คณิต ณ นคร : เมื่อประธานชมรมข้าราชการอัยการบำนาญ ส่งสารถึงอัยการสูงสุด (1)

บทนำ

เนื้อหาของบทความที่กล่าวต่อไปนี้ส่วนใหญ่เป็นการเรื่องภายในองค์กรอัยการที่ผู้เขียนเคยเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าสาระของเนื้อหามีประโยชน์แก่ผู้อ่านภายนอกด้วย เพราะเรื่องภายในองค์กรอัยการก็เชื่อมโยงไปถึงเรื่องหลายเรื่องด้วยกัน

ในบทความเรื่อง “ความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการและการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” ที่ลงพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์(1) ผู้เขียนได้กล่าวถึงข้อสอบที่ผู้เขียนได้นำเสนอต่อ “คณะกรรมการสอบไล่ของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” เพื่อทำความเข้าใจกฎหมายระหว่างนักกฎหมายด้วยกัน และในขณะเดียวกันเพื่อเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่อง “ศาลพิจารณา” (Trial Court)

ข้อสอบที่ผู้เขียนได้นำเสนอต่อ “คณะกรรมการสอบไล่ของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา” เพื่อวัตถุประสงค์สองประการดังกล่าวมานั้น เป็นการนำเสนอในสมัยแห่งการสอบครั้งที่ 65 สอบวันที่ 7 เมษายน 2556

ข้อสอบมีดังนี้

คําถาม

นายแดงถูกพนักงานอัยการฟ้องว่าจ้างวานฆ่านายเหลือง ศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการโจทก์นำเข้าสืบและพยานหลักฐานทางฝ่ายนายแดงจำเลยนำเข้าสืบ และได้ใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงแล้ว เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่า นายแดงจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษาให้ประหารชีวิตนายแดงจำเลย

นายแดงจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ว่า ตนไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง

พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ตรวจสำนวนคดีที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไว้ แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานที่พนักงานอัยการโจทก์และนายแดงจำเลยนำเสนอไม่พอฟังลงโทษนายแดงได้ จึงพิพากษายกฟ้อง

พนักงานอัยการยื่นฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ตรวจสำนวนศาลชั้นต้นโดยไม่ได้เป็นการพิจารณาเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรณีเป็นเรื่องข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้รู้เห็นหรือสัมผัสพยานหลักฐานทั้งปวงด้วยตนเองนั้น ย่อมไม่อาจอธิบายโดยศาสตร์ใดๆ ได้ เพราะการที่กฎหมายให้ผู้พิพากษาต้องนั่งครบองค์องค์คณะนั้น ก็เพื่อให้ศาลชั้นต้นซึ่ง “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ได้สัมผัสพยานหลักฐานทั้งปวงในอันที่จะวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในข้อเท็จจริงตามเหตุผลที่สามารถอธิบายได้โดยหลักตรรกศาสตร์ และโดยจิตวิทยาพยานหลักฐาน ขอศาลฎีกาได้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ให้ถูกต้องตามหลักการดังกล่าว

นายแดงจำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ดำเนินการไปนั้น เป็นไปตามหลักปฏิบัติกันตลอดมา ไม่ผิดหลักกฎหมายแต่ประการใด ขอให้ศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลฎีกา ท่านจะวินิจฉัยข้อกฎหมายของพนักงานอัยการอย่างไร

ธงคำตอบ

แม้ในทางปฏิบัติจะเห็นกันว่า การที่ศาลอุทธรณ์กระทำดังกล่าวถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย ก็มิได้หมายความว่า ศาลฎีกาจะแก้ไขให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หลักตรรกศาสตร์ และหลักจิตวิทยาพยานหลักฐานไม่ได้

ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลฎีกา ข้าพเจ้าเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของพนักงานอัยการโจทก์ และจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ดำเนินการเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย หลักตรรกศาสตร์ และหลักจิตวิทยาพยานหลักฐาน แล้วพิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่ เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 203 ศาลอุทธรณ์สืบพยานได้ ซึ่งแสดงว่าตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริง ตามระบบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยเราในปัจจุบัน “ศาลพิจารณา” (Trial Court) มี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

เพราะในศาลฎีกานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 225 บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาในศาลอุทธรณ์มาใช้บังคับในชั้นฎีกาด้วย

ข้อสอบที่ผู้เขียนได้นำเสนอโดยมีวัตถุประสงค์สองประการดังกล่าวมาแล้วนั้น แท้จริงข้อเท็จจริงของเรื่องมีพื้นฐานมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรา กล่าวคือ เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจ้างวานฆ่านายเจริญ วัดอักษร ซึ่งเรื่องจริงดังกล่าวนี้เกิดขึ้นที่อำเภอบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเป็นคดีเกี่ยวกับผู้ที่เป็นคนจ้างวานฆ่านายเจริญ วัดอักษร

เรื่องที่เกี่ยวกับนายเจริญ วัดอักษร นั้น เมื่อพนักงานสอบสวนได้มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่าผู้จ้างวานฆ่านายเจริญ วัดอักษร ได้กระทำความผิดจริง

สำนวนคดีเรื่องนี้จึงถูกส่งต่อไปยังพนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดจริงตามความเห็นของพนักงานสอบสวน

พนักงานอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จึงได้ยื่นฟ้องผู้จ้างวานฆ่านายเจริญ วัดอักษร ต่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

และเมื่อศาลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ทั้งสองฝ่ายได้นำเสนอในคดีเสร็จสิ้นแล้ว เห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง จึงพิพากษาลงโทษให้ประหารชีวิตจำเลย

ต่อมาจำเลยได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์โดยว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลย

ในคดีเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังเช่นที่เคยปฏิบัติกันมา กล่าวคือ ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ตรวจสอบสำนวนคดีของศาลชั้นต้นเท่านั้น แล้วพิพากษาให้ยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยไป

ทั้งนี้ โดยศาลอุทธรณ์มิได้เปิดดำเนินการเป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) แต่อย่างใด ซึ่งการปฏิบัติของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักวิชาการ เพราะเมื่อเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ก็จะต้องทำหน้าที่เป็น “ศาลพิจารณา” (Trial Court) ที่จะต้องรับฟังพยานหลักฐานในคดีด้วยตนเอง มิใช่ฟังตามที่ศาลชั้นต้นได้กระทำไว้ การกระทำของศาลอุทธรณ์จึงฝ่าฝืนหลักตรรกศาสตร์ และหลักจิตวิทยาพยานหลักฐาน

การที่ผู้เขียนได้ออกข้อสอบดังกล่าวมาแล้วนั้น หากจะว่าไปแล้วก็คือ เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะทำความเข้าใจเรื่อง “ศาลพิจารณา” (Trial Court) กับนักกฎหมายที่เป็นคณะกรรมการสอบคนอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น

กรณีจึงกล่าวได้ว่า การกระทำของผู้เขียนเป็นการกระทำที่ “บังอาจ” ของผู้เขียนอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นการกระทำในทำนอง “สอนหนังสือสังฆราช” นั่นเอง และกระทำไปโดยผู้เขียนเห็นอยู่แล้วว่าเป็นการยากที่จะสำเร็จเป็นมรรคเป็นผล

แต่ผู้เขียนก็ต้องพยายามกระทำในฐานะที่ผู้เขียนเป็นนักวิชาการคนหนึ่ง และผู้เขียนจะกระทำต่อไปหากมีโอกาส

แต่แล้วในที่สุดผู้เขียนก็หมดโอกาสที่จะกระทำต่อไป

เพราะต่อมาสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาก็ไม่เชิญผู้เขียนให้เป็นผู้บรรยายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกต่อไป

(1)ลงพิมพ์แบ่งออกเป็น 3 ตอน กล่าวคือ ตอนที่ 1 ลงพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 20-26 มีนาคม 2563 ตอนที่ 2 ลงพิมพ์ในฉบับลงวันที่ 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2563 ตอนที่ 3 (ตอนสุดท้าย) ลงพิมพ์ในฉบับประจำวันที่ 3-9 เมษายน 2563


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่