อภิญญา ตะวันออก : “รำโทน-เหม นารี” และสิ่งที่อยู่ใน “ปักษาสวรรค์”

อภิญญา ตะวันออก

เมื่อพบว่า “ปักษาสวรรค์” (Bird of Paradise) เป็นภาพยนตร์เขมรเรื่องแรกที่ถ่ายทำโดยโปรดักชั่นต่างประเทศ (1962) ภายใต้ชื่อ “ปักษีธารสรวง” (ปักษีทานซัว) และนี่คือหลายคำตอบในความเป็นไปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เขมรยุคเริ่มต้น เท่าที่คนยุคหลังจะพบพาน

ต่อการผูกพล็อตเรื่องชาวพื้นถิ่นเพื่อใส่ศาสตร์ร่ายรำ ดนตรี ชนบทที่งดงามด้วยธรรมชาติ และการแสดงที่เป็นไปอย่างธรรมชาติของกลุ่มนักแสดงหน้าใหม่ สดใส เดียงสาและไม่เคยรู้จักศาสตร์ด้านนี้มาก่อน

นั่นทำให้บทภาพยนตร์ที่เขียนโดยฌักส์ วิโอต์ (Jacques Viot) มีความละเมียดละไม เหตุแต่ในห้วงกาลที่เมืองแห่งนี้เพิ่งได้อิสรภาพไม่นาน และกัมพูชาเปรียบประดุจปักษาสวรรค์น้อย ที่มาร์เซล กามูส์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศสได้เป็นผู้เสกไว้และทิ้งไปอย่างไร้ร่องรอย

แต่คุณูปการในภาพยนตร์เรื่องนี้กลับเกี่ยวโยงมากมายต่อภาพยนตร์เขมรยุคร่วม-1960 ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะในแบบภาพยนตร์ที่มีจุดเด่นด้านดนตรี เพลงประกอบและซาวด์แทร็ก

ทั้งหมดนี้ยังพบว่า ในโปรดักชั่นต่างประเทศแล้ว จะพบว่าปักษาสวรรค์ได้สร้างต้นแบบบางอย่างไว้กับภาพยนตร์เขมรสมัยใหม่ในอีกหลายแขนง

นำแสดงโดย เหม นารี, (เมียะ) สัม เอือล, (มิด) นบ แนม, สักสี สะบอง และนักแสดงรับเชิญกิตติมศักดิ์ พระองค์เจ้าหญิงนโรดม บุปผาเทวี

 

เริ่มจากดนตรีประกอบ แต่งโดย -มูริซ จาเร (Mourice Jarre) ที่หยิบเอาธีมรามายาณะ ซึ่งจะอยู่ในฉากการร่ายรำของเจ้าหญิงบุปผาเทวีนั่น รวมไว้ด้วยฉากสาวน้อย (Petite soeur) ที่งดงามของชนบท

ทั้งหมดนี้ทำให้ปักษาสวรรค์เนียนมานไปด้วยอลังการไปด้วยภาพเคลื่อนไหวและความงดงามทางดนตรี

ในที่นี่ ยังมีธีมเพลง-ลำโทน ที่น่าหลงใหล รำโทนที่ไทยเรียกหรือลำโทยในความหมายของชาวเขมรนั้น คือเพลงพื้นบ้านที่ย้อนไปกว่า 7 ทศวรรษก่อน ยุคปลายอาณานิคมและการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในพนมเปญ ซึ่งเกือบจะสูญหายไปแล้ว (หากแต่ยังแทรกสมัยอยู่บ้างในเพลงเขมรบางยุค)

ทว่ามันกลับถูกปลุกขึ้นมาโดยทันที เมื่อปักษาสวรรค์นำมาปัดฝุ่น และจากนั้นมา กลิ่นอายของลำโทนยังเคียงข้างกับภาพยนตร์เขมรเสมอ

โดยเฉพาะลำโทนบัวตอง (Lamthon Lotus O”or) ที่เต็มไปด้วยอารมณ์สนุกสนานในปักษาสวรรค์ และความสำคัญของความเป็นมาในบทลำโทนที่เอกสารฝรั่งเศสบางชุดอ้างว่ารับอิทธิพลมาจากรำวงพื้นบ้านของสยามนั้น ทำให้ข้อสงสัยของฉันปลาสนาการไปโดยทันทีที่ได้เห็นภาพเคลื่อนไหวอันสนุกสนานจากภาพยนตร์เรื่องนี้

จริตรำโทนช่างชวนเพลิดเพลินอย่างมากเมื่ออยู่ในการแสดงของภาพยนตร์ และนั่นจึงไม่สงสัยเลยว่า ทำไมเพลงพื้นบ้านชุดนี้ซึ่งสุดฮิปและฮิตมากในหมู่ชนชั้นล่างระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้กลับมาเฉิดฉายอย่างมีตัวตนในภาพยนตร์อีกครั้ง

ปักษาสวรรค์จึงกลับมาเป็นแรงบันดาลใจของฉันในการค้นหาลำโทนที่สูญหายไปครั้งนั้น

เสน่ห์สากลของโปรดักชั่นต่างชาติต่อสิ่งที่เกิดกับปักษาสวรรค์ นอกจากดนตรีพื้นบ้านและดนตรีชั้นสูงของราชสำนักแล้ว

ยังเป็นต้นแบบธรรมเนียมบางอย่างของภาพยนตร์เขมรยุคนั้น ในจำนวนนั้นคือบิดาแห่งวงการภาพยนตร์กัมพูชา พระบาทนโรดม สีหนุ

เริ่มจาก อัปสรา (1966) ฉากการร่ายรำอันงดงามของเจ้าหญิงบุปผาเทวีและฉากรักหนุ่มสาวในท้องน้ำตามอีโรติกครรลองของภาพยนตร์ยุคนั้น ราวกับจำลองจำนองเจิง/เนื้อหาและดนตรีมาจากปักษาสวรรค์

ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งเรื่องราวของความรักและวรรณะชนชั้น เช่นเดียวกับ “สุขกันเถอะเรา” (The Joy of Life) ในยุคหลัง ทรงทำให้หนังเรื่องนี้มีกลิ่นอายสนุกสนานของดนตรีที่แม้จะไม่ใช่ลำโทน แต่ก็พัฒนาไปตามสมัย

นอกจากนักสร้างภาพยนตร์ ในส่วนของนักแสดง เราจะได้เห็นดาวเด่นวงการหนังเขมรที่กลายเป็นนักแสดงมากพรสวรรค์ ทั้งนบ แนมและสัม เอือล ที่จบชีวิตยุคเขมรแดง และนักแสดงฝ่ายหญิงอย่างสักสี สบอง ซึ่งต่อมาโด่งดังในฐานะนางร้ายและดาวยั่ว

ส่วนเหม นารี หรือนารี เหม-นางเอกนั้น หากไม่นับฉากร่ายรำของเจ้าบุปผาเทวีแล้ว เธอคือพลังแห่งการดึงดูดมหาศาลของภาพยนตร์เรื่องนี้

ทันทีที่เหม นารี และสัม เอือล ปรากฏในโลกเซลลูลอยด์ ฉากอันน่าตราตรึงทางอารมณ์ของความงามแห่งท้องถิ่นแห่งชนบท การแหวกว่ายสายธารลำคลองของนางเอกในชุดกระโจมอกที่งดงาม ผ่านการจ้องๆ มองๆ ของหนุ่มบ้านนอกผู้กำยำในรูปลักษณ์ คือฉากหนึ่งที่ผู้คนต่างจดจำพระ-นางเรื่องนี้

ดูเหมือนกามูส์จะทิ้งพิมพ์นิยมเขมรด้วยสายตาแบบตะวันตกและมันได้กลายเป็นอัตลักษณ์ที่ยืนยงอยู่ในนัยทีในอีกต่อมา และเหม นารี (รวมทั้งสัม เอือล) คือส่วนผสมที่น่าตราตรึงในภาพยนตร์ของเขา

พรสวรรค์ที่ปรากฏจากเรือนร่างของเธอและการเคลื่อนไหว เราไม่อาจปฏิเสธว่า เหม นารี คือนางปักษาสวรรค์คนนั้นของเขา

ความโดดเด่นของนักแสดงนำจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ถูกฉายซ้ำอย่างครั้งแล้วครั้งเล่าในท่ามกลางวันเวลาที่ปักษาสวรรค์เป็นภาพยนตร์ที่เลือนหายไป

ชาวเขมรอาจจะกล่าวขวัญแต่เฉพาะในกลุ่มภาพยนตร์ที่เขารู้จักเท่านั้น และแม้กัมพูชาจะมีนักแสดงที่น่าจดจำยุคหลังอีกจำนวนมาก แต่เหม นารี และนักแสดงคนอื่นๆ จากเรื่องปักษาสวรรค์ก็ไม่เคยเลือนหายในความทรงจำ

เหม นารี ทำอะไรไว้น่ะหรือ เธอคือสิ่งที่น่าประหลาดของปักษาสวรรค์?

เปล่า บุตรีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรผู้ไม่มีประสบการณ์ด้านการแสดง นอกจากบิดาของเธอผู้ได้ชื่อว่าสะสมกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาด 16 มิลลิเมตรตัวแรกของกัมพูชา

แต่บทบาทนักแสดงครั้งแรกนี้ทำให้เหม นารี ในวัยเพียงน้อยนิด เหม นารี เดินหน้าเป็นผู้กำกับฯ ภาพยนตร์เรื่องแรกของเธอยังมีเนื้อหาโลดโผน เกี่ยวกับเด็กสาวในครอบครัวร่ำรวยที่ต้องพลัดหลงในป่าและเริ่มชีวิตผจญภัยนับแต่นั้น

ไม่ต่างจากฮีโร่ทาร์ซาน “รสาด่ดามขจล” คือทาร์ซานฉบับเขมรที่มีสตรีรับบทนำและกำกับฯ โดยผู้หญิง นั่นคือระหว่างปี ค.ศ.1963-1964 การผจญภัยของเหม นารี นางเอกหนังผู้ทุ่มค่าตัวการแสดงจากปักษาสวรรค์ทั้งหมดไปกับอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์ที่สั่งซื้อจากฝรั่งเศส และความสำเร็จทางรายได้ของ “รสาด่ดามขจล” ทำให้ “บุปผามนตรา” (สักกาเรียะบุปผา) คือภาพยนตร์เรื่องที่สอง

แนวคิดแหวกขนบจากเขมรนิยมแนวนิทานโบราณ เหม นารี คิดพล็อตเรื่องขึ้นใหม่ในประเด็นมนตราคมที่เกี่ยวกับเด็กสาวคนหนึ่งให้เป็นภาพยนตร์ที่ทันสมัย บุปผามนตราประสบความสำเร็จอีกครั้ง เว้นแต่ผู้กำกับฯ เท่านั้น

ดังจะเห็นจากภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องนี้ เหม นารี หยิบยกปมปัญหาชีวิตส่วนตัวของเธอหรือไม่? ความมีชาติตระกูลที่เพียบพร้อมในฐานะทางสังคมนั่น แต่สำหรับเหม นารี แล้ว การมาถึงของปักษาสวรรค์ ได้ช่วยให้เธอคลี่คลายและค้นพบคำตอบบางอย่างของชีวิตแม้ขณะนั้นเธอจะสมรสรักกับวิศวกรชาวฝรั่งเศสแล้ว

ด้วยเหตุนั้น เมื่อสิ้นการถ่ายทำบุปผามนตรา เหม นารี ยกสมบัติอุปกรณ์ถ่ายทำภาพยนตร์แก่อีวง-ผู้เป็นน้องชาย ต่อมาเหม อีวง ได้ตั้งชื่อบริษัทภาพยนตร์ปักษาสวรรค์เพื่อเป็นเกียรติแก่พี่สาว

เธอจึงตัดสินใจทิ้งชีวิตอันรุ่งโรจน์และเพียบพร้อมทางสังคมไว้เบื้องหลัง เพื่อไปตั้งรกรากกับคู่ชีวิตที่ฝรั่งเศส เธอไม่หวนกลับประเทศและสู่วงการบันเทิงอีกเลยนับแต่นั้น

ความสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้สร้างคุณูปการมากมายต่อวงการภาพยนตร์กัมพูชา แต่กลับเหมือนถูกลดเลือนในคุณค่า นับแต่ 56 ปีที่ออกฉายครั้งแรกในกัมพูชา

โดยไม่เกี่ยวว่า ชีวิตมายาที่โดดเด่นและแสนสั้นของเหม นารี จากภาพยนตร์เรื่องนี้ จะบังเอิญทับซ้อนกับบทบาทสำคัญของนักแสดงรับเชิญที่โดดเด่น-สมเด็จพระพี่เรียมนโรดม บุปผาเทวี

และเป็นเจ้าหญิงของวงการมายาตัวจริงแห่งยุคนั้น

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่