เทศมองไทย : ไทย-เวียดนาม กับ “กำไรจากโควิด”

จอห์น รีด ผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพฯ ของไฟแนนเชียล ไทม์ส เขียนถึงสถานการณ์โควิด-19 ของไทยและเวียดนาม เมื่อ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา เริ่มด้วยการบอกเล่าถึงการกลับมา “มีชีวิตชีวา” อีกครั้งของเมืองใหญ่ในอุษาคเนย์ อย่างกรุงเทพฯ ฮานอย และโฮจิมินห์ซิตี้ หลังมาตรการล็อกดาวน์

เป็นการกลับคืนสู่ “นิวนอร์มอล” ที่จอห์น รีด เคลือบแคลงมากว่า ทำไมรถราถึงได้ติดวินาศสันตะโรเหมือน “โอลด์นอร์มัล” เต็มที

ไทยกับเวียดนามเป็นชาติแรกๆ ที่ถูกโควิด-19 โจมตีต่อจากจีน แต่ในยามนี้กลายเป็นชาติแรกๆ เช่นเดียวกันที่ผ่านพ้นจากจุดที่เลวร้ายที่สุดของการแพร่ระบาด

 

จอห์น รีด บอกว่า หลังจากป่วนอยู่พักใหญ่ในตอนแรกเริ่ม รัฐบาลไทยหันมาใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ปิดกิจการเสี่ยงหลายอย่าง ตั้งแต่ภัตตาคาร, บาร์, สวนสาธารณะ และสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่ไปทั้งหมด ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และประกาศใช้มาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน

“แต่บริษัทส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ค้าปลีก ยังคงได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการ ภายใต้เงื่อนไขต้องมีมาตรการรักษาระยะห่างตามแนวทางที่รัฐกำหนด รัฐบาลหันไปหาตระกูลธุรกิจที่มั่งคั่งที่สุดทั้งหลายในประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือ และบางส่วนก็ตอบสนองด้วยความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือไม่ก็รับปากที่จะรักษาตำแหน่งงานทั้งหลายเอาไว้”

แฮโรลด์ ลิงค์ นักธุรกิจระดับพันล้านชาวไทยเชื้อสายเยอรมัน ประธานกลุ่มบริษัท บี.กริมม์ บอกกับจอห์น รีด เอาไว้ว่า

“ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่ดีมาก และรัฐบาลก็รับฟังจาก 2 กลุ่ม คือบรรดาแพทย์ทั้งหลาย กับหอการค้าต่างๆ, สมาคมการธนาคารและภาคเอกชนทั้งหลาย เพื่อให้การล็อกดาวน์สร้างความปั่นป่วนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โรงงานผลิตต่างๆ ยังคงดำเนินการต่อไป ซูเปอร์มาร์เก็ตยังคงเปิดบริการ เพื่อให้ผู้คนมีอาหารกิน มีงานทำ”

ที่น่าสนใจก็คือ เวียดนามก็กำหนดใช้วิธีการเดียวกันนี้ โดยเฉพาะใน 2 เมืองใหญ่ของประเทศอย่างฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ กำหนดใช้มาตรการรักษาระยะห่างอยู่นานเกือบตลอดทั้งเดือนเมษายน แต่บริษัทธุรกิจส่วนใหญ่ก็ยังเปิดทำการ ควบคู่ไปกับระบบการแกะรอยผู้ต้องสงสัยในกลุ่มเสี่ยงที่ “เข้มงวดที่สุดในโลก” ควานหาไม่เพียงผู้ติดเชื้อชั้นแรก ยังต่อเนื่องไปถึงผู้ติดเชื้อชั้นที่สองต่อๆ ไปด้วยอีกต่างหาก เพื่อนำตัวไปกักกันโรค

ผลก็คือ ไทยมียอดสะสมของผู้ติดเชื้อทั้งหมดเพียง 3,100 รายเศษ ส่วนเวียดนามมีแค่เกิน 300 รายไปไม่เท่าใดเท่านั้นเอง โดยที่ “ไม่มีข้อบ่งชี้ที่จริงจังเท่าใดนักว่าจะมีการปกปิดตัวเลข” แต่อย่างใด

เมื่อประเด็นเรื่องความปลอดภัยเข้าที่เข้าทาง ทั้งสองประเทศในเวลานี้กำลังพูดกันถึงการเปิดพรมแดนให้กับเที่ยวบินพาณิชย์บางส่วนกันแล้ว

 

จอห์น รีด บอกว่า เมื่อมองไปยังอนาคต การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามดูสดใสกว่าไทยมาก ที่เวียดนามนักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์กันว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวราว 5 เปอร์เซ็นต์ ในทางตรงกันข้าม ประเทศไทย “ซึ่งเศรษฐกิจยึดโยงอยู่กับการท่องเที่ยวมากกว่า” คาดกันว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 5-6 เปอร์เซ็นต์

ถือเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดของไทยนับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในเอเชียเมื่อปี 2541 เป็นต้นมา

จอห์น รีด บอกว่า ก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาด ทั้งไทยและเวียดนามได้รับการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมการผลิตจากบริษัทในระดับนานาชาติหลายบริษัท รวมทั้งกลุ่มธุรกิจจากจีน ที่ต้องการลงเดิมพันกับความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ก่อรูปทะมึนอยู่เบื้องหลัง

การระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้แนวโน้มการลงทุนทำนองนี้เร่งเกิดเร็วขึ้น เมื่อเปิดโปงให้เห็นความเปราะบาง ยุ่งยากของการพึ่งพาแต่เฉพาะผู้บริโภคในจีนหรือห่วงโซ่การผลิตจากจีนมากจนเกินไป

“ไทยตอบสนองต่อวิกฤตโควิด-19 ด้วยชุดกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่สุดชุดหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย ช่วยเหลือตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อยไปจนถึงชาวนาและชาวสวนให้สามารถรักษาการส่งออกได้ แม้ทั่วโลกจะยังคงปิดตายอยู่ก็ตาม

“แต่เพราะไทยพึ่งพาอาศัยผู้มาเยือนจากนานาประเทศ ความไม่แน่นอนในอนาคตจึงมีมากกว่า แม้ว่าทั้งเวียดนามและไทยจะวางแผนไว้คล้ายๆ กันคือ ในตอนแรกเริ่ม อาจเปิดให้มีการเดินทางระหว่างประเทศกับประเทศอื่นๆ ที่มีระดับการแพร่ระบาดไม่มากนัก อย่างที่เรียกกันว่าช่องทางท่องเที่ยวแบบจำกัด หรือบับเบิล ทัวริสต์”

แต่ “เมดิคัล ทัวริสต์” ที่เป็นตลาดจำเพาะของไทย ซึ่งคาดว่าเป็นภาคธุรกิจที่จะเติบโตได้หลังการแพร่ระบาด ก็ถือได้ว่าเป็น “ผลกำไรจากโควิด” ของประเทศไทย

ที่อาจต้องรอนานกว่าเวียดนามไม่น้อยถึงจะออกผลครับ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่