บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ / ‘รอยร้าว’ ใน ‘พปชร.’ สำคัญตรง ‘ตอนจบ’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

‘รอยร้าว’ ใน ‘พปชร.’

สำคัญตรง ‘ตอนจบ’

 

เป็นข่าวมาพักใหญ่สำหรับความระหองระแหงในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่แสดงออกถึงความต้องการให้มีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค จากนายอุตตม สาวนายน และเลขาธิการพรรค จากนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ไปเป็นคนอื่น โดยอ้างว่าทั้งสองคนนี้ไม่ดูแล ส.ส.ในพรรค ทำตัวห่างเหิน ขาดปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส. ไม่เข้าใจธรรมชาติการเมือง เพราะไม่เคยเล่นการเมือง

ว่ากันว่าจุดที่ไม่พอใจหนักคือช่วงที่ไวรัสโควิดระบาด และ ส.ส.ในพรรคต้องลงพื้นที่ดูแลประชาชน แต่ทั้งหัวหน้าพรรคและพ่อบ้านพรรค (นายสนธิรัตน์) กลับไม่เอาใจใส่ที่จะช่วยสนับสนุนหรือจัดหาปัจจัยให้กับ ส.ส.เพื่อนำไปดูแลประชาชน มีเพียงการช่วยเรื่องเจลแอลกอฮอล์ล้างมือจากนายสนธิรัตน์นิดหน่อย ที่ได้โควต้ามาจากกระทรวงพลังงาน ที่นายสนธิรัตน์นั่งเป็นเจ้ากระทรวงอยู่

อย่างไรก็ตาม มีการกล่าวหาว่านายสนธิรัตน์ดันไปติดสติ๊กเกอร์ชื่อตัวเองบนขวดเจลแอลกอฮอล์ที่นำมามอบให้กับ ส.ส.เพื่อนำไปแจกประชาชน

ทำให้ ส.ส.รู้สึกไม่พอใจจนนำไปสู่ฟางเส้นสุดท้าย จึงนำเรื่องไปฟ้อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรค

เรื่องการทำตัวเหินห่างและไม่ดูแล ส.ส.นี้ ว่ากันว่า พล.อ.ประวิตรได้เรียกทั้งนายอุตตมและนายสนธิรัตน์ไปคุยเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

อุตตม สาวนายน

 

การกดดันให้นายอุตตมและนายสนธิรัตน์ลาออกจากตำแหน่งในพรรค เกิดขึ้นเป็นระลอก โดยช่วงที่โควิดในไทยยังระบาดมาก มีคนติดเชื้อเยอะ และรัฐบาลก็ต้องยุ่งวุ่นวายอยู่กับการคุมโรค รวมทั้งเยียวยาประชาชน ก็มีข่าวโผล่ขึ้นมาว่า นายณัฏฐพล ทีปสุวรรรณ รมว.ศึกษาธิการ (จากสาย กปปส.) นำร่องลงชื่อลาออกจากกรรมการบริหารพรรคเพื่อเปิดทางให้มีการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ แต่ถูกสังคมตำหนิว่าไม่ใช่ช่วงที่จะมาเล่นเกมแย่งอำนาจกันในยามนี้ พร้อมกับข่าวที่ว่านายณัฏฐพลถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว้ากใส่มาแล้ว ฐานขยันหาเรื่องมาให้ปวดหัว

หลังจากนั้นไม่นาน นายอุตตมก็ปูดข่าวออกมาเองว่ามีคนในพรรคโทรศัพท์มาหาขอให้ตนลาออกจากหัวหน้าพรรคจริง พร้อมกับเกิดข่าวแพลมออกมาว่าก๊กนายอุตตมจะแยกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่ ซึ่งก็คล้ายการโยนระเบิดกลับไปใส่ฝ่ายตรงข้ามเพื่อหวังปราม

อย่างไรก็ตาม เมื่อนายอุตตมและนายสนธิรัตน์ไม่ยอมลาออก ในที่สุดวันที่ 1 มิถุนายน ก็มีกรรมการบริหารพรรค 18 คน เซ็นหนังสือลาออก อันมีผลให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน

เท่ากับว่ากรรมการบริหารชุดเดิมพ้นสภาพไปโดยปริยาย โดยรายชื่อ 18 คนที่ลาออกนั้น มาจากหลากหลายกลุ่ม สะท้อนว่าต้องการปลดชนวนขัดแย้งภายในพรรคลงด้วยการเลือกตั้งกรรมการบริหารและหัวหน้าพรรคคนใหม่ ที่ว่ากันว่าต้องการให้ พล.อ.ประวิตรขึ้นนั่งหัวหน้าพรรคแทน เพราะคือ “หัวจ่าย” ตัวจริง ที่คอยดูแล ส.ส.

การกดดันให้นายอุตตมพ้นหัวหน้าพรรค ในอีกทางหนึ่งถูกมองว่าเป็นการโค่นกลุ่มของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ถือว่าเป็นมือไม้ด้านเศรษฐกิจให้กับ พล.อ.ประยุทธ์มาตลอด เพราะ ส.ส.บางซีกในพรรคมองว่ากลุ่มนายอุตตมไม่มี ส.ส.ในมือสักคนเดียว แต่ชุบมือเปิบได้นั่งรัฐมนตรีหลายคน ขณะที่กลุ่มอื่นนำ ส.ส.เข้าสภาได้หลายคนกลับชวดโควต้ารัฐมนตรี

ขยายความให้ชัดเจนก็คือ กลุ่มนายอุตตมใจไม่ป๋า ไม่ดูแล ส.ส. ไม่จ่ายอะไร แต่ได้เป็นรัฐมนตรีหลายคน

 

ภายหลังเกิดเหตุการณ์กรรมการบริหาร 18 คนลาออก นายสมคิดได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงนี้ที่รัฐบาลต้องทุ่มพละกำลังแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของโควิด พร้อมกับถามสื่อมวลชนว่า “เบื่อมั้ย”

แน่นอนนัยยะของนายสมคิดต้องการกระแทกไปยังกลุ่มที่เคลื่อนไหว

ปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายที่กดดันกลุ่มของนายอุตตม ย่อมหวังผลไปถึงการปรับ ครม. เพื่อเปิดทางให้คนของตัวเองได้นั่งรัฐมนตรีบ้าง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ซึ่งไม่มีตำแหน่งอะไรในพรรค เป็นเพียงคนที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ออกมาพูดแล้วว่ายังไม่ถึงเวลาปรับ ครม. การจะปรับหรือไม่ปรับเป็นอำนาจการตัดสินใจของตัวเอง

หากตีความจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็น่าจะต้องการปรามพวกที่กดดันให้มีการปรับ ครม.

ตีความลึกเข้าไปอีก ก็น่าจะประมาณว่า พวกที่ต้องการอาศัย พล.อ.ประวิตรเป็นเครื่องมือมาบีบให้ตนปรับ ครม.ตามที่ต้องการนั้น อย่าหวังให้มากนัก เพราะการปรับ ครม.เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่พ้นที่จะถูกมองว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างพี่ใหญ่กับน้องรัก ระหว่าง พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ แต่เนื้อแท้จะขัดแย้งหรือไม่ ไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่หากดูปูมหลังก็ดูเหมือนว่าสองคนนี้มีความผูกพันกันมากในฐานะพี่น้องร่วมสถาบันทหาร ถึงอย่างไรก็ตัดกันไม่ได้ เห็นได้จากการปรับ ครม.หลายครั้งช่วงที่ยังเป็นรัฐบาล คสช. พล.อ.ประวิตรไม่เคยหลุดจากตำแหน่ง แม้ว่าจะมีหลายเรื่องที่ความคิดเห็นไม่ตรงกัน

ไม่มีใครรู้ว่าครั้งนี้ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ ได้คุยหรือตกลงอะไรกันไว้หรือไม่ ก่อนจะปรากฏข่าวการลาออกของกรรมการบริหาร 18 คน

หากคุยกันแล้ว และเป้าหมายเพียงแค่ต้องการเปลี่ยนหัวหน้าและเลขาธิการพรรคเพื่อให้ ส.ส.ในพรรคพอใจ ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร แต่หากขยับไปถึงขั้นปรับ ครม. โจทย์จะยากขึ้นไปอีกและเสี่ยงจะเสียภาพลักษณ์ได้ หากการปรับ ครม.นั้นเป็นไปเพื่อแบ่งปันตำแหน่งกันโดยไม่มีเรื่องความรู้ความสามารถและปูมประวัติที่เหมาะสมมาเกี่ยวข้อง

ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ หากอยากเป็นนายกรัฐมนตรีที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง (แม้จะถูกหาว่าเป็นเผด็จการผ่านการเลือกตั้ง) ก็น่าจะรู้ว่าต้องเลือกเดินทางใด ระหว่างยอมโอนอ่อนต่อสิ่งไม่ถูกต้อง เสี่ยงต่อความศรัทธาของประชาชน หรือว่าจะยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง โดยเฉพาะปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น

ความวุ่นวายแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐครั้งนี้ สำคัญจึงอยู่ที่ “ตอนจบ” ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเลือกตอนจบแบบไหน

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่