ความโกลาหลของทุกพรรค-ทุกขั้วการเมือง

ชักแถวสู่ความเสื่อมทรุด

แรงกดดันทางการเมืองกำลังเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ในทางหนึ่ง พรรคฝ่ายค้านถูกไล่ขยี้จนพลังในการทำหน้าที่ตรวจสอบร่อยหรอลงอย่างเห็นได้ชัด

พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำ ถึงวันนี้สภาพภายในอยู่ในขั้นโคม่า เกิดความแตกแยกกันเละเทะ ถึงขั้นต้องจัดสภาพการบริหารจัดการกันใหม่ ยอมเฉือนเนื้อบางส่วนทิ้ง หรือแยกร่างให้ต่างคนต่างเดินเพื่อลดทอนความขัดแย้ง

การทำหน้าที่ในสภามากมายด้วยข่าวลือถึงเบื้องหน้าเบื้องหลัง

พรรคอนาคตใหม่อันเป็นกลุ่มการเมืองที่มีพลังในการสร้างกระแสแนวร่วมคนรุ่นใหม่มากที่สุด ถูกกลไกอำนาจไล่ขยี้จนต้องแปลงร่างเป็น “พรรคก้าวไกล” ซึ่งความพยายามหาทางตั้งหลักใหม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกสารพัด ในสถานการณ์ที่แกนนำแสดงบทบาทได้ไม่เต็มที่

ขณะที่พรรคเล็กพรรคน้อยเผชิญมนต์ดำแปรเปลี่ยนสมาชิกให้เป็น “งูเห่า” แว้งกัดเพื่อนร่วมพรรคกันเป็นทิวแถว เพื่อแลกกับชีวิตความเป็นอยู่ทางกายภาพที่ดีกว่า

ฝ่ายค้านเละขนาดนั้น แต่ดูเหมือนฝ่ายรัฐบาลจะไม่ต่างกัน

หากมองไปที่พรรคร่วมรัฐบาลก่อน

ความโกลาหลของพรรคประชาธิปัตย์จะปรากฏให้เห็นทันทีในเมื่อสถานการณ์เปิดโอกาสให้ประชุมใหญ่พรรคได้ เป็นความขัดแย้งภายในที่รุนแรงขนาดมีโอกาสเปลี่ยนแปลงการนำพรรค

ขณะที่พรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็นภูมิใจไทย หรือพรรคเล็กพรรคน้อยล้วนแล้วแต่ชัดเจนว่าไม่สามารถสร้างผลงานอะไรให้เกิดความประทับใจได้

ท่ามกลางเกมอำนาจที่ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ถูกทำให้ไร้ค่า มีภาพของคนที่เป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศหนักขึ้น

ภาพลักษณ์ของ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” เช่นนั้น ไม่ได้เว้นคนในพรรคพลังประชารัฐ

หากแยกคนในพรรคพลังประชารัฐเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มนักการเมืองที่อาศัยฐานจากประชาชน กับนักการเมืองที่กลุ่มอำนาจมาจากรัฐประหารเปิดโอกาสให้เกิด

จะพบว่า กลุ่มหลังพยายามสร้างให้เห็นความเลวร้าย และไม่มีประสิทธิภาพ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม เป็นภาพของกลุ่มแรกตลอด

แม้จะสร้างได้สำเร็จ แต่ใช่ว่ากลุ่มหลังจะอยู่รอด เหตุก็เพราะประชาชนปัจจุบันไม่ได้โง่เง่าเต่าตุ่นจนมองไม่เห็นว่า “นักการเมืองจากวาสนาที่กลุ่มอำนาจเอื้อให้” เหล่านี้ ถึงที่สุดแล้ว ก็แค่กลไกที่ “กลุ่มทุนผูกขาด” และ “กลุ่มอำนาจ” แต่งตั้งขึ้นมาไว้เพื่ออำนวยประโยชน์ให้พวกตัวเท่านั้น ไม่ได้มีโภคผลอะไรกับประชาชนสักเท่าไร

เหล่านี้เป็นแรงกดดันที่แต่ละฝ่ายต้องแบกรับ เพื่อรักษาตัวรอดให้ได้

การปรับคณะรัฐมนตรีกำลังจะเกิดขึ้น

มีความพยายามที่จะยืนยันกันว่า ใครจะอยู่ใครจะไป อยู่กับการตัดสินใจของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

เหมือนว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นแรงกดดันสูงสุด

ในความเป็นจริงคือเช่นนั้นหรือไม่

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “6 ปีในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

อันเป็นการนำเอาผลสำรวจที่ทำปีละ 2 ครั้งทั้งหมดมาจัดเรียงให้เห็นในคำตอบที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละ 6 เดือนที่สำรวจกันที

ในความเห็นเรื่องการทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตัดเฉพาะคำตอบในส่วนที่บอกว่า “ทำได้ดีมาก”

ออกมาว่ามีร้อยละ 39.60 ใน 6 เดือนแรก, ร้อยละ 38.80 ใน 1 ปีแรก, ร้อยละ 29.68 ใน 1 ปี 6 เดือน, ร้อยละ 42.40 ใน 2 ปี, ร้อยละ 34.96 ใน 2 ปี 6 เดือน, ร้อยละ 30.16 ใน 3 ปี, ร้อยละ 20.16 ใน 3 ปี 6 เดือน, ร้อยละ 22.15 ใน 4 ปี

หมดวาระของ คสช.ตอนนั้น

เมื่อมาต่อในยุคหลังเลือกตั้งได้แค่ร้อยละ 8.92 ใน 6 เดือนแรก และร้อยละ 15.92 ใน 1 ปี

ด้วยสถิติเช่นนี้ ย่อมชี้ได้ว่า แรงกดดันที่มีต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” เองก็มีไม่น้อยกว่าฝ่ายอื่น

ดังนั้น หากต้องสรุปเพื่อให้เห็นแนวโน้ม หนีไม่พ้นที่จะต้องชี้ว่า ทุกองคาพยพทางการเมืองล้วนแล้วแต่เสื่อมทรุด

ส่วนความเสื่อมทรุดจะนำมาซึ่งอะไร

มองจากส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากนี้แล้ว ทุกองค์ประกอบไม่ต่างไปจากนี้

จะเกิดอะไรขึ้นคงได้เห็นกันไม่นานนี้