เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | คืนวันที่ผันผ่านไปกับนิภา บางยี่ขัน

เสพข่าวสารกับอ่านหนังสือ คือความสุขของการอยู่กับบ้านวันนี้

“คืนวันที่ผันผ่าน” เป็นหนังสือรวมบทกลอนหรือบทกวีของนิภา บางยี่ขัน เป็นอีกเล่มหนึ่งที่หยิบอ่านวันนี้

ใบไม้แห้งปลิดตัวทิ้งจากกิ่งพลิ้ว

เพียงหวิวหวิวเท่านั้นฉันผวา

เมื่อมันลอยลิบลับไปกับตา

ฉันฝันว่าใบไม้จะไหลทวน

นี่แหละนิภา บางยี่ขัน และนี่แหละบทกลอนที่ขึ้นถึงขั้นความเป็นบทกวี

ขอเป็น “ใบไม้ที่ไหลทวน” สักหน่อยนะนิภา

จําภาพหนึ่งซึ้งคำว่า “ชีวิต”

ตื้นใจศิษย์แสนจนจิตหม่นไหม้

มือจับช้อนระริกสั่นตันฤทัย

ตักลงในข้าวครึ่งห่อต่อจากครู

เพราะเคยเรียนด้วยกันกับครูคนนี้ที่โรงเรียนวัดพิชัยญาติเมื่อ พ.ศ.2500 ครูชื่อเริงศักดิ์ รูปร่างเหมือนที่นิภาบรรยาย คือ

จำร่างเพรียวเรียวผอมเพราะตรอมไข้

จำเสียงใหญ่ห้าวก้องทั่วห้องหมด

จำมือยาวขาวซีดขีดเขียนทด

จำซึ้งรสพจน์สรรบรรยาย

นิภาเคยเล่าให้ฟังว่า ครูเริงศักดิ์เคยแบ่งข้าวห่อมื้อกลางวันให้เธอกิน

ปีพ.ศ.2500 โน่นนะ พวกเราเพิ่งวัยสิบหกสิบเจ็ด เด็กเมืองกาญจน์บ้านเราใฝ่ฝันเข้ามหาวิทยาลัยหลังจากจบ ม.หก ซึ่งสูงสุดของมัธยมมีแค่นั้น จะเข้ามหาวิทยาลัยต้องจบ ม.7-8 หรือเตรียมอุดม ซึ่งเวลานั้นเตรียมอุดมศึกษาพญาไทวันนี้แหละที่เราใฝ่ฝันจะสอบเข้าเรียนให้ได้

ประสาเด็กบ้านนอกก็มุ่งมั่นไปสอบเข้าเตรียมอุดมฯ หลังจบหกทันที แน่นอนสอบตกไม่ผ่าน

พวกบ้านนอกอย่างเราที่ไม่ผ่านจึงรวมกลุ่มไปร้องเรียนที่กระทรวงศึกษาฯ ขอที่เรียน

แปลกดีกระทรวงใจดีให้ที่เรียนพวกเราโดยให้อักษรปักหน้าอกว่า ต.พ.3 คือเตรียมพิเศษสาม เพราะรองมาจาก ต.อ.1 คือเตรียมอุดมศึกษา และ ต.อ.2 เรียกว่าเตรียมอรชร คือเตรียมอุดมศึกษาเรียนข้างคลองอรชร ใกล้ ต.อ.1 นั้น

ต.พ.3 ต้องมาฝากเรียนที่โรงเรียนวัดพิชัยญาติ เรียนได้ปีเดียวขึ้น ม.8 ต้องไปฝากเรียนที่โรงเรียนทวีธาภิเศก จบแปดกันที่ทวีธาภิเศกนี่เอง

รุ่นเรา ต.พ.3 มีประวัติศาสตร์การต่อสู้สองปีเพียงเท่านี้ ไม่มี ต.พ.3 กันอีกเลย

นิภากับเรานี่แหละตะลอนเรียนกันมาอย่างนี้

พบกันอีกที่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ นิภาเข้าคณะสังคมศาสตร์ เรานิติศาสตร์

ธรรมศาสตร์นั้นสนุก คือไม่ต้องเรียนก็ได้ แต่ต้องสอบให้ผ่าน จำได้ว่าเขาให้อายุความการเรียนแปดปี เราเองใช้เวลาคุ้มค่า เรียนถึงเจ็ดปี ปีสุดท้ายติดอยู่วิชาเดียว เป็นวิชาของปีสอง คือกฎหมายล้มละลาย อาจารย์ผู้สอนคือ อ.ประมูล สุวรรณศร

เจ็ดปีในธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ.2502-2508 นั้น สนุกอยู่กับกิจกรรมสองอย่างคือ ได้ร่วมเป็นรุ่นแรกที่ก่อตั้งชุมนุมวรรณศิลป์กับชุมนุมดนตรีไทย

วรรณศิลป์นี่แหละที่ทำให้เรากับนิภาร่วมงานกลอนกันคึกคักเอาจริงเอาจัง ทั้งกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยและนอกรั้วมหาวิทยาลัย รวมทั้งร่วมทำหนังสือวรรณศิลป์ เล่มละ 1 บาท ขายที่ประตูท่าพระจันทร์

กิจกรรมของนิสิตนักศึกษายุคนี้ ที่เปรียบเปรยเป็นยุค “สายลมแสงแดด” ดูจะจริง ด้วยเป็นยุคกลอนรักเฟื่อง

นิภาเขียนกลอนไม่มาก แต่ละบทเหมือนจะกรีดหัวใจเขียน เช่นบทนี้

ถ้าโกรธแล้วสุขใจที่ได้โกรธ

เชิญเธอใช้ใจโหดลงโทษฉัน

ถ้าโกรธแล้วเธอก็ต้องหมองเช่นกัน

จะยืดวันโกรธไปทำไมนะ

หรือกลอนวันเกิดของเธอ นิภา บางยี่ขัน

รักวันเกิดที่เพิ่มวัยให้ชีวิต

เพิ่มความคิดเพิ่มปัญญาเพิ่มราศี

แต่เกลียดวันที่ผันแปรแต่ละปี

ลบไมตรีจากใจคนได้ลง

นี่แหละนิภา บางเบาแต่คมเฉียบ บาดฉับอย่างไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว อย่างอีกบทนี้

นกเขาเอยเคยขันกระชั้นแจ้ว

เราโตแล้วหาตักอุ่นหนุนไม่ได้

ครั้นพบคนพอจะคุ้นอบอุ่นใจ

เขาก็ไม่ไยดีเท่าที่ควร

หรือบทนี้

ฉันทุ่มเทหัวใจลงไปมาก

คงจะยากและนานกว่าฟันฝ่าได้

แต่เมื่อใจอีกหนึ่งดวงหมดห่วงใย

ไม่เป็นไรอย่างยิ่ง ฉันหยิ่งพอ

ถ้อยคำเหล่านี้คือเพชรพลอยที่เจียระไนมาจากความรู้สึกจริงใจของนิภา บางยี่ขัน ในยุคสมัยที่เราดื่มด่ำและดำดิ่งอยู่กับช่วงวัยของคนหนุ่มสาวยุคนั้น ก่อนจะเข้ายุคแสวงหา

ข้อดีคือเป็นยุคที่เราได้หยั่งรากลึกถึงความละเอียดอ่อนประณีตของจิตใจอันมีภาษาวรรณศิลป์เป็นสื่อ

สิ่งนี้เป็นพื้นฐานให้จิตวิญญาณได้งอกงามเติบโต และเติมเต็มให้กับความเป็นมนุษย์ที่แท้

เคยเขียนถึงความทรงจำสมัยนั้นผ่านดอกจำปีที่เคยบานสะพรั่งในรั้วโดม จำได้สองวรรคว่า

ช่อแฉล้มแย้มเหมือนเอื้อนวจี

ให้จำปีที่เราร่วมเนานาน


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่