คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความเงียบงัน ต่อการ “อุ้มหาย” กับความดีบริสุทธิ์ที่ไม่อยากแปดเปื้อนการเมือง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ในเฟซบุ๊กผมมีเพื่อนที่เป็นสายธรรมะธัมโมหลายคน รวมทั้งกลุ่มที่เป็น “สายบุญ” ด้วย ผมชอบเฝ้าดูโพสต์ของเพื่อนๆ เหล่านี้ ซึ่งมีหลากหลายอารมณ์และสีสัน

บางครั้งเขาจะหยิบเอาโพสต์ธรรมะจากที่ไหนหรือหลวงพ่ออะไรมาก็ได้ถ้าถูกจริตเขามาตั้งเป็นสเตตัส โดยไม่ต้องค้นหาว่านั่นเป็นคำพูดของหลวงพ่อองค์นั้นจริงหรือไม่

หลายครั้งเขาจะแชร์ภาพการทำกุศลของตนเอง ซึ่งส่วนมากเป็นไปในทางรูปแบบพิธีกรรมพร้อมเชิญชวนให้ทุกคนอนุโมทนา

บางครั้งสเตตัสเหล่านี้ก็สลับกับการก่นด่าสาปแช่งใครก็ไม่ทราบที่คงไปนินทาเขาลับหลังหรือคงทำอะไรให้เขาไม่พอใจ

หลายครั้งเขาจะเอาคติธรรมมายกไว้เพื่อจะด่าซ้อนลงไปอีกที เช่น ยกเรื่องความกตัญญูจากคัมภีร์ทางศาสนาเพื่อจะเอามาด่าใครสักคนที่เขาคิดว่าอกตัญญูต่อตนเอง

ที่น่าประหลาดใจคือ เขาจะยกคำสอนเรื่องเมตตาเอามาเพื่อแช่งหรือด่าคนได้ด้วย เช่น พูดเรื่องเมตตาเสร็จแล้วก็ตบท้ายว่า เออ นี่กูเมตตามึงละนะ ไม่งั้นกูคงไปตบมึงถึงบ้านแล้ว อะไรทำนองนี้

แต่สิ่งที่ผมไม่ค่อยพบจากสเตตัสของท่านเหล่านี้คือเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ถ้าจะมีบ้างก็เป็นประเภทกอสซิปการเมืองที่สะท้อนความเกลียดนักการเมืองเลวๆ ระบบการเมืองเลวๆ อะไรทำนองนั้น

ขณะเดียวกัน หากเป็นเรื่องสัตว์ที่น่าสงสาร การช่วยทำสิ่งแวดล้อมให้งดงามดังเดิม แบ่งปันเรื่องราวดีๆ ของคนดีที่ไปช่วยสังคม ช่วยคนจน คนพิการ คนชรา ฯลฯ เขาก็จะโพสต์กันอย่างเต็มที่

และล่าสุดแม้แต่เรื่องคนผิวสีที่ถูกรังแกในอเมริกา เขาก็พากันเปลี่ยนภาพโปรไฟล์เป็นสีดำและพากันรณรงค์อย่างเต็มที่

แต่ล่าสุดเมื่อเกิดเหตุการณ์อุ้มหาย “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” นักกิจกรรมที่อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา หลายคนเลือกที่จะเงียบงัน ยังไม่นับกรณีก่อนหน้านี้อีกมากที่นักกิจกรรมโดนอุ้มหายทั้งในและนอกประเทศ

 

ผมไม่ได้เหมารวมว่าเพื่อนๆ สายบุญของผมเป็นดังนี้ทุกคน และไม่ได้คิดว่าการส่งเสริมรณรงค์ความดีเรื่องอื่นๆ มันไม่ดีนะครับ แต่ผมพยายามคิดว่ามันมีอะไรอยู่ที่ทำให้เขาเหล่านั้น “เลือก” ที่จะใช้ศีลธรรมสนับสนุนบางเรื่องแต่ยกเว้นบางเรื่อง

มีผู้กล่าวว่า เราไม่เห็นจำเป็นจะต้องสนใจทุกเรื่องก็ได้

ดังนั้น การสนใจกรณีจอร์จ ฟลอยด์ ก็ไม่ได้แปลว่าเราต้องสนใจกรณีอื่นๆ เช่น เรื่องอุ้มหายในบ้านเราเอง

ยิ่งไปพูดกดดันให้คนดังเขาแสดงออกต่อเรื่องนี้ยิ่งแย่ไปใหญ่

ผมคิดว่าอันนี้ไม่ใช่ “เรื่องอื่นๆ” เพราะที่จริงมันคือเรื่องเดียวกันเลยทีเดียว ซึ่งคือเรื่องสิทธิมนุษยชนนั่นแหละ

ดังนั้น ข้อเรียกร้องให้คนที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศหันกลับมาสนใจประเด็นเดียวกันนี้ โดยเฉพาะเรื่องอุ้มหายที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านเรา ก็คือการเรียกร้อง “ความคงเส้นคงวาทางศีลธรรม” นั่นเอง

ความคงเส้นคงวาทางศีลธรรม สะท้อนความคงเส้นคงวาทางความคิดและตรรกะ รวมทั้งการใช้ “มาตรฐานเดียว” ในทุกเรื่อง ผมคิดว่าการเรียกร้องเช่นนี้ไม่ได้เกินเลยอะไร โดยเฉพาะบุคคลสาธารณะที่นำเสนอ “ศีลธรรม” ของตนเองในพื้นที่สื่อทั้งจริงและออนไลน์อยู่เสมอ

กระนั้นหากเราเรียกร้องไปแล้วเขาจะทำตามหรือไม่ก็เป็นสิทธิ์ของเขา และต่างก็มีราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้นไม่ว่าจะเลือกเงียบหรือเลือกพูดก็ตาม แต่คุณเลือกจ่ายอะไรมันก็ดูออกว่าคุณให้ค่ากับอะไรด้วย

ผมคิดว่าสิ่งที่หลายคน “เลือก” โพสต์หรือไม่โพสต์นั้นมันมีลักษณะร่วมกันอยู่ คือ “การเมือง” เขาจึงเลือกเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนความดีที่เขาหรือเธอคิดว่าปลอดการเมืองหรือเกี่ยวกับการเมืองน้อยที่สุด

ดังนั้น เข้าใจได้ว่า การเลือกสนับสนุนขบวนการสิทธิมนุษยชนในสหรัฐ จึงปลอดการเมือง (อย่างน้อยในประเทศตัวเอง) ผิดกับการรณรงค์เรื่องคนถูกอุ้มหายในประเทศ ซึ่งก็ไม่แน่ใจนักว่าคนเหล่านี้เป็นคนดีหรือคนเลว ที่ต้องลี้ภัยก็เพราะความผิดของตัวเองหรือเปล่า แล้วถ้าเราไปสนับสนุน เท่ากับเราไปสนับสนุนพวกกลุ่มก้อนการเมืองชั่วๆ ไหม ฯลฯ คือกลัวจะกลายเป็นเลือกฝั่งผิด สนับสนุนคนชั่ว บุญก็น้อย บาปอีกต่างหาก

คือกลัวจะทำดีที่ไม่บริสุทธิ์หรือแปดเปื้อนนั่นแหละ

 

มีหลายท่านพูดถึงความเชื่อมโยงของการเมืองกับ “ทุกอย่าง” ที่อยู่รายรอบชีวิตเราอยู่มากแล้ว ผมจึงไม่ขอพูดถึงประเด็นนี้

เรื่องอื่นๆ เช่น เรื่องสิทธิสัตว์ สิ่งแวดล้อม คนดีแจกเงินแจกของ ตู้ปันสุข ไปวัด ฟังเทศน์ บวชชีพราหมณ์ ฯลฯ ก็ดูเหมือน “ปลอดการเมือง” จึงปลอดภัยที่จะไปร่วมกับ “ความดี” ที่บริสุทธิ์เหล่านั้นเช่นกัน

ผมคิดว่าความดีแบบนี้ คือศีลธรรมที่ถูกเน้นย้ำในพุทธศาสนาของบ้านเรามานาน ศีลธรรมที่มุ่งเน้นความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เช่น เวลาให้ทาน ถ้าให้คนดีผลบุญก็สูงกว่าให้คนไม่ดี ให้พระจึงเรียกทำบุญ แต่ถ้าให้คนจนเรียกทำทาน การเมืองไม่ควรไปเกี่ยวกับศาสนา เพราะการเมืองเป็นเรื่องชั่ว โลกุตระก็ต้องแยกกับโลกิยะให้เด็ดขาด อะไรทำนองนี้

คุณค่าของความบริสุทธิ์ทางศีลธรรมถูกยกไว้เป็นอย่างสูง พระดีเราวัดกันที่รูปใดเคร่งวินัยมากกว่า รูปแบบของความบริสุทธิ์ เช่น สวมชุดขาว ไม่แต่งหน้า ปิดวาจา ฯลฯ จึงถูกเน้นอย่างมากในหลายสำนักปฏิบัติธรรมจนอาจลืมส่วนที่สำคัญอื่นๆ

แต่การเชิดชูความบริสุทธิ์เช่นนี้ ได้ยกผู้ปฏิบัติออกไปจากโลกที่เขาอยู่ โลกรอบๆ ตัวเขา ผู้ปฏิบัติธรรมจึงอาจไร้ความรู้สึกต่อความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นได้ “เพราะฉันกำลังปฏิบัติธรรมอยู่” และบางครั้งดังที่ผมเล่าไปแล้ว แม้แต่ตัวธรรมะหรือคำสอนก็ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนความรุนแรงด้วยซ้ำ

อุเบกขากลายเป็นความเฉยเมยเย็นชา ทั้งๆ ที่พุทธศาสนาสอนอุเบกขาในชุดคำสอนที่มีเมตตา กรุณา มุทิตาอยู่ในนั้นด้วย อุเบกขาถูกดึงเอามาใช้โดดๆ เมื่อเราอยากจะเฉยกับอะไรสักอย่าง

 

การแยกตัวออกมาจากโลกที่เขาอยู่แล้วกอดความดีบริสุทธิ์ไว้ สะท้อนอะไรหลายอย่าง อย่างแรกคือการไม่เห็น “ความเชื่อมโยง” ของตัวเองและสิ่งอื่นๆ ซึ่งนี่เป็นรากฐานของการคิดถึงคนอื่นในพุทธศาสนาและศาสนาตะวันออกอีกหลายศาสนา

เมื่อมีคนหนึ่งทุกข์จากที่สังคมที่บิดเบี้ยว เราจะพูดได้อย่างไรว่าเราไม่ได้มีส่วนก่อร่างสังคมแบบนั้น และหากจะมีใครสักคนที่มีความสุขมากขึ้นจากสังคมที่ดีงาม เราทุกคนก็ย่อมเกี่ยวข้องด้วยไม่มากก็น้อย

ความเชื่อมโยงเช่นนี้เป็นสายใยละเอียดอ่อนที่มองไม่เห็น แต่ถึงไม่ได้ตระหนักความเชื่อมโยงดังกล่าว การคิดถึงคนที่แม้เราจะไม่ได้รู้จักหน้าค่าตา แต่เขาก็เป็นคนเหมือนเรา มีความทุกข์และสุขเช่นเรา ก็ควรเป็นรากฐานของศีลธรรมในสังคมสมัยใหม่

นอกจากนี้ การเชิดชูความบริสุทธิ์ ยังอาจสะท้อนภาวะที่เรียกว่า “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ” ซึ่งเป็นคำที่เชอเกียม ตรุงปะ ริมโปเชใช้ หมายถึงการนำคำสอน รูปแบบ และทุกอย่างในทางศาสนามารับใช้ตัวตน แทนที่คำสอนเหล่านั้นจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากอำนาจของอัตตา แต่เรากลับนำมันมาเป็นอาภรณ์ห่อหุ้มตัวตนที่แสนเจ้าเล่ห์ของเรา

คำสอนหรือธรรมที่ถูกโคว้ตถูกแชร์ จึงยิ่งทำให้เราห่างไกลจากการสละละวาง แถมบางครั้งเรายังใช้เป็นอาวุธได้อีกด้วย

 

ตรุงปะ ริมโปเชจึงมักบอกว่า เราไม่ควร “พาสเจอไรซ์” จนเกินไป การแปดเปื้อน การกระโจนเข้าไปคลุกกับโลกนี้ทำให้เราได้มีโอกาสที่จะพัฒนาความรักความเมตตาต่อผู้อื่นอย่างสุดประมาณ

องค์ทะไลลามะเคยตรัสว่า คนที่ทำงานทางการเมืองนั้น คือการงานแบบเดียวกับพระโพธิสัตว์

ผมเป็นคนมองศาสนาในแง่ดี ผมคิดว่า นอกจากแง่มุมลบๆ เรายังสามารถหาแง่มุมของศาสนาที่สามารถไปกันได้กับจริยธรรมของโลกสมัยใหม่ ผมถึงยังหวังอยู่ ยังไปขุดเอาแง่มุมที่แตกต่างจากครูบาอาจารย์ในสายปฏิบัติอื่นๆ จากการตีความแบบอื่นๆ มาบ้าง

แต่ถึงแม้ไม่ต้องพูดเรื่องศาสนาอย่างยืดยาว การอุ้มหายก็ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร

ใช้สามัญสำนึกธรรมดาๆ ก็คิดได้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่