“แด่นักสู้ผู้จากไป” ความทรงจำแด่การจากไปของนักสู้ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในหลายศตวรรษที่ผ่านมา เหล่าผู้ที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันในสังคมต่างต้องเผชิญหน้ากับการตอบโต้อันรุนแรงจากผู้มีอำนาจมาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ของชาติเรา

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เหล่าผู้คนที่ต่อสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต่างต้องพานพบกับความรุนแรงมาโดยตลอด

หลายครั้งจบลงด้วยการถูกจับกุมคุมขัง บาดเจ็บ หรือแม้กระทั่งถึงแก่ความตาย

ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่เปิดโปงการทุจริตคอร์รัปชั่น

การเรียกร้องสิทธิความชอบธรรมในพื้นที่ทำกิน

หรือปกป้องสิ่งแวดล้อมจากการตัดไม้ทำลายป่าและการถือครองที่ดินอย่างผิดกฎหมาย ไปจนถึงการคัดค้านโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อชุมชนต่างๆ

มีการเก็บข้อมูลอย่างจริงจังเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อผู้นำชุมชนในชนบทระหว่างปี พ.ศ.2516-2519 มีผู้นำของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่เกือบ 50 คน ได้รับบาดเจ็บหรือถูกฆ่า

นายสวัสดิ์ ตาถาวรรณ รองประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ จ.เชียงใหม่ ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมพ.ศ.2518  เขาเป็นผู้นําคัดค้านการทุจริตของข้าราชการ และเจ้าของที่ดินโดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย

เมื่อไม่นานมานี้ องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง Protection International ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับคดีวิสามัญฆาตกรรมและการถูกอุ้มหายกว่า 70 รายในประเทศไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยทั้งหมดเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชาย

เรื่องราวเหล่านี้ถูกนำเสนอและตีแผ่สู่สายตาของผู้ชมในนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า

“แด่นักสู้ผู้จากไป (และผู้ที่ยังต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่ต่อไป)” หรือ “For Those Who Died Trying (And Those Who Endure)”

โดย ลุค ดักเกิลบีย์ (Luke Duggleby) ศิลปินภาพถ่ายอิสระมือรางวัล ผู้อาศัยและทำงานเป็นช่างภาพอาชีพในประเทศไทยมากว่า 15 ปี เขาเดินทางไปทั่วประเทศไทยเพื่อทำงานภาพถ่ายเชิงสารคดีและภาพถ่ายบุคคล ที่มุ่งเน้นในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

ดักเกิลบีย์อุทิศผลงานในนิทรรศการนี้ให้แก่เหล่าบรรดาผู้คนที่เสียชีวิตในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในประเทศไทย ด้วยการสืบค้นประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1973

เขาออกตามหาครอบครัวและเพื่อนๆ ของเหล่าผู้ถูกฆาตกรรมหรือหายสาบสูญทั่วประเทศไทย

และนำภาพถ่ายของพวกเขาเหล่านั้นมายังสถานที่เกิดเหตุ เพื่อถ่ายภาพอีกครั้งหนึ่ง และทำการบันทึกความทรงจำของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวน 58 คน เอาไว้ในภาพถ่ายแต่ละภาพ

“สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้เสียชีวิตและครอบครัวของพวกเขาก็คือ ความตายของพวกเขาและเธอไม่ควรถูกหลงลืมและละเลยให้ผ่านไป ส่วนผู้ที่ใช้อำนาจอย่างมิชอบต้องไม่ลอยนวลพ้นผิดและควรได้รับการลงโทษ ท้ายที่สุด ความยุติธรรมคือจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดการสังหารและทำร้ายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้

และเราเองก็ต้องตระหนักว่ามีอีกหลายคนที่ยังคงมีชีวิตอยู่และต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง การทำงานของพวกเขาและเธอสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมในการต่อสู้ของชุมชนเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหญิง ผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งและมักจะถูกเพิกเฉย ดังจะเห็นได้จากรูปถ่ายบุคคลจำนวนมาก รวมถึงสารคดีเกี่ยวกับชุมชนที่เกิดเหตุต่างๆ จากทั่วประเทศ”

นิทรรศการ แด่นักสู้ผู้จากไป (และผู้ที่ยังต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่ต่อไป) For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) สร้างสรรค์โดย ลุค ดักเกิลบีย์ ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนไม่แสวงหาผลกำไร โปรเท็กชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International) ที่ไม่เพียงให้การสนับสนุนด้านการขนส่งผลงาน แต่ยังให้การสนับสนุนด้านข้อมูลสำคัญ

รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในแต่ละคดีทั้งเก่าและใหม่อีกด้วย

ดักเกิลบีย์กล่าวถึงแรงบันดาลใจเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจทำงานเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยว่า

“ตอนผมมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก ผมยังเป็นวัยรุ่น ความไร้เดียงสาทำให้ผมไม่รู้ว่ามีปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นที่นี่ เพราะโดยเปลือกนอก ประเทศไทยดูเหมือนจะเป็นดินแดนแห่งความเปี่ยมสุขในอุดมคติ ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ถูกโปรโมตอย่างหนักหน่วงยาวนานโดยภาครัฐ

แต่เมื่อคุณขุดลึกลงไปใต้เปลือกนั้น คุณจะตระหนักได้ว่า สิ่งที่คุณพบทั้งหมดอาจไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น และความจริงเป็นสิ่งที่แตกต่างไปอย่างมาก

เมื่อคุณขุดลึกลงไปเรื่อยๆ คุณจะพบว่าสังคมนี้มีความขัดแย้ง ความไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรมมากมายขนาดไหน

สิ่งที่ทำให้ผมสนใจทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้คือการที่ผมได้รู้จักกับคุณจินตนา แก้วขาว นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งตำบลบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เป็นแกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รณรงค์คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในชุมชนมากว่า 20 ปีได้สำเร็จ

ตอนนั้นผมต้องไปถ่ายภาพเธอเพื่อลงประกอบบทความชิ้นหนึ่ง ผมจึงเดินทางไปยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของเธอ จึงเริ่มค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นความไม่เป็นธรรมในชุมชนต่างๆ ไม่นานหลังจากนั้น ผมก็เริ่มทำงานที่มุ่งเน้นในการนำเสนอเกี่ยวกับประเด็นการต่อสู้และชีวิตของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วประเทศไทย

หลังจากที่ผมพบว่ามีผู้คนมากมายถูกฆ่าจากการปกป้องชุมชนสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของพวกเขา ผมรู้สึกช็อกมาก และตัดสินใจที่จะแสดงเรื่องราวนี้ให้สังคมได้รับรู้

ตัวผมมีครอบครัวเป็นคนไทย และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในประเทศไทยมานานหลายปี สำหรับผม ชุมชนในชนบทเป็นชุมชนที่ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยแก่นแท้ของความเป็นไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมหลงรักตั้งแต่ครั้งแรกที่มาถึงเมื่อหลายปีก่อน

นายสิงห์ทอง พุทธจันทร์ ถูกยิงเสียชีวิต ที่ร้านค้าของตนเอง ที่ อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 8 กันยายนพ.ศ. 2554 เขาเป็นแกนนําต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลซึ่งจะก่อสร้างในพื้นที่

ผมรู้สึกว่าการทำงานในประเด็นเหล่านี้ ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอเรื่องราวของชุมชนในชนบทอันห่างไกลเป็นหลัก คือการตอบแทนสิ่งที่ชุมชนเหล่านี้มอบให้กับผมมานานหลายปี

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเกิดขึ้นมาเป็นเวลายาวนาน มีหลักฐานชัดเจนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนที่ยังคงส่งผลกระทบถึงผู้คนในทุกวันนี้

สำหรับผม มันเป็นอะไรที่น่าเศร้ามาก และทำให้คุณสงสัยเหลือเกินว่า สิ่งเหล่านี้จะมีวันเปลี่ยนแปลงได้ไหม จนกระทั่งผมได้พบกับผู้คนที่มุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น งานของพวกเขาส่งแรงบันดาลใจและสร้างความหวังให้กับคุณได้”

ดักเกิลบีย์กล่าวถึงเหตุผลที่เขาเลือกใช้วิธีการหยิบเอาภาพวาดของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนผู้ถูกสังหารมาวางไว้ในที่เกิดเหตุเพื่อถ่ายรูปว่า

“ผมคิดแค่ว่า การถ่ายภาพรูปถ่ายของผู้เสียชีวิตในบ้านของครอบครัวของพวกเขานั้นเป็นอะไรที่ง่ายเกินไป และการเดินทางไปเยี่ยมเยือนสถานที่เกิดเหตุและถ่ายภาพรูปถ่ายของพวกเขาในสถานที่แห่งนั้นน่าจะเป็นการสร้างงานที่ทรงพลังมากกว่ากันเยอะ

นายชัยภูมิ ป่าแสหรือ“จะอุ”นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่วัย 17 ปีถูกเจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรมจนเสียชีวิต ที่ด่านบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 17 มีนาคมพ.ศ. 2560 กรณีของชัยภูมิมีข้อกังขาในพฤติการณ์การตายปากคําพยาน และแวดล้อมที่ไม่ตรงกันโดยเฉพาะหลักฐานสาคัญ คือภาพกล้องวงจรปิดตรงด่านที่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ

ผมต้องการที่จะแสดงให้เห็นถึงสถานที่สุดท้ายที่พวกเขายังมีชีวิตอยู่ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานที่สังหารเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ทุกแห่งหน บางครั้งเกิดขึ้นในสวนยางพาราหรือป่าไม้ห่างไกลผู้คน บางครั้งเกิดขึ้นที่บ้านของผู้ถูกฆ่า หรือบางครั้งก็เกิดขึ้นบนถนนในเมืองที่มีคนพลุกพล่าน หรือในหมู่บ้านอันเงียบสงัด

สถานที่เกิดเหตุเหล่านี้ไม่มีรูปแบบตายตัวมากไปกว่าเป็นสถานที่ที่ฆาตกรสามารถพบผู้เสียชีวิตและฆ่าพวกเขาได้อย่างสะดวกง่ายดาย การได้ดูภาพของผู้เสียชีวิตในสถานที่เกิดเหตุ ดึงให้ผู้ชมต้องหวนกลับไประลึกถึงช่วงเวลาอันโหดร้ายเหล่านั้นอีกครั้ง”

สําหรับคำถามที่ว่า เขาคิดว่าผลงานของเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลต่อสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศนี้บ้างไหม ดักเกิลบีย์ทิ้งท้ายว่า

“ในเวลาหลายปีที่ผมทำงานในหัวข้อนี้ ผมได้พานพบผู้คนหลายคนจากทุกเชื้อชาติและชนชั้น ผู้ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและมุ่งมั่นที่จะได้เห็นความเท่าเทียมและความยุติธรรมในสังคม ไม่ว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนเหล่านั้นจะเป็นชาวบ้าน, ทนาย, อาจารย์, สื่อมวลชน, ประชาชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือใครก็ตาม พวกเขาต่างมีบทบาทเล็กๆ ในบางสิ่งที่พวกเขาทำร่วมกัน งานของผมเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆ ของการเคลื่อนไหวอันยิ่งใหญ่กว่าโดยผู้คนที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิ่งเดียวกันเหล่านั้น ถ้าหากมีใครแค่เพียงสักคนได้เห็นงานของผมแล้วเปลี่ยนความคิด หรือได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ผมก็คงพูดได้ว่าผลงานของผมสามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในความพยายามร่วมกันนี้ได้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี”

ดังคำกล่าวของใครบางคนที่ว่า “การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน รวมถึงเสรีภาพและความเท่าเทียมในสังคม ไม่ใช่การวิ่งร้อยเมตร แต่เป็นการวิ่งมาราธอน” เราเห็นด้วยกับประโยคนี้ แต่ขอเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่าน่าจะเป็น การวิ่งผลัดมาราธอนด้วย เพราะผู้คนที่ต่อสู้เหล่านี้อาจมีชีวิตอยู่ไม่ทันเห็นความสำเร็จของตัวเองด้วยซ้ำไป

นายสิทธิโชค ธรรมเดชะ สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถูกยิงเสียชีวิตที่บ้านเมื่อ พ.ศ. 2540 เขาเป็นผู้ต่อต้านการสร้างเขื่อนแก่งกรุง การทำสัมปทานในพื้นที่ป่าไม้ของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จนประสบความสำเร็จ อีกทั้งได้ทำการต่อต้านการทุจริตขุดคลองและการสร้างถนนจนกระทั่งถูกยิงเสียชีวิต

สิ่งสำคัญก็คือ เราควรตระหนักรู้ว่าพวกเขาตายเพราะต่อสู้เรียกร้องสิ่งใด และท้ายที่สุด เราต้องไม่ลืมพวกเขาและเธอ รวมถึงการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเหล่านั้น

นิทรรศการ แด่นักสู้ผู้จากไป (และผู้ที่ยังต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนอยู่ต่อไป) For Those Who Died Trying (And Those Who Endure) โดยลุค ดักเกิลบีย์ และคิวเรเตอร์ กิตติมา จารีประสิทธิ์ สามารถชมได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม จังหวัดเชียงใหม่

ค่าเข้าชม 150 บาท เวลาเปิดทำการ 10.00-18.00 น. (ปิดวันอังคาร) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Page facebook MAIIAM Contemporary Art Museum หรือเว็บไซต์ www.maiiam.com

หรือสามารถชมนิทรรศการออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปทางลิงก์ http://www.maiiam.com/forthosewhodiedtrying/ โดยไม่เสียค่าเข้าชม และไม่มีกำหนดสิ้นสุดระยะจัดแสดง

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน, กิตติมา จารีประสิทธิ์ และพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่