เกษียร เตชะพีระ | “การเมืองเรื่องมรณสักขี”

เกษียร เตชะพีระ

ใน การิทัตผจญภัย : นิยายปรัชญาการเมือง (The Curious Enlightenment of Professor Caritat : A Comedy of Ideas, 1995 ฉบับแปลไทย พ.ศ.2541) ของ สตีเว่น ลุกส์ ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีการเมืองและสังคมแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก

เขาเปิดฉากบทที่ 6 ว่าด้วยการเผชิญหน้าในคุกระหว่างศาสตราจารย์นิโคลาส การิทัต พระเอกผู้เป็นตัวแทนปรัชญายุครู้แจ้งและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือทรรศนะมองโลกในแง่ดี (the philosophy of the Enlightenment & optimism) แล้วถูกทหารบังคับ “อุ้มหาย” มาคุมขังไว้เพื่อปรับทัศนคติ กับบาทหลวงผู้เป็นตัวแทนความคิดมองโลกในแง่ร้าย (pessimism) ที่ปกป้องให้ความชอบธรรมแก่ระบอบเผด็จการทหารแห่งเสนานคร (Militaria) ดังนี้ :-

หลังอาหารเช้าวันถัดมา เสียงเคาะประตูห้องขังก็ดังขึ้นอย่างไม่คาดหมาย

“เข้ามาได้!” เขา (การิทัต) ร้องบอกเสียงดังราวกับต้อนรับแขกที่ห้องทำงานของเขาในมหาวิทยาลัยยังไงยังงั้น

ประตูโลหะเปิดออกช้าๆ และไอ้หัวกระสุน (ผู้คุม) ก็เดินนำผู้มาเยี่ยมคนหนึ่งเข้ามาด้วยอาการเคารพนอบน้อมอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน จากนั้นมันก็เอาถังเมล์ (กระโถน) ออกไปเท ทว่า โชคร้ายสักหน่อยที่กลิ่นอึยังตลบอบอวลอยู่ในห้องขัง มันปิดประตูแล้วก็จากไป

ผู้มาเยี่ยมเป็นบาทหลวงใส่ชุดนักบวชสีดำถือหมวกในมือ รูปร่างสูง หนุ่มแน่นและมารยาทดี ดวงตาสีฟ้าใสที่เบิ่งจ้องมองมาอย่างจริงจังไม่กะพริบเยี่ยงศรัทธาธิกะเป็นจุดโดดเด่นสะดุดตาบนใบหน้าไว้เคราซูบยาวเศร้าหมองของเขา

“ฉันหวังว่าเธอคงอนุญาตให้ฉันเยี่ยมเธอนะ ศาสตราจารย์การิทัต” บาทหลวงกล่าวด้วยเสียงทุ้มเบา “ฉันรู้ว่าเธอไม่ได้มีไมตรีจิตอะไรเป็นพิเศษกับศาสนาหรือปรัชญาศาสนา แต่ฉันคิดว่าถ้าเราได้สนทนากันก็คงจะเป็นประโยชน์บ้าง”

เป็นประโยชน์ต่อใครล่ะ? นิโคลาสสงสัย บาทหลวงพูดถูกที่ว่าเขาเป็นคนฟังเทศน์ฟังธรรมไม่เข้าหู ที่ซ้ำร้ายก็คือเป็นเวลานานมาแล้วที่ศาสนจักรในเสนานครได้ใช้พลังและคำสอนของตนมาให้การสนับสนุนคณะทหารผู้ยึดอำนาจชุดต่างๆ แบบกำกวมอย่างโจ๋งครึ่ม จะมียกเว้นบ้างก็น้อยครั้งเต็มที…

ฉากนิยายสั้นๆ ข้างต้นมีข้อผิดปกติน่าสังเกตอยู่ 2 จุดคือ :

1) ทั้งที่อยู่ในคุก ทำไมบาทหลวงจึงต้อง “เคาะประตูห้องขัง” ราวกับขออนุญาตเข้าพบการิทัตซึ่งเป็นแค่ผู้ต้องขังที่ถูกอุ้มหายมาคนหนึ่งด้วยเล่า ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่ว่าผู้คุมหรือใครก็ถือวิสาสะเปิดประตูพรวดเข้ามาในห้องขังของการิทัตโดยไม่เคยเคาะประตูเลย?

และที่พิลึกกว่านั้นคือการิทัตก็ดันร้องตอบการเคาะประตูห้องขังเสียงดังด้วยว่า “เข้ามาได้!”…ราวกับต้อนรับแขกที่ห้องทำงานของเขาในมหาวิทยาลัยยังไงยังงั้น…?

2) ข้อสังเกตแรกข้างต้นถูกตอกย้ำอีกทีอย่างชัดเจนเมื่อบาทหลวงเอ่ยปากทักว่า :

“ฉันหวังว่าเธอคงอนุญาตให้ฉันเยี่ยมเธอนะ ศาสตราจารย์การิทัต”

เราอาจไม่คิดอะไรมากและตีความว่าการขออนุญาตเข้าเยี่ยมพบเพื่อปรับทัศนคตินี้เป็นแค่เรื่องของการแสดงมารยาทผิวเผินที่ออกจะผิดกาลเทศะก็ได้ แต่การที่มันถูกแสดงออกเน้นย้ำ 2-3 ครั้งต่อกันก็ชวนให้คิดไปได้เหมือนกันว่าผู้เขียนอาจอยากบอกนัยบางอย่างที่ไกลและลึกไปกว่านั้น กล่าวคือ…

การปรับทัศนคติหรือต่อสู้ทางความคิด (ซึ่งบาทหลวงตั้งใจมาทำกับการิทัตนั้น) จำเป็นต้องมีพื้นที่เสรีภาพและความสมัครใจรองรับอยู่บ้าง ไม่ว่ามันจะเป็นพื้นที่เสรีภาพและความสมัครใจที่จำกัดจำเขี่ยหรือเสกสรรปั้นแต่งขึ้นเพียงใดก็ตาม

เพราะมิฉะนั้นแล้ว หากเป็นเรื่องของการบังคับด้วยกำลังให้คิดให้เชื่อตามล้วนๆ ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้มาก็จะไม่ใช่การเปลี่ยนความคิดความเชื่อที่แท้จริงของเจ้าตัวเลย หากเป็นแค่การเสแสร้งสยบยอมคิดตามเชื่อตามด้วยความกลัวอย่างไม่มีทางเลือกเท่านั้น

นิยายฉากนี้จึงดูเหมือนจะสอนให้รู้ว่าถ้าจะต่อสู้กันทางความคิดเพื่อให้คนเปลี่ยนความคิดแล้ว ก็ต้องให้เสรีภาพในการคิดการเชื่อบ้างไม่มากก็น้อย มิฉะนั้นมันก็จะเป็นแค่การบังคับให้ (ผู้คนทำทีแกล้งยอม) คิดตาม ซึ่งไม่มีความหมายอันใดเลย

ทว่า ข้อที่น่าประหลาดและอเนจอนาถใจในโลกจริงของเราปัจจุบันก็คือ การใช้กำลังบังคับให้เปลี่ยนความคิดความเชื่อตามกลับทำกันแพร่หลายยิ่ง ไม่เว้นแม้แต่ความคิดความเชื่อทางศาสนา

ยิ่งไปกว่านั้น ยังตามไปใช้กำลังบังคับเคี่ยวเข็ญข่มเหงขืนใจกระทั่งทำร้ายฆ่าฟันกันเพื่อให้คิดตามเชื่อตามถึงสถานศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาอย่างในวัดโบสถ์สุเหร่าโดยไม่ละเว้น

ซึ่งสุดท้ายแทนที่จะเปลี่ยนความคิดความเชื่อของศาสนิกคนใดได้ มันดันส่งผลกลับตาลปัตรตรงกันข้าม (blowback) ดังที่ศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักรัฐศาสตร์ไทยมุสลิมแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองเรื่องความไม่รุนแรงและศิษย์เอกสำนักรัฐศาสตร์ไม่ฆ่า (the politics of nonviolence – nonkilling global political science) ของศาสตราจารย์ Glenn D. Paige แห่งมหาวิทยาลัยฮาวายผู้เพิ่งล่วงลับไป – ได้บรรยายวิเคราะห์ไว้ว่า (“Violence against sacred spaces; a rising global threat”, Bangkok Post, 15 Aug. 2012) :

ทุกวันนี้มีแนวโน้มการใช้ความรุนแรงต่อสถานศักดิ์สิทธิ์และบุคลากรทางศาสนาแพร่หลายขึ้นทั่วโลก

ดังสถิติของเหตุรุนแรงทำนองนี้แสดงว่ามันเพิ่มจาก 49 กรณีในปี พ.ศ.2552 ไปเป็น 55 กรณีในปี พ.ศ.2553 โดยในจำนวนเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 104 กรณีนี้ มีผู้เสียชีวิต 1,730 คน และบาดเจ็บ 3,671 คน

ข้อมูลบ่งชี้ว่าเหตุรุนแรงต่อสถานศักดิ์สิทธิ์และบุคลากรทางศาสนาดังกล่าวอาจเกิดที่ไหนก็ได้ เป้าการโจมตีอาจสังกัดศาสนาหรือระบบความเชื่อใดก็ได้เหมือนกัน ผู้ก่อเหตรุนแรงอาจวางแผนจัดตั้งกันมาหรือไม่ก็ลงมืออย่างเป็นไปเอง อีกทั้งเหตุรุนแรงที่ว่าอาจเป็นแบบยั่วยุหาเรื่องหรือตอบโต้เอาคืนก็มี กล่าวคือ บรรดาศาสนิกผู้ประสบเหตุสถานศาสนาของตนถูกโจมตี จึงพากันตอบโต้ด้วยความโกรธแค้น และบางทีก็ถึงขั้นลุกฮือขึ้นก่อเหตุรุนแรงล้างแค้นเอาคืนบ้าง เป็นต้น

สำหรับเงื่อนไขที่ทำให้เหตุรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นได้ อาจารย์ชัยวัฒน์วินิจฉัยว่า ได้แก่ :

1) ความไม่แน่นอนชัดเจนของเส้นแบ่งทางวัฒนธรรมที่จำแนกแยกแยะสถานศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาออกจากสถานที่ทางโลกย์ธรรมดา

2) พึงเข้าใจว่าเหตุรุนแรงทำนองนี้มิใช่เป็นการกระทำต่อปัจเจกบุคคลผู้ตกเป็นเหยื่อโดดๆ เท่านั้น หากเป็นการกระทำต่อชุมชนศาสนิกทั้งชุมชนเลยทีเดียว

3) เป้าตกกระทบที่ได้รับความเจ็บปวดรวดร้าวจากเหตุรุนแรงดังกล่าวมิใช่แค่ร่างกายหรือองค์ภาวะกายภาพจับต้องได้ใดๆ หากคือตัวตนหรืออัตตานามธรรม (the self) และบางทีก็เป็นตัวตนหรืออัตตารวมหมู่ด้วย (the collective self เช่น ความเป็นศาสนิกแห่งศาสนานั้นๆ อาทิ ความเป็นชาวพุทธ, ความเป็นมุสลิม, ความเป็นคริสเตียน เป็นต้น)

ด้วยผลกระทบต่อเนื่องทางจิตวิทยา-วัฒนธรรมที่กว้างไกลและอาจนำไปสู่เหตุรุนแรงต่อเนื่องลุกลามไม่สิ้นสุดยุติดังที่แจกแจงมา อาจารย์ชัยวัฒน์จึงทดลองเสนอวิธีแก้ไขป้องกันเหตุรุนแรงประเภทนี้ไว้ว่า

ศาสนิกชนและองค์กรศาสนาที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาช่วยกันยกร่างประมวลบทบัญญัติทางวัฒนธรรมขึ้นมาที่กำหนดให้การใช้ความรุนแรงต่อสถานศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาเป็นเรื่องที่มิอาจยอมรับได้อย่างเป็นทางการในระดับสากล (internationally and formally unacceptable)

อาศัยข้อคิดวิเคราะห์ข้างต้น ประกอบกับการเสียชีวิตของคุณลุงอนวัช ธนเจริญณัฐ และอาสาพยาบาล น.ส.พัฒนา เชียงแรง ในระหว่างเหตุขัดแย้งเผชิญหน้าที่วัดพระธรรมกายเมื่อเร็วๆ นี้ ผมคิดว่าเราอาจสรุปได้ว่า :

วิธีการที่ไม่ได้ความที่สุดในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนคือการบังคับปราบปราม เพราะการบังคับปราบปรามจะไม่ทำให้คนที่เชื่ออยู่แล้วเปลี่ยนความเชื่อหรือเชื่อน้อยลง

ตรงกันข้าม มันจะส่งผลย้อนกลับ ทำให้เชื่ออย่างปักใจลึกและมุ่งมั่นยิ่งขึ้นกว่าเดิม

วิธีการที่น่าจะได้ผลที่สุดในการเปลี่ยนแปลงความเชื่อของคนคือเปิดพื้นที่เสรีภาพ ให้ต่อสู้โต้แยังกันทางความคิด เพื่อให้ผู้คนได้ตรวจสอบท้าทายและตั้งข้อสงสัยต่อความเชื่อเดิมของตนเองเสีย

โดยหว่านเพาะเมล็ดเชื้อพันธุ์แห่งความสงสัย ด้วยหลักฐาน เหตุผลโต้แย้ง ผ่านการสานเสวนา ลงในความคิดจิตใจ เพื่อให้มันค่อยๆ งอกงามลุกลามจนเซาะกร่อนบ่อนเบียนความเชื่อเดิมให้ค่อยคลอนคลายลงหรือเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับโดยสมัครใจ

แต่การบังคับปราบปรามไม่ทำให้ใครสงสัย ตรงกันข้าม มันยิ่งทำให้แน่ใจ และยกระดับเป็นศรัทธาต่อเหยื่อความรุนแรงผู้กลายเป็นมรณสักขี (martyr ผู้ยอมสละชีวิตของตนเป็นสักขีพยานยืนยันความเชื่อนั้นๆ) ที่การบังคับปราบปรามสร้างขึ้นมา

ในอดีตกาลไกลโพ้น แม้แต่จักรวรรดิโรมันอันเกรียงไกรก็ยังมิอาจหยุดคริสต์ศาสนาได้ด้วยการปราบปราม จับชาวคริสเตียนมาตรึงกางเขน จุดไฟเผาทั้งเป็น ยื่นดาบให้สู้กันเองจนตายคาสนามประลอง โยนให้สัตว์ป่าดุร้ายขย้ำกิน ฯลฯ ก็เพราะเหตุนี้

อำนาจที่ฉลาดเปลี่ยนมรณสักขี (martyrs) ให้กลายเป็นผู้อยู่รอด (survivors) ส่วนอำนาจที่โง่เขลาอับจนหนทาง เปลี่ยนผู้อยู่รอดให้กลายเป็นมรณสักขี…แล้วสังคมไทยควรจะเลือกใช้อำนาจแบบไหนเล่า?