ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : วัดกุฎีดาว ไม่ได้สร้างสมัยพระเจ้าเอกทัศน์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อไม่นานนี้มีรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง อ้างว่า “วัดกุฎีดาว” ซึ่งตั้งอยู่ในปริมณฑลของเขตอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ พระนครศรีอยุธยา นั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ครองราชบัลลังก์ของกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่กรุงจะแตกเมื่อ พ.ศ.2310 ในรัชสมัยของพระองค์นั่นเอง

ถึงแม้ว่าการกำหนดอายุวัดข้างต้นจะต่างออกไปจากคำอธิบายส่วนใหญ่เป็นอย่างมาก แต่ก็ยังเป็นเรื่องที่พอรับได้ ถ้าหากว่าเป็นข้อสันนิษฐานที่ตั้งอยู่บนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี และแม้กระทั่งทางประวัติศาสตร์ศิลปะ

น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะพิธีกรในรายการอ้างว่า ได้ข้อมูลมาจาก “ปู่โสม” ซึ่งเฝ้าทรัพย์สมบัติที่ถูกฝังอยู่ใต้วัดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเอกทัศน์โปรดให้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้น เพื่อเก็บรักษาทรัพย์สมบัติเหล่านี้โน่นเลย

ใช่ครับใช่ รายการโทรทัศน์ที่ผมกำลังพูดถึงเป็นรายการชื่อดังที่ว่ากันด้วยเรื่องลี้ลับและผีๆ สางๆ ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่ทางรายการจะเอาข้อมูลทำนองนี้มานำเสนอ และผมก็คงจะไม่ขอข้องเกี่ยวอะไรด้วยถ้าหากว่าการกำหนดอายุวัดกุฎีดาวที่อ้างคำบอกเล่าของปู่โสม จะทำเอาคนเข้าใจผิดกันไปค่อนประเทศ

 

อันที่จริงแล้ว ประวัติการสร้าง “วัดกุฎีดาว” มีระบุถึงอยู่ในเอกสารอย่างน้อย 2 ฉบับ ฉบับแรกได้แก่ “คำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งได้ต้นฉบับมาจากเมืองพม่าเมื่อ พ.ศ.2455 เป็นพงศาวดารที่เขียนขึ้นจากการที่พระเจ้ากรุงอังวะได้ทรงนำพระเจ้าอุทุมพร และข้าราชบริพารกลับไปยังกรุงอังวะหลังกรุงแตกครั้งที่ 2 แล้วก็ได้ให้ถามคำให้การถึงพงศาวดารและขนบแบบแผนประเพณีของกรุงศรีอยุธยา จดเก็บไว้ในหอหลวงของอังวะ จนทำให้เกิดเป็นหนังสือเก่าฉบับนี้ขึ้นมา

สำหรับข้อความที่เกี่ยวกับประวัติของวัดกุฎีดาว ในคำให้การชาวกรุงเก่านั้น มีใจความระบุเอาไว้ว่า

“และพระมหาธรรมราชานั้น มีพระราชศรัทธามาก ให้สร้างพระอารามใหญ่ถึง 7 พระอาราม คือ วัดคูหาสระหนึ่ง วัดกุฎีดาวหนึ่ง วัดวรเสลาหนึ่ง วัดราชบูรณะหนึ่ง วัดวรโพธิ์หนึ่ง วัดพระปรางค์หนึ่ง สร้างพระนอนองค์ใหญ่ขึ้นองค์หนึ่ง พระราชทานนามว่าพระนอนจักรสีห์”

อย่างไรก็ตาม “พระมหาธรรมราชา” ที่ถูกระบุถึงอยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่านี้ ไม่ได้หมายถึงพระมหาธรรมราชา ผู้ทรงเป็นพระราชบิดาของพระนเรศวรนะครับ (ในคำให้การชาวกรุงเก่าเรียกพระองค์ว่า พระสุธรรมราชา) แต่หมายถึง “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ต่างหาก พูดง่ายๆ ว่าถ้าเชื่อตามคำให้การฉบับนี้แล้ว วัดกุฎีดาวก็สร้างขึ้นโดยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ผู้ทรงเป็นพระราชบิดาของพระเจ้าเอกทัศน์นั่นเอง

 

สําหรับใครหลายคนที่เคยผ่านตาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัดกุฎีดาว ที่มีอยู่ให้ว่อนอินเตอร์เน็ต ก็อาจจะนึกเถียงผมอยู่ในใจว่า ข้อมูลส่วนที่ผมพูดถึงนั้นควรหมายถึง คำให้การที่มีอายุอยู่ไล่เลี่ยกันอีกฉบับหนึ่งคือ คำให้การขุนหลวงหาวัดต่างหาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ บุคคลระดับพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายเอาไว้ใน “อธิบายเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่า” ซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือนคำนำของหนังสือฉบับนี้เมื่อถูกแปลจากภาษาพม่ามาเป็นไทย และได้รับการตีพิมพ์ออกมาใหม่เอาไว้ว่า เป็นต้นฉบับเดิมของพระราชพงศาวดารในหนังสือ คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง

(ส่วนที่เรียกว่าฉบับหลวง เพราะมีฉบับราษฎร์ คือฉบับที่หมอสมิธตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2426 ที่ถูกเพิ่มเติมข้อความลงไปมาก จนผิดไปจากต้นฉบับเดิมจากหอหลวง อนึ่ง ว่ากันว่า “ขุนหลวงหาวัด” นั้นก็คือ “พระเจ้าอุทุมพร” นั่นเอง)

ในต้นฉบับเดิมของคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวงนั้น ข้อความได้ขาดหายไปหลายส่วน ซึ่งในคราวที่ได้มีการจัดพิมพ์คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง ขึ้นมาใหม่นั้น ก็ได้มีการนำข้อความส่วนที่มีอยู่ในคำให้การชาวกรุงเก่ามาเติมใส่ไว้ในส่วนที่ขาดหายไปใน คำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง โดยตอนไหนที่เพิ่มเติมมาจากคำให้การชาวกรุงเก่า ก็ได้มีการระบุเอาไว้ในเนื้อหาอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การนำข้อความจากคำให้การชาวกรุงเก่ามาเพิ่มเติมไว้ในคำให้การขุนหลวงหาวัด ก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้นะครับ ตัวอย่างที่ชัดเจนเลยก็คือ กรณีเรื่องที่ข้อมูลที่สืบค้นได้โดยทั่วไปจากอินเตอร์เน็ต (ซ้ำร้ายยังเป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานราชการหลายแห่งเลยทีเดียว) ระบุว่า ประวัติการสร้างวัดกุฎีดาวมีอยู่ในคำให้การขุนหลวงหาวัด ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลส่วนนี้ถูกคัดมาจากคำให้การชาวกรุงเก่าต่างหาก

แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การที่ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเหล่านี้ (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คงจะลอกตามกันมาจากที่ใดที่หนึ่ง) มักจะระบุว่า ผู้สร้างวัดคือพระมหาบรมราชา ทั้งที่ไม่มีพระนามกษัตริย์พระองค์นี้ปรากฏอยู่ในทั้งคำให้การชาวกรุงเก่า และคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับหลวง เลยสักนิด

 

ถึงแม้ว่าข้อมูลจากคำให้การชาวกรุงเก่าจะระบุเอาไว้ว่า พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเป็นผู้ที่ทรงสร้างวัดกุฎีดาวขึ้นก็ตาม แต่ข้อมูลจากเอกสารชิ้นอื่นๆ ที่เขียนขึ้นในช่วงร่วมสมัยกันคือระหว่างช่วงกรุงแตก จนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 กลับไม่ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่าพระองค์เป็นผู้สร้างวัดแห่งนี้เลยแม้แต่สักชิ้นเดียว

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นๆ (ซึ่งก็ถูกชำระตามๆ กันมา โดยมีพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ [เจิม] ที่เริ่มเขียนในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นแบบ) ก็ล้วนแล้วแต่ไม่ได้ระบุว่า วัดกุฎีดาวนั้นสร้างขึ้นในสมัยไหน แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าท้ายสระนั้น ได้มีการบูรณะวัดแห่งนี้ ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ว่า

“ฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว และตรัสสั่งให้ตั้งพระตำหนักริมวัด ก็เสด็จออกไปอยู่คราวละเดือนหนึ่งบ้าง 2 เดือนบ้าง 3 เดือนบ้าง ครั้นเทศกาลน้ำ ก็เสด็จพระราชดำเนินไปประพาสเบ็ดทุกปี”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ “สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” ที่ถูกระบุอยู่ในข้อความข้างต้นนั้น ต่อมาจะเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น “พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ดังนั้น ถึงแม้พระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ จะไม่ได้ระบุว่าพระองค์เป็นผู้สร้างวัดกุฎีดาว แต่ก็ทรงเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ แถมเมื่อพิจารณาจากข้อความในพระราชพงศาวดารแล้ว ก็ดูเหมือนว่าพระองค์จะทรงให้ความสำคัญกับวัดแห่งนี้เป็นอย่างยิ่งเสียด้วย

 

เอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่ระบุประวัติว่าใครเป็นผู้สร้างวัดกุฎีดาวขึ้นนั้นก็คือ “พระราชพงศาวดารเหนือ” ที่เรียบเรียงขึ้นโดยพระวิเชียรปรีชา (น้อย) เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 มีข้อความระบุปีที่สร้างด้วยว่า

“จุลศักราช 671 (พ.ศ.1852) ปีเถาะ เอกศก พระองค์ทรงสร้างวัดกุฎีดาววัด 1 พระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์วัด 1”

พระองค์ที่เป็นผู้สร้างวัดกุฎีดาวนั้นหมายถึง พระเจ้าธรรมราชา ซึ่งข้อมูลในพระราชพงศาวดารเหนือระบุเอาไว้ว่าเป็นกษัตริย์องค์ที่ 8 ของยุคก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อ พ.ศ.1893 โดยพงศาวดารเหนืออ้างว่า พระเจ้าธรรมราชานั้นครองราชย์อยู่ระหว่าง พ.ศ.1844-1853

ส่วนพระอัครมเหสีของพระเจ้าธรรมราชาซึ่งเป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์นั้น ทรงพระนามว่า พระนางกัลยาณี ดังนั้น ถ้าหากจะเลือกเชื่อตามพระราชพงศาวดารเหนือ วัดกุฎีดาวจะสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 41 ปีเลยทีเดียวนะครับ

อย่างไรก็ตาม เราไม่มีหลักฐานอะไรที่แสดงให้เห็นเลยว่า วัดกุฎีดาว (รวมทั้งวัดมเหยงคณ์) นั้นสร้างขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ยกเว้นก็แต่ความเห็นส่วนตัวของนักประวัติศาสตร์ศิลปะ กระแสอินดี้อย่าง อ.ประยูร อุลุชาฎะ เจ้าของนามปากกา “น. ณ ปากน้ำ” ที่เสนอไว้ว่า วิธีการเรียงอิฐของทั้งสองวัดดังกล่าวนั้น เป็นแบบก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา

แต่การที่พระราชพงศาวดารเหนือระบุถึง “วัดกุฎีดาว” ควบคู่กับ “วัดมเหยงคณ์” นั้นก็เป็นร่องรอยที่สำคัญมาก เพราะในคำให้การชาวกรุงเก่าระบุว่า (ในคำให้การเรียกพระเจ้าภูมินทราชา) เป็นผู้สร้างวัดมเหยงคณ์ เช่นเดียวกับที่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นๆ รวมถึงฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ก็ล้วนแต่ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ คู่กับที่สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล คือพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในอนาคตนั้นได้ปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว

ความสัมพันธ์ระหว่างวัดทั้งสองแห่งดังกล่าวนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเป็นไปได้มากว่า ถูกสร้างขึ้นคู่กัน ในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน หรือพร้อมๆ กันเลยก็เป็นไปได้ โดยเฉพาะเมื่อวัดทั้งสองแห่งที่ว่านี้ตั้งอยู่แทบจะประชิดกันเลยทีเดียว

และเฉพาะในส่วนของวัดมเหยงคณ์นั้น ข้อมูลตามพงศาวดารฉบับต่างๆ มักจะระบุตรงกันว่า วัดมเหยงคณ์สร้างขึ้นในรัชสมัยของเจ้าสามพระยา ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าไม่ระบุว่าสร้างปี พ.ศ.1967 ก็จะระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.1981

ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับรูปแบบศิลปะของเจดีย์ประธานของทั้งวัดมเหยงคณ์ และวัดกุฎีดาวอีกด้วย

พูดง่ายๆ ว่า อย่างน้อยที่สุด วัดกุฎีดาวก็ควรจะถูกสร้างมาแล้วตั้งแต่ในช่วงรัชสมัยของเจ้าสามพระยา หรือหย่อนมาหน่อยๆ ใกล้เคียงกับวัดมเหยงคณ์นั่นแหละ ดังนั้น ถ้าพิธีกรบางคนในรายการโทรทัศน์ที่ผมเอ่ยถึงตั้งแต่ตอนต้นของข้อเขียนชิ้นนี้ จะสามารถติดต่อกับปู่โสมเฝ้าทรัพย์ที่วัดแห่งนี้ได้จริง พวกเขาก็คงจะโดนปู่โสมท่านหลอกเอาเสียแล้วแหละครับ

 


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย.63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่