วงค์ ตาวัน | ย่างก้าวของบิ๊กป้อม

วงค์ ตาวัน

ศึกในพรรคพลังประชารัฐ น่าจะต้องจบสิ้นภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ รวมไปถึงการปรับคณะรัฐมนตรีที่จะตามมา ก็คงจะต้องแล้วเสร็จภายในต้นเดือนกรกฎาคม โดยจะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ซึ่งจะเข้ามาแทนที่คณะ 4 กุมาร ทีมเศรษฐกิจเก่าจากยุค คสช. คงจะถึงกาลอวสานเสียที

ทั้งหมดนี้คือการลุกขึ้นมากุมอำนาจทางการเมืองในพรรคนี้และในรัฐบาลนี้อย่างเบ็ดเสร็จของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ โดยยังคงมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

อำนาจของ 3 ป. ยังอยู่ยงคงกระพันต่อไป

“เพียงแต่พี่ใหญ่จะขอมีอำนาจเสียงดังชัดเจนเสียที”

เหตุที่ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ น่าจะมาจาก 2 ประเด็นใหญ่

เหตุผลแรก ความขัดแย้งภายในพรรคที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น ระหว่างกลุ่ม ส.ส.ส่วนใหญ่ กับหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นเครือข่ายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ มือเศรษฐกิจ โดยฝ่าย ส.ส.มองว่า หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ซึ่งไม่เคยเล่นการเมืองเป็นผู้แทนฯ ไม่เคยสนใจดูแล ส.ส.ของพรรค

ในช่วงสถานการณ์โควิด ที่เหล่า ส.ส.จำเป็นต้องลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในเขตรับผิดชอบ ก็คือต้องเร่งกอบกู้คะแนนเสียง แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรค

คนที่เป็นหลักช่วยเหลือ ส.ส.กลับเป็นบิ๊กป้อม ผู้มีบารมีของพรรค จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประวิตรขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเสียเอง เพื่อดูแลพรรคอย่างเต็มตัว และ ส.ส.ให้ความเชื่อถือเชื่อมั่น

ขณะเดียวกันบิ๊กป้อมเองก็คงเห็นว่า ถ้าขึ้นมากุมพรรคเต็มตัว จะได้จังหวะกุมเกมการเมืองของรัฐบาลทั้งหมด เนื่องจากที่ผ่านมาการตัดสินใจในทางการเมืองระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มเห็นต่างกันหลายเรื่อง เพราะมีความเห็นอื่นเข้ามาแทรกซ้อน จนทำให้เริ่มไม่เป็นเอกภาพ

“จากนี้ไปหัวหน้าพรรคจะเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมืองทั้งหมด ส่วนนายกฯ ก็เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารไป!”

เหตุผลต่อมาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็คือ ผลงานของรัฐบาลในสถานการณ์โควิด มีจุดเด่นในการควบคุมโรค แต่จุดบอดคือการเยียวยาประชาชน ไปจนถึงมาตรการด้านเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้คะแนนเสียง และโดนชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์หนัก รวมทั้งชาวบ้านไม่มีความหวังว่าจากนี้ไปจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับคืนมาได้รวดเร็วแค่ไหน ปัญหาความอดอยากของประชาชนจะรุนแรงยิ่งกว่านี้หรือไม่

การปรับเปลี่ยนอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ และเพื่อนำไปสู่การปรับ ครม. รวมทั้งการเปลี่ยนโฉมหน้าทีมเศรษฐกิจก็เป็นความจำเป็นเพื่อกอบกู้คะแนนเสียงของรัฐบาลและพลังประชารัฐ

ผลงานในวิกฤตโควิดที่ติดลบในด้านเยียวยา จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ต้องลงมือผ่าตัดใหญ่ ปรับแต่งหน้าตาใหม่!

จะว่าไปแล้ว กลุ่มอำนาจ 3 ป.นั้น มีความแนบแน่นกันมายาวนาน ผูกพันกันจนทิ้งกันไม่ได้ แตกคอกันไม่ได้ เพียงแต่ในทางปฏิบัติก็เริ่มมีข้อขัดแย้งกันในหลายๆ เรื่อง โดยคนที่ได้รับผลกระทบมากสุดคือ พล.อ.ประวิตรในฐานะพี่ใหญ่ ที่ต้องดูแลพรรค ดูแลภาพรวมทางการเมือง

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กับบิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ทำงานรับผิดชอบในส่วนของตัวเองไป สบายอยู่กับอำนาจและคนแวดล้อม

“แต่ไม่ต้องแบกรับการเมืองเหมือน พล.อ.ประวิตร ไปจนถึงภาระในการดูแลพรรคและ ส.ส.ก็ตกหนักที่ พล.อ.ประวิตร”

ความที่ พล.อ.ประวิตรมีสไตล์เป็นนักเลง ใจกว้าง ประสานกับทุกฝ่ายได้ จึงมีความเชี่ยวชาญด้านการเจรจาพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ

แต่เมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญในทางการเมือง เมื่อหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ส่วนใหญ่เรียบร้อยลงตัว แต่ก็มักมาสะดุดในภายหลัง เมื่อคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ไม่เห็นด้วย จะส่งผลให้ข้อตกลงระหว่างบิ๊กป้อมกับบิ๊กตู่เริ่มเรรวน

การตัดสินใจออกหน้าคุมพรรคเอง เพื่อคุมการตัดสินทางการเมืองเองของ พล.อ.ประวิตร ส่วนหนึ่งก็เพื่อลดข้อขัดแย้งในหมู่ 3 ป.ลงไป

“ที่สำคัญ การปรับ ครม.ที่จะส่งผลให้คณะของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ปิดฉากลง จะหมายถึงอิทธิพลของคนใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ลดทอนลงไปด้วย!!”

ต่อไปนี้การหารือระหว่างบิ๊กป้อมกับบิ๊กตู่จะได้จบลงอย่างเด็ดขาด ไม่มีใครมากดดันให้เกิดความรวนเรในภายหลังได้

ทั้งนี้ ปัญหาที่ขัดแย้งกันอย่างหนึ่งก็คือ การที่ พล.อ.ประวิตรต้องการประนีประนอมกับขั้วการเมืองตรงข้าม เพื่อช่วยให้รัฐบาลลดข้อขัดแย้งลง สร้างบรรยากาศการเมืองโดยรวมให้ปรองดองสามัคคี อันเนื่องมาจากสไตล์ส่วนตัวของ พล.อ.ประวิตรที่มักสร้างมิตร ยืดหยุ่นกับทุกฝ่าย

“แต่ พล.อ.ประยุทธ์มักได้รับอิทธิพลจากคนใกล้ตัว จนไม่ค่อยเห็นพ้องกับแนวทางจับมือกับทุกฝ่ายของ พล.อ.ประวิตรในหลายหน!?”

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรรู้ดีว่า การเล่นการเมืองแบบโดดไปเป็นคู่กรณีกับขั้วตรงข้าม มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งลงลึกไม่มีสิ้นสุด

ทั้งอาจจะหมายถึงอนาคตของรัฐบาลเอง อนาคตของกลุ่ม 3 ป.เองจะไม่ราบรื่น และเสี่ยงอันตรายอย่างสูงในอนาคต!

ทันทีที่มีข่าวว่า พล.อ.ประวิตรจะขึ้นมากุมการเมืองในพรรคพลังประชารัฐอย่างเต็มตัว ก็เกิดข่าวสะพัดถึงการจับมือร่วมกันกับพรรคเพื่อไทย จนทำให้นายสมพงษ์ อมรวัฒน์ หัวหน้าเพื่อไทย ต้องออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าว ยืนยันจุดเดิมของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอย่างหนักแน่นต่อไป

ที่มาของข่าวลือนี้ เพราะรู้กันดีว่า พล.อ.ประวิตรมีแนวคิดลดความขัดแย้งกับทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้รัฐบาลต้องรับศึกรับมรสุมรอบทิศ

“รวมทั้งจากปรากฏการณ์คดีของนายพานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายนายทักษิณ ซึ่งรอดพ้นคดีฟอกเงินธนาคารกรุงไทย”

โดยก่อนหน้านี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษายกฟ้องนายพานทองแท้ แน่นอนว่าเป็นผลจากการต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่า นายพานทองแท้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกระบวนการฟอกเงิน

แต่ขั้นตอนต่อมา เป็นหน้าที่ของอัยการจะต้องพิจารณาว่าจะอุทธรณ์เพื่อสู้คดีต่อหรือไม่

เมื่ออัยการมีมติไม่อุทธรณ์ ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการเมือง จากนั้นเป็นขั้นตอนของดีเอสไอ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนรวบรวมคดี

“มีข่าวสะพัดว่าเกิดแรงกดดันจากฝ่ายที่ตรงข้ามกับทักษิณสุดขั้ว จนทำให้ดีเอสไอมีมติแย้งกลับอัยการ”

เรื่องต้องกลับไปที่อัยการอีก ลงเอยอัยการยืนยันไม่อุทธรณ์คดีนี้อย่างแน่นอน จึงเป็นอันจบ ส่งผลให้ลูกชายทักษิณพ้นคดีนี้อย่างสิ้นเชิง

“ทำให้เกิดข้อวิจารณ์อื้ออึง ว่าเหตุใดอัยการจึงยืนยันมติไม่อุทธรณ์คดีโอ๊คอย่างไม่มีถอย ไปกินดีหมีใจมังกรมาจากไหน พร้อมกับเห็นเงาของ พล.อ.ประวิตรที่ผงาดอยู่ข้างหลังอัยการ”

หลังนายพานทองแท้พ้นคดีฟอกเงินดังกล่าวไม่นาน ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐสู่ยุคบิ๊กป้อม และการเตรียมปรับ ครม.

จึงเกิดข่าวลือการดึงเพื่อไทยร่วมรัฐบาล แต่ลงเอยก็เป็นเพียงแค่ข่าวลือ

“จะว่าไปแล้ว โอกาสที่เพื่อไทยจะจับมือกับพลังประชารัฐ พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต้องเรียกว่าเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง”

เพียงแต่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเพื่อไทย ก็คงจะมุ่งไปที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นสำคัญ พ่วงด้วย พล.อ.อนุพงษ์

กลุ่มอำนาจ 3 ป. กับเครือข่ายทักษิณ คงยากจะร่วมกันได้

แต่ใน “3 ป.” นั้น อาจจะมี “1 ป.” ที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้ เป็นเรื่องๆ ไป!


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่