วิรัตน์ แสงทองคำ : ไม่ใช่แค่ “การบินไทย”

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หลายคนบอกว่าวิกฤตการณ์ครั้งใหม่ดูจะร้ายแรงกว่า “ต้มยำกุ้ง” เมื่อมองจากกรณีการบินไทย

วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อกว่า 2 ทศวรรษที่แล้ว ปะทุขึ้นด้วยความตระหนก ปรากฏดัชนีและสถานการณ์ซึ่งมีความชัดเจน โฟกัสที่ศูนย์กลางระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดการเงิน

เปิดฉากด้วยดัชนีราคาหุ้นตกลงอย่างรุนแรงเมื่อกลางปี 2540 ตามมาด้วยรัฐบาลจำต้องลดค่าเงินบาท จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของไทย มีอิทธิพลลุกลามไปในระดับภูมิภาคและระดับโลกในเวลาต่อมาด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น มีวิกฤตการณ์อันเป็นผลพวง เป็นระลอกคลื่น คลื่นลูกแรกมาอย่างกระชั้นชิด ทางการสั่งปิดกิจการสถาบันการเงินครั้งใหญ่ในปลายปี 2540 นั้น มีบริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถึง 28 แห่ง

คลื่นใหญ่ในเวลาต่อมา-ปรากฏการณ์ครั้งแรกในสังคมไทย ธนาคารสำคัญๆ หลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างความเป็นเจ้าของและมีอันเป็นไปอย่างต่อเนื่องกันหลายปี ตามมาอีกด้วยคลื่นลูกหลัง-กิจการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งล้มละลาย ลามไปจนถึงกลุ่มการค้าดั้งเดิมต้องล้มหายตายจาก อาทิ วิทยาคม และอีสต์เอเชียติ๊ก

ผมเคยอรรถาธิบายไว้ว่า เป็นปรากฏการณ์กวาดล้างครั้งสำคัญ ไม่เพียงเฉพาะกิจการสำคัญของ “พวกหน้าใหม่” หากรวมทั้งเครือข่ายธุรกิจ “ผู้มั่งคั่งดั้งเดิม” เครือข่ายธุรกิจครอบครอบครัวของตระกูลเก่า บ้างก็ถูกทำลาย บ้างก็ถูกบั่นทอนไปอย่างมาก

 

ครั้งใหม่ ความตระหนกมาจากต้นเหตุที่แตกต่าง ด้วยปรากฏการณ์ COVID-19 โรคระบาดครั้งใหญ่ปะทุและขยายวงไปทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตผู้คนอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกยุคใหม่ โลกซึ่งมีพลังขับเคลื่อนสำคัญโดยระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมีกลไกทางธุรกิจอย่างซับซ้อน พลังขับเคลื่อนและกลไกดังกล่าวแทบจะเรียกว่าตกอยู่ในภาวะชะงักงัน ด้วยมาตรการปิดเมือง ปิดน่านฟ้า ในขอบเขตทั่วโลกเลยก็ว่าได้

จึงตามมาด้วยบทวิเคราะห์ของผู้เกี่ยวข้อง ที่ว่าวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ครั้งใหม่กำลังจะมาถึง อันที่จริงยังไม่มีใครระบุถึงจุดเริ่มต้นที่แน่ชัด เป็นภาพคลุมเครือ ความไม่แน่นอน แตกต่างไปจากวิกฤตการณ์ครั้งก่อน

ส่วนวิกฤต การบินไทย หลายคนยังไม่ปักใจเชื่อว่าจะเป็นความเกี่ยวข้องโดยตรง จะเป็นดัชนี เป็นภาพสะท้อนในภาพใหญ่ของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ด้วยการบินไทยเป็นกิจการที่ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาเกือบตลอดทศวรรษ ขณะเกี่ยวข้องกับผู้คนในสังคมน้อยลงๆ เป็นลำดับ

ทั้งที่ในยุคก่อนหน้า การบินไทยเป็นสัญลักษณ์อันภาคภูมิใจ ในฐานะสะท้อนสังคมไทยก้าวสู่ความทันสมัยทัดเทียมในระดับโลก ที่มีสายการบินไทยแห่งชาติ

 

เมื่อพิจารณา timeline จะพบว่าจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การบินไทย เริ่มต้นเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และคงใช้เวลาอีกไม่น้อย กว่าจะมีบทสรุป

จุดเปลี่ยนสำคัญแรก

“ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 กระทรวงการคลังได้ลดสัดส่วนลงต่ำกว่าร้อยละ 50”

ในจังหวะคาบเกี่ยวกัน “ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งพิเศษ…เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 และ…วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทในฐานะลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ภายใต้พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 บริษัทได้ยื่นคำร้องของฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อศาลล้มละลายกลาง และในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 17 สิงหาคม 2563”

สาระสำคัญของหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ควรบันทึกไว้

ความเป็นไปของการบินไทย อาจไม่ใช่ดัชนีสำคัญวิกฤตการณ์สังคมไทย แต่เชื่อว่าวิกฤตการบินไทยมีส่วนผสมซับซ้อน มีปัญหาคาบเกี่ยวกับโมเดลรัฐ-เอกชน

และที่สำคัญ “จุดเปลี่ยน” การบินไทยข้างต้น สะท้อนมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของไทยที่ก่อตัวขึ้น

 

ที่สำคัญให้ภาพวิกฤตการณ์ที่แตกต่างกับครั้งก่อน จากจุดโฟกัส จุดปะทุในภาคอุตสาหกรรมการเงินและธนาคารไทย สู่วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ มีโฟกัสอยู่ที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก

อุตสาหกรรมการบินเป็นแนวหน้า เผชิญแรงปะทะวิกฤตการณ์นั้นอย่างไม่ต้องสงสัย ดังความเคลื่อนไหวปรากฏภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ของสายการบินทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยแล้ว ผลกระทบกว้างและลึกกว่าที่คิด ในฐานะเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญการท่องเที่ยวระดับโลก ขณะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีบทบาทอย่างมาก มีน้ำหนักมากเป็นพิเศษ ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างที่เห็น ที่ทราบกัน

วงจรทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย มีธุรกิจอย่างหลากหลายเชื่อมโยงและเกี่ยวข้อง จากนโยบาย กฎกติกาของรัฐ ถึงแบบแผนเอกชน จากเครือข่ายยักษ์ใหญ่ จนถึงผู้ประกอบการรายย่อย จากภูมิศาสตร์เศรษฐกิจเมืองใหญ่ จนถึงระดับชุมชน มีผู้เกี่ยวข้องแทบทุกหัวระแหงทั้งโดยตรง โดยอ้อม จนกระทั่งถึงบางส่วนแทรกซึมอยู่ในอาชีพเกษตรกร

ว่าด้วยภาพเกี่ยวข้องโครงสร้างธุรกิจไทย หลายปีมานี้มีทิศทางขยายตัวทางธุรกิจ ตามกระแส ความเคลื่อนไหวเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย ทั้งได้ขยายเครือข่ายในประเทศ และเข้าสู่เวทีระดับโลก ไม่ว่าขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง หรือซื้อเครือข่ายโรงแรมต่างประเทศ จนเชื่อว่าธุรกิจโรงแรมของธุรกิจไทยมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนไปแล้ว

ขณะที่หลายธุรกิจกลายพันธุ์ เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีก มักมองกันว่าแผนการลงทุนธุรกิจค้าปลีกไทยที่ผ่านมาดูสวนกระแสโลก แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยมุมมองและยุทธศาสตร์ที่แตกต่าง ความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวซึ่งเชื่อว่ายังเติบโตต่อเนื่อง การเกิดขึ้นของศูนย์การค้าใหม่ขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงโมเดล Outlet ผุดขึ้นข้างสนามบินนานาชาติ ควรเป็นแนวโน้มที่เป็นไปได้ด้วยดี

วิกฤตการณ์ครั้งใหม่ เป็นเรื่องท้าทายกว่าที่เป็นมา

 

เหตุการณ์สำคัญ

2502 บริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (TAC – Thai Airways Company Limited) ทำสัญญาร่วมทุนกับสายการบินสแกนดิเนเวีย แอร์ไลน์ (SAS – Scandinavian Airlines System) ก่อตั้งสายการบินไทย (TAC ถือหุ้น 70% SAS มีหุ้น 30%)

2518 การบินไทยเปลี่ยนสัญลักษณ์ใหม่จากตุ๊กตารำไทย ให้เป็นรูปแบบใหม่ (ใครๆ เรียกว่า “เจ้าจำปี”) ออกแบบโดย Walter Landor and Associates บริษัทออกแบบระดับโลก

2520 การบินไทยได้ซื้อหุ้นทั้งหมดคืนจากสายการบินสแกนดิเนเวีย และได้มอบหุ้นที่ซื้อคืนมาให้กับกระทรวงการคลัง

2531 รัฐบาลได้มีมติให้รวมกิจการระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด เข้ากับบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของการบินไทย ซึ่งทำการบินในประเทศ เป็นบริษัทเดียวกัน เป็นสายการบินแห่งชาติ กิจการการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

2534 บริษัทการบินไทย จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

2543 การบินไทยก่อตั้งมาครบ 40 ปี และผลประกอบการมีผลกำไรตลอด 35 ปี (ตั้งแต่ปี 2508)

2547 การบินไทยได้ก่อตั้งสายการบินต้นทุนต่ำ-นกแอร์

2549 ปิดทำการ ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเปิดใช้มากว่า 92 ปี และได้ทำการย้ายไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

2551 ผลประกอบการปี 2551 เสนอข้อมูลการขาดทุนเป็นครั้งแรก มากกว่าสองหมื่นล้านบาท ผู้บริหารในเวลานั้นแถลงยอมรับว่าเป็นปีแห่งความยากลำบาก มาจากความผันแปรของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ วิกฤตการณ์น้ำมัน และความวุ่นวายทางการเมือง

รวมทั้งการปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่