เมื่อรัฐบาลทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี”

วิถีที่ “ไร้ศรัทธา”

ความเห็นต่างเรื่องจะคงการประกาศใช้ “พ.ร.ก.บริหารราชการในภาวะฉุกเฉิน” และ “ประกาศเคอร์ฟิว” ห้ามประชาชนออกจากบ้านในเวลาที่กำหนด ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 หรือไม่

ก็มีแก่นแกนเช่นเดียวกับความเห็นต่างๆ ในเรื่องอื่นๆ ที่ก่อความขัดแย้งขึ้นมากมายต่อเนื่องกันมาในสังคมไทย

เป็นความเห็นต่างที่ส่งผลถึงระดับเป็นที่มาของ “รัฐธรรมนูญ 2560” เลยทีเดียว

แก่นแกนที่ว่านั้นคือ มีคนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเราไม่มีความสามารถที่จะรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและต่อสังคม

อ่อนแอ และขาดความรู้ความสามารถที่จะพึ่งพาตัวเอง

ตั้งแต่ไม่รู้จักทำมาหากินสร้างฐานะตัวเองให้อยู่ได้ เอาแต่อ้อนวอนร้องขอ แบมือคอยรับ จนถึงไม่รู้จักสิทธิหน้าที่ของตัวเอง กระทั่งในการเลือกตั้งแต่ละครั้งก็ขายสิทธิขายเสียง จนสร้างปัญหาให้ประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบที่ใช้เงินซื้อได้

เพราะคนส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องมีคณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาควบคุมกำหนดให้คนส่วนใหญ่จัดการบังคับให้คนส่วนใหญ่ทำตามคำสั่ง เพื่อให้ประเทศพัฒนาไปได้

แต่คนอีกกลุ่มหนึ่งเห็นว่า คนส่วนใหญ่ของประเทศฉลาดพอที่จะจัดการตัวเอง หากพวกเขาได้สิทธิที่เท่าเทียมในเรื่องราวต่างๆ ที่จะมาประกอบเข้าเป็นชีวิต

หากให้ความรู้ที่มากพอ ให้โอกาสเข้าถึงทุนได้ โดยมีเป้าหมายสร้างความเท่าเทียม และไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยวิธีอื่นๆ

คนทุกคน หรืออย่างน้อยส่วนใหญ่จะจัดการอย่างมีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมได้

อันเป็นการอยู่ร่วมกันที่ถูกต้องกว่า

นั่นคือแก่นแกนความขัดแย้ง ที่ปัจจุบันฝ่ายที่มีความเชื่ออย่างแรกเป็นผู้ครอบครองอำนาจในการกำหนด

ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างที่บังคับใช้ในประเทศเรา จึงออกไปในทางไม่เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะรับผิดชอบตัวเองและสังคมได้ จำเป็นต้องบังคับให้ทำตามที่คณะบุคคลกลุ่มหนึ่งเป็นผู้กำหนด

เป็นแบบนี้ตั้งแต่ “รัฐธรรมนูญ” จนถึง “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”

กลไกที่จะทำการบังคับใช้ตั้งแต่กองทัพจนถึงอำนาจของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ประชาชนเป็นเพียงผู้ต้องยอมจำนนในการปฏิบัติตามเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อ “กรุงเทพโพลล์” ถามว่า “เรื่องที่น่าห่วงที่สุดของอนาคตประเทศไทยต่อการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ร้อยละ 77.9 ตอบว่า ปัญหาการขาดรายได้ ค่าครองชีพของประชาชน, ร้อยละ 70.0 ห่วงการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น, ร้อยละ 57.1 ห่วงการศึกษาของลูกหลานที่เรียนออนไลน์, ร้อยละ 49.4 ห่วงธุรกิจเจ๊ง, ร้อยละ 42.5 ห่วงปัญหาการท่องเที่ยวในประเทศ, ร้อยละ 34.6 ห่วงการลงทุนจากต่างประเทศ

เช่นเดียวกับที่ “สวนดุสิตโพล” ถามเรื่อง “10 ความวิตกกังวลของคนไทยจากการระบาดของโควิด-19” ร้อยละ 71.50 กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในครอบครัว, ร้อยละ 70.00 สุขภาพอนามัย, ร้อยละ 67.60 ความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว, ร้อยละ 67.20 รายได้ที่ลดลง, ร้อยละ 64.20 ไม่มีเงินออม เงินออมลดลง, ร้อยละ 63.67 การเดินทางไม่ปลอดภัย, ร้อยละ 63.46 กลัวตกงาน, ร้อยละ 60.55 ไม่มีเงินชำระหนี้, ร้อยละ 60.18 การเล่าเรียนของบุตรหลาน, ร้อยละ 60.07 ห่วงสุขภาพจิตของตัวเอง

จากคำตอบดังกล่าวย่อมชี้ให้เห็นว่า ความกังวลในเรื่องโควิด-19 ไม่ใช่เป็นความวิตกหลัก

ปัญหาของคนส่วนใหญ่คือเรื่องปากท้อง

แต่เมื่อรัฐบาลทำตัวเป็น “คุณพ่อรู้ดี” บังคับให้ต้องทำตามมาตรการของ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว” หรืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายและคำสั่งสอนต่างๆ

ประชาชนส่วนใหญ่ทำได้แค่ทำตาม

ทำตามทั้งที่มีความคิดขัดแย้งอยู่

ชีวิตดำเนินไป ผู้คนในประเทศไทยดำเนินไปเช่นนี้ ในทุกเรื่อง


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่