สมชัย ศรีสุทธิยากร | กรณีหน้ากากอนามัย ภาพสะท้อนความล้มเหลวรัฐราชการ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

จนถึงวันนี้ มีใครบ้างที่หาซื้อหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Mask) ได้ในราคา 2.50 บาท

ประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ฉบับที่ 1 (4 กุมภาพันธ์ 2563) ให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ฉบับที่ 2 (4 กุมภาพันธ์ 2563) ห้ามส่งออกเกิน 500 ชิ้น ตามด้วยฉบับที่ 8 (20 กุมภาพันธ์ 2563) ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยทุกประเภท เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการค้าภายใน ภายใต้ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการที่ กกร.แต่งตั้ง และฉบับที่ 10 (5 มีนาคม 2563) ห้ามจำหน่ายปลีกเกินกว่าราคา 2.50 บาท

จากนั้น ในวันที่ 2 เมษายน 2563 ก็มีประกาศของ กกร.ฉบับที่ 16 ห้ามส่งออกหน้ากากอนามัย เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากอธิบดีคนเดิม ภายใต้ข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการชุดใหม่ ที่เรียกว่าคณะอนุกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการพัสดุฯ

แต่จะปรับเปลี่ยนกลไกอย่างไร สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือประชาชนไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยในราคา 2.50 บาทได้

นอกจากนี้ ตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยที่ไปปรากฏในรายงานสถิติการส่งออกของกรมศุลกากร นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึงเดือนเมษายน 2563 ยังเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ โดยมียอดส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์รวม 3 เดือนสูงถึง 50 ตัน และหน้ากากอนามัยประเภทอื่นๆ สูงถึง 582 ตัน ทั้งๆ ที่มีประกาศการห้ามส่งออก

ในด้านราคาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ที่ราชการไปจัดหาโดยตรงให้แก่โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และให้กระทรวงมหาดไทยรับไปแจกจ่ายให้แก่บุคลากรที่มีความจำเป็น ก็กลายเป็นว่า รัฐต้องไปซื้อตรงจากโรงงานผู้ผลิตวันละ 2.3 ล้านชิ้น ในราคาชิ้นละ 4.28 บาท

กลายเป็นที่งงงวยในสายตาประชาชนว่า ห้ามเขาขายปลีกทีละชิ้นราคาเกิน 2.50 บาท แต่ตัวเองกลับไปซื้อแบบขายส่งที่ละ 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน ในราคาแพงกว่าเกือบเท่าตัว

ปัญหาการบริหารจัดการเรื่องหน้ากากอนามัยซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญในการป้องกันอันตรายจากโรคระบาดโควิด-19 จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการของนักการเมืองผู้บริหารและระบบราชการที่เป็นกลไกรองรับ

ยิ่งการบริหารราชการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาใช้ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้รับผิดชอบเต็มในการบัญชาสถานการณ์ การเสนอ การพิจารณา การตัดสินใจแทบทั้งหมดอยู่ภายใต้กลไกที่มีระบบราชการเป็นแกนหลัก

รัฐราชการจึงเป็นใหญ่ในสถานการณ์นี้ โดยปรากฏการณ์การบริหารจัดการหน้ากากอนามัยอาจเป็นภาพสะท้อนหนึ่งถึงความสำเร็จหรือล้มเหลวของรัฐราชการ

(Photo by Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP)

ใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาแบบรายวัน

หัวใจหลักของการบริหารแบบรัฐราชการ คือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา การประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ใช้อำนาจของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ส่วนการประกาศในรายละเอียดของมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมหน้ากากอนามัย ก็ใช้ประกาศจากมติ กกร.ได้เอง เช่น การกำหนดจำนวนที่ให้ส่งออก การกำหนดราคาขายปลีก การกำหนดให้มีการแจ้งสต๊อกสินค้าและวัตถุดิบต่างๆ

 

แต่กฎหมายมักตามมาหลังสถานการณ์เสมอ

กว่าจะประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เดือนมกราคมทั้งเดือน ตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์เพิ่มจาก 594 ก.ก.ในเดือนธันวาคม 2562 เป็น 5,993 ก.ก. หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า ในขณะที่หน้ากากอนามัยประเภทอื่น เพิ่มจาก 84 ตันในเดือนธันวาคม เป็น 186 ตันในเดือนมกราคม หรือเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า

ทั้งๆ ที่น่าจะสามารถคาดการณ์ได้ไม่ยากว่า ความต้องการในการใช้หน้ากากอนามัยภายในประเทศต้องพุ่งขึ้นสูง และควรยับยั้งการส่งออกได้แล้วเนื่องจากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2562

(Photo by Handout / ROYAL THAI GOVERNMENT / AFP)

นักการเมืองที่พูดตามราชการ

สิ่งที่เป็นรอยด่างติดตัวของรัฐมนตรีที่กำกับดูแลในเรื่องหน้ากากอนามัยคือ การที่พูดต่อประชาชนหลังจากการตรวจเยี่ยมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแห่งหนึ่งว่า มีสต๊อกสินค้าหน้ากากอนามัยถึง 200 ล้านชิ้นและมีกำลังการผลิต 100 ล้านชิ้นต่อเดือน

ซึ่งต่อมาเมื่อประชาชนไม่สามารถหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ ก็ออกมาแก้ข่าวว่า เป็นเรื่องของวัตถุดิบและมีกำลังผลิตเพียงแค่วันละ 1.2 ล้านชิ้น แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือจากประชาชนได้

การกล่าวถึงตัวเลขต่างๆ เป็นเรื่องที่นำเสนอจากฝ่ายราชการประจำ ดังนั้น หากไม่ใช่ตัวเลขที่ผิดพลาดก็อาจเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาดซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของการบริหารการจัดการวัสดุทางการแพทย์ในภาวะวิกฤต หากไม่รู้ตัวเลขที่เป็นจริง บริหารงานภายใต้ตัวเลขที่ผิดพลาด การเตรียมการต่างๆ ที่ตามมาจะกลายเป็นหายนะ

นักการเมืองที่ไม่รู้จริง เอาแต่ฟังรายงานจากราชการ ในขณะที่ราชการก็ไม่มีการเก็บตัวเลขที่เป็นจริงเพื่อการตัดสินใจที่ถูกต้องของนักการเมือง เหมือนจะรบ บอกว่ากระสุนพร้อม แต่จริงๆ ยังเป็นแค่วัตถุดิบ รบร้อยครั้งย่อมแพ้ร้อยครั้ง

(Photo by Madaree TOHLALA / AFP)

กลไกที่ขาดการประสาน

ระบบราชการเป็นเรื่องของหน่วยงานใครหน่วยงานมัน ไม่แทรกแซงก้าวก่าย ไม่แตะต้องซึ่งกันและกัน ดังนั้น เมื่อเป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอื่นย่อมไม่เกี่ยวข้อง เมื่อกรมศุลกากรแถลงข่าวเกี่ยวกับตัวเลขการส่งออกในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2563 ว่ามีถึง 330 ตัน ผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์จึงแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อข่าวที่เป็นผลเสียกลับมาถึงหน่วยงานตน

กระทรวงสาธารณสุขผู้เป็นผู้ใช้ปลายทางของหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ก็ประสานไม่สนิทกับกระทรวงพาณิชย์ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องออกมาโวยวายเรื่องหน้ากากไม่เพียงพอ

หรือแม้กระทั่งจำนวนหน่วยนับที่ไม่เคยลงตัว เพราะกระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ส่งออกเป็นจำนวนชิ้น แต่กรมศุลกากรมีหน่วยนับในการส่งออกเป็นกิโลกรัม ทำให้การตรวจสอบซึ่งกันและกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก

แม้ต่อมาภายหลังจะมีการตั้งอนุกรรมการบูรณาการการบริหารจัดการพัสดุเพื่อแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้วก็ตาม แต่รัฐราชการยังคงเส้นคงวากับการทำงานแบบแยกกรม เรื่องของกรมอื่นหากเสนอมาจะไม่มีการแตะต้องเพราะไม่อยากขัดแย้ง ตัวเลขการส่งออกหน้ากากอนามัยทุกประเภทในเดือนเมษายน 2563 เดือนเดียวจึงพุ่งพรวดเป็นถึง 326 ตัน

มากที่สุดในรอบ 5 เดือน นับแต่เริ่มมีโรคระบาดในเดือนธันวาคม 2562

ช่องว่างของการทุจริต

อํานาจของรัฐราชการที่ปราศจากการตรวจสอบโดยอ้างสถานการณ์ฉุกเฉิน เปิดช่องว่างให้เกิดการทุจริตได้โดยง่าย

เช่น การเร่งส่งออกของเอกชนในช่วงก่อนประกาศห้ามส่งออกอาจเกี่ยวข้องกับการได้รับข้อมูลภายใน

หรืออาจเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมือง

การอนุญาตให้มีการส่งออกจำนวนมากในช่วงห้ามการส่งออกอาจเกี่ยวข้องกับการเอื้อประโยชน์กับบางบริษัทโดยมีผลประโยชน์ตอบแทนแลกเปลี่ยน

การยอมให้ราชการซื้อหน้ากากอนามัยตรงจากโรงงานในราคา 4.28 บาท ทั้งๆ ที่ราคาควบคุมคือ 2.50 บาท อาจเป็นเรื่องของการเอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมีสิ่งตอบแทนคืนกลับยังผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ

การบริหารแบบรัฐราชการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มาพร้อมกับกระแสความหวาดกลัวเรื่องโรคระบาด ใครได้ใครเสียคงต้องตรวจสอบต่อไป แต่ที่แน่ๆ ประชาชนไม่เคยสัมผัสหน้ากากอนามัยราคาถูก