ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : อำลา “สกาลา” บอกลาความทรงจำศูนย์กลางความทันสมัย ยุคก่อนเกิดห้างสรรพสินค้าในไทย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ไม่ว่าใครจะแบ่งยุคสมัยของโรงภาพยนตร์ในประเทศสยาม (และเรื่อยมาจนเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย) ออกเป็นกี่สมัยก็ตาม แต่ผมอยากจะแบ่งช่วงสมัยของโรงภาพยนตร์ในบ้านนี้เมืองนี้ออกกว้างๆ ตามลำดับพัฒนาการทางสังคมมากกว่า

ในที่นี้ผมจึงได้ถือวิสาสะ แบ่งยุคสมัยของโรงภาพยนตร์ในไทยออกเป็น 4 ยุค ดังนี้

ยุคที่ 1 เริ่มตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2440 ตรงกับในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 คณะภาพยนตร์เร่ได้เริ่มบุกเบิกเข้ามาฉายภาพยนตร์ตามโรงแรมและโรงละครต่างๆ ในสยามประเทศ ปีละรายบ้าง สองรายบ้าง

พูดง่ายๆ ว่าคือยังไม่มีโรงภาพยนตร์ถาวรนั่นแหละครับ

แน่นอนว่าภาพยนตร์เหล่านี้ถูกฉายขึ้นบนผืนผ้าที่ถูกขึงให้ตึง ชาวสยามในยุคนั้นจึงเรียกกันตามเคยปากอย่างคำเรียกมหรสพพื้นเมืองที่มีมาก่อนว่า “โรงหนัง” หมายถึงหนังใหญ่ และหนังตะลุง

และก็เป็นด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ตัวภาพยนตร์ก็พลอยได้รับอานิสงส์ให้เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า “หนัง” ตามไปด้วย แถมยังใช้กันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้แบบงงๆ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ที่คนโบราณเรียกว่า “หนัง” นั้น หมายถึงตัวหุ่นเชิดที่ทำมาจากหนังงัว หนังควายต่างหาก ไม่ใช่เจ้าผืนผ้านี่เสียหน่อย

ต่อมาในปี พ.ศ.2445 ได้มีคณะภาพยนตร์เร่สัญชาติญี่ปุ่น เข้ามาตั้งกระโจมผ้าใบฉายภาพยนตร์อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ที่บริเวณเวิ้งวัดชนะสงคราม (วัดตึก) ซึ่งก็ปรากฏว่าได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี และเมื่อเสียงตอบรับดี ทำอัฐเข้ากระเป๋าสตางค์นายทุนได้ดีตามมาด้วย

เมื่อเห็นช่องทางเปิดกว้างระดับชี้ช่องรวยอย่างนี้แล้ว พวกนายทุนชาวญี่ปุ่นจึงได้ตัดสินใจสร้างตึกสำหรับฉายภาพยนตร์มันเสียเลย และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ยุคสมัยที่ 2 ของโรงภาพยนตร์ในสยามประเทศไทยนั่นเอง

ยุคที่ 2 เมื่อเกิดโรงภาพยนตร์ถาวร ที่ชาวบ้านในยุคนั้นเรียกกันเป็นภาษาปากว่าโรงหนังญี่ปุ่นแล้ว นายทุนชาวสยามเองก็เห็นช่องทางในการทำกำไรบ้าง

ในยุคนี้จึงมีการสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นมากันให้เพียบราย เช่น โรงหนังวังเจ้าปรีดา (เปิดให้บริการ พ.ศ.2450) โรงหนังสามแยก (พ.ศ.2451) โรงหนังรัตนปีระกา (พ.ศ.2452) เป็นต้น

ในสมัยรัชกาลที่ 6 (ครองราชย์วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453) โรงภาพยนตร์ก็ค่อยขยับขยายไปตามตำบลสำคัญทั่วกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น โรงหนังปีนัง โรงหนังสิงคโปร์ โรงหนังสาธร โรงหนังบางลำพู โรงหนังนางเลิ้ง ฯลฯ

จนกระทั่ง พ.ศ.2463 บริษัทแม่ของโรงภาพยนตร์เหล่านี้ (ซึ่งที่จริงแล้วก็มีบริษัทใหญ่อยู่เพียงแค่สองเจ้าเท่านั้นแหละครับ) ได้รวมกิจการเข้าด้วยกัน จนทำให้เกือบจะเกิดการผูกขาดกิจการค้าภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์

สุดท้ายเจ้าบริษัทใหม่ใหญ่ยักษ์นี่ จึงค่อยดำเนินการ “กินรวบ” ด้วยการขยายกิจการออกไปตั้งโรงภาพยนตร์ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ

ความนิยมในการมหรสพอื่นๆ โดยเฉพาะละครเวทีที่เสื่อมถอยลง ยิ่งเป็นตัวเร่งกิจการค้าภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ให้บูมมากยิ่งขึ้น

แต่ความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์การภาพยนตร์ในสยามประเทศยุคดังกล่าวก็ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบมันไปเสียหมด

ผลจากการที่เกิดอะไรที่เรียกกันในโลกภาษาอังกฤษว่า “The Great Depression” ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเกิดพายุเข้าถล่มโลกจริงๆ

แต่เป็นคำเปรียบเปรยถึงสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจทั่วโลกดำดิ่งเป็นอย่างมาก ในช่วงทศวรรษ 1920″s ซึ่งตรงกับราวๆ พ.ศ.2463 ถึง 2472 และต่อเนื่องมาจนเกือบตลอดทศวรรษนั้น

อันมีเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งมาจากผลพวงของพิษร้ายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้สยามประเทศเองก็ได้รับผลกระทบนั้นไปด้วย (ถึงแม้ว่ารัชกาลที่ 6 จะทรงประกาศให้สยามเข้าร่วมในมหาสงครามครั้งนั้นเอาก็เมื่อสงครามใกล้จะจบแล้วก็เถอะ)

และก็แน่นอนว่า อะไรที่เรียกว่า The Great Depression ก็ได้พัดถล่มจนทำเอากิจการภาพยนตร์ในสยามก็ตกต่ำลงไปด้วยเต็มๆ

น่าแปลกดีที่ช่วงเวลานี้กลับตรงกับช่วงฉลองพระนคร 150 ปี ในปี พ.ศ.2475 ซึ่งตรงกับยุครัชกาลที่ 7 อย่างพอดิบพอดี

โดยในโอกาสนั้นพระองค์ก็ได้โปรดให้สร้าง “โรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง” ขึ้นเพื่อเป็นศรีสง่าแห่งพระนคร และเป็นที่ระลึกในวาระโอกาสนี้ (ก็สร้างเพื่อ “เฉลิมกรุง” ตรงตัวตามชื่อโรงหนังนั่นแหละ)

“เฉลิมกรุง” จึงเป็นโรงภาพยนตร์ระดับไฮเอนด์ของประเทศในยุคนั้น โดยนอกเหนือจากความใหญ่โตโอ่อ่าแล้ว เทคโนโลยีที่ต้องมีเพื่อให้เหมาะสมกับที่เป็น “ศรีสง่าแห่งพระนคร” ก็คือ การฉายภาพยนตร์ที่มีเสียงได้ ดังนั้น นอกจากที่จะเป็นตัวอย่างสำคัญของโรงภาพยนตร์ในยุคนี้แล้ว เฉลิมกรุงจึงยังเป็นมาตรฐานสำคัญสำหรับการสร้างโรงภาพยนตร์ในยุคต่อมาด้วย

ยุคที่ 3 เป็นกลุ่มโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ.2490-2530 ซึ่งนับเป็นยุคคลาสสิคของโรงภาพยนตร์ในไทย

โรงภาพยนตร์ในยุคนี้มักเป็นโรงภาพยนตร์แบบที่ตั้งอยู่เดี่ยวๆ (stand alone) หลายแห่งมีขนาดใหญ่โตจนมีที่นั่งถึง 800-1,500 ที่นั่ง

และมักจะกระจายตัวอยู่ตามย่านสำคัญของกรุงเทพฯ จนทำให้หลายย่านมีโรงภาพยนตร์หลายแห่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน

ช่วงต้นๆ ของยุคนี้ตรงกับช่วงที่เรียกว่า “โก๋หลังวัง” เราจะเห็นโรงภาพยนตร์อย่าง โรงหนังควีน โรงหนังคิงส์ และโรงหนังแกรนด์ ในย่านวังบูรพา

ในขณะที่ต่อมาใน “ยุค 60″s-70″s” ศูนย์กลางแฟชั่นและความทันสมัยย้ายไปอยู่ที่ละแวกสยามสแควร์ เราก็จะเห็นทั้งโรงหนังสยาม โรงหนังลิโด โรงหนังสกาลา

รวมไปถึงโรงหนังแมคเคนนา และเอเธนส์ ที่วางตัวอยู่ไม่ห่างไปมากนัก

และถ้าจะพูดกันจนถึงที่สุดแล้ว โรงหนังสยามถูกสร้างขึ้น ตั้งแต่ช่วงเวลาพื้นที่แถบนั้นยังไม่เป็นศูนย์กลางความทันสมัยเลยนะครับ

เพราะดูเหมือนว่าความทันสมัยจะมาล้อมรอบโรงหนังสยาม จนทำให้มีการสร้างโรงหนังลิโดและสกาลา ขึ้นตามมาตามลำดับเสียมากกว่า ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นทั้งยุคทองในแง่ของธุรกิจ และคลาสสิคในแง่ของความทรงจำของธุรกิจโรงภาพยนตร์เลยทีเดียว

ดังนั้น ถึงจะน่าเสียดายว่า “โรงหนังสยาม” ไฟไหม้ไปโดยจับมือใครดมไม่ได้ แถมยังสาดโคลนกันไปมาว่า ฝ่ายไหนกันแน่ที่ลงมือเผา ในระหว่างเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2553

แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีทั้งลิโด และสกาลา เหลืออยู่

 

ในท้ายที่สุด เมื่อกาลเวลาทำให้โรงภาพยนตร์ในไทยต้องเคลื่อนผ่านไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้า ที่เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ และมหึมาขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ในช่วงประมาณทศวรรษ พ.ศ.2530 ก็ได้รวบเอาโรงภาพยนตร์เข้าไปอยู่ในห้าง ที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ แถมยังมีภาพยนตร์ให้เลือกชมหลายเรื่อง และหลายรอบ มากกว่าที่เคยเป็นมา

ประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์ไทย จึงได้เข้าสู่ยุคสมัยที่ 4 อย่างเต็มตัว และยังคงดำรงมาตราบกระทั่งทุกวันนี้ พร้อมๆ กับการล้มหายตายจากไปของโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ทีละหลัง และทีละหลัง

ณ ปัจจุบันขณะ สกาลา ดูจะเป็นโรงภาพยนตร์แบบ stand alone แห่งท้ายๆ ที่ยังพอจะมีชีวิต (แบบลมหายใจรวยริน) ในกรุงเทพฯ (และอาจจะในประเทศไทยด้วย)

ที่ตกค้างมาจากยุคสมัยคลาสสิคของโรงภาพยนตร์ไทย ที่คงสภาพแบบดั้งเดิมที่สุด และสวยงามด้วยรูปแบบและโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สุด วิธีการซื้อตั๋วหนังแบบเดิม เครื่องดื่มและของขบเคี้ยวแบบที่หลุดมาจากยุค 70″s ยังคงเห็นได้แม้กระทั่งทุกวันนี้

และแม้จะมีสารพัดสารพันเหตุผลที่ทำให้โรงภาพยนตร์แบบ stand alone ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทุนทรัพย์ที่จำเป็นสำหรับการปรับปรุงโรงภาพยนตร์ให้ทันสมัย โครงสร้างทางสังคม และเศรษฐกิจที่เอื้อให้กับกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ฯลฯ

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้า ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คน ไม่แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเมืองไปทั่วทั้งประเทศไทยให้มักจะไปจับจ่ายใช้สอยและพักผ่อนหย่อนใจในห้างสรรพสินค้ามากกว่าที่อื่น

ซึ่งก็ย่อมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโรงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงร้านค้า และอะไรอีกให้เพียบอย่างด้วย

น่าเสียดายที่ในที่สุด ทางโรงหนังสกาลาเองก็มีข่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ทางโรงภาพยนตร์ต้องยุติการฉายภาพยนตร์ตามรอบปกติอย่างเป็นทางการ

จะมีก็แต่เพียงให้องค์กรหรือภาคธุรกิจต่างๆ เช่าพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม หรือฉายภาพยนตร์รอบพิเศษจนกว่าจะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ในปัจจุบันกับทาง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2563

และเรียกได้ว่าเป็นการสิ้นสุดของยุคโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ที่เคยเป็นศูนย์กลางที่ทำให้เกิดย่านศูนย์กลางของความทันสมัย ในยุคสมัยหนึ่งของประเทศไทยอย่างแท้จริง