วิเคราะห์ : อะไรคือท่องเที่ยว “วิถีใหม่” ในช่วงโควิด-19

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สถานการณ์ “โควิด-19” ในบ้านเราคลี่คลายไปมาก มาตรการคลายล็อก เฟส 3 ให้ความรู้สึกโล่งไปเยอะ การเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกขึ้น มีการเปิดแหล่งท่องเที่ยว โรงหนัง ร้านนวดแผนโบราณให้ผู้คนได้หย่อนกายพักผ่อน ลดภาวะอึดอัดทางเศรษฐกิจและสังคมไม่น้อยทีเดียว

ล่าสุดมีข่าวว่ารัฐบาลเตรียมผ่อนเฟสที่ 4 แต่ก็มีเสียงเตือนๆ ว่า ถ้าปล่อยอิสระมีการรวมตัวเป็นกลุ่มเป็นก้อน เชื้อโควิด-19 อาจจะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง

ภาพที่หาดบางแสนในวันแรกเปิด ทำให้ภาครัฐต้องคิดหนักเพราะคนแห่สัมผัสบรรยากาศชายทะเลหลายพันคน ส่วนใหญ่ไม่สวมหน้ากากอนามัย

และเมื่อนักท่องเที่ยวกลับไปหมดแล้ว สิ่งที่เหลือทิ้งไว้ริมหาดคือ ขยะสารพัด ขวดเหล้า-เบียร์ทิ้งเรี่ยราด

ประเด็นหาดบางแสน สะท้อนให้เห็นว่า

1. คนไทยไม่ได้กลัวเชื้อโควิดมากซะเท่าไหร่

2. ขาดจิตสำนึกสาธารณะ

3. ละเลยมาตรการห้ามดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ต้องยอมรับว่าภาครัฐกระตุ้นประชาชนให้ร่วมมือร่วมใจดูแลรักษาความสะอาด คัดแยกและทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางเป็นอย่างมาก มีทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ มีการจัดอบรมและทำโครงการนำร่องชุมชนปลอดขยะ

แต่ดูเหมือนว่าการปลุกกระตุ้นให้จิตสำนึกสาธารณะดังกล่าวนี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าไหร่เลย ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี?

 

คุณวาโกะ โชจิ พี่นักเขียนชาวญี่ปุ่นเคยเล่าให้ฟังว่า คนญี่ปุ่นต่างตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาความสะอาดมาตั้งแต่วัยเด็ก เด็กทุกคนต้องมีวินัยในการเก็บกวาดคัดแยกขยะ และทิ้งขยะในที่ที่เหมาะสม

เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การรักษาวินัยในเรื่องนี้ยิ่งเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่ทำงานหรือในที่สาธารณะ

ผมยังจำภาพการแข่งขันฟุตบอลโลกที่ประเทศรัสเซีย แฟนบอลชาวญี่ปุ่นเดินทางไปเชียร์ทีมชาติของตัวเอง ช่วยกันเก็บขยะหลังการแข่งขันเสร็จสิ้นลง

ตรงกันข้ามกับบ้านเรา แค่เปิดชายหาดให้ไปสัมผัสธรรมชาติเพียงวันเดียว ขยะเกลื่อนแล้ว

จิตสำนึกสาธารณะขาดวิ่นอย่างนี้ ไม่ใช่มีแค่ชายหาดหรือในช่วงวิกฤตโควิด แต่ขาดวิ่นมานานมาก พื้นที่สาธารณะไม่ว่าบนถนน หรือริมคูคลอง มีขยะให้เห็นตลอด

 

พูดถึงการท่องเที่ยววิถีใหม่ในช่วงวิกฤตโควิด ระบบสาธารณสุขจะเข้ามามีบทบาทอย่างสูง

การวางกฎกติกาใหม่ๆ จะเป็นแนวทางที่กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวจะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา

แนวทางหลักๆ ของการท่องเที่ยววิถีใหม่ กำหนดให้พื้นที่ท่องเที่ยว ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำต้องสะอาด มีจุดคัดแยกขยะ นักท่องเที่ยวต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเตรียมถุงเฉพาะแยกใส่หน้ากากอนามัยที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ให้เป็นภาระของคนในพื้นที่

การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นเรื่องจำเป็นแม้ว่าจะอยู่ในที่โล่ง ถ้าเป็นคนในครอบครัวก็อยู่ในกลุ่มก้อน แยกจากกลุ่มอื่นเพราะไม่รู้ว่าอีกกลุ่มมีผู้ติดเชื้อหรือเปล่า หรือในกลุ่มเราเองมีคนติดเชื้อหรือไม่

สถานที่พักก็เช่นกัน ต้องเน้นระบบความสะอาดในทุกจุด ไม่ว่าห้องพัก ล็อบบี้ มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือนักท่องเที่ยว พนักงาน มีระบบลงทะเบียนจองคิว ไม่ให้แห่รวมกันแออัดและมีอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิ

 

มาตรการท่องเที่ยววิถีใหม่ดังกล่าว เชื่อว่าเป็นแนวทางใช้ทั่วโลกตราบใดเชื้อโควิดยังออกฤทธิ์อยู่

เวลานี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคโควิดพุ่งทะลุ 7 ล้านคน และสังเวยไปแล้วกว่า 4 แสนคน เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งประมาทไป

มีบทความของสำนักข่าวบีบีซีชื่อหัวเรื่องว่า “โคโรนาไวรัส คลื่นลูกที่สอง บทเรียนจากเอเชีย” ชี้ให้เห็นว่า เอเชียเป็นแหล่งที่มาของเชื้อโควิด ใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นแห่งแรก และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดแล้วกลับมาระบาดใหม่อีกระลอก ทั้งจากไนต์คลับกรุงโซล เกาหลีใต้ ชายแดนจีน-รัสเซีย และที่อื่นๆ นี่เป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้

ในประเด็นแรก การแพร่ระบาดระลอกสอง หมายถึงการแพร่ระบาดกลับมาระบาดใหม่อีกครั้ง ทั้งที่มีระบบคัดกรอง ติดตามและตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเกาหลีใต้ แต่กลับมามีผู้ป่วยระลอกใหม่ อาจเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสยังซ่อนอยู่ในผู้ติดเชื้อและไม่แสดงอาการ

ในประเด็นที่ 2 มาตรการคุมเข้ม อาจจะต้องกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะการล็อกดาวน์ปิดเมือง ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่นั้นๆ จะปลอดจากเชื้อโควิดแล้ว ยกตัวอย่าง เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น หลังเกิดการแพร่ระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ มีการใช้มาตรการคุมเข้มจนถึงกลางเดือนมีนาคมมีผู้ป่วยลดลงเหลือเฉลี่ยแค่วันละ 1 หรือ 2 คนเท่านั้น

จากนั้นในเดือนเมษายน ทางการฮอกไกโดยกเลิกมาตรการฉุกเฉิน เปิดโรงเรียนให้เด็กกลับเข้าห้องเรียนได้ แต่ให้หลังไม่ถึง 1 เดือนต้องกลับมาใช้มาตรการคุมเข้มสกัดการแพร่ระบาดอีกครั้ง แม้ขณะนี้ได้ยกเลิกไปแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่มั่นใจว่าจะนำมาตรการคุมเข้มกลับมาใช้อีกหรือไม่ เพราะตราบใดที่วัคซีนยังไม่มี โอกาสที่เชื้อกลับมาแพร่ระบาดยังเป็นไปได้สูง

3. การควบคุมกักกันผู้เดินทางเข้ามาในประเทศ ยังเป็นมาตรการต้องทำ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นในมณฑลจี๋หลินของจีน อยู่ติดพรมแดนรัสเซีย มีชาวจีน 8 คนกลับจากรัสเซียตรวจพบติดเชื้อโควิด ทางการจีนต้องสั่งกักตัวเพิ่ม 300 คนที่ข้ามจากรัสเซียเพื่อตรวจเชื้อ

ส่วนที่ฮ่องกง ใช้อุปกรณ์ติดตามตัวใส่ที่ข้อมือ ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบติดตามอาการของคนเหล่านี้

4. มาตรการทดสอบและติดตามอย่าปล่อยให้หละหลวมเป็นอันขาด เพราะเรื่องนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เกาหลีใต้นั้น มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการทดสอบเชื้อโควิดได้วันละ 1 หมื่นคน ใช้เทคโนโลยีจีพีเอสและแอพพลิเคชั่นเพื่อติดตามผู้ป่วย หากพบมีการแพร่ระบาดสามารถล็อกดาวน์พื้นที่นั้นๆ ได้ทันที

5. การทดสอบหาผู้ติดเชื้อ ให้ทำซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้ง เพราะผู้ติดเชื้อบางคนนั้นไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อเนื่องจากไม่เคยแสดงอาการออกมา แต่เชื้อกลับแพร่ระบาดแล้วกรณีนี้เกิดขึ้นที่สิงคโปร์

6. ภาคสาธารณสุขต้องปรับตัวได้ทันท่วงทีเพื่อรองรับการแพร่ระบาดระลอกใหม่ กรณีตัวอย่างจีนสามารถสร้างโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยได้ 1 พันเตียงภายใน 8 วัน เป็นแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุขที่โลกได้เรียนรู้

7. มาตรการรับมือ “โควิด” ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนทั้งการควบคุมกักตัวผู้ป่วย วิธีการทดสอบ หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม ทางกายภาพ หลายๆ ประเทศใช้มาตรการเหล่านี้มาแล้ว แต่ยังคงมีความเสี่ยงจนกว่าจะมีวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนจึงจะหยุดการแพร่ระบาด

ทั้งหมดนี้เป็นบทเรียนที่สรุปจากประสบการณ์ของชาวโลกในการรับมือกับโควิด-19

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่