ห้ามนั่ง “แค็บ-ท้ายกระบะ” กฎหมายสวนความเป็นจริง

สันติ จิรพรพนิต

“10 วิธีนั่งรถกระบะไม่ผิดกฎหมาย”

“เทคนิคโดยสารรถกระบะ”

“โชคดีรถผมมีบันไดข้าง ห้ามนั่งแค็บ-นั่งกระบะ ยืนบันไดข้างคงได้ใช่ไหม” ฯลฯ

สารพัดสารเพ ข้อความและการแชร์ภายในโลกโซเชียลมีเดีย ทำนองประชดประชัน หลังรัฐบาลประกาศใช้ ม.44 เข้มงวดการใช้รถส่วนบุคคลและรถสาธารณะเพื่อป้องกันอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ ที่พูดถึงเยอะคือการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง กับห้ามนั่งกระบะท้าย และแค็บ

กรณีคาดเข็มขัดนิรภัยยังไม่เท่าไหร่ แต่การห้ามนั่งแค็บและกระบะหลังนี่แหละกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ในทันที

คนไทยสามัคคีชุมนุมออกมาถล่มมาตรการดังกล่าว จนรัฐบาลแทบไปไม่เป็น…ข้อดีที่สุดก็คือรัฐบาลประสบความสำเร็จ “สร้างความปรองดอง” ให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยทั่วประเทศ

สุดท้ายหลังประกาศเริ่มมาตรการในช่วงเช้าวันที่ 5 เมษายน ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงก็ออกมาสั่งระงับ โดยให้ผ่อนผันไปจนพ้นช่วงสงกรานต์

การผ่อนผันดังกล่าวให้เฉพาะห้ามนั่งแค็บและนั่งกระบะหลัง ส่วนการคาดเข็มขัดนิรภัยยังเข้มงวดต่อไป

จริงๆ จะโทษรัฐบาลทั้งหมดก็คงไม่เต็มปากนัก เพราะกฎหมายห้ามนั่งแค็บ-นั่งกระบะหลัง มันมีอยู่แล้ว ตามข้อบังคับของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รถยนต์ พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522

โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ปรับเปลี่ยนแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง ตามยุคสมัย

ล่าสุดรัฐบาลชุดปัจจุบันเพิ่มเติม-แก้ไขอีกหลายมาตรา หลักๆ คือการเพิ่มโทษเมาขับ แข่งรถในทาง ห้ามต่อป้ายทะเบียนหากไม่จ่ายค่าปรับตามใบสั่งของตำรวจ ฯลฯ

รวมถึงมาตรการบังคับให้ผู้โดยสารทุกที่นั่งบนรถต้องคาดเข็มขัดนิรภัย จากเดิมบังคับเฉพาะที่นั่งคู่หน้า

ส่วนการห้ามนั่งแค็บ-นั่งกระบะหลัง ไม่ได้มีมาตรการพิเศษแต่อย่างใดพูดถึง เนื่องจากบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 21 อยู่แล้ว

โดยมาตรา 21 พูดถึงการห้ามใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้

มาตรา 21 (3 ทวิ) ห้ามใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักรถไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน หรือใช้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเป็นรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล

จึงต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลชุดปัจจุบันว่าไม่ได้ตรากฎหมาย หรือกำหนดข้อบังคับการห้ามนั่งแค็บ-นั่งกระบะหลัง เพราะมันมีอยู่ในกฎหมายเก่ามานานแล้ว

ที่เป็นเรื่องเพราะรัฐบาลต้องการเข้มงวดความปลอดภัยสงกรานต์ และบังคับใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ฉบับแก้ไขล่าสุด น่าจะมี “พรายกระซิบ” ให้พ่วงเรื่องห้ามนั่งแค็บ และกระบะหลังเข้าไปด้วย เพื่อความปลอดภัย อีกทั้งมีข้อห้ามอยู่แล้วแต่ไม่เคยทำมาก่อน

สุดท้ายก็เละเป็นโจ๊กโดนระเบิด

เพราะสังคมไทยคุ้นเคยกับภาพคนนั่งกระบะหลัง หรือนั่งในแค็บจนชินตา

ยิ่งสงกรานต์ หรือปีใหม่ คนต่างจังหวัดที่ทำงานในกรุงเทพฯ บางส่วนจะขนของและนั่งท้ายรถกระบะกลับบ้าน

ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่เคยให้ความรู้ว่ามันมีกฎหมายห้ามอยู่นะ ดีไม่ดีผมว่าข้าราชการบางส่วนก็ไม่ทราบว่ามีด้วยซ้ำ

เพราะเราเห็นตำรวจคุมผู้ต้องหานั่งหลังกระบะ เห็นหน่วยงานที่ต้องซ่อมแซมถนน ไฟฟ้า ประปา ก็นั่งหลังกระบะกันทั้งนั้น

ทำให้การนั่งกระบะหรือในแค็บ กลายเป็นวิถีชีวิตของคนที่มีรถประเภทนี้ไปแล้ว

และในข้อเท็จจริงตามบริบท หรือสภาพแวดล้อมของสังคมไทย การห้ามรถกระบะนั่งด้านหลังหรือนั่งในแค็บมันเป็นไปไม่ได้

รถกระบะเป็นพาหนะที่คนซื้อไม่ถือว่าร่ำรวย ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางลงมา และกลุ่มเกษตรกร ที่กัดฟันผ่อนรถแค่คันเดียวก็แทบรากเลือดแล้ว แต่เพราะต้องใช้รถทำมาหากิน แล้วยังใช้ขนลูกเมียญาติพี่น้องด้วยในตัว

ใจคอคุณจะให้เจ้าของรถกระบะสามารถนั่งได้แค่ 2 คนเท่านั้น!??

หากเจ้าของรถกระบะมีลูกเอาแค่คนเดียวพอ จะไปธุระหรือกินข้าวนอกบ้านแล้วยังไง…ต้องทิ้งลูกหรือเมียคนใดคนหนึ่งไว้ที่บ้านใช่หรือไม่ เพราะรถนั่งได้แค่ 2 คน หรืออีกคนต้องวิ่งตาม…หรือนั่งรถไปอีกคัน

ไม่ต้องพูดถึงกิจการ “เอสเอ็มอี” ที่รัฐบาลนี้สนับสนุน หากต้องขนของไปส่งลูกค้า มีคนขับ-พนักงานติดรถไปสัก 3 คน แล้วจะไปกันยังไงเพราะให้นั่งหน้าได้แค่ 2 คนเท่านั้น

พวกรับเหมาก่อสร้างต้องมีกระบะคันหนึ่งไว้ขนของ และรถอีกคันไว้ขนคนอย่างนั้นหรือ

แม้ตามกฎหมายจะเปิดช่องให้คนโดยสารกระบะได้ แต่มีเงื่อนไขว่ารถกระบะคันนั้นต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง

ปัญหาที่ตามมาคือหากกระบะจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง ตามระเบียบแล้วต้องต่อเติมหลังคาด้านหลังและจัดวางที่นั่งไว้ด้วย ซึ่งจะกระทบกับการทำมาหากินในกรณีใช้ขนส่งสินค้า

และในข้อเท็จจริงหากกระบะจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง ก็ขนของไม่ได้อีก เพราะเข้าข่ายใช้รถผิดประเภทตามมาตรา 21 เช่นกัน

เช่นเดียวกับกระบะแบบ 4 ประตู ซึ่งต้องจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง หรือจดทะเบียนแบบรถเก๋ง หากขนของใส่กระบะด้านท้าย จะถือว่าใช้รถผิดประเภทหรือไม่?

เพราะคุณจดทะเบียนรถยนต์นั่ง แล้วจะใช้ขนของได้อย่างไร

หรือต่อให้กระบะทั่วไปจดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งเกิน 7 ที่นั่ง แต่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ฉบับแก้ไขล่าสุด ที่กำหนดว่าผู้ขับขี่ “ต้อง” จัดให้คนโดยสารในรถทุกคน ในทุกที่นั่ง รัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย จะทำอย่างไร!??

แม้มีนายตำรวจใหญ่บางท่านออกมาบอกว่าทำได้ แต่ดูเนื้อหาแล้วยังน่าสงสัยอยู่ เพราะถ้าให้ถูกกฎหมายเป๊ะๆ กระบะคันนั้นต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยด้านหลังด้วย!??

แล้วรถที่ใช้ในราชการอย่างตำรวจ-ทหาร เวลาออกลาดตระเวน หรือจับคนร้ายได้แล้วคุมตัวไว้ที่กระบะหลัง ส่วนใหญ่จะเปิดโล่งเพื่อความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ จะทำอย่างไร

หรือต้องออกมาผ่อนผันให้รถเหล่านี้อีก

ถึงรัฐบาลจะยอมถอยเรื่องนั่งแค็บและกระบะในช่วงสงกรานต์ แต่ก็หมายเหตุไว้ว่าหลังจากนี้จะพิจารณาอีกครั้ง!??

แต่หากดู “ความปรองดอง” ที่เกิดขึ้นของคนไทยจากกรณีนี้

มีแนวโน้มอย่างสูงว่ารัฐบาลน่าจะปล่อยให้ทุกอย่างเงียบหายไปกับสายลม!??

เพราะหากขุดขึ้นมาเมื่อไหร่…ภาษาบ้านๆ ต้องบอกว่า “จมบาทา” เมื่อนั้น

นอกจากคนในสังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับแล้ว ปม “เศรษฐกิจ” เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลอาจลืมนึกถึง

รถยนต์ในประเทศไทยที่วิ่งอยู่ทุกวันนี้ราวๆ 40% คือกระบะ ตัวเลขกรมการขนส่งทางบก ระบุจำนวนรถบรรทุกส่วนบุคคลที่จดทะเบียนสะสมนับถึงสิ้นปี 2559 มีจำนวน 6,277,527 คัน

ขณะที่ตัวเลขยอดขายรถยนต์ไม่ต้องถอยไปไกลแค่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละราวๆ 7-8 แสนคัน เป็นยอดขายรถกระบะประมาณ 40-50%

นั่นหมายถึงปีๆ หนึ่งมีกระบะขายมากถึง 3-4 แสนคัน

ในจำนวน 3-4 แสนคัน รถกระบะแบบแค็บมียอดขายสูงสุดเกินครึ่งหรือมากกว่านั้น รองลงมาคือกระบะตอนเดียว และกระบะ 4 ประตู

หากเข้มงวดให้กระบะตอนเดียวและมีแค็บนั่งได้แค่ 2 คน นอกจากเจ้าของรถกระบะในปัจจุบันกว่า 6 ล้านคันจะเดือดร้อนแล้ว

เคยคิดบ้างไหมว่าตลาดรถกระบะเมืองไทยจากนี้ไป จะปั่นป่วนขนาดไหน!??

ใครหนอ…ที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมาให้รัฐบาล

น่า “หยิกให้เนื้อเขียว” นักเชียว!!!