มนัส สัตยารักษ์ | “ตู้ปันสุข” หรือจะสู้ “กู้ปันสุข”

พาดหัว “รัฐบาลแจกเงินเยียวยา 5,000 ให้ข้าราชการ 9.1 หมื่นคนที่ลงทะเบียนเกษตรกร”

อ่านแต่พาดหัวข่าวก็เชื่อทันทีว่ารัฐบาลกำลังทำโครงการ “กู้ปันสุข” แข่งกับโครงการ “ตู้ปันสุข” อันอบอุ่นของชาวบ้านทั่วประเทศ

ประสบการณ์ความผิดพลาดจากการอ่านแต่พาดหัว ทำให้ชะงักความคิดจะวิพากษ์ไว้ทัน รีบอ่านเนื้อข่าวในนาทีถัดมา แล้วพบรายละเอียด นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท สำหรับข้าราชการบำนาญจำนวนประมาณ 9.1 หมื่นคน ที่ประกอบอาชีพเสริมทำเกษตร สามารถได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลได้ด้วย หากข้าราชการบำนาญคนไหนถูกตัดสิทธิ์ สามารถดำเนินการอุทธรณ์เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองได้

อ่านรายละเอียดจากเนื้อข่าวแล้ว จึงเชื่อได้ว่าพาดหัวข่าวข้างต้นเป็นความจริง เรากำลังอยู่ในวาระของ “กู้ปันสุข”

ในเวลาไล่เลี่ยกัน มีอีกข่าวพาดหัว “ทุ่ม 1.4 พันล้าน ทุบเสานำทาง 7 แสนต้นทั่วประเทศ”

รายละเอียดของเนื้อข่าวมีว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เสนอไอเดียทุบทิ้งเสานำทางที่ทำด้วยซีเมนต์ 7 แสนต้นทั่วประเทศ แล้วใช้เสาที่ทำด้วยยางพาราแทน โดยมีเหตุผลว่า เพื่อลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุของรถยนต์

ค่าเสายางพาราแสนต้นเป็นเงิน 1.4 พันล้าน จำนวนเงินใกล้เคียงกับยอดที่จะจ่ายให้ข้าราชการบำนาญที่ทำเกษตรเป็นอาชีพเสริม 1,365 ล้านบาท

เจ้าของไอเดียนี้ได้ชื่อว่า “จอมโปรเจ็กต์” เท่าที่จำได้ หลังจากที่ตั้งรัฐบาลไม่นาน ท่านเคยเสนอเมกะโปรเจ็กต์ที่น่าตื่นตาตื่นใจหลายเรื่อง ล่าสุดมีนโยบายจะติดตั้ง “จีพีเอส” (Global Positioning System) ในรถยนต์ส่วนบุคคลและรถมอเตอร์ไซค์ เพราะจีพีเอสจะช่วยบันทึกข้อมูลการเดินทาง เป็นประโยชน์ในด้านความปลอดภัยและป้องกันการโจรกรรมรถ แต่นโยบาย “ขายของ” แบบนี้โดนถล่มเสียจนต้องยุติไป

ข่าวความเคลื่อนไหวของนักการเมืองกรณีติดตั้ง “กู้ปันสุข” แม้นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีคำสั่งให้ติดกล้อง CCTV อย่างตู้ปันสุข แต่เราก็วาดมโนภาพได้ว่า ในวงสนทนาของ ครม.ซึ่งต้องแสดงความร่วมมือและร่วมใจกันนั้น ช่างเป็นภาพที่สวยงาม ราบรื่น เข้าใจจัดการ “แบ่งเค้ก” ให้ลงตัวโดยไม่มีความเหลื่อมล้ำกันจนเกินไป เข้าลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย แบบว่าไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่

นับเป็นจุดเริ่มต้นอันสวยหรูของโครงการ “กู้ปันสุข” ที่แทรกเข้ามาใน “เราไม่ทิ้งกัน”

ถ้าคิดในแง่ดี เราจะเห็นได้ว่ากระทรวงเกรดเอทั้งกระทรวงเกษตรฯ และคมนาคม ท่านเป็นห่วงเกษตรกรอย่างแท้จริง

กระทรวงเกษตรฯ พยายามหาหนทางส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยจูงใจให้ประชาชน (รวมทั้งข้าราชการ) ประกอบการเกษตรเป็นทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ยาวไกล มองเห็นว่าประเทศไทยต้องยึดการเกษตรเป็นหลักรองจากการท่องเที่ยว ไม่ใช่ธุรกิจการบินหรือท่องอวกาศ

กระทรวงคมนาคมท่านก็ช่วยคิดค้นหาหนทางแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้ขายได้มากขึ้นเพื่อยกระดับราคา นั่นก็คือใช้ยางพาราทำพื้นถนนและผลิตเสานำทาง

ในฐานะที่เคยเป็นชาวสวนยางพารา จึงเคลิบเคลิ้มไปกับนโยบายของทั้งสองกระทรวง

แต่แล้วก็มีคำเตือนติดแฮชแท็ก… “#ฝากเตือน รมต. ที่จะลักไก่จ่ายเงินเยียวยาข้าราชการที่อ้างเป็นเกษตรกร 9 หมื่นคน โปรดระวังม็อบล้มพังทั้งรัฐบาล ผิดหลักการสำคัญที่เงินเยียวยาต้องใช้ดูแลประชาชนที่เดือดร้อนเท่านั้น”

คำเตือนนี้เป็นของนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเฟกนิวส์หรือไม่ แต่ไม่มีใครออกมาปฏิเสธหรือแก้ข่าวหรือฟ้องร้อง มีแต่คอมเมนต์ว่า “มั่วไปหมด”

เชื่อว่าคำเตือนมีผลอยู่บ้าง เพราะพบข่าวเล็กๆ ที่เกี่ยวโยงกับการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท เช่น ข่าว ธ.ก.ส. หรือธนาคารเพื่อการเกษตรฯ พบว่ามีชื่อเกษตรกรที่เสียชีวิตไปแล้ว และหลายรายซ้ำซ้อนกับที่ลงทะเบียนไว้ จึงส่งกลับไปให้กระทรวงเกษตรฯ ทบทวน ส่วนในกลุ่มของข้าราชการนั้นจะยังไม่มีการจ่ายจนกว่ากระทรวงเกษตรฯ จะยืนยันมาอีกครั้ง เนื่องจากมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

อ่านข่าว ธ.ก.ส.แล้ว ยอมรับว่าคนที่ไม่สันทัดกับปัญหาซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่ค่อยเข้าใจกรรมวิธีแจกเงินเยียวยาครั้งนี้นัก

อีกข่าวที่น่าสนใจ “นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง งัดเอกสารชี้แจงนายอลงกรณ์ พลบุตร “ปมข้าราชการทำเกษตรไม่ได้เยียวยา” คนอ่านข่าวนี้ต้องทราบเรื่องเดิม ต้องมีสมาธิในการอ่านและสมองต้องรู้จักจัดระเบียบก่อน

จึงจะเข้าใจ

จึงขอสรุปคร่าวๆ ว่า ประการแรก กระทรวงการคลังตรวจสอบความซ้ำซ้อนของข้อมูลที่กระทรวงเกษตรฯ เทียบกับฐานข้อมูลที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบ โดยกระทรวงการคลังใช้ฐานข้อมูลผู้ได้รับสิทธิตามโครงการ และฐานข้อมูลข้าราชการ (ซึ่งแยกออกเป็น 2 ประเภท คือข้าราชการปัจจุบันกับข้าราชการบำนาญ) และได้แจ้งให้กระทรวงเกษตรฯ พึงระมัดระวังไม่ให้จ่ายเงินให้แก่เกษตรกรที่เป็นเจ้าหน้าที่หรือพนักงานในหน่วยงานรัฐ เนื่องจากยังมีงานประจำและได้รับเงินเดือนเป็นปกติ

ประการถัดมา การตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของข้อมูลเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินเยียวยา เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงของกระทรวงเกษตรฯ เป็นไปตามมติ ครม. ธ.ก.ส.จะโอนเงินให้กับเกษตรกรตามข้อมูลที่ สนง.เศรษฐกิจการเกษตรได้ตรวจสอบยืนยันตัวตนของเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องและครบถ้วนแล้วเท่านั้น

ทางด้านนายอลงกรณ์กล่าวว่า กรณีที่ “คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ” กำหนดหลักเกณฑ์สำหรับผู้ไม่มีสิทธิรับเงินในโครงการเยียวยาเกษตรกร กลุ่มหนึ่งก็คือข้าราชการบำนาญ แม้จะขึ้นทะเบียนถูกต้องก็ไม่ควรได้รับเงินเยียวยา เพราะยังมีรายได้ประจำจากเงินเดือน

นายอลงกรณ์สรุปว่า “กระทรวงเกษตรฯ ในฐานะผู้เสนอให้รัฐบาลเยียวยาเกษตรกร 10 ล้านราย วงเงิน 150,000 ล้านบาท ต้องปฏิบัติตามมติ ครม. และมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ เช่นเดียวกับกระทรวงการคลัง…”

คนนอกซึ่งเป็นชาวบ้านค่อนข้างสับสน ฟังดูเหมือน 2 กระทรวงนี้ “ทะเลาะกันโดยไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน” หรือพูดอีกทีก็ว่า “ไม่ได้ทะเลาะกัน เพียงแต่ขัดแย้งกันเท่านั้น” (ฮา)

“คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ฯ” ที่ถูกอ้างถึงคือ คณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อธิบายว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็น “มิติใหม่” ที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.กู้เงิน ประธานคือ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีคณะกรรมการ 11 คน เป็นข้าราชการ 6 คน อีก 5 คนนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์ในภาคประชาสังคม สามารถกลั่นกรองโครงการในส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจ

นอกจากนั้น นายคำนูณยังหวังว่าจะมี “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบการใช้เงิน” เพื่อขจัดสภาวะ “แร้งลง-รุมทึ้ง” อีกด้วย แต่จนวันนี้ยังไม่มีข่าวเพิ่มเติมในส่วนนี้

อย่างไรก็ตาม ส.ส.พรรคฝ่ายค้านเตรียมซักฟอกมาตรการเยียวยาโควิด-19 ห้าประเด็น หนึ่งในนั้นคือ การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบที่เข้มงวด

เพียงแต่เราอย่าคาดหวังมากเกินไปนัก เพราะประเทศของเราอยู่ในยุคแห่งการยกเว้นและวัฒนธรรมลอยนวล ผู้ที่จะซักถามและผู้ที่จะตอบหลายคนมีชนักปักหลัง บ้างก็อยู่ในชั้น ป.ป.ช. และบ้างก็อยู่ในขั้นอัยการสูงสุด ต่างต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกันตามประเพณีดึกดำบรรพ์


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่