ที่วัดบวรนิเวศวิหารมีประเพณีกระทั่งมโหระทึกและบันลือสังข์ ประโคมในขณะพระภิกษุสงฆ์ลงประชุมทำวัตรสวดมนต์ในพระอุโบสถทั้งเช้าเย็น……”

“มหรทึกมีอยู่ใบเดียว ไม่ใช่คู่อย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้เลกวัดเป็นผู้มีหน้าที่ประโคม เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นเกียรติยศแต่พระพุทธชินสีห์ พระประธานในพระอุโบสถ……”

[จากหนังสือ เครื่องดนตรีไทย ของ ธนิต อยู่โพธิ์ กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2500 หน้า 55-56]

ความเป็นไทยแบบฝรั่ง กลองกบหรือกลองสำริด (สมัยก่อนประวัติศาสตร์) ถูกเรียก “มโหระทึก” แล้วจัดวางตั้งตีรัวแบบกลองฝรั่งเมื่อเรือน พ.ศ.2400 เป็นช่วงเวลาเดียวกับคนชั้นนำไทยในกรุงเทพฯ รับแบบแผนเพลงดนตรีตะวันตกไปพัฒนาปรับปรุงเพลงดนตรีไทยในพิธีกรรมตามประเพณี (ซึ่งมีมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์หลายพันปีแล้ว) ให้เป็นเพลงดนตรี “เพื่อฟัง” แบบตะวันตก จากนั้นสถาปนาเป็นเพลงดนตรีไทย “แบบฉบับ” แล้วเรียกสมัยต่อมาสืบจนปัจจุบันว่า “เพลงดนตรีไทยเดิม” (มีเพิ่มเติมรายละเอียดในหนังสือ ดนตรีไทย มาจากไหน? ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2553 หน้า 134-143)

ความเป็นไทยแบบฝรั่งมีในเพลงดนตรีไทยเดิมซึ่งเป็นเพลงดนตรีเพื่อฟังแบบตะวันตก (ต่างจากแบบแผนเดิมเป็นเพลงดนตรีในพิธีกรรม) ดังนี้

  1. จัดวงใหม่อย่างมีระเบียบเคร่งครัด เรียก วงมโหรี, วงปี่พาทย์, วงเครื่องสาย (การจัดวงแบบนี้ไม่เคยมีสมัยอยุธยา)
  2. สร้างใหม่ลักษณะเฉพาะ ได้แก่ เพลงเถา (มีร้องเอื้อนมากลากยาว สามชั้น, สองชั้น, ชั้นเดียว ซึ่งไม่เคยมีในสมัยอยุธยา) ประชัน, เดี่ยว เป็นต้น
เจ้าหน้าที่วัดบวรนิเวศวิหาร ตีกลองมโหระทึก เวลาก่อนทำวัตรเช้า 08.00 น.และทำวัตรค่ำ 20.00 น. (ภาพโดย พระมหาวโรตม์ ธมฺมวโร)

 

กลองกบสำริด แขวนตีแบบฆ้องระฆัง

กลองกบหล่อด้วยโลหะผสมเรียกสำริด ดั้งเดิมมีหูระวิงติดอยู่ข้างตัวกลอง 2 ด้าน สำหรับผูกร้อยเชือกใช้แขวนตีเหมือนฆ้องหรือระฆัง (ไม่ตั้งตีเหมือนกลองฝรั่ง)

มีภาพเขียนบนผนังถ้ำ (พบที่ จ.กาญจนบุรี) เป็นพยาน นอกจากนั้นกลุ่มชาวจ้วงในมณฑลกวางสียังสืบเนื่องประเพณีแขวนตีกลองกบหรือกลองทองสำริดจนทุกวันนี้

ขบวนแห่พร้อมเครื่องประโคมหลายอย่าง มีคนแบกหามเครื่องมือชนิดเหลี่ยมและกลม คล้ายกลองกบ งานศพดึกดำบรรพ์ ราว 2,500 ปีมาแล้ว
หูกลองเป็นคู่มี 4 คู่ ติดตั้งเป็น 2 กลุ่ม อยู่สองข้างกลองกบหรือกลองทองสำริด เอาไว้ร้อยเชือกแขวนตี [รูปกลองสำริด จากวัดมัชฌิมาวาส (วัดกลาง) อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร]

ประเทศเพื่อนบ้านไม่เรียกกลองมโหระทึก

กลุ่มอุษาคเนย์และจีนที่มีกลองแบบเดียวกันไม่เรียก “มโหระทึก” แต่เรียกกลองสำริดหรือกลองกบสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ด้วยชื่อต่างๆ

ชาวจ้วง (มณฑลกวางสี มีกลองแบบนี้จำนวนมากที่สุดหลายพันใบ) เรียก “ถงกู่” หมายถึง กลองทองสำริดหรือทองแดง

เวียดนาม เรียก “กลองทอง” ส่วนลาว เรียก “ฆ้องบั้ง” เพราะทำจากโลหะ ต้องเรียกฆ้อง

จีนฮั่นเรียก “หนานถงกู่” แปลว่ากลองทองแดงของพวกคนป่าคนดงทางใต้ หมายความว่าไม่ใช่กลองของจีนฮั่น แต่เป็นวัฒนธรรมของพวกที่ไม่ใช่ฮั่น ซึ่งเป็นคนป่าคนดงอยู่ทางใต้ (ของฮั่น) คือพวกอุษาคเนย์ ซึ่งมีเหตุจากจีนฮั่นไม่ผลิตกลองชนิดนี้ หรือกลองชนิดนี้ไม่ใช่วัฒนธรรมฮั่น

“กลองสำริด” ที่เรียกอย่างนี้เพราะทำจากโลหะผสมของทองแดงกับดีบุกหรือตะกั่ว แล้วเรียกทองสำริด แต่เรียกสั้นๆ ว่าสำริด

“กลองกบ” ที่เรียกชื่อนี้เพราะบางใบมีรูปกบติดอยู่หน้ากลองเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ จึงใช้ตีขอฝนด้วยเชื่อว่าตีแล้วฝนตก

ฝนตกเมื่อกบร้อง คนดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วยกย่องนับถือกบเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ผู้บันดาลให้ฝนตก จึงทำรูปกบอย่างน้อย 4 ตัว เป็นสัญลักษณ์ประดับหน้ากลองมโหระทึกทั้ง 4 มุม เมื่อฝนแล้งแล้วตีกลองมโหระทึกเสียงกลองดังถึงกบก็บันดาลฝนตกลงมาให้คนทำนา ทั้งนี้เพราะสังเกตเห็นกบร้องและปรากฏตัวทุกครั้งเมื่อมีฝนตกน้ำนอง

คันคาก (คางคก) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำกลุ่มเดียวกับกบ ได้รับยกย่องนับถือเหมือนกบ คนสมัยก่อนจึงผูกนิทานเรื่องพญาคันคาก หรือคางคกยกรบชนะแถน แล้วบงการให้แถนเมื่อถึงฤดูฝนปล่อยน้ำจากฟ้าลงมาตามต้องการของชาวบ้านใช้ทำนาโดยชาวบ้านจะจุดบั้งไฟส่งสัญญาณการปล่อยน้ำ ครั้นได้น้ำพอเพียงการทำนาแล้วจะแกว่งโหวดส่งเสียงบอกแถนหยุดส่งน้ำ

ประโคมกลองทองสำริด หรือกลองกบ โดยชาวเมี่ยน (เย้า) กับชาวจ้วง และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในเทศกาลที่มณฑลกวางสี ทางภาคใต้ของจีน (ภาพเก่าจากกวางสี เรือน พ.ศ.2500)

 

 

แหล่งผลิตในจีน, เวียดนาม, ลาว, ไทย

ข้อมูลและความรู้จากนักค้นคว้าชาวยุโรปเมื่อศตวรรษที่แล้ว หล่อหลอมนักวิชาการไทยโดยเฉพาะนักโบราณคดี มีความเชื่อสั่งสมสืบต่อกันมาว่ากลองมโหระทึกในไทยถูก “นำเข้า” จากจีนและเวียดนาม ราว 2,500 ปีมาแล้ว

ทั้งนี้เพราะในไทยไม่พบแหล่งผลิตกลองมโหระทึกและเทคโนโลยีไม่ก้าวหน้าพอจะผลิตได้

ล่าสุดพบหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่ากลองมโหระทึกจำนวนหนึ่งถูกผลิตขึ้นในอีสาน คือ มุกดาหาร และสองฝั่งโขง (ไทย-ลาว) ดังนั้นเท่ากับยืนยันว่ากลองมโหระทึกในไทยมีที่มาอย่างน้อย 2 ทาง คือ ทั้งนำเข้าและผลิตเองที่ จ.มุกดาหาร

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่