วิกฤติศตวรรษที่ 21 | โควิด-19 กับความเหลื่อมล้ำ

วิกฤตินิเวศ สงครามและการยับยั้งสงคราม (8)

โควิด-19 กับความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ-การเมือง-สังคมเป็นปรากฏการณ์ที่เด่นชัดในโลกนับแต่ทศวรรษ 1970

ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบการเงินโลกยกเลิกมาตรฐานทองคำ มีเสรีภาพในการออกธนบัตรของตนมากขึ้น

การแปรเศรษฐกิจให้เป็นเชิงการเงิน การเปิดเสรีให้แก่การไหลเวียนของเงินทุน และการกดการรวมตัวและค่าแรงของคนงาน

การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและการจ้างงาน

ไปจนถึงการเดินนโยบายปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนที่ยอมให้ “บางพื้นที่รวยก่อน”

และการที่ประเทศยุโรปตะวันออกหันมาเดินทางแบบทุนนิยมเสรีในทศวรรษ 1980 และการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในทศวรรษ 1990

เป็นที่สังเกตว่านับแต่ทศวรรษที่ 1970 โลกได้เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ และการระบาดของโรคอุบัติใหม่จากเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านการเงินในปี 1987 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกดิ่งเหวพร้อมกัน สำหรับสหรัฐ ดัชนีหลักทรัพย์ดาวน์โจนส์ตกถล่มทลายถึงร้อยละ 22 ภายในวันเดียว เรียกกันว่า “จันทร์ทมิฬ” (19 ตุลาคม 1987)

อีกสิบปีต่อมา เกิดวิกฤติการเงินเอเชียปี 1997 ที่เริ่มในประเทศไทย แล้วระบาดไปทั่วภูมิภาคและเอเชียตะวันออก ไปจนถึงอเมริกาใต้ รัสเซีย และสหรัฐ จนถึงขั้นวาณิชธนกิจใหญ่ คือ “ลอง-เทอมแคปิตอลแมเนจเมนต์” (LTCM) เชี่ยวชาญในการซื้อ-ขายพันธบัตรในโลก และกู้เงินมาลงทุนเกินตัว ถึงขั้นล้มละลายในปี 1998 ต้องได้รับการเยียวยาจากทางการ

วิกฤติการเงินเอเชีย 1997 แม้เริ่มต้นในเอเชีย แต่แท้จริงเป็นวิกฤติการเงินของโลก สะท้อนว่าสถาปัตยกรรม หรือโครงสร้างการเงินมีความเปราะบางมาก ง่ายต่อการถล่มหรือถูกถล่ม (เช่น การเก็งกำไรค่าเงิน) ทั้งลามระบาดไปที่อื่นได้อย่างรวดเร็ว

แสดงว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่และกระบวนโลกาภิวัตน์ที่สหรัฐและตะวันตกสนับสนุนอยู่ มีปัญหารุนแรงที่ต้องเร่งแก้ไข มีการปรับเกลี่ยความเหลื่อมล้ำให้ดีขึ้น แต่ก็ไม่มีการแก้ไขอะไร มีแต่ความพยายามรักษาสถานะเดิมหรือระเบียบโลกเดิมไว้

จนกระทั่งเกิดวิกฤติการเงินที่ใหญ่กว่าในปี 2008

ขณะที่วิกฤติการเงิน 1997 เกิดขึ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ วิกฤติการเงิน 2008 เกิดขึ้นในศูนย์กลางการเงินและอำนาจของโลกคือสหรัฐ วิกฤติครั้งนี้รุนแรงยิ่ง จนตั้งชื่อว่าเป็น “การถดถอยใหญ่” เป็นรองแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปี 1929 เท่านั้น

เป็นสัญญาณว่าระเบียบโลกที่จัดการโดยสหรัฐ-ตะวันตกเข้าสู่ความเสื่อมถอยที่ไม่อาจแก้ไขได้แล้ว

อีกสิบกว่าปีต่อมาก็ได้เกิดกรณีโควิด-19 ขึ้น

การระบาดของโควิด-19 มีลักษณะเฉพาะคือ

ประการแรก มันมีความฉับพลันรุนแรงกว่า เมื่อผสมกับผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจเดิมที่มีการแก้ไขแบบขอไปทีเฉพาะหน้า ทำให้ประเทศในกลุ่ม 20 รับมือกันไปต่างๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล คาดกันว่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกปี 2020 เข้าสู่ภาวะถดถอย มากหรือน้อยในที่ใดเป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไป

ประเทศจีนที่เป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกด้วยอัตราการเติบโตในระยะหลังกว่าร้อยละ 6 ในปี 2020 แม้ว่าจะคงรักษาเป้าหมายใหญ่ของการพัฒนา เช่น การลดความยากจน แต่ก็ไม่ประกาศเป้าหมายอัตราการเติบทางเศรษฐกิจเหมือนที่เคยปฏิบัติมา เนื่องจากความไม่แน่นอนทั้งในจีนและทั่วโลกอันเนื่องจากโควิด-19

ลักษณะเฉพาะของโควิด-19 อีกประการหนึ่งคือ มันเกิดขึ้นในระบบนิเวศ ที่ไม่มีพรมแดนทางเศรษฐกิจ-การเมือง ดังนั้น จึงเป็นการยากที่จะใช้มาตรการทางเศรษฐกิจ-การเมืองดังที่เคยใช้ในการแก้วิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา

หากแต่จะต้องใช้มาตรการทางการแพทย์สาธารณสุข ระบาดวิทยา ไวรัสวิทยา รวมไปถึงนิเวศวิทยา ในการแก้ไขเป็นหลัก เสริมด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจ-การเมือง

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางเศรษฐกิจ-การเมืองดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในภาวะปกติธรรมดา หากอยู่ในภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำกันอย่างยิ่ง และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์เป็นไปอย่างรุนแรง

เมื่อสหรัฐรับมือกับโควิด-19 ไม่ได้ดี ประธานาธิบดีทรัมป์ได้หันไปใช้วิธีทางการเมือง โจมตีจีนและองค์การอนามัยโลกว่าปฏิบัติตัวเข้าข้างจีน ซึ่งคาดว่าไม่ได้ก่อผลอะไร ไม่ทำให้จีนหยุดการเดินหน้าค่อยๆ เปิดเมืองเปิดประเทศ หรือขัดขวางการทำงานขององค์การอนามัยโลกอย่างมีนัยสำคัญ

ยิ่งกว่านั้นมันไม่ได้ช่วยแก้ไขการระบาดติดเชื้อ หรือการเสียชีวิตของผู้ป่วยในสหรัฐด้วย

ซึ่งเรื่องต่างไปในกรณีเศรษฐกิจ-การเมือง ที่เมื่อสหรัฐก่อสงครามการค้าก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนอย่างเห็นได้ชัด การสนับสนุนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในฮ่องกง เป็นต้น ก็ทำให้จีนทำอะไรไม่ถูกอยู่พักหนึ่ง เพิ่งอาศัยความสับสนจากกรณีโควิด-19 จีนได้พิจารณาออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติใหม่ของฮ่องกง ในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน ปลายเดือนพฤษภาคม 2020 เพื่อควบคุมเขตปกครองพิเศษนี้ให้แน่นหนายิ่งขึ้น ท่ามกลางการประท้วงใหญ่ของชาวฮ่องกง

มีนักวิเคราะห์ชาวสหรัฐบางคนเห็นว่า มองอย่างโดดๆ นโยบายเข้าควบคุมฮ่องกงโจ่งแจ้งของจีน มีลักษณะบุ่มบ่ามไม่รอบคอบ

แต่เมื่อมองให้รอบด้านจะพบว่าจีนได้มีปฏิบัติการเป็นชุดเพื่อลดผลกระทบของโควิด-19 สามารถควบคุมสถานการณ์ในประเทศ ส่งอิทธิพลต่อภูมิภาคและรุกคืบต่อสหรัฐ-ตะวันตก

SENSITIVE MATERIAL. THIS IMAGE MAY OFFEND OR DISTURB Members of the medical staff in protective suits treat patients suffering from coronavirus disease (COVID-19) in an intensive care unit at the San Raffaele hospital in Milan, Italy, March 27, 2020. REUTERS/Flavio Lo Scalzo

ชุดนโยบายดังกล่าวได้แก่

ก) การลงทุนทางด้านเทคโนโลยีมูลค่า 10 ล้านล้านหยวน (1.4 ล้านล้านดอลลาร์) ในช่วง 6 ปี จนถึงปี 2025

ข) การเพิ่มงบประมาณทางทหาร ซึ่งอาจสูงถึงร้อยละ 9

ค) การให้เงินช่วยเหลือเพื่อต่อสู้โควิด-19 มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ในสองปี ขณะที่ทรัมป์ลดการให้เงินอุดหนุนและคุกคามว่าจะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก

ง) ที่สำคัญคือ การที่จีนจะเริ่มโครงการทดลองใช้เงินตราดิจิตอลของชาติในสี่มหานคร ซึ่งจะทำให้จีนล้ำหน้าสหรัฐไปหลายปี และข่าวนี้ก็ได้รับการสนใจน้อยที่สุด เนื่องจากถูกข่าวฮ่องกงกลบ

(ดูบทวิเคราะห์ของ Frederick Kempe ชื่อ China is testing a national digital currency – one piece in Xi”s bid for global influence ใน cnbc.com 23/05/2020)

ด้านที่โควิด-19 คล้ายกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 มีอยู่ 2-3 ประการ

ประการแรก ได้แก่ มันเกิดขึ้นในศูนย์กลางอำนาจโลกคือ จีน ยุโรป สหรัฐ รัสเซีย เป็นต้น ไม่เหมือนกับไข้เลือดออกอีโบลาที่ศูนย์กลางการระบาดอยู่ในประเทศแอฟริกาตะวันตก ทั้งยังเกิดในแถบชนบทเป็นสำคัญ ดังนั้น จึงก่อผลกระทบสูงมากทั้งทางปริมาณเฉพาะหน้า และโครงสร้างของระบบ ตั้งคำถามใหญ่ว่าอารยธรรมมนุษย์ และวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นอยู่นี้ เหมาะสมยั่งยืนหรือไม่เพียงใด

ความคล้ายกันประการที่สองคือ แม้ผลกระทบจะสูงมาก แต่ด้านหลักแล้ว มีความพยายามที่จะรักษาโครงสร้างเดิมไว้ โดยมีการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปที่ไม่กระทบต่อโครงสร้างทางอำนาจและความมั่งคั่ง

ความคล้ายอีกประการหนึ่ง ว่าบรรดามหาเศรษฐีมีความมั่งคั่ง ขณะที่สาธารณชนต้องอยู่อย่างทุกข์ระทม ที่ต้องถูกออกจากงาน ธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางของตนล้มละลายหรือฟื้นตัวได้ลำบากมาก เกิดความเครียดและความรุนแรงในครอบครัว ไปจนถึงมีการฆ่าตัวตาย

มีรายงานจากสำนักคิด “สถาบันเพื่อการศึกษาด้านนโยบาย” ในเดือนเมษายน 2020 เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำและความร่ำรวยขึ้นของมหาเศรษฐีในอเมริกาช่วงโควิด-19 ระบาด ว่า

ก) ระหว่างปี 1990 ถึง 2020 มหาเศรษฐีพันล้านของสหรัฐมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,130 เมื่อคิดตามจำนวนเงินดอลลาร์ในปี 2020 เป็นการเพิ่มมากกว่า 200 เท่าของอัตราเติบโตปานกลางของความมั่งคั่งในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.37

ข) ระหว่างปี 1980-2018 การเสียภาษีของมหาเศรษฐีอเมริกันเมื่อเทียบกับความมั่งคั่งลดลงร้อยละ 79

ค) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2020 ถึงวันที่ 10 เมษายน 2020 (ช่วงต้นของโควิด-19) มหาเศรษฐีสหรัฐ 34 คน ในจำนวนทั้งหมด 179 คนมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นคนละหลายสิบล้านดอลลาร์ สำหรับมหาเศรษฐี 8 คนแรกมีเจฟฟ์ เบโซส (แห่งแอมะซอน) อีริก หยวน (เจ้าของแอพพลิเคชั่น “ซูม” ซึ่งช่วยสร้างความสัมพันธ์ระยะห่าง) สตีฟ บอลเมอร์ (แห่งไมโครซอฟต์) เป็นต้น มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นคนละกว่าพันล้านดอลลาร์

ง) ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีสหรัฐฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังวิกฤติการเงิน 2008 ใช้เวลาน้อยกว่า 30 เดือนก็สามารถฟื้นความมั่งคั่งสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ และระหว่างปี 2010 ถึง 2020 ความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีสหรัฐเพิ่มขึ้น ร้อยละ 80.6 เมื่อคิดตามตัวเงินดอลลาร์ปี 2020 มากกว่า 5 เท่าของอัตราการเพิ่มความมั่งคั่งปานกลางของครัวเรือน อเมริกันในช่วงระหว่าปี 2010 ถึง 2016 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 15.1

จ) สัดส่วนของความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาระหว่างปี 2006 ถึง 2018 เกือบร้อยละ 7 ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นแท้จริงในสหรัฐ ตกเป็นของครัวเรือนของผู้มั่งคั่งที่สุดในสหรัฐเพียง 400 ครอบครัว

(ดูบทรายงานของ Chuck Collins และเพื่อน ชื่อ Billionaire Bonanza 2020 : Wealth Windfalls, Tumbling Taxes, and Pandemic Profiteers ใน inequality.org 23/04/2020)

จากข้อเท็จจริงเหล่านี้ ก่อให้เกิดทฤษฎีสมคบคิดที่กล่าวกันหนาหูว่า วิกฤติทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน สงครามความปั่นป่วนทางการเมือง ไปจนถึงวิกฤติสิ่งแวดล้อมและโรคระบาด เป็นสิ่งที่ชนชั้นนำโลกสร้างขึ้นเพื่อรักษาความมั่งคั่งและอำนาจของตนไว้

ปล่อยให้สาธารณชนหม่นหมอง ยากจนแตกแยก และต้องยอมจำนนเนื่องจากอ่อนแอเกินกว่าที่จะต่อต้าน

ผู้เขียนไม่ได้เชื่อเช่นนั้น เพราะว่ามันเลวร้ายกว่าที่จะยอมรับ และวิกฤติทั้งหลายสะท้อนความอ่อนแอเปราะบางของระบบที่ลึกซึ้ง

นอกจากนี้ ระบบที่เผชิญวิกฤติมากเกินไป ในที่สุดก็ย่อมล่มสลายไม่อาจดำรงอยู่ต่อไป

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงโควิด-19 และผู้ตกเป็นเหยื่อ และวิกฤติเศรษฐกิจ


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่