จิตต์สุภา ฉิน : รูปแบบการพบแพทย์ หลัง COVID-19

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin
Senior woman isolated at home due to coronavirus epidemic having video call with family doctor, consulting about medicine

นอกเหนือจากการ Work From Home ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วเพราะไวรัสแล้ว

อีกสิ่งหนึ่งที่ถูกไวรัสบังคับให้เติบโตภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ก็คือ Telemedicine หรือการพบแพทย์ระยะไกล

Telemedicine ฟังดูเป็นเรื่องใหม่ที่น่าจะเกิดมาในยุคอินเตอร์เน็ต

แต่อันที่จริงเป็นสิ่งที่มีมานานหลายทศวรรษแล้ว

ความรุ่งเรืองระดับก้าวกระโดดของมันเกิดขึ้นในยุค 1960s ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแข่งขันกันเป็นผู้นำทางด้านการสำรวจอวกาศ

นักวิทยาศาสตร์ในตอนนั้นยังกังวลว่าสภาพไร้แรงโน้มถ่วงจะส่งผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์อย่างไร จะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดหรือไม่ จะทำให้หายใจได้อย่างยากลำบากหรือเปล่า

ดังนั้น เพื่อเป็นการหาคำตอบ ทั้งสหรัฐและสหภาพโซเวียตจึงทำไฟลต์ทดลองกับสัตว์ โดยเชื่อมระบบการตรวจสอบค่าต่างๆ ของร่างกายที่จะส่งข้อมูลเหล่านั้นกลับมายังนักวิทยาศาสตร์บนโลก

หลังจากนั้น นักบินอวกาศที่ต้องเดินทางไปปฏิบัติภารกิจเป็นระยะเวลานานก็ต้องการระบบที่พวกเขาจะสามารถได้รับการตรวจวินิจฉัยระยะไกลได้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น

ทำให้ NASA ต้องพัฒนาระบบ Telemedicine ขึ้นมาในที่สุด

 

กลับมาสู่ยุคปัจจุบัน การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้จากเดิมที่คนก็ไม่ได้ชอบไปโรงพยาบาลสักเท่าไหร่อยู่แล้ว ก็กลายเป็นแขยงโรงพยาบาลเพราะกลัวว่าจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเชื้อไวรัสอยู่ตามจุดต่างๆ

ประกอบกับตอนที่ไวรัสแพร่ระบาดใหม่ๆ หมอและพยาบาลทั่วโลกขาดแคลนอุปกรณ์ที่จะใช้ในการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อจากผู้ป่วยได้

ทำให้ Telemedicine กลายเป็นทางออกที่ดูจะทรงประสิทธิภาพมากที่สุด และเข้ามาแทนที่การตรวจวินิจฉัยแบบตัวต่อตัวไปเลย

หลายๆ ประเทศต้องผ่อนปรนกฎข้อบังคับต่างๆ ที่เคยสวมครอบ Telemedicine เอาไว้ เนื่องจากต้องเพิ่มช่องทางให้คนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้ได้มากที่สุด

การวินิจฉัยอาการบนแพลตฟอร์มอย่าง Skype Zoom และ FaceTime จึงได้รับความนิยมขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้พยายามผลักดัน Telemedicine กันอย่างไรก็ดูเหมือนจะไม่เกิดง่ายๆ

อุปกรณ์อัจฉริยะช่วยให้เราสามารถวัดค่าต่างๆ ของร่างกายได้เป็นสิ่งที่จะต้องเติบโตควบคู่กับ Telemedicine ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้ว เครื่องวัดสัญญาณชีพ เซ็นเซอร์บนสมาร์ตวอตช์และสมาร์ตโฟน ฯลฯ

ซึ่งเมื่อเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตแล้วก็จะทำให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคระยะไกลได้แม่นยำขึ้น

 

แม้ว่าในที่สุด เมื่อ COVID ผ่านพ้นไปและเรากลับมาใช้ชีวิตกันได้ตามปกติ แต่ Telemedicine ก็ควรได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะนี่เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาตอบโจทย์ผู้ป่วยหลายกลุ่มที่จะยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไปในอนาคต

อย่างเช่น ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในชนบทที่ห่างไกลขาดแคลนแพทย์ฝีมือดี หรือกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังที่ก่อนหน้านี้จะต้องเดินทางไปโรงพยาบาลอยู่บ่อยๆ

กระบวนการทางการแพทย์หลายอย่างจะยังคงเป็นสิ่งที่ต้องเดินทางไปทำที่โรงพยาบาล อย่างเช่น การฉีดวัคซีน การตรวจเลือด หรือตรวจร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำระยะไกลได้

แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเบื้องต้นที่ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไรและจำเป็นต้องได้รับยารักษาโรคตัวเดิมๆ

การสามารถพบแพทย์ผ่าน Telemedicine ได้ก็จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ

 

อีกสิ่งหนึ่งที่ COVID ช่วยเปลี่ยน ก็คือความต้องการในการดูแลสุขภาพด้วยตัวเองให้ได้มากขึ้น

ผลการสำรวจใหม่โดย The Harris Poll ที่สอบถามผู้ใหญ่ในสหรัฐ 2,051 คน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองในช่วงที่มีโรคระบาดพบว่าคนจำนวนมากได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพ 47 เปอร์เซ็นต์บอกว่ารู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคม 30 เปอร์เซ็นต์บอกว่าขาดพลัง 29 เปอร์เซ็นต์บอกว่ามีปัญหาเรื่องการนอนหลับ และ 29 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าออกกำลังกายน้อยลง

โดยเกือบครึ่งของทั้งหมดบอกว่าพวกเขาประสบความยากลำบากในการหาวิธีที่จะดูแลสุขภาพทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ข่าวดีจากการสำรวจครั้งนี้ก็คือเมื่อเทียบกับช่วงก่อนโรคระบาดพบว่าคนหันไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์มากขึ้น มีความสัมพันธ์กับเพื่อนและครอบครัวที่ดีขึ้น ใช้เวลากลางแจ้งมากขึ้น และเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

คนส่วนใหญ่ในการสำรวจครั้งนี้บอกว่าเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้พวกเขาตั้งใจอย่างจริงจังที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น มุ่งมั่นที่จะกินอาหารที่เฮลตี้ขึ้น ออกกำลังกายมากขึ้น และจะจัดการลด ละ เลิก พฤติกรรมที่เป็นโทษต่อร่างกาย อย่างการสูบบุหรี่ โดยตั้งใจจะทำให้ได้ทันทีที่สถานการณ์ COVID คลี่คลายลง

ไม่รู้เหมือนกันว่าพอ COVID จบลงแล้วคนกลุ่มนี้จะสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่

แต่การแพร่ระบาดของโรคก็ทำให้เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าหลังจากนี้ไปเราจะดูแลร่างกายและจิตใจของเราเองให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

 

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันก็จะสามารถช่วยให้เราดูแลสุขภาพของเราได้ดีขึ้น

เราสามารถดูแลสุขภาพกายได้ด้วยการใช้แก็ดเจ็ตสวมใส่ได้ประเภทต่างๆ ในการเก็บข้อมูลร่างกายเพื่อทำความรู้จักกับร่างกายเราให้ได้มากที่สุด

อย่างการใช้เซ็นเซอร์ในสมาร์ตวอตช์เพื่อช่วยแจ้งเตือนในกรณีที่อัตราการเต้นของหัวใจเกิดผิดปกติขึ้น

หรือหากต้องการดูแลสุขภาพทางใจก็มีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากที่ช่วยให้เรารู้เท่าทันลมหายใจ

หรือช่วยเชื่อมโยงเราเข้าหาจิตแพทย์ได้ผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ เครื่องมือเยอะแยะ

รอก็แต่เราจะหยิบมาใช้หรือไม่เท่านั้น

อย่าปล่อยให้เป็นเหมือนปณิธานปีใหม่ที่ตั้งไว้ในเดือนมกราคม เพียงเพื่อจะโยนทิ้งไปในเดือนกุมภาพันธ์นะคะ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่