เครื่องเคียงข้างจอ / วัชระ แวววุฒินันท์ / โลกใบเดิม เพิ่มเติมคือวิถีใหม่

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ/วัชระ แวววุฒินันท์

โลกใบเดิม เพิ่มเติมคือวิถีใหม่

 

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ 3 วันติดกัน ด้วยกิจกรรมที่เหมือนได้ย้อนไปเรียนหนังสือใหม่เลยครับ

กล่าวคือ สำนักข่าวออนไลน์ที่ชื่อ The Standard ของคุณโหน่ง วงศ์ทนง ได้ลุกขึ้นจัดงานสัมมนาออนไลน์ 3 วันเต็มตั้งแต่ 9 โมงเช้ายัน 1 ทุ่ม ที่ชื่อ The Standard Economic Forum ขึ้นมา ภายใต้หัวข้อ “โลกหลัง COVID-19 ประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนในความปกติใหม่”

ชื่อหัวข้อก็ชวนดูชวนฟังแล้วครับ งั้นเดี๋ยวจะตกเทรนด์เปล่าๆ ปลี้ๆ เผลอๆ ที่ที่เขาไปยืนกันตอนหลังโควิด แล้วดันไม่มีเราไปยืนด้วยละก็ยุ่งเลย… เหงาแย่

งานนี้ต้องให้เครดิต The Standard ที่สามารถชวนผู้ร่วมสนทนาระดับท็อปๆ ของวงการต่างๆ มารวมตัวกันมากมาย เป็นเวทีที่ได้รวมความคิดวิสัยทัศน์ มุมมอง จากผู้คร่ำหวอดในสายงานของตนที่เกี่ยวพันกับโลกในยุคหลังโควิดทั้งสิ้น

ส่วนใหญ่ทุกท่านจะมาปรากฏตัวร่วมกับผู้ร่วมสนทนาท่านอื่นๆ มีบางท่านแต่เป็นส่วนน้อยที่ใช้การพูดคุยผ่านออนไลน์แทน เช่น คุณชฎาทิพย์ จูตระกูล แห่งสยามพิวรรธน์, คุณสันติธาร เสถียรไทย

ใน 3 วันนี้ได้จัดออกเป็นกลุ่มเนื้อหาที่แตกต่างกันไป เปิดด้วยภาพรวมของโลกและเชื่อมโยงมายังประเทศไทยเรา โดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ที่เหมือนได้ฟังเล็กเชอร์ดีๆ มีคำใหม่ๆ ขึ้นมาให้ได้เรียนรู้เพียบเลย อย่างเช่น โลกาภิวัตน์แบบเสี่ยงเสี้ยว หรือคำว่า โลกาแห่งความเมตตา โลกาแห่งการพึ่งพากัน เป็นไงครับคำเก๋ๆ ทั้งนั้น

แต่ที่มาและความหมายของคำเหล่านี้คือความจริงของโลกที่ไทยต้องจับตามองทั้งสิ้น

 

session ต่อจากนั้นก็ยังคงวนเวียนอยู่กับโลก แต่เป็นเรื่องของ “อำนาจ” ที่สร้างสมดุลขึ้นใหม่ โดยเฉพาะ 2 ตัวเอกของเรื่องคือสหรัฐอเมริกาและจีน จะเล่นแง่ชักเย่อเรื่องอำนาจอย่างไร คนที่สนใจเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศคงถูกใจ

ช่วงบ่ายของวันแรกเริ่มแคบเข้ามาที่ไทยแล้ว เจาะเรื่องการค้าการขายเป็นหลัก คุยกันตั้งแต่เรื่องใหญ่คือการค้าระหว่างประเทศ ไปจนค้าขายออนไลน์ เชื่อว่าองค์กรต่างๆ ตลอดจนคนทำมาค้าขายอย่างพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์น่าจะสนใจ เพราะมีทั้งเรื่อง retail และเรื่องทักษะที่ควรมีในอนาคต ที่เน้นไปในเรื่องของ “การศึกษา” แน่นอนก็เพื่อการทำมาหากินให้รอดนั่นเอง

แค่วันแรกก็ได้เห็นภาพของโลกหลังโควิดพอตัว น่ากลุ้มใจแทนผู้นำองค์กรเสียจริง เพราะสถานการณ์บังคับให้ต้องปรับตัว งั้นไม่รอด ที่เราเคยได้ยินว่า “คิดใหม่ ทำใหม่” นี่แหละคือของจริงที่มาเร็วและแรง จนมีเสียงบอกว่า เจ้าโควิด-19 เป็น super ceo จริงๆ เพราะในเรื่องเดียวกันที่เราๆ ท่านๆ เผชิญอยู่นี้ ceo หลายบริษัทได้พยายามจะเปลี่ยน หรือบอกพนักงานว่าให้เปลี่ยนให้ปรับได้แล้ว แต่ไม่เคยได้ผลรวดเร็วเท่า ceo นามว่าโควิด-19 นี้สั่งการเลย

ส่วนวันที่สอง ช่วงเช้าเล่นของใหญ่ระดับชาติว่า “ประเทศหลังโควิดจะมีนิยามใหม่อย่างไร” ไทยจะไปทางไหน ต้องเตรียมตัวอย่างไร พอมาช่วงบ่ายเปลี่ยนโหมดมาเป็นเรื่องใกล้ตัวคือ เราๆ ท่านๆ ที่เป็น “คุณลูกค้า” ของสินค้าทั้งหลาย โดยมาให้มุมมองกันว่า พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างไร พฤติกรรมการเสพสื่อเปลี่ยนไปทางไหน สื่อไหนมาแรง สื่อไหนถดถอย

ที่เคยบอกว่าคนไทยต้องปรับตัวให้รับกับวิถีชีวิตแบบออนไลน์ที่ต้องมาถึงแน่นอน แต่ครั้งนี้ทำให้ทุกคนจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างเร็ว แม้แต่ลุงๆ ป้าๆ ก็โหลดแอพพลิเคชั่นเป็น ทำธุรกรรมบนมือถือเป็น และผลจากการสำรวจที่น่าดีใจพบว่า วันนี้คนไทยถึง 42% ยินดีเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว

 

session ถัดมาก็เป็นเรื่องของการออกแบบเมือง เพราะ “บ้าน” ได้กลายเป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ด้วยมากขึ้นในทุกวันนี้ ซึ่งผู้ร่วมสนทนาให้ความเห็นว่า การเตรียมพื้นที่เป็นที่ทำงานและที่ส่วนตัวมีความจำเป็นมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยไม่น้อย โดยเฉพาะในที่อยู่ประเภทคอนโดมิเนียมที่มีคนอยู่อาศัยรวมกันจำนวนมาก

นี่แค่สองวันนะครับ เนื้อหาอัดแน่นชนิดจบ Harvard มาก็แทบจะตามไม่ทัน และผู้ร่วมสนทนาแต่ละท่านก็ขยันขนข้อมูลมาแชร์กัน ขึ้นสไลด์กันพรึ่บพรั่บจนบางครั้งฟังไม่ทัน คิดไม่ทันก็มี โดยเฉพาะคนห่างชั้นเรียนอย่างผมมานานจึงต้องใช้สมาธิ สติ และสมองอยู่มากสักหน่อย

ยังดีที่ทาง The Standard จะมี E-book แจกให้ได้ทบทวนทีหลัง นี่ถ้ามีสอบด้วยสงสัยจะตกแน่นอน

 

วันที่สาม ช่วงเช้าว่าด้วยเรื่องตัวจักรสำคัญของการฟื้นเศรษฐกิจไทย นั่นคือ “การท่องเที่ยว” ผู้ร่วมสนทนาก็กวาดมาตั้งแต่ตัวพ่อคือ การท่องเที่ยวที่ต้องเป็นหลักเรื่องนี้ แล้วก็มีผู้เกี่ยวข้อง ทั้งสายการบิน โรงแรม และภาคธุรกิจอาหาร

ทุกท่านเชื่อว่าแม้โควิดจะผ่านไปแล้วคนกลับมาเที่ยวแล้ว แต่การท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป คนจะเลือกและระมัดระวังมากขึ้น หลายบริการต้องปรับตัวรองรับ “ค่านิยมใหม่” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น เรื่องความสะอาดปลอดภัย ที่นักท่องเที่ยวจะถามหาก่อน

นักท่องเที่ยวที่มากันเยอะๆ เฮกันแน่นแหล่งท่องเที่ยวดังๆ อาจจะเปลี่ยนไป เพราะทุกคนกลัวกันเองมากขึ้น จะเปลี่ยนเป็นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ มาเที่ยวด้วยจำนวนคนน้อยลง แต่ทำอย่างไรให้ใช้จ่ายเท่าเดิมหรือมากขึ้น

ส่วนช่วงบ่ายก็เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมาก่อนยุคโควิดเข้าโจมตีเสียอีก คือเรื่อง Digital Transformation ที่เมื่อ ceo โควิดเข้ามาก็ยิ่งเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ที่ทุกคนจำต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และยิ้มรับกับการเปลี่ยนแปลงนั้น

ออฟฟิศบางแห่งทำการสำรวจพนักงานว่าหลังจาก Work from Home แล้วอยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศมากน้อยแค่ไหน หลายแห่งพบว่ามากกว่าครึ่งที่อยาก Work from Home เช่นเดิม และหลายแห่งก็พบว่า งานในบางตำแหน่งไม่จำเป็น ตัดออกได้ หรือลดขนาดลงได้ เมื่อเราได้ Work from Home

 

ช่วงบ่ายคุยกันเรื่องที่เป็น “พระเอก” ของประเทศไทยตอนนี้คือเรื่อง “สุขภาพและการแพทย์” ที่คนจะให้ค่าและให้ความสนใจขึ้นกว่าเมื่อก่อนอย่างมาก

ซึ่งในยุคต่อจากนี้ จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษาพยาบาล และการวินิจฉัยโรคมากขึ้น โดยคนจะคำนึงถึงเรื่อง safety อย่างมาก จนแม้กระทั่งในอนาคตอาจจะไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลก็พบแพทย์ได้ สั่งยาส่งให้ถึงบ้านได้

และที่พูดเป็นเสียงเดียวกันคือ เป็นโอกาสของไทยที่จะชูการเป็น “ศูนย์กลางเรื่องสุขภาพของโลก” โดยไทยมีแพทย์ที่เก่งและเชี่ยวชาญ มี อสม.ที่เป็นกลไกสำคัญ มีระบบการรักษาพยาบาลที่ได้รับการยอมรับ ที่สำคัญมีความเป็น “ไทย” ที่มีน้ำใจ ใส่ใจบริการที่ชาติอื่นไม่มี

แต่ทั้งหมดนี้ต้องคิดแบบรวมเอาทุกส่วนที่เกี่ยวข้องมาเชื่อมโยงกัน แม้แต่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างความคล่องตัวในการบริการการรักษาให้ประชาชนได้ อีกหน่อยเราเจาะเลือดที่ร้านขายยาล่วงหน้าหนึ่งวันแล้วค่อยไปพบหมอได้

 

ส่วนช่วงท้ายก็กลับมาป้วนเปี้ยนตามหัวข้อสัมมนาใหญ่คือ “ประเทศไทยในโลกใหม่ โอกาสอยู่ตรงไหน” และ “ยุทธศาสตร์ประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19” เป็นอย่างไร ซึ่งแน่นอนผู้ที่ได้รับเกียรติถูกพูดถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “ภาครัฐ” สำหรับผู้ที่สนใจเนื้อหาของงานนี้ย้อนหลัง ลองเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ของ The Standard นะครับ

อย่างที่จั่วหัวตอนต้นว่า 3 วันนี้ผมเหมือนได้เข้าไปนั่งเรียนหนังสือใหม่ แถมเป็นนักเรียนที่แอบเกเรเป็นระยะ ไม่ได้จดจ่ออยู่กับหน้าจอตลอดเวลา แต่ก็ยังพอได้ซึมทราบถึงโลกใหม่ที่เราต้องเจอ ซึ่งพบว่าเราต้องหยุด และคิดอย่างถี่ถ้วนว่า ต่อไปนี้ทุกก้าวของมนุษยชาติบนโลกใบนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะรู้เท่าทัน และปรับตัวเองให้พร้อมได้แค่ไหน

ถามว่าเพื่ออะไร ก็เพื่อความสุขที่ยั่งยืน ไม่ใช่สุขแบบฉาบฉวยและปลอมๆ เหมือนที่ผ่านมา

ท้ายนี้ขอขอบคุณ ceo โควิด-19 อีกครั้ง ที่มาสั่งการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบดังที่เราๆ ท่านๆ เผชิญอยู่ทุกวันนี้

Thank you teacher

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่