ยิ่งชี้แจง ยิ่งบานปลาย กรณี “13 บิ๊ก ม.มหิดล” ทิ้งเก้าอี้ หนีโชว์บัญชีทรัพย์สินฯ ป.ป.ช.??

กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ในไม่กี่อึดใจ ภายหลังเว็บไซต์ มติชนออนไลน์ นำเสนอข่าว 13 รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ชิง “ลาออก” จากตำแหน่ง “รองอธิการบดี” ซึ่งมีกระแสข่าวว่าน่าจะเพื่อหลีกเลี่ยงการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลังกฎหมายเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560

โดย นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี มม. ได้ลงนามในคำสั่ง มม. ที่ 976/2560 อนุมัติให้รองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ของสำนักงานอธิการบดี มม. 13 ราย ลาออกจากตำแหน่งรองอธิการบดี

ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2560 ก่อนที่กฎหมายฉบับนี้จะบังคับใช้!!

สำหรับประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 40 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2560 ได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 มีสาระสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับ “รองอธิการบดี” ดังนี้

ข้อ 3 ให้เพิ่มเติมความต่อไปนี้ 103) สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ ได้แก่ (1) 104) สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ ได้แก่ (1) … ของประกาศ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 40 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554

“103) สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดรัฐ ได้แก่ รองอธิการบดี 104) สถาบันอุดมศึกษาในกำกับรัฐ ได้แก่ รองอธิการบดี …”

ทั้งนี้ … ส่วนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐตามข้อ 3 ให้ใช้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2560 เป็นต้นไป

ประกาศ ป.ป.ช. ดังกล่าว น่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รองอธิการบดี มม. ทั้ง 13 ราย “ลาออก”!!

นพ.อุดม คชินทร อธิการบดี มม.

อย่างไรก็ตาม หลัง นพ.อุดม อนุมัติให้รองอธิการบดี มม. ทั้ง 13 รายลาออก ในวันเดียวกันก็ได้ลงนามในคำสั่ง มม. ที่ 977/2560 แต่งตั้งรองอธิการบดีที่ลาออกกลับเข้ารักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายต่างๆ ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้การดำเนินงานและการบริหารงานของ มม. ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ถูกต้อง และเหมาะสม

ทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่กระหึ่มอยู่แล้ว ดังยิ่งขึ้นไปอีก โดยแต่ละความเห็นล้วนพุ่งเป้าไปยังรองอธิการบดีทั้ง 13 ราย ว่ามีอะไร “หมกเม็ด” หรือ “ไม่สุจริต” หรือไม่??

จึงชิงลาออกเพื่อ “หลีกเลี่ยง” การแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ…

บวกกับการแต่งตั้งรองอธิการบดี มม. ทั้ง 13 ราย “รักษาการ” แทบจะในทันทีของ นพ.อุดม ยิ่งทำให้เกิดข้อกังขาใน “เจตนา” เข้าไปใหญ่!!

ซึ่ง “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เองถึงกับปฏิเสธที่จะให้ความเห็น โดยอ้างว่าเรื่องกฎหมาย และสิทธิของแต่ละบุคคล แต่ก็รู้สึกกังวล

ส่วน “นายสุภัทร จำปาทอง” เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ระบุว่า ที่สังคมวิจารณ์ว่าหลีกเลี่ยงการยื่นแสดงทรัพย์สินฯ หรือไม่ ถ้าดูไปแล้วก็คล้ายๆ แบบนั้น ซึ่งก็เป็นข้อกังวลของตนเช่นกัน ดังนั้น คงต้องถาม ป.ป.ช. ว่าทำได้หรือไม่ได้ จะเข้าข่ายหลีกเลี่ยงกฎหมายหรือไม่??

แม้ว่าในเวลาต่อมา นพ.อุดม จะออกแถลงการณ์ชี้แจงการลาออก หลังจากต้านทานกระแสสังคมไม่ไหว โดยยืนยันว่าการลาออกของ 13 รองอธิการบดี มม. ไม่ได้มีเจตนาประท้วง หรือหลีกเลี่ยงการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ และเนื่องจากเป็นการยากที่จะหาผู้มีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์มาทดแทนในตำแหน่งรองอธิการบดีได้ทันที จึงขอให้รองอธิการบดีทั้งหมดรักษาการไปก่อน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน โดยทุกคนยินดีช่วยงานต่อในตำแหน่งรักษาการ ซึ่งเป็นตำแหน่งชั่วคราว

แต่ดูเหมือนคำชี้แจงดังกล่าว ไม่ได้ช่วยลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ยังอื้ออึงอยู่ในขณะนี้!!

ขณะที่รองอธิการบดี มม. พร้อมใจกันทิ้งเก้าอี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ แต่มหาวิทยาลัยอื่นๆ กลับไม่เจอะเจอกับปัญหานี้ รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดย ป.ป.ช. ระบุว่ามีรองอธิการบดีที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ 564 ราย ใน 84 มหาวิทยาลัย

ซึ่ง “นางพิรงรอง รามสูต” รองอธิการบดีด้านสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่ารองอธิการบดีทั้ง 9 รายของจุฬาฯ ไม่มีใครลาออกแน่นอน โดย “นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์” อธิการบดีจุฬาฯ ได้ให้นโยบาย และรับที่จะติวเข้มการยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินฯ ให้ด้วยตัวเอง เพราะในฐานะอธิการบดีต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินฯ ให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบเช่นกัน

ที่น่าสนใจคือคำถามที่ฝากถึง ป.ป.ช. ว่า “รู้สึกแปลกใจ เหมือนคนเขียนกฎหมายไม่เข้าใจว่ารองอธิการบดีคุมเชิงโนบาย และทุกอย่างต้องผ่านอธิการบดี และทำไมไม่ตรวจสอบระดับคณบดี ซึ่งจะดูแลบริหารงบประมาณจำนวนมาก โดยเฉพาะคณะใหญ่ๆ”

ส่วน “นายสุชาติ เซี่ยงฉิน” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และ “นายกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ยืนยันว่ารองอธิการบดีพร้อมแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ เช่นกัน แต่นายกิตติชัยตั้งข้อสังเกตว่า ป.ป.ช. คงมองผิดไปนิดหนึ่ง เพราะจริงๆ แล้ว รองอธิการบดีไม่ได้มีอำนาจมากมาย และที่รองอธิการบดี มม. ลาออก คงเพราะไม่อยากยุ่งยาก ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องของการทุจริต

แม้แต่ “นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธาน ทปอ. มองว่าน่าเสียดาย แต่ต้องเห็นใจรองอธิการบดี มม. เข้าใจว่าเป็นเรื่องจุกจิก เพราะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ หลายรอบ คงไม่มีเจตนาเลี่ยงการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ เร็วๆ นี้ จะหยิบยกเรื่องนี้เข้าพูดคุยในที่ประชุม ทปอ.

สอดคล้องกับ “นายภาวิช ทองโรจน์” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ที่มองว่ารองอธิการบดีมีหน้าที่ทำตามคำสั่งอธิการบดีเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สิน หากมีทรัพย์สินเงินทองเพิ่มขึ้นมา ก็เป็นเพียงผลประโยชน์ตามระบบ ฉะนั้น ที่รองอธิการบดี มม. ทั้ง 13 รายลาออก น่าจะมาจากสาเหตุ “รำคาญ” มากกว่าเรื่องทุจริต

ปิดท้ายที่ “นายรัฐกรณ์ คิดการ” อาจารย์คณะครุศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา และประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) เสนอให้ “คณบดี” ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ พร้อมทั้งเสนอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบทรัพย์สินของอธิการบดีต่อสาธารณชนด้วย

พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ

ล่าสุด “พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ” ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า การยื่นแสดงรายการทรัพย์สินฯ มีเจตนารมณ์เพื่อให้ระบบการทำงานของรัฐและข้าราชการโปร่งใส ประชาชนเชื่อมั่น และศรัทธา ส่วนรองอธิการบดี มม. 13 รายที่ลาออก หากลาออกก่อนวันที่ 3 เมษายน 2560 ก็ไม่ต้องยื่น ส่วนตัวเข้าใจการลาออก เพราะคนเป็นอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ชินต่อการแจ้งบัญชีทรัพย์สินฯ แต่ขอย้ำว่าการตรวจสอบเป็นไปแบบสร้างสรรค์ ไม่ได้จับผิด หรือกลั่นแกล้งใคร…

อย่างไรก็ตาม แม้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่าการลาออกเพื่อจะได้ไม่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ นั้น…ทำได้

แต่ก็มีคำถามตามมาว่า แล้ว “เหมาะสม” หรือไม่??

เพราะหากผู้ที่อยู่ในตำแหน่งที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ อาศัย “ช่องโหว่” ดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ โดยที่ ป.ป.ช. ไม่สามารถทำอะไรได้…

แล้วจะบังคับใช้ “กฎหมาย” ไปเพื่อ…อะไร??