ต่างประเทศ : ประวัติศาสตร์ความรุนแรง ของตำรวจสหรัฐกับคนผิวสี

การเสียชีวิตอย่างน่าสลดใจของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวสีไร้อาวุธด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากจะส่งผลให้เกิดการประท้วงต่อต้านความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคนผิวสีลุกลามไปทั่วประเทศแล้ว

ยังกระตุ้นให้ประเด็นการเหยียดผิวในสหรัฐกลับมาเป็นที่พูดถึงกันอีกครั้งหนึ่ง

คลิปวิดีโอที่ฟลอยด์ถูกใส่กุญแจมือโดนเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เข่ากดที่ท้ายทอยคว่ำหน้าลงกับพื้นเป็นเวลาเกือบ 9 นาที พร้อมๆ กับเสียงร้องของฟลอยด์ว่า “ผมหายใจไม่ออก” ก่อนจะแน่นิ่งไป เป็นสิ่งที่สร้างความสะเทือนใจไม่เฉพาะชาวอเมริกัน แต่ส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เหตุการณ์นี้กระตุ้นความไม่พอใจของคนผิวสีที่มักจะถูกกดเอาไว้ให้ปะทุออกมาอีกครั้ง

สิ่งที่น่าเศร้าใจมากที่สุดก็คือ การเสียชีวิตครั้งนี้เป็นเพียงอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์การใช้กำลังรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำต่อคนผิวสีซึ่งมีในสังคมอเมริกันมาอย่างยาวนาน

 

ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีของเอริก การ์เนอร์ ชายผิวสีที่เสียชีวิตจากการถูกล็อกคอของเจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กเมื่อปี 2014 เหตุการณ์ดังกล่าวไม่แตกต่างจากกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ เมื่อการ์เนอร์ร้องว่า “ผมหายใจไม่ออก” ถึง 11 ครั้งก่อนจะหมดสติและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ตามมาด้วยการเสียชีวิตของไมเคิล บราวน์ วัยรุ่นอเมริกันผิวสีวัยเพียง 18 ปี ถูกยิงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจผิวขาวในเมืองเฟอร์กูสัน รัฐมิสซูรี ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของกลุ่ม “แบล็กไลฟ์แมตเทอร์” ที่รวมตัวประท้วงครั้งใหญ่เรียกร้องสิทธิคนผิวสีบนถนนในเมืองเฟอร์กูสัน เมื่อปี 2014

นับตั้งแต่นั้นยังมีการเสียชีวิตของอีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็นทามีร์ ไรซ์, เฟรดดี้ เกรย์, แซนดร้า แบลนด์ และฟิแลนโด แคสเซิล

ทั้งหมดมีชะตากรรมเดียวกันกับ “รอดนีย์ คิง” ชายผิวสีที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 นายใช้กำลังรุนแรงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1992 ส่งผลให้คิงกะโหลกร้าว กระดูกและฟันแตก และสุดท้ายสมองได้รับความเสียหายอย่างถาวร

 

ชะตากรรมของคนผิวสีในหลายๆ เหตุการณ์แสดงให้เห็นว่าคนผิวสีมักตกเป็นเป้าของเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าคนผิวขาว และในแต่ละครั้งมักจะรุนแรง โหดเหี้ยม และมีความเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับคนผิวสีในชุมชนคนยากจนและชนชั้นแรงงาน

การจะทำความเข้าใจการเหยียดผิวอย่างเป็นระบบในหมู่เจ้าหน้าที่ตำรวจของสหรัฐอเมริกาต้องมองย้อนกลับไปถึงลำดับขั้นชนชั้นสีผิวในสหรัฐและเหตุผลของการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นตั้งแต่แรก

นั่นก็คือ “ระบบทาส”

สหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นจากการเข้ายึดครองพื้นที่ทวีปอเมริกาเหนือของนักขุดทองจากภูมิภาคยุโรป และมีพื้นฐานจากการแบ่งชนชั้นเหยียดสีผิวชาวอเมริกันพื้นถิ่นที่ถูกมองว่าเป็นพวกป่าเถื่อนไร้อารยธรรม

การแบ่งชนชั้นต่อชาวอเมริกันพื้นถิ่นยังคงมีต่อเนื่องยาวนานถึงปัจจุบัน

 

การเหยียดผิวชาวแอฟริกัน-อเมริกันเกิดขึ้นหลังจากนั้น ในช่วงศตวรรษที่ 17 เมื่อชาวแอฟริกันจำนวนมากถูกเคลื่อนย้ายจากบ้านเกิดในทวีปแอฟริกามาสู่อเมริกาในฐานะ “ทาสรับใช้” ที่ถูกมองเป็นเพียงสิ่งของ ไม่ใช่มนุษย์

สหรัฐอเมริกาถูกสร้างขึ้นด้วยวัฒนธรรมที่มองชาวแอฟริกันเป็น “ชนชั้นต่ำ” และแนวคิดนั้นถูกทำให้เป็นเรื่องที่มั่นคงมากขึ้นในหมู่คนอเมริกันทั่วประเทศ

แน่นอนว่าความรู้สึกนึกคิดลักษณะดังกล่าวยังคงอยู่ในสังคมอเมริกาแม้ว่าระบบทาสจะยุติลงแล้วก็ตาม โดยคนผิวสียังคงเป็นตัวแทนของภัยคุกคาม ความรุนแรง และความอันตรายในเวลานี้

ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้นในลักษณะของศาลเตี้ยเป็นการส่งสารแห่งความกลัวตรงไปยังชาวแอฟริกัน-อเมริกัน และเพื่อให้คนกลุ่มนี้อยู่ในที่ในทางที่ควรอยู่ และแสดงให้เห็นว่า แนวคิดการให้เสรีภาพทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมกับคนผิวสีนั้นจะไม่มีทางที่จะได้รับการยอมรับ

สิ่งเหล่านี้สะท้อนด้วยตัวเลขสถิติที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเรียกตรวจค้นคนผิวสีมักมีแนวโน้มที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรงมากกว่าการเรียกตรวจคนผิวขาวอย่างชัดเจน

จากสถิติแสดงให้เห็นชัดเจนว่าชาวอเมริกันผิวสีมีโอกาสเสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าคนผิวขาวถึง 3 เท่า และมีโอกาสที่จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารแม้จะไร้อาวุธมากกว่าคนผิวขาว 1.3 เท่า

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ปรากฏการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเกินกว่าเหตุกับคนผิวสีในสหรัฐก็คือ การให้สิทธิคุ้มครองเจ้าหน้าที่ตำรวจจากการใช้กำลังเกินกว่าเหตุระหว่างปฏิบัติหน้าที่ กรอบทางกฎหมายที่สร้างขึ้นโดยศาลสูงสหรัฐตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนที่ปกป้องเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการรับโทษจากการทำหน้าที่ เว้นแต่จะละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่าง “ชัดเจน”

นั่นเป็นเหตุผลให้การสังหารโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สัดส่วน 99 เปอร์เซ็นต์ที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2013-2019 ไม่มีตำรวจคนใดเลยที่ถูกดำเนินคดีอาญา ยิ่งกว่านั้นยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ควบคุมเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ให้ชักปืนออกมาในแต่ละสถานการณ์ได้

การติดอาวุธเจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มต้นขึ้นในนโยบายการทำสงครามยาเสพติดในทศวรรษที่ 80 เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บในการจับกุมผู้ต้องหาอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กฎหมายต่อต้านยาเสพติดปี 1986 ของสหรัฐอเมริกา

แต่แทนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในแหล่งระบาดของยาเสพติดอย่างในมหาวิทยาลัย

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับพุ่งเป้าไปที่ชุมชนคนผิวสีกลุ่มคนยากจนและชนชั้นแรงงาน

นับเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์ที่คนผิวสีในสหรัฐถูกกระทำแบบเลือกปฏิบัติ สิ่งที่นักประวัติศาสตร์ระบุว่าทำให้ชุมชนอเมริกันกลายเป็นดั่งสมรภูมิรบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ตามมาด้วยความคิดฝังหัวว่าอาชญากรรมมักอยู่คู่กับชุมชนคนผิวสีโดยเฉพาะ ย่านแออัดในเมืองที่คนไม่มีงานทำ คนพึ่งสวัสดิการสังคม เด็กๆ ต้องเข้าโรงเรียนของรัฐ

มุมมองแบบนี้ทำให้เกิดวัฏจักรที่นำไปสู่การแบ่งแยกในสังคมทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย การจ้างงาน การศึกษา เรื่อยไปจนถึงระบบสาธารณสุข ก่อเกิดชุมชนคนผิวสีที่ยากจนยิ่งขึ้น

นำไปสู่ความรุนแรงของตำรวจที่มากขึ้นตามไปด้วย

 

ปัญหาเหล่านี้หากจะแก้ไขที่ต้นเหตุคงต้องมองไปที่แนวคิดการแบ่งแยกสีผิวที่คงจะเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา

แต่สิ่งที่สามารถทำได้และมีผู้เสนอเอาไว้แล้วก็คือ การปฏิรูปตำรวจในระดับชาติ

สร้างมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่แบบใหม่ให้เกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

รวมไปถึงการปฏิรูปกฎหมายบางฉบับที่อาจล้าสมัยลงแล้วในเวลานี้

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่